คืนสมดุลให้โลกและชีวิตด้วย นวัตกรรมความยั่งยืน

เมื่อแนวทางการตั้งรับเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) แบบเดิมอาจไม่เพียงพอแล้ว จึงควรหาทางการแก้ปัญหาเชิงรุกที่เห็นผลเร็วในระยะสั้นทำควบคู่กันไปด้วย นวัตกรรมความยั่งยืน

นวัตกรรมความยั่งยืน

บ้านและสวน จึงชวนมาคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน รองศาสตราจารย์ ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Research & Innovation for Sustainability Center; RISC) ทั้งยังเป็นสถาปนิก และหัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้ทุกคนเห็นแนวทางใหม่ๆที่จะแก้ปัญหาด้านความยั่งยืนด้วย นวัตกรรมความยั่งยืน ในอนาคต ซึ่งมีทั้งเรื่องใหญ่ไกลตัวที่ควรรู้ไว้ และเรื่องเล็กใกล้ตัวที่ทำแล้วได้ทั้งประโยชน์ ประหยัดเงิน และมีความสุขด้วย

รู้จักความยั่งยืน (Sustainability) แบบเข้าใจง่ายฉบับอาจารย์สิงห์

“ความยั่งยืน” มีหลายคำนิยามมาก สรุปเป็นใจความง่ายๆ คือ “สิ่งต่างๆที่เราทำนั้นต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือส่งผลกระทบน้อยแบบที่ยังกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ และสามารถส่งต่อสู่รุ่นต่อไปในอนาคตได้ ด้วยคุณภาพที่เทียบเท่ากับสิ่งที่เราได้ในปัจจุบัน” เพื่อให้ลูกหลานเรายังดำรงอยู่บนโลกด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีต่อๆไป และเราควรสร้างวิถียั่งยืนของตัวเอง

ถ้ามองความยั่งยืนในมุมกว้างขึ้นว่าคืออะไร ในอดีตนิยามว่าประกอบด้วย 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อมดี เศรษฐกิจเติบโตได้  และเป็นสังคมที่ทำให้คนมีความสุข ต่อมามี SDGs 17 โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อที่ทั่วโลกจะทำให้ได้ภายในปี 2030 อีกทั้งสำหรับองค์กรก็มีอีกคำ คือ ESG (Environment, Social and Governance) ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน

จะเห็นว่าความยั่งยืนมีหลายมิติ ไม่ได้มีคำจำกัดความเดียว ดังนั้นแต่ละองค์กร แต่ละคนต้องพัฒนาความยั่งยืนในแนวทางของตัวเอง เช่น ความยั่งยืนของบริษัทด้านกระดาษก็จะเกี่ยวข้องกับผืนป่าและพื้นที่ต้นน้ำ ความยั่งยืนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งใช้ทรัพยากรมาก ก็มีมิติด้านการใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า การประหยัดพลังงาน เป็นต้น ความยั่งยืนจึงขึ้นอยู่กับแต่ละธุรกิจ แต่สิ่งที่ทุกธุรกิจควรคำนึงถึงคือ ชีวิตของคนทำงาน เช่น การส่งเสริมการพัฒนาระบบการค้าที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืน  

นวัตกรรมความยั่งยืน
นวัตกรรมความยั่งยืน

นวัตกรรมอาคารเพื่อความยั่งยืน

การออกแบบอาคารที่ยั่งยืนควรคำนึงถึงการประหยัดพลังงาน การทำให้คนอยู่มีสุขภาพดี มีความสุข และการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วัสดุภายในท้องถิ่น หรือวัสดุที่ใช้แล้วไม่หมดไป ซึ่งต่อไปเรากำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างอาคารด้วยโครงสร้างไม้ (Timber Construction) โดยไม่ใช้โครงสร้างคอนกรีตและเหล็ก เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูงมาก แม้เป็นวัสดุที่อยู่ได้นานแต่เมื่อทุบทำลายแล้วนำกลับมาใช้อีกได้ยาก ส่วนการผลิตไม้จะช่วยดูดซับคาร์บอนในระหว่างที่เติบโต และเป็นวัสดุที่ผลิตขึ้นใหม่ได้ ซึ่งในต่างประเทศมีการใช้เทคโนโลยีในการก่อสร้างไม้ เช่น เทคโนโลยีไม้แปรรูป CLT (Cross-Laminated Timber)  และ Glulam (Glued laminated timber) โดยใช้ไม้จากป่าปลูก แต่ในประเทศไทยยังไม่มีองค์ความรู้ด้านนี้

