อเมริกันสแตนดาร์ด เปิดตัว Brand Identity โฉมใหม่ภายใต้แนวคิด LIFE.LOVE.HOME

บ้านและสวน พาชมงานเปิดตัวอัตลักษณ์ใหม่ของแบรนด์สุขภัณฑ์ อเมริกันสแตนดาร์ด พร้อมบทสัมภาษณ์พิเศษกับคุณ Corey Damen Jenkins ดีไซเนอร์ชื่อดังจากนิวยอร์กและแขกรับเชิญคนสำคัญ ถึงคุณค่าของการใช้สีสัน สู่แนวคิดการออกแบบบ้านที่เราจะรักมันได้ในทุก ๆ วัน

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อเมริกันสแตนดาร์ด หนึ่งในแบรนด์สุขภัณฑ์ชื่อดังในเครือของลิกซิล (LIXIL) ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกผลิตภัณฑ์เพื่อการจัดการน้ำและที่อยู่อาศัย ได้จัดอีเวนต์ครั้งสำคัญเพื่อเปิดตัว Brand Identity หรืออัตลักษณ์ใหม่ของแบรนด์เพื่อใช้ในการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าทั่วโลก สะท้อนความน่าเชื่อถือที่แบรนด์สั่งสมมาตลอดเกือบ 150 ปี รวมถึงนำเสนอความใกล้ชิดกับกลุ่มผู้บริโภคและคุณค่าใหม่ของแบรนด์ด้วยคอนเซ็ปต์ LIFE.LOVE.HOME มุ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนเพื่อสร้างบ้านที่พวกเขาจะรักมันได้ในทุก ๆ วัน

เปิดอีเวนต์ด้วยการนำทีมสื่อมวลชนจากทั่วเอเชียเข้าชมโซนจัดแสดงต่าง ๆ ทั้งผลิตภัณฑ์สำหรับครอบครัว ผู้สูงอายุ และนวัตกรรมสุขภัณฑ์รุ่นใหม่

คุณซาโตชิ โคนาไก ลีดเดอร์ LIXIL Water Technology ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บอกเล่าถึงที่มาของอัตลักษณ์ใหม่ของอเมริกันสแตนดาร์ด LIFE. LOVE. HOME

ซ้าย) คุณอองตวน เบสเซเร เดอ ซอร์ ลีดเดอร์ LIXIL Global Design ประจำภูมิภาคเอเชีย
นำเสนอองค์ประกอบของดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์
(ขวา) คุณลิซา ราเชล แคนชิโน ลีดเดอร์ Digital, Brand and Channel Marketing LIXIL Water Technology
ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวถึงแผนการตลาดภายใต้อัตลักษณ์ใหม่ของแบรนด์

เอกลักษณ์งานดีไซน์

แบรนด์อเมริกันสแตนดาร์ดตั้งใจนำเสนอคุณค่าใหม่ของแบรนด์ ผ่านองค์ประกอบของงานดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในทุก ๆ ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับงานออกแบบ ตลอดจนหล่อหลอมความเป็นอเมริกันสแตนดาร์ดที่ทุกคนคุ้นเคย องค์ประกอบทั้ง 3 ลักษณะได้แก่

  • Pillow รูปทรงเรียบง่าย สบายตาด้วยเส้นโค้ง เชิญให้สัมผัส สะท้อนความเป็นธรรมชาติของมนุษย์
  • Taper รูปทรงที่ดูมั่นคงแข็งแรง สะท้อนความน่าเชื่อถือ และความน่าไว้วางใจ
  • Frame รูปทรงที่เน้นความโดดเด่นในเชิงนวัตกรรม ซึ่งเป็นรากฐานสู่ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน

นอกจากนี้อัตลักษณ์ใหม่ของแบรนด์ยังเน้นการใช้สีแดงสดใสประกอบงานกราฟิกเพื่อสื่อสารตัวตนของแบรนด์ในวงกว้าง ซึ่งในทางจิตวิทยาสี สีแดงสดใสเช่นนี้สามารถสื่อได้ถึงความรัก ซึ่งสอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ใหม่ LIFE.LOVE.HOME ของแบรนด์อเมริกันสแตนดาร์ดนั่นเอง

คุณซาโตชิ โคนาไก แนะนำคอลเลกชันใหม่ Loven Collection

เปิดตัว Loven Collection

นอกจากนี้ในงานเปิดตัว Brand Identity โฉมใหม่แล้ว ยังมีการจัดแสดง American Standard Loven Collection เพื่อเปิดตัวสุขภัณฑ์คอลเลกชันแรกภายใต้อัตลักษณ์ใหม่ของแบรนด์ Loven Collection นี้ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงความสวยงามลงตัวในเชิงสุนทรียศาสตร์ ร่วมกับการใช้พื้นที่ขนาดกะทัดรัดให้คุ้มค่า จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับโครงการที่อยู่อาศัยในเมือง เช่น คอนโดมิเนียม 

