รวมแบบ บ้านลอฟต์ กับแนวคิด สวย ดิบ เท่
บ้านลอฟท์ หรือบ้านลอฟต์ มักเป็นบ้านที่โชว์สัจจะวัสดุ ให้อารมณ์ดิบเท่ ซึ่งก็เป็นไปตามธรรมชาติของสไตล์ลอฟต์ที่เกิดขึ้นในยุค 1950 อันเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนในสังคมเริ่มยอมรับแนวคิดของสไตล์โมเดิร์น และระบบการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมมีบทบาทอย่างมากกับการขับเคลื่อนสังคมในยุคนั้น
ต่อมา บ้านลอฟท์ หรือ บ้านลอฟต์ ในปลายยุค 1990 เริ่มดัดแปลงไปใช้โรงงานหรือโกดังร้าง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วในยุคก่อนหน้านี้ ด้วยความเรียบง่ายของบ้านอารมณ์โรงงาน จึงเกิดเป็นแนวทางของการตกแต่งในยุคถัดมา แม้ปัจจุบันจะไม่ค่อยมีใครได้อยู่อาศัยในโรงงานแล้ว แต่เอกลักษณ์ของสไตล์นี้ยังคงปรากฏให้เห็นในงานตกแต่งภายใน โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายอย่างไม้ เหล็ก และปูน แต่ความพิเศษที่ได้มาคือสเปซที่กว้างขวางในแบบโรงงาน จึงทำให้เกิดพื้นที่สำหรับแสดงผลงานศิลปะ และเป็นแนวคิดในการออกแบบสไตล์ลอฟต์ซึ่งเหมาะกับบ้านเรา เนื่องจากวัสดุที่ใช้อย่างปูนและไม้เป็นงานที่ช่างท้องถิ่นมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว อีกทั้งโครงสร้างและรูปแบบก็ไม่ซับซ้อน ทำให้ก่อสร้างได้เร็ว สไตล์นี้จึงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในบ้านเราจนถึงปัจจุบัน มาชมตัวอย่างบ้านสวยที่ให้กลิ่นอายแบบ บ้านลอฟท์ หรือบ้านลอฟต์กัน
1. บ้านปูนเปลือยสไตล์ลอฟต์ดิบๆ ผสมความมินิมัลไว้ภายใน
- เจ้าของ : คุณเกษรา กิติสุข
- ออกแบบ : Spacelab โดยคุณธเนศ แซ่อู และคุณเกษรา กิติสุข
บ้านปูนเปลือยที่ดูดิบสไตล์ลอฟต์ แต่ผสมด้วยหลังคาทรงจั่วแบบไทยเข้ากันได้ดีกับสภาพอากาศร้อนชื้น โดยเลือกใช้เมทัลชีตซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าหลังคาทั่วไปและช่วยประหยัดเรื่องโครงสร้างไปได้ แล้วพ่นฉนวนกระดาษไว้ด้านในเพื่อป้องกันความร้อนและดูดซับเสียงรบกวนจากภายนอก ทั้งยังใช้โปรแกรมการคำนวณองศาของหลังคาให้เลี่ยงการซัดสาดของฝน เพิ่มชายคาที่กั้นแนวแสงแดดไม่ให้เข้ามาในบ้าน จึงสามารถนั่งเล่นที่ระเบียงนอกบ้านได้อย่างสบาย ส่วนพื้นที่ภายในบ้านดูเรียบโล่งแบบมินิมัล เป็นบ้านที่ไม่รก ดูแลง่าย และใช้งบก่อสร้างไม่มาก >> อ่านต่อ
2. บ้านปูนเปลือยโมเดิร์นลอฟต์ที่แสนร่มเย็น
- เจ้าของ – ออกแบบตกแต่ง: คุณมรกต – คุณปิยรัตน์ ยศธำรง
บ้านกล่องโมเดิร์นลอฟต์ที่โชว์สัจจะวัสดุของปูนเปลือยเท่ๆ โดยสร้างบ้านล้อมลำไยซึ่งอยู่กลางที่ดินมาแต่เดิม พร้อมทำช่องเปิดเพื่อนำแสงธรรมชาติเข้ามาภายใน ทำให้บ้านหลังนี้ดูมีชีวิตชีวา เพราะได้ต้นไม้มาช่วยนั่นเอง >> อ่านต่อ