การแก้ปัญหาความยั่งยืนเชิงรุก

ในระหว่างที่เรากำลังพัฒนา Sustainability Framework ของ MQDC (บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด) ก็พบว่าควรจะต้องมี Resilience Framework สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นปัจจัยต่างๆที่ทำให้เราไม่ไปสู่ความยั่งยืน ตอนนี้คิดว่าการแก้ปัญหาแบบตั้งรับที่เห็นผลในระยะยาว ไม่สามารถแก้ปัญหาโลกที่เสียสมดุลได้ทันแล้ว เราควรแก้ปัญหาระยะสั้นแบบเชิงรุก ต้องมองเรื่อง Resilience (ความสามารถในการฟื้นคืน) ว่าเมื่อเราล้มแล้ว จะลุกแล้วเติบโตต่อไปได้อย่างไร ซึ่งประกอบด้วย 3 แกนหลัก คือ

นวัตกรรมความยั่งยืน
Resilience Framework (จัดทำและพัฒนาโดย RISC)
  • Nature & Environment ปัญหาที่เกิดจากสภาพแวดล้อม เช่น น้ำท่วม คลื่นความร้อน มลพิษทางอากาศ
  • Living & Infrastructure ปัญหาการอยู่อาศัย สาธารณูปโภค สาธารณูปการ ที่ทำให้ชีวิตติดขัด เช่น ไฟดับ การคมนาคมใช้ไม่ได้ โรคระบาด เพลิงไหม้
  • Society & Economy ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม เช่น ความเหลื่อมล้ำ การก่อการร้าย การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร

Resilience Framework เป็นการแจกแจงปัญหาด้านความยั่งยืนที่อาจเกิดขึ้นกับพื้นที่ ซึ่งศึกษามาสำหรับประเทศไทยมี 44 ปัญหา เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นที่เห็นผลเลย โดยทำควบคู่ไปกับ Sustainability Framework ซึ่งเป็นแนวทางระยะยาวที่จะเห็นผลในอนาคต ใช้สำหรับวางแผนทุกโครงการของ MQDC เช่น โครงการ The Forestias โครงการบ้านขนาดใหญ่ที่ออกแบบให้คนอยู่ร่วมกับป่าและสรรพชีวิต ทั้งนี้เราคาดการณ์ว่าต่อไปจะเกิดปัญหาปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Heat Island Effect) อย่างมาก โครงการนี้จึงไม่ใช้เครื่องปรับอากาศที่มีคอมเพรสเซอร์ เพราะจะปล่อยลมร้อนออกมาปริมาณมาก โดยใช้ระบบทำความเย็นด้วยน้ำเย็น (Chill Water Radiator) ที่เดินระบบท่อใต้ดินไปตามยูนิตต่างๆทั้งโครงการ

และสามารถนำ Resilience Framework มาใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาความยั่งยืนในบ้านและชุมชนได้ โดยเลือกตัดหัวข้อที่บ้านเราไม่มีปัญหาด้านนั้นออก ก็จะเหลือเฉพาะหัวข้อปัญหาที่เราจะต้องหาทางแก้ไขให้เห็นชัดเจน

นวัตกรรมความยั่งยืน ต้องจ่ายแพงไหม

การลงทุนเรื่องนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนต้องใช้การเปรียบเทียบและรู้จักเลือกให้เหมาะกับเรา ซึ่งการแก้ปัญหาด้วยนวัตกรรมบางเรื่องก็มีคนแก้แล้ว เราก็มาศึกษาเทคโนโลยีที่ใช้แล้วเปรียบเทียบเพื่อเลือกวิธีการที่คุ้มค่า ซึ่งมีหลายวิธีการที่แก้ได้หลายปัญหาพร้อมกัน เช่น ถ้าจะเปลี่ยนขยะอาหารเป็นปุ๋ยหมักในบ้าน เราจะเลือกใช้เครื่องอัตโนมัติราคาหลายหมื่นก็ได้ หรือจะใช้วิธีนำกระถางมาวางซ้อนกันราคาหลักพันก็มี หรือใช้ตะกร้าพลาสติกมาเจาะรูเองก็ราคาหลักร้อยบาท ซึ่งได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกัน แต่ความสะดวกสบายและสวยงามต่างกัน

