เห็ดเยื่อไผ่ เพาะง่าย คุณค่าทางอาหารสูง

เห็ดร่างแห หรือ เห็ดเยื่อไผ่ ผลผลิตดมาก คุณค่าทางอาหารสูง เพาะขยายไม่ยากดูแลง่ายและเพาะได้ตลอดทั้งปี

เห็ดร่างแห หรือ เห็ดเยื่อไผ่ (Bamboo Mushroom , Lady mushroom) จัดอยู่ในวงศ์ Phallaceae ต้นกำเนิดจากประเทศจีน และเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการเพาะเพื่อจำหน่าย คือสายพันธุ์เห็ดร่างแหกระโปรงยาวสีขาว (Dictyophora indusiata และ Dictyophora echinovolvata) ซึ่งประเทศไทยมีการนำเข้าเห็ดเยื่อไผ่แห้ง มาบริโภคภายในประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 6,500 ตัน และจากการสุ่มตรวจตัวอย่าง พบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างสูงถึง 4,498.09 มิลลิกรัม/ กิโลกรัม และแคดเมียม 2.17 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

กรมวิชาการเกษตร โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา ทำการสำรวจ รวมรวบ และคัดเลือกเห็ดร่างแหสายพันธุ์ใหม่ คือเห็ดร่างแหกระโปรงสั้นสีขาว (Phallus atrovolvatus Kreisel & Calong) คุณสมบัติเด่นของสายพันธุ์ไทย คือ ให้ผลผลิตสูง สามารถเพาะได้ตลอดทั้งปี ไม่มีกลิ่นเหม็น เนื้อสัมผัสกรอบ ไม่เปื่อยยุ่ย และไม่มีการปนเปื้อนของสารปรอทและแคดเมียม

เห็ดร่างแหมีส่วนประกอบของกรดอะมิโนที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ (essential amino acid) 7 ชนิด และพบสารสำคัญคือสาร Phosphatidylcholine, สาร Dictyophorine A and B โดยสารดังกล่าวมีส่วนช่วยกระตุ้นการทํางานของเซลล์ประสาท และป้องกันโรคสมองเสื่อม นอกจากนี้ยังพบ สารโฟลีฟีนอล (Polyphenol) ซึ่งเป็นสารสําคัญในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ตามตำราแพทย์แผนจีนกล่าวว่า หากรับประทานเห็ดร่างแหระยะดอกตูม จะมีฤทธิ์สรรพคุณเป็นยาโป้วสูง

ขั้นตอนการเพาะเห็ดร่างแห

วัสดุเพาะ ประกอบด้วย ใบไผ่ ขุยมะพร้าว และแกลบดิบ อัตราส่วน 1:1:1 นำใบไผ่ และขุยมะพร้าว แช่ น้ำ 1 คืน

ชั้นที่ 1นำดินปลูกโรยในชั้นเพาะ หนาประมาณ 3 เซนติเมตร
ชั้นที่ 2นำใบไผ่มาปูพื้น
เห็ดเยื่อไผ่
ชั้นที่ 3นำก้อนเห็ดร่างแหที่มีเส้นใยเห็ดร่างแหเจริญเต็ม นำมาวางเป็นชั้นที่ 3
เห็ดเยื่อไผ่
ชั้นที่ 4นำวัสดุเพาะส่วนที่เหลือโรยทับก้อนเห็ดร่างแห หนาประมาณ 3 เซนติเมตร
เห็ดเยื่อไผ่
ชั้นที่ 5 กลบหน้าด้วยดินปลูก หรือแกลบ และคลุมด้วยใบไผ่อีกครั้ง รดน้ำพอชุ่ม แล้วคลุมพลาสติกดำ เพื่อเป็นการบ่มเส้นใย เป็นเวลา 15 – 20 วัน เมื่อครบกำหนดจึงนำพลาสติกออก รอจนกระทั้งดอกเห็ดบาน และรดน้ำทุกเช้า – เย็น
เห็ดเยื่อไผ่
เห็ดเยื่อไผ่
เห็ดเยื่อไผ่

ศัตรูเห็ดเยื่อไผ่

ศัตรูเห็ดเยื่อไผ่ ได้แก่ กิ้งกือ และหอยทากจะกินเส้นใยเห็ดเยื่อไผ่ และในช่วงระยะไข่หรือดอกตูม พบด้วงเจาะดอก เข้ากัดกินดอกจนเป็นสาเหตุให้ดอกเห็ดเน่าเละ


แหล่งอ้างอิง : สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร

ภาพ : หญิงจัน ผลิตภัณฑ์จากเห็ดเยื่อไผ่


บทความที่เกี่ยวข้อง

ว่านลูกไก่ทอง ต้นไม้แต่งห้องสไตล์มินิมัล

ต้นโกสนไทย ขยายพันธุ์ง่ายๆ รายได้งาม

ซุปเยื่อไผ่ เมนูอาหารจีน อร่อย อุ่นท้อง โปรตีนสูง

ติดตามไอเดียบ้านและสวนเพิ่มเติมได้ทาง : บ้านและสวน Baanlaesuan.com