3. บ้านเหล็กของครอบครัวสุขสันต์ ปรับฟังก์ชันเข้ากับพฤติกรรมผู้อยู่
- เจ้าของ : คุณสุรัฐชัย-คุณนุตร์ เชนยะวณิช
- ออกแบบ : คุณนุตร์ เชนยะวณิช และคุณจิรายุทธ ชัยจํารูญผล
บ้านโครงสร้างเหล็กนี้ดูทันสมัยสไตล์โมเดิร์นลอฟต์ โดยใช้เหล็กในส่วนของเสา คาน โครงสร้างพื้น และโครงสร้างหลังคาทำให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างรวดเร็ว ประกอบเข้ากับกระจกสูงใหญ่สลับผนังก่ออิฐโชว์แนว ผสมด้วยกลิ่นอายของงานสถาปัตยกรรมเมืองร้อน เช่นหลังคาทรงจั่วสูง ชายคาและกันสาดที่ยื่นยาวบังแดด ฝน กับความโปร่งสบายแบบไทยๆ ถ่ายทอดมาสู่ของตกแต่งบ้านที่สะท้อนตัวตนของเจ้าของ ทําให้บ้านหลังนี้ดูทันสมัยและผ่านกาลเวลาได้โดยไม่รู้สึกน่าเบื่อ >> อ่านต่อ
4. บ้านโมเดิร์นลอฟต์ที่สลับฟังก์ชันบนล่าง ให้ใช้งานได้ตรงใจ
- เจ้าของ – ตกแต่ง : คุณแดเนียล – คุณปิยะวรรณ แวลลีย์
- สถาปนิก : D Kwa Architectural Design Studio โดยคุณสาริน นิลสนธิ
บ้านโมเดิร์นลอฟต์ทรงกล่องที่ออกแบบจากวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ตัดทอนองค์ประกอบให้ดูโมเดิร์น และจัดสรรพื้นที่ภายในสลับฟังก์ชัน เปลี่ยนห้องนอนให้มาอยู่ชั้นล่างและให้พื้นที่ส่วนกลางอย่างมุมนั่งเล่นรับแขกอยู่ชั้นบนเพื่อให้ได้ชมวิวมุมสูง >> อ่านต่อ
5. ต่อเติมบ้านลอฟต์ให้เป็นคลับเฮ้าส์ของครอบครัว
- เจ้าของ : คุณชุติมา ไวศรายุทธ์
- สถาปนิก : กอปรฝัน โดยคุณอดุลย์ แก้วดี
บ้านโครงสร้างเหล็กที่ต่อเติมบนพื้นที่ข้างบ้านเก่า โดยออกแบบเป็นบ้านสไตล์ลอฟต์ที่ใช้เป็นพื้นที่สำหรับการสังสรรค์ ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกว่าเก่า อีกทั้งบรรยากาศที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ มีทั้งต้นไม้ บ่อปลาคาร์ป สายน้ำ และสายลม >> อ่านต่อ
6. บ้านปูนสองชั้นหลังคาจั่ว บ้านขนาดอบอุ่นในอ้อมกอดของผืนป่า
- เจ้าของ : คุณวราพงษ์ มาเตียง
บ้านปูนเปลือยผสมผนังก่ออิฐโชว์แนวบนพื้นที่ 70 ตารางวาหลังนี้แวดล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ เจ้าของบ้านให้โจทย์สถาปนิกว่าอยากได้บ้านโปร่ง เพดานสูง ตัวบ้านยังยกพื้นขึ้นสูง เพราะที่ดินเป็นทางน้ำไหลจึงจำเป็นต้องยกตัวบ้านขึ้นเพื่อหนีน้ำ พร้อมทำช่องหน้าต่างโดยรอบ เพื่อให้แสงและลมเข้าได้ตลอดทั้งวัน ช่วยประหยัดค่าไฟ >> อ่านต่อ
7. รีโนเวตบ้านไม้สองชั้น หน้าตาเปลี่ยนไป แต่ความทรงจำเหมือนเดิม
- เจ้าของ : คุณประเสริฐ ชัยสิทธิฤกษ์กุล และคุณภุมมรี บวรวิวุฒิ
- ออกแบบ : คุณประเสริฐ ชัยสิทธิฤกษ์กุล
