ระเบียงไม้ ช่วยสร้างบรรยากาศให้สวนดูอบอุ่นขึ้น และเพิ่มพื้นที่ใช้สอยรองรับกิจกรรมกลางแจ้งได้เป็นอย่างดี
นอกจากการดูแลรักษาให้ ระเบียงไม้ สวยงามได้นานการเลือกใช้วัสดุและโครงสร้างก็มีส่วนสำคัญในการยืดอายุการใช้งาน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นภายหลัง
วัสดุไม้จริงที่เหมาะกับงานกลางแจ้ง
ไม้จริงแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ไม้เนื้อแข็งและไม้เนื้ออ่อน โดยไม้เนื้ออ่อนสามารถทนแรงได้น้อยกว่า 600 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร ได้แก่ สน ยาง ต่างจากไม้เนื้อแข็งที่ทนแรงได้มากกว่า 600 กิโลกรัม ต่อตารางเซนติเมตร ที่นิยมใช้ทั่วไป ได้แก่ เต็ง รัง ประดู่ แดง มะค่าโมง ตะเคียนทอง
สำหรับไม้สักนั้น จัดอยู่ในกลุ่มไม้เนื้ออ่อน แต่เนื้อไม้แน่นละเอียด มีความทนทานกว่าเนื้อไม้แข็งบางชนิด สามารถนำมาจัดแต่งและแกะสลักได้ง่าย จึงนิยมนำมาทำเครื่องเรือน หรือพื้นภายในอาคารมากกว่าใช้ทำพื้นภายนอก ดังนั้นถ้ากล่าวถึงไม้ที่เหมาะสำหรับงานกลางแจ้งที่ยังหาได้ในปัจจุบัน คือ เต็ง แดง โดยไม้เต็งเป็นไม้มาตราฐานที่มีคุณภาพสมราคา หาซื้อง่าย
วิธีแก้ปัญหาการยืดหดตัวของไม้
ส่วนใหญ่ไม้อบมักใช้ทำพื้นหรือผนังในงานตกแต่งภายในอาคาร เพื่อป้องกันการขยายตัวจากความชื้นทั้งภายในเนื้อไม้เองและสภาพแวดล้อมภายนอก แต่ก็เป็นการยากสำหรับการสังเกตว่าไม้ผ่านการอบแห้งมาแล้วหรือไม่ นอกจากต้องน้ำเข้าเครื่องวัดความชื้นเท่านั้น ดังนั้นงานไม้สำหรับภายนอก เราจึงไม่นิยมใช้ไม้อบมาทำพื้น แต่มักแก้ปัญหาการยืดหดตัวด้วยการตีเว้นร่อง 2-3 มิลลิเมตร เพื่อป้องกันการขยายตัวเบียดกัน
ขนาดไม้สำหรับพื้นภายนอก
ปกติเรานิยมใช้ไม้เนื้อแข็งมาปูพื้น ซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดมาตราฐานที่ 1×4 นิ้ว 1×6 นิ้ว 1×8 นิ้ว แต่ถ้าเป็นไม้สักหรือไม้แดง เราสามารถสั่งตัดให้มีขนาดกว้างกว่า 5 นิ้วก็ได้ บางท่านต้องการความคงทนแข็งของพื้นระเบียงภายนอกมากกว่าปกติ จึงเลือกไม้ทำพื้นที่มีความหนา 1 1/2×6 นิ้ว เพราะทนทาน แต่มีราคาค่อนข้างสูง นอกจากนี้ก่อนนำไม้มากรุพื้นควรไสผิวให้เรียบเสมอกันอย่างน้อย 3 ด้าน คือ ส่วนของสันไม้และผิวหน้าด้านบน ส่วนผิวหน้าอีกด้านไม่ต้องไสก็ได้ เพราะเรากลับด้านลงกับพื้น ช่วยคงความหนาของแผ่นไม้เอาไว้ ดังนั้นไม้ทุกแผ่นที่นำมาใช้ปูพื้นไม้จะมีขนาดบางกว่าขนาดที่ระบุ อีกปัญหาที่เราพบเสมอคือ ไม้เต็งมักจะเป็นไม้ที่มีอายุน้อยและมีรอยแตกตามเนื้อไม้ บ้างก็มีกระพี้ มีชั้นเปลือกไม้อยู่ ซึ่งแตกต่างจากไม้แดงที่มีความสมบูรณ์ของเนื้อไม้มากกว่าและมักไม่มีรอยแตก
เรื่อง : วรวิทย์ อังสุหัสต์