บ้านสวนชั้นเดียว พื้นที่สร้างความสุขเรียบง่ายจากการปลูกต้นไม้
บ้านสวนชั้นเดียว พื้นที่ทดลองปลูกต้นไม้และใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ก่อเกิดความสุขเรียบง่ายจากการปลูกต้นไม้ เรียนรู้สมดุลธรรมชาติแบบค่อยเป็นค่อยไป
คืนสมดุลให้ชีวิตที่พักอาศัยในเมือง ด้วยการออกมาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ซึ่งขับรถเพียง 20 นาทีจากกลางสุขุมวิทก็มาถึงบ้านสวนย่านกรุงเทพกรีฑาที่เหมือนได้มาอยู่ต่างจังหวัด คุณบี้-พงศ์เทพ คุณตุ่ย-วิวรรณ และน้องแพม-พริมา อุทัยสินธุเจริญ ครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูกได้เปลี่ยนที่ดินเดิมขนาด 2 ไร่ ให้กลายเป็นสวนฟีล “สวนสาธารณะที่ร่มรื่น” ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่ทดลองปลูกต้นไม้พันธุ์ต่างๆ ผัก สมุนไพร พรรณไม้พื้นถิ่น พรรณไม้หายาก รวมถึงเป็นสนามวิ่งเล่นของสุนัขทั้ง 3 ตัว และเป็นพื้นที่พักผ่อนกายและใจของครอบครัว ให้ได้ซึมซับกลิ่นดิน ไอแดด ลมโชย ใช้ชีวิตตามเวลาของธรรมชาติที่เคลื่อนคล้อยช้าๆ จากแดดเช้าสดใส สู่ยามแสงโรยระบายสีท้องฟ้าที่มองได้กว้างเต็มตาให้สวยไม่ซ้ำกันสักวัน บ้านสวนชั้นเดียว
เปลี่ยนที่หนองน้ำเป็นบ้านสวน
เมื่อเจ้าของบ้านที่ใกล้วัยเกษียณและชื่นชอบการปลูกต้นไม้ทำสวน ได้มาสำรวจที่ดินเดิมที่ปล่อยไว้นาน ซึ่งพบว่ากลายเป็นหนองน้ำและมีขยะเต็มพื้นที่ จึงคิดจะมาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์ โดยทำเป็นพื้นที่ปลูกผักทำสวน และมีเรือนพักขนาดกะทัดรัด มีห้องทำงานที่สามารถปรับเป็นที่นอนได้ เผื่อสำหรับมาพักเป็นครั้งคราวหรือใช้รับรองญาติมิตร และรองรับการใช้งานสำหรับผู้สูงอายุ โดยเริ่มต้นจากการนำขยะออกจากพื้นที่ก่อน จากนั้นถมดินแล้วจึงทำกำแพงกันดินและล้อมรั้วโดยรอบ “คุณตุ่ย ภรรยาเป็นคนชอบปลูกต้นไม้ คอนโดที่อยู่ปัจจุบันก็ปลูกพืชผักบ้าง แต่ไม่ได้มาก พอเริ่มมีเวลาเว้นว่างจากงานประจำ จึงตัดสินใจที่จะปรับปรุงที่ดินผืนนี้มาทำสวน เพื่อที่จะได้มาใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ” คุณบี้จึงปรึกษาสถาปนิก คุณโป้ง-พิเนต บุณยรัตพันธุ์ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทตั้งแต่วัยเยาว์ และได้ คุณต้น -ณัฐพล ศิริพันธ์ ภูมิสถาปนิก มาวางผังบริเวณและออกแบบบ้านพัก
พื้นที่ต้นไม้ใหญ่ๆ พื้นที่บ้านเราเล็กๆ
เจ้าของเน้นพื้นที่ทำสวน จึงเริ่มจากการออกแบบผังบริเวณเพื่อจัดโซนการใช้งานก่อน และทำคู่ขนานไปกับการออกแบบบ้านพัก โดยออกแบบทางเดินเป็นวงให้เดินได้รอบที่ดินและกระจายไปยังจุดต่างๆทั่วพื้นที่ พร้อมทำระบบระบายน้ำโดยรอบ เมื่อเตรียมพื้นที่แล้วจึงสร้างบ้านพักคนงาน ห้องเก็บของ โรงเรือนปลูกผัก เรือนกระจก ส่วนบ้านพักนั้นสร้างทีหลังสุด
เมื่อผู้ออกแบบเข้ามาสำรวจพื้นที่พบว่าได้ถมที่ดินสูงจากระดับดินเดิมประมาณ 1.20 เมตรแล้ว ทำให้สูงกว่าระดับถนน 70 เซนติเมตร แม้เจ้าของบ้านจะระบุให้ถมด้วยดินที่ใช้ปลูกต้นไม้เป็นหลักแล้วก็ตาม แต่เมื่อปลูกไม้ยืนต้นพบว่าบางบริเวณปลูกต้นไม้ไม่รอด เพราะดินถมมักจะมาจากหลายที่ ไม่รู้แหล่งที่มาแน่นอน และมักเป็นดินชั้นล่างที่มีค่าความเป็นด่างสูง ระบายน้ำไม่ดี
แก้ปัญหาดินให้คืนสมดุล