งานรีโนเวตบ้านไม้สองชั้นที่มีอายุเก่าเกือบ 50 ปี เพื่อจะได้อยู่ใกล้ๆ บ้านหลังเดิมกับคุณปู่คุณย่าที่รัก โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยให้สอดรับกับวิถีชีวิตสมัยใหม่มากขึ้น และปรับแต่งหน้าตาของบ้านให้ร่วมสมัยขึ้น มีการนำวัสดุสมัยใหม่อย่างเมทัลชีตสีดำมากรุเพื่อตกแต่งผนังภายนอกและป้องกันแสงแดดยามบ่าย เปลี่ยนประตูไม้ให้เป็นโครงเหล็กกรุกระจกทำให้บ้านสว่างขึ้น แต่ภาพรวมไม่แปลกแยกจากบ้านคุณปู่คุณย่า อีกทั้งเจ้าของยังนำเฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้จากบ้านหลังเก่ามาปรับใช้เพื่อสานต่อความทรงจำและความผูกพันสู่บ้านหลังใหม่ >> อ่านต่อ
8. เล็กแบบลอฟต์ สตูดิโอเท่ในบ้านชั้นเดียว
- เจ้าของ-ตกแต่ง : คุณอุ้ม ปีกเหล็ก
บ้านชั้นเดียวขนาดย่อมในรูปทรงกล่องเรียบๆ กว้าง 5 เมตร ยาว 12 เมตร รวมพื้นที่ใช้สอยภายในไว้ 60 ตารางเมตร ที่นี่ถูกออกแบบและตกแต่งเองทั้งหมดเพื่อให้เป็นทั้งบ้านพักอาศัย สตูดิโอทำงาน ห้องเรียนศิลปะ และพื้นที่ให้เช่า ดังนั้นฟังก์ชันภายในบ้านจึงต้องพร้อมปรับเปลี่ยนและเคลื่อนย้ายได้ตามต้องการพร้อมกับมีพื้นที่กลางแจ้งสำหรับรองรับกิจกรรมนอกบ้าน >> อ่านต่อ
9. แบบบ้านเล็ก ปูนเปลือย อยู่เท่และเป็นสุข
- เจ้าของ : คุณสาริน นิลสนธิ
- ออกแบบ : Deekwa Design Studio
บ้านปูนเปลือย 2 ชั้นขนาดเล็ก มีพื้นที่ใช้สอยเพียง 100 ตารางเมตร รอบบ้านทำรั้วทึบเป็นพื้นผิวปูนเปลือยอารมณ์ดิบเท่เกือบทั้งหมด เพื่อปิดบังมุมมองจากภายนอก แต่เมื่อเข้ามาภายในบ้านจึงเป็นโถงโล่งซึ่งจัดเป็นส่วนรับแขกที่มีความสูงประมาณ 6 เมตร ฝ้าด้านบนทำผิวปูนเปลือย ใต้ท้องพื้นแผ่นหลังคาซึ่งมีความลาดชันไปตามรูปทรงหลังคาแบบเพิงหมาแหงน มองไปทางหน้าบ้านผ่านบานหน้าต่างขนาดใหญ่จะพบสวนกรวดสไตล์เซนซึ่งปลูกต้นไม้เพียงไม่กี่ต้น เทคนิคการสร้างพื้นที่คอร์ตแบบนี้ช่วยให้ภายในบ้านดูเชื่อมโยงกับธรรมชาติโดยรอบ แต่ยังคงความเป็นส่วนตัวด้วย >> อ่านต่อ
10. ความงามในความคลุมเครือ
- เจ้าของ : คุณอุกฤษ ยี่สารพัฒน์ และคุณหฤทัย วงค์นาง
- ออกแบบ : SO โดยคุณณรงค์ โอถาวร
ความงามในความคลุมเครือ ที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยเล็ก ๆ ห่างไปไม่กี่ร้อยเมตรจากถนนนิมมานเหมินท์อันแสนคึกคัก ความน่าสนใจของบ้านหลังนี้ คือพื้นที่เดิมของบ้านเคยเป็นทุ่งโล่ง ๆ ที่ชาวบ้านแถวนี้ใช้เป็นทางลัดในการสัญจรจนเกิดเป็นร่องรอยที่เห็นได้ชัดเจน พอเจ้าของบ้านคิดจะทำบ้านส่วนตัวขึ้นบนที่ดินผืนนี้ จึงอยากจะคงสิ่งเดิมเอาไว้ โดยการสร้างสถาปัตยกรรมที่ชาวบ้านไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันถูกเพิ่มลงไปในพื้นที่ อีกทั้งการปล่อยให้วัชพืชขึ้นตามธรรมชาติ และความตั้งใจที่จะเปิดพื้นที่ให้เข้า – ออกได้แบบสาธารณะ ทั้งหมดเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดบ้านหลังนี้ขึ้นในที่สุด >> อ่านต่อ