คุณซาโตชิ โคนาไก ลีดเดอร์ LIXIL Water Technology ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “ทางลิกซิลยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้นำเสนออัตลักษณ์ใหม่ของอเมริกันสแตนดาร์ดในระดับโลก เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก แบรนด์นี้ได้สร้างความไว้วางใจจากโซลูชันสำหรับห้องน้ำและห้องครัวที่อัดแน่นด้วยนวัตกรรม ความน่าเชื่อถือได้ และความสะดวกสบายในการใช้งาน เรารู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ตอกย้ำภาพลักษณ์นี้ของแบรนด์ อเมริกันสแตนดาร์ดให้เด่นชัดมากยิ่งขึ้นด้วยตอนเซ็ปต์ LIFE.LOVE.HOME ที่ตรงกับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้คนเพื่อสร้างบ้านที่พวกเขาจะรักมันได้ในทุก ๆ วันครับ”

หลังจากช่วงพูดคุยบนเวที คุณอองตวน นำทีมสื่อมวลชนสาธิตการใช้งานผลิตภัณฑ์รุ่นต่าง ๆ ที่นำมาจัดแสดง

กิจกรรมเสวนา ASDC L!VE

อีเวนต์นี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน American Standard Trade Event ซึ่งเป็นงานแสดงผลิตภัณฑ์ที่จัดยาวต่อเนื่องหลายวัน โดยปีนี้จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย มีแขกผู้มีเกียรติและบุคคลสำคัญ ทั้งลูกค้า นักออกแบบ และสื่อมวลชนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเข้าร่วมงานมากกว่า 200 คน ซึ่งอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญในงานคือ American Standard Design Catalyst L!VE (ASDC L!VE) กิจกรรมเสวนาที่เปิดเวทีสำหรับอภิปรายในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับงานออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาวะที่ดี ความยั่งยืน ตลอดจนการสร้างสรรค์พื้นที่อัจฉริยะ โดยปีนี้มาในธีม ‘Design Thinking Meets Urbanization’ ซึ่งได้รับเกียรติจากสถาปนิก นักออกแบบ และวิทยากรชั้นนำในอุตสาหกรรมมาร่วมพูดคุยกัน นำโดยคุณคอรีย์ แดเมน เจนกินส์ (Corey Damen Jenkins) อินทีเรีย ดีไซเนอร์ชื่อดังจาก Corey Damen Jenkins & Associates กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ทาง บ้านและสวน ได้รับเกียรติให้สัมภาษณ์คุณคอรีย์เป็นการพิเศษในครั้งนี้ด้วย

คุณคอรีย์ แดเมน เจนกินส์ บนเวทีเสวนา ASDC L!VE ในธีม ‘Design Thinking Meets Urbanization’

สีสัน ช่วยเติมเต็มคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร?
พูดคุยกับ Corey Damen Jenkins
อินทีเรีย ดีไซเนอร์จาก Corey Damen Jenkins & Associates สหรัฐอเมริกา

คุณคอรีย์ แดเมน เจนกินส์ อินทีเรีย ดีไซเนอร์จาก Corey Damen Jenkins & Associates
ซึ่งเดินทางมาเป็น Guest Speaker ในงาน ASDC L!VE ครั้งนี้

ในงาน ASDC L!VE ครั้งนี้ คุณคอรีย์ แดเมน เจนกินส์  Guest Speaker คนสำคัญของงาน ได้ขึ้นมาพูดถึงความสำคัญของสีสันต่อการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขในสังคมเมืองที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยหลังจากอีเวนต์เปิดตัว บ้านและสวน ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณคอรีย์สั้น ๆ เพื่อพูดคุยถึงประเด็นที่น่าสนใจนี้อย่างเจาะลึกยิ่งขึ้น

คุณช่วยเล่าถึงประเด็นสำคัญที่คุณได้กล่าวบนเวที ASDC L!VE ให้เราฟังอีกครั้งได้ไหม

แน่นอนครับ บนเวทีผมได้พูดถึงหัวข้อที่มีความสำคัญกับผมมาก ๆ เกี่ยวกับจิตวิทยาสีและการพัฒนาชุมชนเมืองให้น่าอยู่ขึ้น เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าสีสันส่งผลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ และผมคิดว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้ประเด็นนี้เด่นชัดขึ้น เมื่อผู้คนถูกบังคับให้อยู่แต่ในบ้านที่มักจะทาเป็นสีขาว ๆ เทา ๆ ทำให้พวกเขาหวนคิดถึงสิ่งแวดล้อมที่มีสีสันภายนอก ไม่ว่าจะเป็นท้องฟ้าสีน้ำเงินสด หรือสนามหญ้าสีเขียวขจี เพราะฉะนั้นหลังจากการระบาดผู้คนก็เลยระลึกได้ว่าพวกเขาอยากนำสีสันเข้ามาสู่ชีวิตมากขึ้นครับ

