บ้านไม้เก่า กลิ่นอายพื้นถิ่นใต้ หลังนี้ ปรากฏร่องรอยของการผ่านร้อนผ่านหนาวบนท่อนไม้เก่า ซึ่งเป็นความสวยงามที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติอันยากที่จะลอกเลียนแบบ
คุณทรงพรและคุณฟองทิพย์ วุฒิวงศา สองเจ้าของ บ้านไม้เก่ากลิ่นอายพื้นถิ่นใต้ หลังนี้ ซึ่งตั้งอยู่ที่สงขลา มีความหลงใหลในเสน่ห์ของไม้เก่า จึงได้นำไม้เหล่านี้มาเป็นส่วนประกอบสำคัญของบ้าน การสร้างบ้านด้วยไม้เก่าและวัสดุเหลือใช้นั้นทำให้ต้องใช้วิธีสร้างที่แตกต่างไปจากการสร้างบ้านแบบทั่วไป โดยจะสามารถคิดแบบรวมคร่าวๆได้เท่านั้น ขั้นตอนที่เหลือต้องปรับแต่งกันที่หน้างานตามลักษณะของวัสดุที่ได้มา
คุณทรงพรอธิบายถึงการสร้างบ้านหลังนี้ว่า “ผมอยู่ที่นี่มาแต่เดิม มีบ้านหลังเล็กๆอยู่ด้านหน้า พอสร้างต่อเติมใหม่ก็เริ่มจากด้านหลังมาก่อน ผมสร้างโดยไม่มีแบบแปลนแน่นอน แต่มีแบบไว้ในใจว่าห้องไหนอยู่ตรงไหน ทำจุดหนึ่งไปแล้ว ถ้ายังไม่มีวัสดุก็ย้ายไปทำจุดอื่นก่อน จุดไหนไม่ลงตัวก็ทุบทิ้งทำใหม่ คิดไปวันก็ทำไปวันซึ่งใช้เวลาก่อสร้าง 8 เดือน
“ผมเน้นใช้ไม้เก่าในลักษณะนำมาใช้งานใหม่ เพื่องจากพอดีไปพบไม้เสาสะพานรถไฟที่เขารื้อมากองทิ้งไว้ เลยไปขอซื้อมา จุดเด่นของเสาสะพานรถไฟคือแข็งและมีลวดลายธรรมชาติที่เกิดจากการโดนแดดโดนฝนมาเป็นเวลานาน เมื่อทาน้ำยาเคลือบเงาแล้วจะออกเป็นสีดำหมด
“ส่วนอิฐมอญที่นำมาปูพื้นได้มาจากกำแพงเก่าๆที่คนเขารื้อบ้าน คนส่วนมากเอาไปปูทางเดินในสวน ผมลองเอามาขัดเล่นๆดู ก็เห็นว่าเนื้อดินมีลายสวยดี เพราะดินสมัยก่อนใช้วิธีเหยียบด้วยเท้าแทนการนวดด้วเครื่อง ลายที่เกิดขึ้นมาจากเนื้อดินที่ไม้เข้ากันดี ผมเลยเริ่มซื้อจากกำแพงเก่า อาคารเก่า ไปจนถึงเตาเผาดินเก่าก็มี”
นอกจากความสวยงามของไม้เก่าแล้ว ยังมีวัสดุเหลือใช้ เครื่องเรือน และของใช้เก่าๆ ที่สะสมมาเป็นเวลานานมาร่วมใช้ตกแต่งด้วย เจ้าของบ้านผสมผสานการตกแต่งแบบ “บ้านชาวบ้านพื้นถิ่น” และกลิ่นอายวัฒนธรรมภาคใต้ จนกลายเป็นรูปแบบอันสวยงามแปลกตาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกด้วย
“ผมชอบของเก่ามาแต่ไหนแต่ไร เฟอร์นิเจอร์หลายชิ้นเก็บมานานหลายสิบปี สมัยนั้นยังไม่มีใครสนใจ มักทิ้งกันหมด สมัยนั้นผมชอบเดินหาของที่คลองถม ก็ได้พวกนาฬิกา โคมไฟ โต๊ะ ผมเอามาตกแต่งบ้านเหมือนกึ่งพิพิธภัณฑ์ก็ว่าได้ เอาไว้ให้คนอื่นๆได้มาชม ของบางส่วนเป็นของที่ย้ายมาจากบ้านเก่าด้วย
“ตอนที่สร้างบ้านหลังนี้ เพื่อนผมที่ทราบว่าผมใช้ของเก่าๆมาสร้างบ้าน เขามีอะไรที่ไม่ได้ใช้ก็เอามาให้ แม้ของที่มีนั้นจะไม่มีอะไรที่มาเป็นชุดเข้ากัน เราต้องรู้จักปรับแต่งเองด้วยความรักในการสร้างบ้าน ค่อยๆตกแต่งแบบอยู่ไปแต่งไป สร้างแล้วค่อยๆหาของที่สะสมไว้มาลองจัดดู หรือซื้อหาของเก่าที่พบเห็นมาบ้าง”
คงไม่มีใครปฏิเสธเสน่ห์ความสวยงามของธรรมชาติว่าเป็นความสวยงามที่ยั่งยืน ไม่มียุคสมัย ดังนั้นเมื่อนำมาตกแต่งร่วมกับของตกแต่งอื่นๆที่ผ่านการคัดเลือกด้วยสัญชาตญาณและมุมมองเชิงศิลปะของเจ้าของ บ้านไม้เก่ากลิ่นอายพื้นถิ่นใต้ หลังนี้แล้ว จึงเป็นความสวยงามลงตัวที่ไร้ยุคสมัย
เจ้าของ – ตกแต่ง : คุณทรงพร – คุณฟองทิพย์ วุฒิวงศา
เรื่อง: สองพันก้าว
ภาพ : ณัฐพล, สองพันก้าว