สำหรับปีนี้ที่มีอุณหภูมิสูงมากในฤดูร้อน ต้นไม้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้อุณหภูมิลดลงได้ วันนี้เราจึงแนะนำ ต้นไม้ทนแดด เหมาะสำหรับจัดสวนกลางแจ้ง โตไวและดูแลง่าย
1. มะฮอกกานี
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Swietenia macrophylla King วงศ์ : Meliaceae ประเภท : ไม้ต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ รูปรีหรือรูปขอบขนานปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ แผ่นใบค่อนข้างหนาสีเขียวเข้ม ดอกออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลืองอ่อนหรือเหลืองแกมเขียว มี 5 กลีบ ปลายกลีบมน ดอกบานมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ผลแห้งแตกจากโคนเป็น 5 พู รูปไข่ เปลือกหนาแข็ง เมล็ดสีน้ำตาล มีปีก มะฮอกกานีมีอัตราการเจริญเติบโตเร็วในดินทุกสภาพ ต้องการแสงแดดตลอดวัน น้ำปานกลาง ทนแล้งได้ดี ต้นไม้ทนแดด
2. ประดู่บ้าน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pterocarpus indicus Willd. วงศ์ LEGUMINOSAE – PAPILIONOIDEAE ไม้ต้น ขนาดกลางผลัดใบ สูง 10 – 20 เมตร ลำต้นเปลาตรง พันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลจังหวัดภูเก็ต
3. ประยงค์
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aglaia odorata Lour. วงศ์ Meliaceae มีถิ่นกำเนิด จีนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูง 3 – 5 เมตร เรือนยอดทรงกลมค่อนข้างหนาทึบ เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อน ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่เรียงสลับ ก้านใบ ประกอบแผ่เป็นครีบเล็กๆ ใบย่อยรูปไข่กลับ 5 ใบ ปลายใบมนแหลมหรือเว้า โคนใบแหลม ขอบใบ เรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ช่อดอกแบบช่อกระจะออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 5 – 10 เซนติเมตร ดอกขนาดเล็ก รูปทรงกลม สีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนๆออก เมื่อแก่มีดอกฤดูฝน ผลรูปรีผิวเรียบเป็นมันสีแดงเข้มเกือบดำ ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและตอนกิ่งสามารถตัดแต่งให้เป็นไม้พุ่มได้ตามต้องการ
4. สนฉัตร
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Araucaria heterophylla (Salisb.) Franco วงศ์ : Araucariaeae เป็นไม้ประเภทต้น อายุหลายปี ลักษณะทั่วไปเมื่อต้นยังเล็ก กิ่งก้านจะแผ่ออกเป็นแผงรูปสามเหลี่ยมเป็นชั้นๆ เมื่อโตเต็มที่ลำต้นจะมีเนื้อไม้ ทรงพุ่มเป็นรูปกรวย ยอดเรียวแหลม ต้นอายุน้อย ใบมีสีเขียวอ่อน ใบแก่สีเขียวเข้ม อัตราการเจริญเติบโตช้า-ปานกลาง โตได้ในดินทั่วไปที่มีอินทรียวัตถุ ระบายน้ำและอากาศได้ดี ชอบน้ำปานกลาง ทนแล้ง แสงแดดรำไรหรือตลอดวัน ต้นที่โตเล้วต้องการแสงแดดเต็มวัน
5. กระโดน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Careya sphaerica Roxb. วงศ์ : Lecythidaceae เป็นประเภทไม้ต้นผลัดใบทรงพุ่มกลม ลำต้นมีเปลือกต้นสีเทา หนาแตกล่อนเป็นแผ่น ใบเดี่ยว รูปไข่กลับ ออกเวียนสลับ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบหยักไม่สม่ำเสมอ ดอกมีสีขาวออกตามซอกใบ บานตอนกลางคืน ช่วงปลายฤดูหนาวเข้าฤดูฝนมีเกสรเพศผู้สีแดง มักร่วงพร้อมกับกลีบดอกในตอนเช้า ผล: รูปไข่ถึงกลม ปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ ภายในมีเมล็ดแบน สีน้ำตาลอ่อน ผิวเรียบ ชอบดินร่วนระบายน้ำดี ต้องการน้ำมาก ชอบแสงแดดเต็มวัน
6. แก้วมุกดา
ชื่อวิทยาศาสตร์ Fagraea ceilanica Thunb วงศ์ Gentianaceae มีถิ่นกำเนิด ทวีปเอเชีย ตั้งแต่จีนตอนใต้ถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้รอเลื้อย สูงถึง 10 เมตร ทรงพุ่มแน่นทึบ เปลือกต้นสีเทา ใบเดี่ยว ออกเวียนสลับรอบกิ่งใบรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน แผ่นใบหนาอวบน้ำ ปลายใบมน โคนใบสอบแคบ ช่อดอกเป็นช่อกระจุก ออกที่ซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกบาน ปลายแยกเป็น 5 กลีบ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ผลเป็นผลสด ทรงกลม ผิวมัน ผลมีก้านเกสรเพศเมียติดอยู่เป็นจะงอย เมื่อแก่จัดผลจะนิ่มภายในมีเมล็ดจำนวนมาก
