สวนป่ากลางเมืองที่เต็มไปด้วยพรรณไม้ พร้อมให้ความรู้เรื่องต้นไม้

ท่ามกลางเมืองที่วุ่นวายหลายคนคงคิดถึงธรรมชาติ คิดถึงเสียงน้ำ หามุมที่เงียบสงบ เหมือนได้หลุดออกจากบรรยากาศแบบเดิม ๆ แค่เพียงชั่วครู่ก็ยังดี เพราะ อาจยังไม่มีเวลาว่างมากพอที่จะออกไปหาธรรมชาติในต่างจังหวัด

วันนี้ บ้านและสวน จึงจะขอพาคุณมารู้จักกับ แพลนท์เนอรี กรีน คาเฟ่ (Plantnery Green Café) คาเฟ่ที่มาในคอนเซ็ปต์ สวนป่าในเมือง ที่ไม่เพียงแค่ให้ความชุ่มชื่นด้วยความเขียวของต้นไม้ แต่ยังมีพรรณไม้หายากนานาชนิด และพร้อมให้ความรู้เรื่องพรรณไม้อีกด้วย

เมื่อมาถึงทีมงานเห็นหน้ารั้วประตูคาเฟ่ที่ปิดมิดชิด มีไม้พุ่มเป็นกำแพงจนมองไม่เห็นป่าที่ซ่อนไว้อยู่ด้านใน แต่เมื่อเปิดประตูเข้าไปแล้ว ด้วยตัวอาคารที่เป็นกระจกใสโดยรอบ มองออกไปเห็นโซนเอาท์ดอร์ทั้งหมด ก็ทำให้เราได้เห็นสวนป่าที่อุดมสมบูรณ์ ความสวยงามของธรรมชาติที่น่าทึ่ง เสมือนได้เข้ามาอยู่ในป่าจริง คุณเฉลิมเกียรติ เทียมประเสริฐ เจ้าของร้าน เล่าว่า “ภรรยาของผม คุณจริยาเป็นคนที่ชื่นชอบต้นไม้ และชอบความเป็นธรรมชาติมาก ทุกครั้งที่มีเวลาก็จะหาโอกาสไปท่องเที่ยวตามป่าหรือคาเฟ่ที่มีสวนสวย ๆ ในต่างจังหวัด เลยเกิดความรู้สึกและคำถามว่าทำไมกรุงเทพไม่มีที่แบบนี้เลย ถ้าเราอยากเห็นทีเราต้องไปถึงต่างจังหวัด จากนั้นเราเลยคุยกันว่าอยากทำสวนสวย ๆ ในพื้นที่ที่ได้แชร์ความสุขให้คนอื่นด้วย บวกกับความคิดที่เราเคยอยากทำร้านกาแฟที่เต็มไปด้วยต้นไม้ที่เราอยากได้ มีสวนที่เราอยากเห็นจึงกลายมาเป็นโปรเจ็กต์ของร้านกาแฟนี้ แต่การจะทำสวนสวยให้เป็นดั่งภาพในหัวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เราเลยตามหานักจัดสวนสไตล์ทรอปิคัลตรงกับแนวที่เราต้องการ โชคดีที่โชคชะตานำพาเราไปรู้จักกับ อาจารย์ อาจินต์ เกิดพิพัฒน์ นักจัดสวนที่ฝากผลงานไว้ ณ ร้านข้าวเม่า-ข่าวฟ่าง ป่าในจินตนาการ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในร้านที่เราได้เคยไปเยี่ยมชมแล้วเกิดแรงบันดาลใจในการทำสวนป่าคาเฟ่ครั้งนี้

ตัวอาคารที่เป็นกระจกโดยรอบทั้งหมดแต่ไม่มีแสงแดดส่องให้ความร้อน เพราะตำแหน่งการวางต้นไม้ใหญ่ และสวนป่าบดบังแสงแดดให้กับตัวอาคาร

