บ้านสีขาว มินิมัล ที่สร้างขึ้นเป็นบ้านชั้นเดียวยกใต้ถุนสูงเหมือนเรือนไทย ภายในบ้านลดสเต็ปให้น้อยที่สุดและตกแต่งด้วยโทนสีขาวสไตล์มินิมัลที่โปร่งและอบอุ่นสำหรับคนวัยเกษียณ
Design Directory : Depth Architect Studio
แม้บริบทของ บ้านสีขาว หลังนี้จะไม่มีทุ่งนากว้างหรือภูเขาสีเขียวเป็นฉากหลัง แต่เพียงแค่แสงแดดอ่อนยามเช้ากับท้องฟ้าสีคราม ก็ดูราวกับศิลปินธรรมชาติกำลังไฮไลต์บ้านสีขาวทรงจั่วหลังนี้ให้สวยงามขึ้นมาแบบไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ จนคล้ายเป็นมนต์สะกดให้ต้องหยุดยืนชมหน้าบ้านอยู่พักใหญ่ก่อนที่รั้วระแนงเหล็กสีขาวจะเลื่อนเปิดออกให้เห็นตัวบ้านที่ยกสูงอยู่เหนือช่องจอดรถด้านล่าง ราวกับเป็นพื้นที่ใต้ถุนของบ้านแบบไทยๆ
คุณโปลก้า-ธนกร ฉัตรทิพากร สถาปนิกจาก Depth Architect Studio บอกว่า เพราะแนวคิดเริ่มต้นของการออกแบบบ้านหลังนี้ก็มาจากบ้านไทยยกใต้ถุนสูงที่ปรับหน้าตาให้ทันสมัยขึ้นนั่นเอง “ที่ดินตรงนี้ประมาณ 63 ตารางวา จากฟังก์ชันที่เจ้าของบ้านต้องการนั้นสามารถออกแบบให้เป็นบ้านชั้นเดียวได้ แต่ด้วยบริบทของเพื่อนบ้านหลังอื่นๆ ถ้าทำเป็นบ้านชั้นเดียวธรรมดาก็จะถูกปิดกั้นมุมมองเกินไป เราเลยออกแบบยกตัวบ้านให้สูงขึ้นเหมือนเรือนไทยที่มีใต้ถุนบ้านสามารถจอดรถได้ ตอนแรกจะเปิดโล่งให้เกิดลมหมุนเวียน แต่เจ้าของต้องการเพิ่มฟังก์ชันห้องทำงานและรับรองแขกเพิ่ม ก็เลยปรับส่วนหนึ่งกั้นให้เป็นห้องสตูดิโอส่วนตัว”
บ้านชั้นเดียวในฟังกชันแบบคอมแพ็กต์
เดิมที คุณอติเทพ สุบิน และคุณวรกานต์ เสี่ยงอารมณ์ ผู้เป็นเจ้าของบ้านเคยใช้ชีวิตอยู่ภายในคอนโดกลางเมืองกรุงเทพฯ ที่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้ามาโดยตลอด จนเมื่อมีโอกาสมาทำงานในเชียงใหม่อยู่ช่วงหนึ่ง ได้สัมผัสบรรยากาศของเมืองและเสน่ห์ธรรมชาติจากต้นไม้และขุนเขา ซึ่งแม้จะผ่านกาลเวลานานนับ 10 ปีแล้ว ความประทับใจครั้งนั้นก็ยังคงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ทั้งคู่เลือกมาสร้างบ้านพักผ่อนสำหรับอยู่อาศัยหลังวัยเกษียณที่เชียงใหม่