7. พิกุล
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mimusop elengi L. วงศ์ Sapotaceae มีถิ่นกำเนิด อินเดีย พม่า มาเลเซีย เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง 8 – 15 เมตร เรือนยอดทรงกลม ทรงพุ่มทึบ แตกกิ่งก้านมาก กิ่งเหนียวทุกส่วนมีน้ำยาง ใบเดี่ยว ออกเวียนสลับ รูปรี หรือรูปไข่ ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบมน ขอบใบเป็นคลื่น แผ่นใบหนาเป็นมัน ช่อดอกเป็นช่อกระจุกออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด มี 2-6 ดอก สีขาว มีกลีบดอก 24 กลีบ เรียงเป็นสองชั้น ทยอยบานจากโคนกิ่งไปยังปลายกิ่ง เมื่อเริ่มโรยจะมีสีน้ำตาลอ่อน ออกดอกตลอดปี ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ผลรูปไข่ปลายแหลม เมื่อแก่มีสีส้มอมแดง เนื้อสีเหลืองรสหวาน เมล็ดนำไปเพาะได้ ปัจจุบันมีพิกุลใบด่างที่สวยงามให้ดอกดก แต่ต้องขยายพันธุ์ด้วยการเสียบยอด
8. ปีบ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Millingtonia hortensis L.f. วงศ์ Bignoniaceae ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 5 – 20 เมตร เรือนยอดรูปไข่ ทรงพุ่มโปร่ง เปลือกต้นสีเทาอมเหลืองแตกเป็นร่องลึก ใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยรูปไข่แกมรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบหรือหยักห่างๆช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงออกที่ปลายกิ่งดอกย่อยสีขาวจำนวนมาก ตัวดอกห้อยลง ดอกเริ่มบานและส่งกลิ่นหอมในช่วงเย็น และส่งกลิ่นหอมแรงในช่วงกลางคืน ออกดอกในช่วงฤดูหนาว ผลเป็นฝักแบน เมื่อแก่จะแตกออกเป็นสองซีก มีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีปีก ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและขุดแยกหน่อที่แตกจากราก
9. จิกสวน/จิกน้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Barringtonia racemosa (I.) Spreng. วงศ์ Lecythidaceae มีถิ่นกำเนิด เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทวีปแอฟริกาและทวีปออสเตรเลีย เป็นไม้ต้น สูง 5- 20 เมตร ทรงพุ่มแผ่กว้างหนาทึบ เปลือกต้นสีน้ำตาล ใบเดี่ยวออกเวียนสลับรอบกิ่ง รูปไข่กลับ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ แผ่นใบหนา ช่อดอกแบบช่อกระจะห้อยจากปลายกิ่ง สีขาวถึงสีชมพู มีเกสรเพศผู้สีขาวจำนวนมาก ร่วงง่าย มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกทยอยบานออกดอกเกือบตลอดปี ผลรูปไข่ปลายตัด ปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
10. พุดภูเก็ต
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gardenia thailandica Tirveng. วงศ์ Rubiaceae มีถิ่นกำเนิด เป็นพืชถิ่นเดียว พบทางภาคใต้ของไทยตั้งแต่ภูเก็ต พังงา จนถึงสตูล เป็นไม้ต้น สูง 3 – 6 เมตร ใบดกตามปลายกิ่งใบเดี่ยว ออกตรงข้าม รูปไข่กลับ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบเรียว ผิวใบด้านบนเห็นเส้นใบย่อยเป็นร่องเด่นชัด ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบใกล้ปลายยอด โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ดอกเริ่มแย้มสีขาวนวลแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและเหลืองเข้มเมื่อใกล้โรยออกดอกช่วงฤดูร้อน ดอกบาน 2 วันแล้วโรย ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ตลอดวัน ผลกลมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง และตอนกิ่ง
บทความที่เกี่ยวข้อง
8 ต้นไม้คลายร้อน ปลูกในบ้าน ช่วยลดอุณหภูมิ เพิ่มความเย็น
จั๋ง ต้นไม้ฟอกอากาศ ที่นาซารับรอง
กวักมรกต ต้นไม้ในบ้านที่มีอันตรายกว่าที่คิด
ติดตามไอเดียบ้านและสวนเพิ่มเติมได้ทาง : บ้านและสวน Baanlaesuan.com