อาจารย์อาจินต์ เกิดพิพัฒน์ นักจัดสวน เล่าถึงการออกแบบสวนป่าแห่งนี้ให้ฟังว่า “ในการจัดสวนจะเริ่มออกแบบมุมมองของพื้นที่ตั้งแต่โฟร์กราวด์ อย่าง ตรงประตูจะสร้างให้มีความเล้นลับ โดยออกแบบประตูให้มีความทึบปิดทุกอย่างไว้ทั้งหมด เพื่อที่เปิดเข้ามาแล้วอยากให้รู้สึกเหมือนกับหลุดไปอีกโลกหนึ่ง ได้สัมผัสกับสวนป่า ได้ผายปอดแบบกว้าง ๆ ส่วนแบ็คกราวน์ใช้เป็นไม้พุ่มเรียงกัน และมีมิดเดิลกราวน์คือส่วนที่เป็นลานเป็นตัวเชื่อมที่ทำให้มองเห็นทุกอย่างได้ทั้งหมด โฟร์กราวด์ มิดเดิลกราวน์ แบ็คกราวน์ สามอย่างนี้ตามสเต็ปของการออกแบบ” 

น้ำตกสูงที่ไหลทอดลงมาเป็นชั้นๆ มีระดับลดหลั่นกันไปสร้างความเคลื่นไหวในสวนป่า

การออกแบบและการวางโซนนิ่งอย่างละเอียดในแต่ละโซน เริ่มจากลานเชื่อมที่เป็นไม้ต่อจากตัวอาคารที่คุมโทนเป็นสีเขียวดูเป็นธรรมชาติ เดินเชื่อมไปยังมุมนั่งข้างน้ำตกที่เห็นน้ำตกสูงไหลทอดลงมาเป็นชั้น ๆ เป็นลำธารอยู่รอบสวน น้ำใสจนเห็นปลาคราฟสีสวยงาม มีสะพานข้ามลำธารไปยังลานตรงกลางที่ให้ความรู้สึกเหมือนป่าโอบล้อม มีระบบพ่นหมอกที่ติดตั้งอยู่ทั่วบริเวณ เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศให้ชุ่มชื้นและเย็นเหมือนป่า

ผมตั้งใจให้เป็นแบบนี้แหละครับ ธรรมชาติต้องรู้สึกแบบนี้ ตอนผมเรียนอยู่มหาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ผมชอบเข้าไปในป่านั่งมองต้นไม้เป็นวัน ๆ แล้วเกิดคำถามว่า ทำไม้ต้นไม้ถึงขึ้นตรงนี้ ? ทำไมหลังก้อนหินก้อนนี้ถึงมีต้นไม้ขึ้นตรงนี้ ? จากนั้นผมก็เก็บความทรงจำที่ได้จากวันนั้นมาลอกเลียนใช้กับงานของเรา” ธรรมชาติถึงขั้นว่ามีสัตว์มาอาศัย มีกระรอกวิ่งไปมา มีเต่ามาวางไข่หลังต้นไม้ มีนกมาทำรัง ทุกอย่างดูเป็นธรรมชาติมาก

อาจารย์อาจินต์พูดถึงพรรณไม้ที่นำมาใช้ในสวนให้ฟังว่า “การออกแบบสวนป่าสำคัญเลยคือการเลือกต้นไม้ ผมเลือกใช้พรรณไม้หลากหลายชนิดไม่ซ้ำกัน ต้นไม้ที่นำมาใช้ผมจะไม่ค่อยเลือกต้นไม้ที่เป็นใบใหญ่ เพราะ อยากได้ผิวสัมผัสที่ละเอียดและมีความนุ่มนวล ใช้ต้นไม้ที่มีลีลา อ่อนช้อย มองมุมไหนก็ไม่เบื่อ อย่างเช่น ต้นมะพลับ ต้นมะค่าแต้ ต้นสารภี ต้นเสี้ยวป่า”  

อีกหนึ่งจุดเด่นของสวนป่านี้ ที่ทำให้เรายิ่งรู้สึกเหมือนอยู่ป่าจริง ๆ คือ การมีเจ้าป่า หรือต้นไม้ใหญ่ที่วางเป็นประธานอยู่กลางสวนอย่างโดดเด่น จนไม่ว่าใครที่แวะมาก็ต้องทำท่าโอบกอดเพื่อสัมผัสและรู้สึกถึงพลังของธรรมชาติ “มันเหมือนกับเราอยู่ในบ้านหรือที่ไหนสักที่ แม้กระทั่งในป่าก็ต้องมีผู้นำ มันจะต้องมีประธานของสวน ผมเลยได้ต้นตะแบกต้นใหญ่มาวางไว้ในมุมนึง ให้เหมือนกับว่ามันเป็นเจ้าป่าของที่นี่”