แล้วผมก็ได้พูดถึงจิตวิทยาสีด้วยครับ ได้อธิบายว่าสีต่าง ๆ มีผลต่ออารมณ์ของมนุษย์อย่างไร อย่างสีแดงที่ทำให้เรารู้สึกได้ถึงความรัก ความโรแมนติก หรือสีขาวที่ทำให้เรารู้สึกถึงความสะอาด เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมมันจึงมักถูกนำมาเป็นสีของสุขภัณฑ์ต่าง ๆ ในห้องน้ำนั่นเองครับ เพราะฉะนั้นขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่โลกที่สังคมเมืองเติบโตขึ้น เราก็ควรที่จะให้ความสำคัญกับสีสันที่ส่งผลต่อสภาพอารมณ์ของผู้คนด้วยครับ

บนเวที คุณได้พูดถึงการใช้สีในงานสถาปัตยกรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันด้วย

ใช่ครับ อย่างตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ กรีก หรือโรมัน อาคารสำคัญต่าง ๆ ของพวกเขามักใช้สีสันเพื่อสื่อถึงความมั่งคั่ง ความสำเร็จ หรือความเป็นชนชั้นสูงครับ ขณะที่บ้านเรือนคนธรรมดามักจะไม่ค่อยมีสีสันนัก เพราะในสมัยก่อน วัสดุสีสันสดใสเหล่านั้นมีราคาแพงมาก ดังนั้นสิ่งที่น่าประหลาดใจคือ ในปัจจุบันเมื่อเราเข้าถึงสีสันได้ง่ายขึ้น ผู้คนจำนวนมากกลับอยากได้บ้านสีขาว ๆ เทา ๆ มากกว่าครับ

คุณคิดว่าเทรนด์การออกแบบในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะไร้สีสันหรือมีสีสันมากขึ้น

เอาจริง ๆ ผมคิดว่าเทรนด์ในอนาคตมีแนวโน้มที่จะมีสีสันมากขึ้นนะครับ นับตั้งแต่ที่อาชีพนักออกแบบภายในกลายมาเป็นวิชาชีพที่กฎหมายให้การรับรองในสหรัฐฯ ย้อนกลับไปตั้งแต่ยุค 1920, ’30, ’40, ’50, ’60, ’70, และ ’80         นักออกแบบตกแต่งในสมัยนั้นใช้สีสันเยอะมาก จนกระทั่งปี 2000 ทุกอย่างกลับกลายเป็นโทนสีกลาง ๆ อย่างสีขาว สีเทา และสีเบจ ซึ่งผมคิดว่านั่นมันก็ผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว และผมเชื่อว่าทุก ๆ 15 หรือ 20 ปี เทรนด์หลักน่าจะพลิกกลับ และเราน่าจะได้เห็นสีสันกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง โดยเฉพาะโควิดอาจยิ่งทำให้เทรนด์นี้เปลี่ยนไปไวขึ้น ผู้คนเกิดความคิดที่ว่าอยากให้บ้านสีเทา ๆ ของพวกเขามีสีสันมากขึ้น เริ่มเปลี่ยนหมอนบนโซฟาให้สีดูสดใส หรือพอได้ออกมาท่องเที่ยวในสถานที่ที่เต็มไปด้วยสีสันอย่างประเทศไทย ก็อาจได้แรงบันดาลใจกลับไปตกแต่งบ้านใหม่ด้วยครับ

ผลงานการออกแบบภายในที่เต็มไปด้วยสีสันโดย Corey Damen Jenkins & Associates
Photo by Corey Damen Jenkins & Associates :
https://coreydamenjenkins.com/home

เป็นที่รู้จักกันดีว่าคุณเป็นหนึ่งในนักออกแบบภายในที่ชื่นชอบการตกแต่งโดยใช้สีสัน คุณช่วยแชร์ประสบการณ์ครั้งแรก ๆ ในชีวิตที่จุดประกายให้คุณหลงใหลในสีสันหน่อยได้ไหม

