ต้นบอนเสือพราน คืออีกหนึ่งต้นไม้ที่กำลังได้รับความนิยม ทั้งในแง่ของความสวยงาม และความเชื่อเรื่องการเป็นหนึ่งใน ต้นไม้มงคล แต่นอกจากการตกแต่งบ้าน บอนเสือพราน ถือเป็นอีกหนึ่งต้นไม้ที่มีความอันตราย รวมถึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ส่วนจะเป็นแง่ไหนบ้าน วันนี้ บ้านและสวน ขออาสาพาไปไขข้อสังสัยเหล่านี้ด้วยกัน
บอนเสือพราน เป็นไม้จำพวกบอน มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Colocasia Hilo Beauty และชื่อวิทยาศาสตร์คือ Colocasia esculenta อยู่ในวงศ์ Araceae ถิ่นกำเนิดเดิมอยู่บริเวณเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยลักษณะของบอนเสือพรานจะมีสีสดใสสลับลายด้วยสีเขียวอ่อนกับสีเหลืองคล้ายกับชุดลายพรางของทหาร ใบเมื่อโตเต็มที่ยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร ส่วนความสูงของลำต้นที่โตเต็มที่มีความสูงประมาณ 60-90 เซนติเมตร
ทั้งนี้ บอนเสือพราน มีระบบรากค่อนข้างหนาแน่น มีลำต้นเทียมงอกขึ้นมาเหนือพื้นดิน โดยมีลักษณะเป็นก้านใบที่ซ้อนกันเป็นชั้นแบบสลับฝั่ง มีสีเขียวเข้มเสมอกัน ต้นที่อายุมากอาจมีสีก้านที่เข้มจนเกือบจะเป็นสีดำ เมื่อใบแก่จัดก็จะเหี่ยวแห้งและหลุดออกไป ซึ่งไม่ทิ้งรอยข้อปล้องเอาไว้
ด้านใบของ บอนเสือพราน รูปทรงใบจะคล้ายกับรูปหัวใจขนาดใหญ่ ส่วนที่เชื่อมต่อกับก้านใบจะเว้าลึก ขณะที่ปลายอีกด้านจะเป็นจงอยแหลม ผิวสัมผัสเรียบเกลี้ยง เนื้อใบบางมีสีเขียวเข้ม ลายด่างเป็นสีเขียวอ่อนที่กระจายตัวอย่างอิสระ ลวดลายเหล่านี้จะสวยงามและชัดเจนมากขึ้นเมื่อต้นบอนมีอายุมากขึ้น ก้านใบยาวเรียวและสามารถยืดได้สูงเกือบเมตรเมื่อโตเต็มที่
ความเชื่อเกี่ยวกับการเป็นไม้มงคล
บอนเสือพรานเป็นสายพันธุ์หนึ่งในกลุ่มบอนสีที่คนไทยมีความเชื่อว่าจะช่วยเสริมสิริมงคลในด้านการเงิน การงาน และความสงบสุขร่มเย็นได้ดี โดยผู้ที่ทำกิจการร้านค้าหากนำมาประดับร่วมกับบอนสีชนิดอื่นจะช่วยเรียกทรัพย์ให้ไหลมาเทมา พร้อมกับส่งเสริมธุรกิจให้เจริญรุ่งเรืองอย่างที่ตั้งใจ และยังเชื่อว่าหากตั้งกระถางบอนเสือพรานไว้ในบริเวณบ้าน จะช่วยให้คนในครอบครัวรักใคร่ปรองดองกัน บ้านมีบรรยากาศที่สงบสุข สบายใจ รวมถึงช่วยปัดเป่าภัยร้ายที่มาจากภายนอกได้ด้วย ซึ่งตำแหน่งที่ดีของ ต้นบอนเสือพราน ควรวางไว้ในพื้นที่โซนหน้าบ้านทางฝั่งซ้ายมือ หรือจะเลือกปลูกในทิศตะวันออกก็ได้
อันตรายจาก บอนเสือพราน
สำหรับข้อควรระวังเกี่ยวกับอันตรายของ ต้นบอนเสือพราน คือ สามารถก่ออาการระคายเคืองต่อระบบอาหาร ลำคอ และระบบทางเดินอาหาร หากรับประทานเข้าไปจะทำให้น้ำลายไหล อาเจียน ระคายเคืองช่องปาก กลืนอาหารลำบาก เนื่องจากมีสารแคลเซียมออกซาเลตอยู่ และความเป็นพิษนี้สามารถพบได้ทุกส่วนของต้น ดังนั้นผู้ที่ปลูก บอนเสือพราน ต้องระวังไม่ให้เด็กหรือสัตว์เลี้ยงกินบอนเสือพรานเข้าไป
ดังนั้น การเลือกจุดในการวาง ต้นบอนเสือพราน ที่มีพิษตามธรรมชาติเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากได้รับพิษเข้าไปอาจป่วยหนักหรือถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ บอนเสือพราน จึงไม่ควรอยู่ในจุดที่ผู้คนเดินผ่านไปมามากและมีโอกาสสัมผัสได้ง่ายโดยไม่ตั้งใจ หรือหากปลูกในบ้านควรวางไว้ในที่สูง พ้นจากมือเด็กและการปีนป่ายของสัตว์เลี้ยง
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.kaset32farm.com/tag/ บอนเสือพราน/
https://kaset.today/ พันธุ์ไม้/ต้นบอนสี/บอนเสือพรา
บทความที่เกี่ยวข้อง