ต้นตะแบกต้นใหญ่ ที่ทำหน้าที่เป็นไม้ประธานของสวน ไม่ว่าใครที่มาก็ต้องสะดุดกับมุมนี้ อยากเข้าไปสัมผัสใกล้ๆให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ป่าจริงๆ

ต้นไม้หลากพรรณทั้งไม้ต้นและไม้พุ่มที่มีทั้งคุ้นเคยและแปลกตามากมายไปหมด ทุกต้นมี QR Code ซ่อนอยู่ เมื่อนำโทรศัพท์มือถือมาสแกนก็จะพบกับข้อมูลของต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็น ชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อวงศ์ รวมถึงประโยชน์และการปลูก ความน่าสนใจของการมาคาเฟ่จึงไม่ใช่แค่ให้เราชมความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้เราได้ทำความรู้จักกับต้นไม้ไปด้วย

คุณเฉลิมเกียรติเจ้าของร้านเล่าว่า “ผมได้พานักศึกษาวนศาสตร์มาช่วยเรียบเรียงข้อมูลพรรณไม้ ซึ่งตอนแรกไม่ได้ตั้งใจว่าจะต้องมีตรงนี้ แต่ด้วยต้นไม้ที่อาจารย์นำมาใช้ในการจัดสวนมีหลากหลายมาก ทำให้พักหลังเริ่มจำชื่อต้นไม้ไม่ได้ เลยนึกถึงคนอื่นที่มาว่าเค้าคงอยากรู้ชื่อต้นไม้เหมือนกัน อีกทั้งถ้ารู้ชื่อไปแล้วคงอยากรู้มากกว่านั้น ทำให้ผมเกิดความคิดว่านอกจากให้ความสวยงามแล้วยังอยากให้ความรู้ด้วย … จากเดิมที่เป็นป้ายตัวหนังสือเยอะแยะไปหมด แต่คนไม่ค่อยสนใจมันคือการที่เราป้อนเค้ามาก ผมเลยใช้เป็นคิวอาร์โค้ดไปแอบซ่อนตรงซอก ๆ เพื่อให้คนที่อยากรู้จริง ๆ ได้หาความรู้ นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนที่อยู่ใกล้ ๆ หากอาจารย์อยากให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ธรรมชาติก็จะได้ไม่ต้องไปไกล มาที่คาเฟ่ให้เค้าได้สนุกกับการหาความรู้จากคิวอาร์โค้ดได้เลย”

ต้นไม้ในสวนเน้นใช้เป็นลีลาอ่อนช้อยสวยงาม เกิดความรู้สึกพลิ้วไหวตามธรรมชาติของป่า ทางเดินเป็นหินแกรนิตโรยกรวดก้อนกลมปกคลุมอยู่ด้านข้าง ช่วยให้พื้นดูมีความต่อเนื่องกันอย่างลงตัว

สวนนี้เพิ่งเสร็จเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2566 เป็นระยะเวลาแค่หนึ่งเดือนจากวันที่เราไปสัมภาษณ์ แต่คนที่ได้มาเยี่ยมเยือนมักจะตั้งคำถามว่าสวนนี้เสร็จมากี่ปีแล้ว บรรยากาศดูเป็นป่า เป็นธรรมชาติที่น่าจะมีมานานแล้ว เนื่องจากสวนใหม่ ๆ ทั่วไปที่เราพบเห็นมักจะต้องมีไม้ค้ำยันต้นไม้ แต่เมื่อมาที่นี่เรากลับไม่เห็นไม้ค้ำยันของต้นไม้เลย จึงทำให้ยิ่งรู้สึกเหมือนว่าต้นไม้ทุกต้นมีมานานแล้ว “ถ้าสังเกตที่โคนต้นไม้ดีดี จะเห็นโครงสร้างของรากเทียมที่อิงแอบแนบโคนต้นไว้ซึ่งทุกอย่างก็จะมีลักษณะการทำงานคล้ายไม้ค้ำ ทั้งตำแหน่งและองศาที่เสาเข็มต้องอยู่ รากเทียมก็เหมือนกัน จุดรับน้ำหนักเอียงไปกับลำต้นหรือไม่ก็มุดไปอยู่ใต้ดิน ส่วนวัสดุด้านในเป็นเหล็กหน้าตัดขนาดสองนิ้ว ที่มีความยาวคืบนึงหรือประมาณ 20 – 30 ซม. โดยที่แต่ละอันจะไม่เท่ากัน เพื่อนำมาเป็นต่อกัน ดัดให้อ่อนช้อยมีความหยักไปหยักมา จากนั้นบริเวณผิวด้านนอกก็จะใช้เทคนิคการลอกเลียนแบบผิวสัมผัสและสีของต้นไม้ที่เราจะค้ำยัน เช่น ถ้าเราจะค้ำต้นพะยอม เราก็จะนำเปลือกของต้นพะยอมมาทำเป็นต้นแบบสำหรับต้นพะยอมโดยเฉพาะ ซึ่งการทำรากเทียมนี้นอกจากจะทำสีและผิวสัมผัสบริเวณด้านนอกให้ใกล้เคียงของจริงแล้ว ข้างในก็ยังเป็นสีของเนื้อไม้ชนิดนั้น ๆ ด้วย เพราะ เราละเอียดถึงขั้นว่าผสมสีเข้าไปในเนื้อปูน” อาจารย์อาจินต์เผยเทคนิคศิลปะในการทำคำยันต้นไม้อย่างแนบเนียน