ทิศทางการพัฒนาเมือง 2023

หากเราเดินในทิศทางเดิมจะไม่สามารถกลับมาสู่ความสมดุลเดิมได้ทันท่วงที  จึงควรไปในทิศทาง Resilience Framework อย่างปัญหาฝุ่น PM2.5 ก็ไม่ได้มีต้นตอเฉพาะในประเทศไทย หรือปัญหาแม่น้ำโขงแห้งขอดก็เป็นผลกระทบจากต่างประเทศ ซึ่งเกินขอบเขตที่เราจะแก้ปัญหาแบบตั้งรับได้

ผมไปประชุมเรื่องสมาร์ทซิตี้ทุกปี และเมื่อปลายปี 2022 จัดขึ้นที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ซึ่งสิ่งที่แต่ละประเทศกังวลในการสร้างเมืองจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ และระบบไอที แต่จากการสำรวจในปีนี้กว่า 150 เมืองทั่วโลกรวมทั้งกรุงเทพฯ เรื่องที่ทั่วโลกให้ความสนใจอันดับหนึ่ง คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) เพราะมีปัญหาเกิดขึ้นชัดเจน เป็นแนวโน้มที่ทั่วโลกกำลังมุ่งไปทางนี้ เมื่อหันกลับมามองที่บ้านเรา อย่างเรื่องการคัดแยกขยะที่รณรงค์มาหลายปีก็ยังไม่เห็นผล ซึ่งปัญหาไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยี แต่เป็นปัญหาด้านการจัดการ คน และกฎระเบียบ

การทดลองปลูกพืชในอาคารของศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน

ความยั่งยืน 4 เรื่องที่ชาวบ้านเริ่มเองได้

มี 4 หัวข้อความยั่งยืนที่มีผลกระทบกับเจ้าของบ้านโดยตรง คือ

  • ความมั่นคงทางอาหาร (Food Insecurity) เป็นเรื่องสำคัญมาก เห็นได้จากการหันมาเริ่มปลูกผักกินเองกันมากขึ้น และในอนาคตผู้คนจะเจ็บป่วยด้วยสาเหตุจากอาหารมากขึ้น อีกทั้งแต่ละครัวเรือนอาจออกไปหาซื้ออาหารไม่ได้บ่อย การสร้างแหล่งผลิตอาหารในท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องสำคัญ
  • การจัดการขยะ-วัสดุเหลือทิ้งในครัวเรือน ควรสามารถจัดการเองให้มากที่สุด เช่น
    • การแยกขยะเศษอาหาร เพื่อนำไปทำปุ๋ยหมัก แล้วนำมาใช้กับการปลูกพืชผักกินเองในบ้าน
    • ใช้น้ำหยดจากเครื่องปรับอากาศให้เป็นประโยชน์ เพียงหาถังมารองก็จะมีน้ำไว้รดต้นไม้ในตอนเช้าได้
    • ลดขยะจากการก่อสร้าง เช่น การเลือกใช้วัสดุน้อยประเภท อย่างการออกแบบกระเบื้องลายเดียวกันให้นำไปปูหลายๆ จุด ก็จะเหลือเศษวัสดุทิ้งน้อยกว่าการใช้กระเบื้องหลายๆลาย
  • ลดการสิ้นเปลืองพลังงาน เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบ้าน ทำได้ด้วยการป้องกันแสงแดดที่จะกระทบตัวบ้าน ซึ่งดีที่สุด คือ การทำฉากบังแดดนอกบ้านเพื่อป้องกันความร้อนก่อนเข้าบ้าน อาจเป็นมู่ลี่ภายนอก ผนังระแนง หรือร่มเงาจากต้นไม้ มีฉนวนป้องกันความร้อนที่มีประสิทธิภาพ การใช้ไฟโซลาร์เซลล์ในบริเวณสวน
  • ลดการเจ็บป่วยจากสารพิษในบ้าน เพราะคนเมืองปัจจุบันกว่า 90เปอร์เซ็นต์ ใช้ชีวิตในอาคาร ความเจ็บป่วยจึงมาจากของใช้ในบ้านและสำนักงาน ซึ่งมีสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) จากกาวและวัสดุอาคารอยู่ในนั้น สามารถป้องกันได้ง่ายๆ ถ้าเป็นบ้านใหม่ให้เปิดหน้าต่างเป็นประจำ เพราะสารระเหยนั้นถ่ายเทได้เร็ว แต่ถ้าปิดบ้านก็จะสะสมเร็วด้วย แล้วยิ่งปิดบ้านตั้งแต่เช้าถึงเย็นก็จะมีสารระเหยสะสมหนาแน่น  เมื่อกลับบ้านจึงไม่ควรเปิดแอร์ทันที แนะนำให้เปิดหน้าต่างถ่ายเทอากาศประมาณ 10 นาทีก็จะระบายสารระเหยออกได้มาก

