เมื่อก่อสร้างบ้านแล้วมีปัญหาจะ เลิกสัญญาก่อสร้าง ฟ้องร้อง ต้องทำอย่างไร มีอายุความกี่ปี หรือหากไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือจะฟ้องร้องได้ไหม
เลิกสัญญาก่อสร้าง เรียกค่าเสียหาย เรียกเงินคืน
ตราบใดงานที่ว่าจ้างยังไม่เสร็จ เจ้าของบ้าน(ผู้ว่าจ้าง)จะบอก เลิกสัญญาก่อสร้าง ก็ได้ แม้ผู้รับเหมา(ผู้รับจ้าง)จะไม่ได้ผิดสัญญา แต่เจ้าของบ้านต้องเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับเหมา ตามความเสียหายที่เกิดในการเลิกสัญญานั้น ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 605 นั้นมิได้จำกัดเฉพาะค่าแรงงานและทุนที่ลงไปเท่านั้น แต่รวมไปถึงค่าขาดผลประโยชน์หรือผลกำไรที่ผู้รับเหมาควรจะได้รับจากกิจการงานนั้นด้วย (ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8394/2538)
- เจ้าของบ้านบอกเลิกสัญญา กรณีที่หนังสือสัญญาจ้างทั้งสองฝ่ายมิได้ยึดถือระยะเวลาตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ(ไม่ได้มีการกำหนดเวลาชัดเจน หรือต่างฝ่ายต่างไม่ยึดถือเวลาตามที่ตกลงกันไว้) และผู้รับเหมาได้ทำผิดสัญญา โดยส่งมอบล่าช้าเกินกว่าที่กำหนดในสัญญา ถ้าเจ้าของบ้านต้องการบอกเลิกสัญญา จะไม่สามารถบอกเลิกสัญญาทันทีได้ ต้องกำหนดระยะเวลาให้ผู้รับเหมาปฏิบัติงานและมีระยะเวลาทำงานพอสมควร หากล่วงเลยระยะเวลาที่กำหนดนั้นแล้วผู้รับเหมายังคงเพิกเฉย เจ้าของบ้านจึงสามารถใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้
- หากผู้รับเหมาผิดสัญญา นอกจากเจ้าของบ้านจะเรียกเงินค่าจ้างที่ได้ชำระไปล่วงหน้าคืนแล้ว ยังมีสิทธิเรียกเบี้ยปรับเพราะเหตุส่งมอบงานล่าช้า ค่าเสียหายกรณีชำรุดบกพร่อง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ เนื่องจากการผิดสัญญา ค่าเสียหายที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการจ้างผู้รับเหมารายใหม่ ค่าเสียหายอื่น ๆ ที่เกิดจากการผิดสัญญาทั้งหมด แล้วแต่กรณี
ถ้าสัญญาไม่ได้ทำเป็นหนังสือ ฟ้องร้องได้ไหม
การว่าจ้างหรือรับจ้างก่อสร้างบ้าน ตกแต่งภายใน ออกแบบอาคาร หรือทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยถือผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ ถือเป็นสัญญาจ้างทำของ โดยผู้รับเหมามีหน้าที่กระทำการตามที่ตกลงกันจนสำเร็จผล และเจ้าของบ้านมีหน้าที่ชำระเงินให้แก่ผู้รับเหมาเป็นค่าตอบแทน
ถ้าต่อมาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงไว้ เช่น ก่อสร้างผิดแบบก่อสร้างหรือผิดไปจากที่ตกลงกันไว้ ส่งมอบบ้านล่าช้า หรือก่อสร้างยังไม่เสร็จแล้วทิ้งงานไป หรือไม่ชำระค่าจ้าง เป็นต้น เป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญา เมื่อฝ่ายนั้นประสงค์จะฟ้องร้องดำเนินคดีฝ่ายที่กระทำผิดสัญญา แต่ปรากฏว่าไม่ได้ทำสัญญาจ้างทำของไว้เป็นหนังสือ แล้วจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับอีกฝ่ายได้หรือไม่