คุณต้น ภูมิสถาปนิก ได้แนะนำว่า “ปัญหาหนึ่งของพื้นที่นี้คือการระบายน้ำใต้ดิน นอกจากเรื่องคุณภาพดินแล้ว อย่างบริเวณที่มีการก่อสร้างจะทำให้ดินแน่นเกินไป การปลูกต้นไม้ใหญ่บริเวณนั้นจึงต้องขุดหลุมปลูกให้กว้างกว่าปกติ เพื่อปรุงดิน และทำระบบระบายน้ำโดยยกระดับดินปากหลุมขึ้นมาเป็นเนิน และบางจุดต้องสอดท่อระบายน้ำช่วยให้ระบายน้ำได้ดีขึ้น แต่ถ้ายังไม่รอดก็ต้องทำระบบระบายน้ำใต้ดินที่ก้นหลุมต่อไปยังบ่อพักระบายน้ำ อีกทั้งการทำระบบรดน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จะทำให้น้ำที่ใช้มีคุณค่าทางอาหารมากกว่าน้ำประปา”
ก่อนหน้านี้เจ้าของบ้านเคยลงไม้ล้อมต้นใหญ่แล้ว แต่ตายไปหลายต้น จึงเปลี่ยนมาลงต้นไม้ขนาดกลางให้ค่อยๆปรับตัวและโตไปกับพื้นที่ โดยเลือกพันธุ์พื้นถิ่นที่ทนสภาพดินระบายน้ำไม่ดีได้ ซึ่งคุณตุ่ยจะเลือกพรรณไม้ที่ชอบแล้วมาปรึกษาผู้ออกแบบ มีหลายต้นที่คุณตุ่ยเพาะเมล็ดเอง ก็จะแข็งแรงและปรับตัวเข้ากับดินได้ดีกว่า
บ้านอยู่สบาย ป้องกันสัตว์เลื้อยคลานได้
“บ้านมีพื้นที่ใช้สอยโดยรวมประมาณ 220 ตารางเมตร ออกแบบตามความต้องการของเจ้าของบ้านที่เน้นความ ‘โปร่ง โล่ง เรียบ’ โดยอยากให้ภายในบ้านอยู่สบายคล้ายบ้านไทย จึงออกแบบบ้านให้มีเฉลียงล้อมรอบสำหรับนั่งเล่นและทำกิจกรรมได้ และเพิ่มระยะที่ช่วยลดความร้อนแผ่เข้ามาในบ้าน พร้อมทำชายคายื่นยาว ส่วนสำคัญของการป้องกันความร้อนคือ ใช้หลังคาที่มีฉนวนกันความร้อน”
สถาปนิกเลือกใช้หลังคาเมทัลชีตแบบแซนด์วิชที่มีฉนวนพียูโฟมหนา 3 นิ้ว และเพดานส่วนระเบียงสามารถโชว์ท้องหลังคาได้โดยไม่ต้องทำฝ้าเพดานปิด จึงลดงบประมาณได้ส่วนหนึ่ง
ภายในบ้านเป็นโถงเปิดโล่งสำหรับนั่งพักผ่อนและรับประทานอาหาร มีห้องทำงานที่ปรับเป็นที่นอนได้ และแยกห้องครัวออกไปด้านหลังแบบบ้านไทย เฉลียงรอบบ้านนอกจากเป็นทางเดินแล้วยังออกแบบให้มีความสูง 55 เซนติเมตร ให้นั่งพอดีกับการนั่งห้อยขาได้ พร้อมทำฐานของพื้นเว้าเข้าไปเพื่อกันสัตว์เลื้อยคลาน และทำให้เกิดเงาใต้อาคารที่ดูเหมือนลอยขึ้นจากพื้นดิน พื้นโดยรอบบ้านโรยหินเกล็ดในระยะที่เกินชายคา เพื่อให้น้ำฝนไหลลงที่หินเกล็ดและไม่เซาะดินเสียหาย
สมดุลธรรมชาติ สมดุลชีวิต
สวนของบ้านกำลังเติบโตไปพร้อมๆความสุขและการเรียนรู้ของครอบครัว โดยเฉพาะคุณตุ่ยที่รักการปลูกต้นไม้ “ชอบปลูกต้นไม้พื้นบ้าน ปลูกพืชผักสมุนไพรที่ใช้ในบ้าน อย่างกระเทียม ต้นหอม ตะไคร้ ชะอม โหระพา ที่ชอบมากคือต้นกระถินได้เก็บกินบ่อยๆ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ทำปุ๋ยหมักจากเศษวัชพืชเอง ส่วนไม้ยืนต้นชอบชัยพฤกษ์ ราชพฤกษ์ กัลปพฤกษ์ และพรรณไม้โบราณ มีบางต้นก็เพาะเมล็ดเอง เราอยากให้เป็นสวนที่ให้ความรู้สึกคล้ายสวนสาธารณะที่ร่มรื่น มีต้นไม้หลากหลาย”
ไม่ว่าจะมีชีวิตทันสมัยหรืออยู่กับเทคโนโลยีที่สะดวกสบายแค่ไหน เราก็ยังชอบที่จะอยู่กับธรรมชาติแบบเรียบง่าย ปลูกพืชผักเท่าที่กินที่ใช้ มีเหลือแจกจ่ายเพื่อนๆ ได้เรียนรู้ธรรมชาติ เฝ้ามองการเติบโตและการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตที่ช่วยกันรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และธรรมชาติจะก็กลับมาปลอบโยนร่างกายและจิตใจของเราให้ค่อยๆกลับสู่สมดุลเช่นกัน
เจ้าของ : คุณพงศ์เทพ คุณวิวรรณ และคุณพริมา อุทัยสินธุเจริญ
ออกแบบสถาปัตยกรรม – ตกแต่งภายใน : คุณพิเนต บุณยรัตพันธุ์ โทรศัพท์ 09-6974-5992
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม : คุณณัฐพล ศิริพันธ์
คอลัมน์บ้านสวย นิตยสารบ้านและสวนฉบับมีนาคม 2566
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
ผู้ช่วยช่างภาพ : ณัฐวรรธน์ ไทยเสน
สไตล์ : Suntreeya