ถ้าคุณถามแม่ของผม แม่จะเล่าได้เลยว่าผมเป็นคนที่หลงใหลในสีสันมาตั้งแต่เด็ก ๆ ครับ ผมจำได้ว่าตอนนั้นแม่จะให้ผมเลือกเสื้อผ้าเอง แล้วผมก็จะเลือกเสื้อผ้าสีสด ๆ อย่างสีเหลือง สีส้ม สีน้ำเงิน สีแดง หรือสีเขียว (คอรีย์ยื่นมือถือพลางเปิดรูปตัวเองตอนเด็กให้ดู) ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ที่โรงเรียนผมมักจะโดนกลั่นแกล้งอยู่บ่อย ๆ เพราะผมแตกต่างจากพวกเขาครับ ผมชอบศิลปะ ชอบแฟชั่น และชอบสีสันที่หลากหลายครับ สำหรับผมตอนนั้น สีสันเป็นเหมือนกับหนทางหนึ่งที่ผมจะได้หลีกหนีจากความเศร้าหมอง เพราะการได้หลบไปอิงแอบอยู่ในพื้นที่สีเหลือง ๆ เขียว ๆ หรือสีอื่น ๆ ช่วยสร้างความสุข และทำให้ผมรู้สึกดีขึ้นครับ ดังนั้นตอนนี้ผมก็เลยอยากใช้โอกาสที่มีเผยแพร่สีสันให้กับผู้คนเป็นการเอาคืนครับ (หัวเราะ)

ในประสบการณ์การทำงานของคุณ เคยมีตัวอย่างเหตุการณ์ที่เห็นได้ชัดเมื่อสีสันนำความสุขมาสู่ผู้คนไหม

ตอนนั้นในปี 2019 เราเคยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในโปรเจกต์หนึ่งซึ่งเป็น Showhouse ที่เชิญดีไซเนอร์หลายท่านให้ร่วมออกแบบห้องต่าง ๆ ตอนนั้นเราได้ตกแต่งห้องสมุด ซึ่งเราได้ทาผนังเป็นสีชมพูสดใส และในห้องก็ยังมีสีเขียวมรกต สีขาว และสีแดงด้วย ตลอดระยะเวลา 5 สัปดาห์ที่เราเปิดบ้านให้ผู้คนเข้าชม เราพบว่ามีผู้ชมอย่างน้อย 5 คนที่พอเข้ามาในห้องแล้วดูรู้สึกอิ่มเอมใจจนเริ่มร้องไห้ออกมา ซึ่งสาเหตุจริง ๆ คงไม่เกี่ยวกับดีไซน์ของผมหรอกครับ เพราะพอผมถามพวกเขาว่า คุณโอเคไหม เป็นอะไรหรือเปล่า พวกเขาเหล่านั้นตอบเหมือนกันว่า สีสันเหล่านี้ทำให้พวกเขานึกถึงคนที่พวกเขารักที่เพิ่งจากไปครับ มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามายืนดูอยู่ตรงมุมห้อง ยืนนิ่ง ๆ เอาแขนโอบลำตัว ไม่ออกไปไหนเป็นชั่วโมงเลยครับ เธอบอกว่าสีเหล่านี้เป็นสีโปรดของคุณแม่ของเธอที่เพิ่งจากไปด้วยโรคมะเร็ง การได้เห็นมันทำให้เธอรู้สึกราวกับว่าแม่อยู่ที่นี่กับเธอด้วย และมันทำให้เธอมีความสุขมากครับ เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นว่าสีสันต่าง ๆ สามารถทำให้ความทรงจำที่มีคุณค่าหวนกลับคืนมาได้อีกครั้งพร้อมกับความสุขนั่นเองครับ

คุณจะแนะนำให้ผู้คนนำเอาสีสันเข้าไปในชีวิตของพวกเขาได้อย่างไรบ้าง

ผมอยากแนะนำคนที่ยังไม่คุ้นเคยกับการใช้สีสันสดใสในบ้าน ให้ค่อย ๆ คิดและลองเริ่มต้นอย่างช้า ๆ ครับ คุณไม่จำเป็นต้องไปซื้อสีแดงมาถังหนึ่งและลงมือทาผนังทั้งผืนเป็นสีแดงโดยทันทีครับ เพราะถ้าประโคมใส่สีลงไปเยอะเกินคุณก็อาจทำมันพังได้เหมือนกันนะ ในการแต่งเติมสีสันในบ้าน คุณควรรู้ว่าเมื่อไหร่ที่คุณควรจะหยุด เท่าไหนที่คุณควรจะพอครับ สำหรับใครที่รู้สึกประหม่า อาจเริ่มจากการเปลี่ยนพรมตกแต่งพื้น ของประดับบนโต๊ะ หรือหมอนบนโซฟาให้เป็นสีสันที่แตกต่างออกไปจากเดิม ค่อย ๆ เติมสีสันเข้าไปในบ้านทีละนิดทีละหน่อย แล้วคุณจะเริ่มมั่นใจมากขึ้นกับการใช้สีสันในการตกแต่งบ้านครับ


เรื่อง – Tinnakrit
ภาพ – ภาพประชาสัมพันธ์