ในเรื่องสัญญาก่อสร้าง กฎหมายไม่ได้กำหนดให้การทำสัญญารับเหมาก่อสร้างต้องทำเป็นหนังสือ เมื่อคู่สัญญาสองฝ่าย ทั้งเจ้าของบ้านและผู้รับเหมาก่อสร้างได้แสดงเจตนาตกลงตรงกันแล้ว แม้จะเป็นการตกลงกันโดยวาจา ก็ถือว่าสัญญาเกิดขึ้นแล้ว ฉะนั้น แม้สัญญารับเหมาก่อสร้าง หรือตกแต่งภายใน หรือออกแบบอาคาร จะไม่ได้ทำเป็นหนังสือ สัญญารับเหมาก่อสร้าง หรือตกแต่งภายใน หรือออกแบบอาคาร ดังกล่าวแล้วแต่กรณี ก็มีผลผูกพันคู่สัญญา คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถใช้สัญญาหรือข้อตกลงดังกล่าวแม้จะเกิดขึ้นด้วยวาจา ฟ้องร้องดำเนินคดีกับคู่สัญญาฝ่ายที่ผิดสัญญาอีกฝ่ายหนึ่งให้ปฏิบัติตามสัญญาได้
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างหรือเจ้าของบ้าน ก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้แม้ไม่ได้ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างกันเป็นลายลักษณ์อักษร โดยอาจใช้พยานบุคคล ภาพถ่าย หรือพยานวัตถุอื่นเป็นหลักฐานได้ แต่อย่างไรก็ตามในการทำสัญญาว่าจ้างรับเหมาก่อสร้าง หรือตกแต่งภายใน หรือออกแบบอาคาร ผู้เขียนแนะนำว่าผู้รับเหมาก่อสร้างหรือเจ้าของบ้านควรทำสัญญาเป็นหนังสือ เพราะการทำสัญญาเป็นหนังสือ สามารถแสดงให้เห็นถึงข้อตกลง ต่างๆได้อย่างชัดเจน ทำให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายทราบถึงสิทธิและหน้าที่ของฝ่ายตนเอง เช่น กำหนดระยะเวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จ งวดการชำระเงิน ระยะเวลารับประกัน เป็นต้น ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งสองฝ่าย และยังช่วยลดโอกาสเกิดข้อพิพาทขึ้นในอนาคตด้วย
ข้อกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- มาตรา 587 อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
เมื่องานก่อสร้างเกิดปัญหา ต้องร้องเรียนใคร
เมื่อผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้าง แล้วหยุดดำเนินการก่อสร้าง ละทิ้งงาน ถือว่าผู้รับเหมาผิดสัญญา เจ้าของบ้านต้องทำหนังสือบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหาย ซึ่งเจ้าของบ้านสามารถเอาผิดหรือร้องเรียน ได้ดังนี้
- ขอนัดไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทต่อหน่วยงาน เช่น ศาลยุติธรรม ศูนย์ไกล่เกี่ยวข้อพิพาทของหน่วยงานรัฐ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ศูนย์ดํารงธรรม กระทรวงมหาดไทย
- ปรึกษาสภาทนายความ
- ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยเจ้าของบ้านร้องเรียนด้วยตนเองที่ สคบ. ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ สายด่วน สคบ. 1166. หรือแอปพลิเคชัน OCPB Connect.
- ฟ้องร้องคดีต่อศาลยุติธรรม เป็นคดีผู้บริโภคในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บริโภค
อายุความ
- เจ้าของบ้านฟ้องเรียกผู้รับเหมาให้รับผิดในความชำรุดบกพร่องมีกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ความชำรุดปรากฏขึ้น
- ผู้รับเหมาฟ้องเรียกค่าจ้าง หรือเจ้าของบ้านฟ้องเรียกเงินทดรองจ่าย มีกำหนดอายุความ 2 ปี แต่หากเป็นค่าจ้างที่ผู้รับเหมาฟ้องเรียกค่าจ้างที่เจ้าของบ้านได้ทำไปเพื่อกิจการของเจ้าของบ้านเอง เช่น ว่าจ้างเพื่อสร้างบ้านเพื่อจำหน่าย จะมีกำหนดอายุความ 5 ปี
- กรณีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาประมวลกฎหมายแพ่งไม่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะอายุความ 10 ปี
เรื่อง : คเณศร์ สร้อยสายทอง, ณัฐชาพร นิตย์โชติ – ทนายความ