“ก่อนหน้านี้เราทำงานและเดินทางกันบ่อยด้วย พอช่วงหลังโควิด – 19 ก็เลยคิดว่าน่าจะสร้างบ้านอยู่กันแบบสงบๆ โดยใช้เชียงใหม่เป็นที่ลงหลักปักฐานและเอื้อต่อการทำงานแบบที่ไหนก็ได้ ที่จริงเราเคยมาใช้ชีวิตอยู่หลายที่หลายโลเคชั่นของเมืองเชียงใหม่กันแล้ว และตัดสินใจว่าอยากอยู่ใกล้สนามบินเพื่อให้ง่ายเวลาต้องเดินทางบ่อยๆ ก็พอดีได้มาเจอที่ตรงนี้เป็นย่านชุมชนที่น่ารักดี ส่วนฟังก์ชันในบ้านก็ขอแค่มีเท่าที่จำเป็นแบบคอมแพ็กต์ เชื่อมต่อถึงกันได้ง่ายเหมือนพื้นที่ในคอนโด เพราะเรามีตัวอย่างจากบ้านพ่อแม่มาแล้วที่เป็นบ้าน 2 ชั้นแต่พอใช้งานจริงก็แทบไม่ขึ้นไปชั้นบนเลย ที่สำคัญคืออยากให้บ้านมีแสงสว่างธรรมชาติเยอะๆ และสามารถมองเห็นท้องฟ้าข้างนอกได้สบาย”
ตัวบ้านจึงออกมาเป็นลักษณะของบ้านชั้นเดียวที่ยกใต้ถุนสูง ภายในจัดโซนพักผ่อนให้เป็นพื้นที่หลักซึ่งมีครบทั้งส่วนนั่งเล่น ครัวแพนทรี่ ส่วนรับประทานอาหาร และห้องนอน โดยแยกห้องทำงานออกมาเป็นเหมือนเรือนอีกหลังที่เชื่อมต่อพื้นที่ถึงกันได้ผ่านโถงกลางบ้านซึ่งกรุเพดานด้วยกระจกเพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามา เสริมความรู้สึกปลอดโปร่งผสมผสานไปกับโทนสีขาวสว่างภายใน
บ้านขาว เส้นโค้ง กับโทนสีอบอุ่น
หลังจากวางผังฟังก์ชันภายในให้เข้ากับการใช้ชีวิตและสอดคล้องไปกับทิศทางของแดดและลมธรรมชาติแล้ว หน้าตาของบ้านภายนอกจึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างตามมา โดยหันหน้าบ้านไปทางทิศตะวันออกพร้อมเปิดช่องหน้าต่างทรงแคบยาวไว้สำหรับห้องทำงาน เพิ่มด้วยช่องหน้าต่างทรงกลมน่ารักไว้ตรงผนังบ้านทางทิศเหนือ ซึ่งกลายเป็นดีไซน์ที่สร้างเอกลักษณ์และภาพจำของบ้านได้เป็นอย่างดี
“เราออกแบบเป็นบ้านสีขาวในรูปทรงจั่วเรียบๆ ที่ดูทันสมัย และผสมด้วยวัสดุตกแต่งที่ไม่ดิบไม่แข็งเกินไป เพื่อให้บ้านดูอบอุ่นปลอดภัยและอยู่สบายได้นานๆ อย่างบริเวณใต้ถุนตรงที่จอดรถเลือกใช้อิฐมอญกั้นเป็นผนังโปร่งมีช่องให้ลมหมุนเวียนได้ สีของอิฐมอญยังช่วยลดความสว่างของบ้านสีขาวให้อบอุ่นขึ้น ส่วนบันไดทางเดินขึ้นบ้านก็เน้นด้วยผนังโค้งที่ลดความเหลี่ยมคมของตัวบ้านและใช้วัสดุทรายล้างมาเพิ่มผิวสัมผัสที่ไม่ลื่นและไม่กระทบกับแสงแดดจ้าเกินไป เมื่อมาถึงบริเวณชานนั่งเล่นรอบสระว่ายน้ำก็เปลี่ยนมาใช้กระเบื้องลายไม้เพื่อสามารถใช้เป็นพื้นที่นั่งเล่นได้และสร้างการเชื่อมต่อเข้าไปถึงพื้นภายในบ้านที่ปูด้วยกระเบื้องยางลายไม้ SPC และให้สัมผัสใกล้เคียงธรรมชาติมากๆ