ศิลปะของการค้ำยันด้วยรากเทียมที่ดูแนบเนียนไปกับต้นไม้ มองไม่เห็นรอยต่อหรือตัวค้ำแม้แต่น้อย  ยิ่งให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติโดยไม่มีการประดิษฐ์

“ตัวผมนี่เป็นคนต่างจังหวัดนะครับ ตัวเจ้าของร้านเองคุณเฉลิมเกียรติรวมถึงภรรยาและเพื่อนเค้าที่ช่วยกันทำร้านนี้ก็เป็นคนต่างจังหวัด พวกผมในวัยเด็กได้อยู่กับธรรมชาติ เราเอาประสบการณ์ในวัยเด็กที่เราวิ่งเล่นในป่า ปีนต้นไม้ มาผสมกับงานศิลปะในการออกแบบ ทุกอย่างมันเลยเป็นสิ่งที่เราทำด้วยใจ เราเห็นผลตอบรับของคนที่มา เห็นรอยยิ้มของเค้าที่บ่งบอกถึงความสุขก็ยิ่งรู้สึกประทับใจมาก อย่าง ลูกค้าท่านหนึ่งที่แวะมาแล้วบอกว่าเค้าอยากมาทุกฤดูเลย เพราะอยากดูความสวยงามของต้นไม้แต่ละต้น อยากดูการเจริญเติบโตของต้นไม้ในแต่ละฤดู หรือถ้าหากวันไหนที่ฝนตกก็อยากแวะมา เห็นบรรยากาศของป่าฝน หรือบางคนก็มานั่งเล่นตั้งแต่เช้าจนถึงมืดเลย เพราะ เค้าบอกว่าเค้ามีความสุขมากที่ได้สัมผัสธรรมชาติและความสงบ นอกจากนี้ ผู้สูงวัยที่นั่งวิวแชร์ที่ไม่มีโอกาสได้ไปเที่ยวต่างจังหวัด เมื่อมาที่นี่ก็ได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ เหมือนได้เข้าป่าชมธรรมชาติ จริง ๆ โดยที่ไม่ต้องไปไหนไกล” คุณเฉลิมเกียรติ เจ้าของร้านกล่าวทิ้งท้าย

ตัวอาคารเลือกใช้เป็นโทนสีเขียวหลายเพื่อให้ดูกลมกลืนกับธรรมชาติในแบบที่ต้องการ
จัดวางต้นไม้ฟอร์มสวยประดับไว้ในอาคาร เพื่อให้รู้สึกกลมกลืนและเชื่อมต่อกับพื้นที่ธรรมชาติโดยรอบ

หากใครที่กำลังมองหาสถานที่สวย ๆ บรรยากาศดีดี ลองแวะมาที่ แพลนท์เนอรี กรีน คาเฟ่ (Plantnery Green Café) กันได้นะคะ แล้วคุณจะได้สัมผัสกับสวนป่าในบรรยากาศแบบธรรมชาติ ที่ซ่อนอยู่ไม่ไกล แค่แจ้งวัฒนะ-เมืองทอง เท่านั้นเอง

เจ้าของ : คุณเฉลิมเกียรติ เทียมประเสริฐ  คุณทำนุ ปัตตนุกูล  และคุณโอฬาร วิวัฒน์ศรีไพรบูล

ออกแบบ : อาจารย์ อาจินต์ เกิดพิพัฒน์

เรื่อง : รีฌา ภักดิ์นมัสการ

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