เหตุที่ บ่อปลามีตะไคร่ น้ำขุ่น ก็เพราะเกิดความเหมาะสมทั้งอุณหภูมิและอาหารที่เกิดจากไขปลา ขี้ปลา ซึ่งเราจะพบว่าแสงแดดเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับเกิดตะไคร่ เพราะต้องใช้แสงแดดสำหรับสังเคราะห์ให้ได้อาหารคือแป้ง ถ้าแดดน้อยหรือไม่ได้รับแดด บ่อปลาก็จะเกิดตะไคร่น้อยลงตามลำดับ ข้อสำคัญคือ น้ำก็จะไม่ร้อน ปลาอยู่สบาย
แก้ปัญหาตะไคร่ใน บ่อเลี้ยงปลา ทำได้อย่างไร
ประการแรก คือ ใช้น้ำยาควบคุมตะไคร่ ประการที่สอง คือ ทำระบบกรอง หรือทำข้อกรอง หรือบ่อกรองน้ำ ซึ่งคำถามในเรื่องนี้คือ บ่อกรองสามารถลดการเกิดตะไคร่ได้อย่างไร ได้บอกแล้วว่าตะไคร่เกิดจากความเหมาะสมของน้ำ แสงแดด อุณหภูมิ ถ้าเราลดความเหมาะสมลง ตะไคร่ก็เกิดน้อยถึงไม่เกิด นั่นก็คือแสงแดดและอุณหภูมิ ถ้าน้ำนั้นไม่อุ่น ไม่ได้รับแดด ตะไคร่ก็ไม่เกิด
กรณีนี้เราไม่ต้องทำบ่อกรองก็ได้แต่เมื่อมีการเลี้ยงปลาจะมีความสกปรกจากคราบไขปลา ขี้ปลาเป็นจุดกำเนิดแรกของการเกิดตะไคร่ บ่อกรองจึงทำหน้าที่กรองสิ่งเหล่านี้ ทำให้สะอาด ตะไคร่ก็ไม่เกิด แต่หลักการคือต้องกรองให้มาก ให้หมด น้ำจึงจะใส ดังนั้นการกรองจึงขึ้นอยู่กับปริมาณของบ่อกรองกับอัตราการดูดน้ำมากรองให้มากในเวลาที่กำหนด หมายความว่า แม้เราจะมีบ่อกรองพอเพียง แต่การดูดน้ำมากรองได้น้อยก็ไม่ทำให้บ่อไม่มีตะไคร่ เนื่องจากการกรองจะต้องกรองอณูของตะไคร่ที่กำลังงก่อตัวขึ้นใหม่ด้วย ถ้ากรองไม่ทัน ไม่หมด อณูหรือเซลล์ตะไคร่ก็จะเจริญเติบโตเป็นปัญหาต่อไป
องค์ประกอบน้ำแบบใดควรมีบ่อกรอง
โดยส่วนตัวแล้วจะไม่ทำบ่อกรองให้ยุ่งยากสิ้นเปลือง เพราะระบบบ่อน้ำที่มีตะไคร่ขุ่นเขียวนั้น ถ้าเป็นบ่อที่มีการเลี้ยงปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลาคาร์พ ปลาออสการ์ ปลาแรด ปลานิล จะต้องมีบ่อกรอง นอกจากนี้แล้วไม่จำเป็น เพราะตะไคร่จะขึ้นน้อยถ้าปลูกไม้น้ำลงไปในสระ ดังนั้นถ้าไม่ได้เลี้ยงปลาขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นบ่อขนาดใดก็ไม่ต้องใช้บ่อกรองน้ำก็ได้
เขียน : วรวิทย์ อังสุหัสต์