“ภายในยังนำดีไซน์เส้นโค้งมาออกแบบอย่างต่อเนื่องโดยทำเป็นผนังกั้นเล็กๆ ระหว่างครัวแพนทรี่กับส่วนนั่งเล่นและรับประทานอาหาร อีกทั้งยังเป็นเหมือนกรอบรูปที่ช่วยโฟกัสมุมมองจากครัวไปสู่โซฟาออกไปยังช่องหน้าต่างที่เปิดสู่สระว่ายน้ำและชานนอกบ้านซึ่งเป็นมุมร่มรื่นอยู่สบายได้ตลอดช่วงสายถึงเย็น รองรับไลฟ์สไตล์ของทั้งคู่ที่มักจะพักผ่อนอยู่บริเวณโซนนี้เกือบทั้งวัน โดยฝั่งที่ต้องปะทะกับแดดก็ให้เป็นห้องน้ำและส่วนเซอร์วิสต่างๆ ไป”
ชีวิตที่เรียบน้อยและรื่นรมย์
จากคนที่เคยอยู่กับข้าวของมากมายภายในคอนโด เมื่อบ้านหลังนี้สร้างเสร็จ ทั้งคู่ก็หลงรักในความเรียบน้อยและโปร่งสบายของบ้านหลังใหม่ทันที จึงตั้งใจว่าจะพยายามไม่เติมข้าวของให้มากไปกว่าเท่าที่จำเป็นจริงๆ
“เราชอบในมู้ดคลีนๆ ของบ้าน เพราะดูแลทำความสะอาดกันเอง เลยไม่อยากเพิ่มของหรือเฟอร์นิเจอร์ให้บ้านดูรกหรือกลายเป็นที่เก็บฝุ่นไป หลายอย่างก็ต้องตัดใจไม่เอาเข้าบ้าน ยกเว้นที่ชอบมากๆ อย่างเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ก็เลยต้องขอให้โปลก้าออกแบบชั้นวางในห้องแต่งตัวไว้โดยเฉพาะ กับโต๊ะทำงานที่ใช้กันมายาวนานถึง 8 ปีก็ยกมาไว้ที่นี่ แล้วก็อาร์มแชร์ตัวโปรด ผสมกับเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ซื้อมาใหม่กับโซฟาไฟฟ้าที่มีฟังก์ชันเพิ่มความผ่อนคลายเป็นพิเศษ
“รู้สึกเลยว่าแต่ละมุมของบ้านจะมีความโดดเด่นแตกต่างกันไปตามช่วงเวลา ทำให้เราสนุกกับการใช้ชีวิตที่บ้าน รู้ว่าตอนไหนควรไปอยู่ตรงไหนเพื่อสัมผัสความรื่นรมย์แบบไหน อย่างโถงตรงกลางเป็นมุมที่เรามานั่งจิบกาแฟตอนเช้าชมฟ้าสวยหรือดูดาวในตอนกลางคืนผ่านเพดานสกายไลต์กระจก หรือมุมโซฟาที่นั่งเล่นและมองเห็นต้นไม้ได้ ไม่ก็ออกไปปูเสื่ออยู่ตรงชานข้างสระว่ายน้ำและทำให้ได้เห็นวิวดอยสุเทพแบบที่ไม่ได้คาดฝัน สเปซบ้านกำลังพอดี มีต้นไม้ มีน้ำ มีพื้นที่ผ่อนคลาย แค่นี้ก็มีความสุขมากๆ แล้ว”
เจ้าของ : คุณอติเทพ สุบิน และคุณวรกานต์ เสี่ยงอารมณ์
สถาปนิก : Depth Architect Studio โดยคุณธนกร ฉัตรทิพากร โทรศัพท์ 09-0320 -9282
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
สไตล์ : Suntreeya
ที่ตั้ง : จังหวัดเชียงใหม่