ความยั่งยืนควรเริ่มจากสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข

การลงมือทำเรื่องความยั่งยืนจะไม่ได้ประโยชน์ในทันที จึงอาจยากที่จะชวนให้ประชาชนมาเห็นความสำคัญ แต่ถ้าเปลี่ยนมาเป็นการแก้ปัญหาตามแนวทาง Resilience Framework ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้า เขาจะได้ประโยชน์ทันที เช่น ถ้าเขารู้ว่าจะมีปัญหาน้ำเค็ม ก็แก้ปัญหาด้วยการเลือกใช้เครื่องกรองน้ำแบบ RO แทนระบบอื่น หรือการเน้นเรื่องพลังงานซึ่งจะประหยัดเงินในประเป๋าทันที Resilience Framework จะนำมาสู่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด เพื่อการใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ไม่แปลกที่เราทุกคนจะทำเรื่องความยั่งยืนจากปัจจัยเรื่องสุขภาพก่อน กินผักปลอดสารไม่ใช่เพราะรักษ์โลก แต่เพราะรักตัวเอง จึงอยากชวนให้เลือกหัวข้อความยั่งยืนที่ทำแล้วมีความสุขก่อน แล้วจะรู้สึกไม่ยาก ทำสิ่งที่เราได้ประโยชน์ทันทีก่อน แล้วค่อยขยับทำในเรื่องที่ยากขึ้น ถ้าเริ่มด้วยการคัดแยกขยะ 5-6 ถัง อาจไม่ชอบ แต่แยกเศษอาหารมาทำปุ๋ย เพื่อปลูกผักที่ปลอดภัยต่อสุขภาพไว้กินเอง หรือการใช้น้ำจากการรองน้ำหยดของเครื่องปรับอากาศก็ช่วยประหยัดค่าน้ำ ก็จะเป็นแรงจูงใจให้น่าทำจนกลายเป็นนิสัย มีทัศนคติที่ดีทั้งต่อตัวเอง และต่อผลต่อความยั่งยืนของโลกด้วย  


มารู้จัก RISC

ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Research & Innovation for Sustainability Center; RISC) โดยบริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จํากัด (MQDC) เป็นศูนย์วิจัยที่มุ่งเน้นการทํางานวิจัยเพื่อสร้าง “ความอยู่ดีมีสุข” ของทุกชีวิต (For All Well-being) แห่งแรกของเอเชีย โดยสร้างองค์ความรู้ใหม่ผ่านงานวิจัยเชิงลึก และเผยแพร่องค์ความรู้สู่สาธารณชน เกิดเป็นงานวิจัยใน 5 ด้าน (RISC’s 5 Hubs Research) ครอบคลุมทุกด้านในเรื่องของ Well-being ได้แก่ ความหลากหลายทางชีวภาพ (Plants & Biodiversity) คุณภาพอากาศ (Air Quality) ศาสตร์แห่งความสุขเชิงวิทยาศาสตร์ (Happiness Science) วัสดุและการใช้ทรัพยากร (Materials & Resources) ศาสตร์ความพร้อมรับมือ (Resilience) ประยุกต์ใช้องค์ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ และการผลักดันนวัตกรรมด้านสุขภาวะและสิ่งแวดล้อมจากการทํางานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา เช่น สถาปัตยกรรม วิศวกรรม การออกแบบ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ แพทยศาสตร์ และนิเวศวิทยา เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่ครอบคลุม และต่อยอดและประยุกต์ใช้ในโครงการอสังหาริมทรัพย์จริง เพื่อสร้าง Well-being รวมไปถึงการฟื้นฟูและรักษาสภาพแวดล้อมให้สมดุล ความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปัจจุบันไปจนถึงอนาคต เพื่อสร้างความยั่งยืน การปรับตัว อยู่รอด และเติบโต ตลอดจนความอยู่ดีมีสุขของทุกชีวิต


คอลัมน์ Home Expert นิตยสารบ้านและสวน มี.ค.2566

เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม, RISC, MQDC


การปรับบ้านเพื่อสุขภาวะที่ดี ตามหลัก WELL Building Standard

ออกแบบบ้านให้รู้สึกโปร่งสบาย ด้วยหลักวิทยาศาสตร์

ติดตามบ้านและสวน