woodhouse-improvement

การปรับปรุงซ่อมแซม บ้านไม้เก่า

woodhouse-improvement
woodhouse-improvement

ปรับปรุงซ่อมแซม บ้านไม้เก่า ให้กลับมาดีอย่างเดิม เป็นการต่ออายุให้บ้านยังคงใช้ประโยชน์ได้ มาดูข้อควรรู้ในการปรับปรุงบ้านไม้เก่ากัน

สถานที่ : บ้านบานเย็น

เข้าใจองค์ประกอบของอาคารเก่า

อาคารเก่าประกอบด้วยองค์ประกอบในด้านรูปธรรม ได้แก่ ลักษณะทางสถาปัตยกรรม และองค์ประกอบด้านนามธรรม ได้แก่ คุณค่าในด้านต่างๆ ก่อนการปรับปรุงอาคารเก่าควรทำความเข้าใจองค์ประกอบด้านรูปธรรม 7 อย่าง เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการรักษาคุณค่า หรือปรับเปลี่ยนการใช้งานต่อไป ปรับปรุงซ่อมแซมบ้านไม้เก่า

  1. สภาพแวดล้อมโดยรอบอาคาร จะแสดงถึงอิทธิพลและความสัมพันธ์ของอาคารกับบริบทโดยรอบพื้นที่ ความเป็นมาของชุมชน และความสัมพันธ์ต่อพื้นที่เมือง
  2. ที่ตั้งของอาคาร แสดงลักษณะทางภูมิประเทศ เช่น เป็นพื้นที่ริมน้ำหรือพื้นที่น้ำท่วม แสดงถึงขอบเขตอาคาร ความสัมพันธ์ของอาคารที่มีต่อพื้นที่ภายนอก และกฎหมายตามพื้นที่ตั้ง ซึ่งมีผลต่ออาคารและการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนอาคารต่อไป
  3. โครงสร้าง ศึกษาระบบโครงสร้างหลักของอาคารที่จะแสดงถึงความแข็งแรง และระบบการก่อสร้าง เช่น ฐานราก เสา คาน โครงสร้างพื้น โครงสร้างหลังคา เพื่อซ่อมแซมและปรับปรุงได้อย่างถูกวิธี
  4. พื้นผิวอาคาร ได้แก่ วัสดุและการตกแต่งพื้นผิวอาคารทั้งภายนอกและภายใน แสดงถึงรสนิยม เทคนิควิธีการออกแบบ เช่น ผนังกรุหิน พื้นปูกระเบื้อง การจัดเรียงลวดลายต่างๆ ซึ่งอาจมีวิธีการผลิตและติดตั้งแตกต่างจากปัจจุบัน
  5. ระบบอุปกรณ์อาคาร เช่น ระบบน้ำ ระบบสุขาภิบาล ระบบไฟฟ้า ซึ่งอาคารเก่าบางหลังอาจไม่มีระบบอุปกรณ์อาคารมาก่อน
  6. ผังพื้นและที่ว่าง เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัยและรูปแบบการใช้งาน โดยอาจสังเกตร่องรอยการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มโครงสร้างใหม่เข้าไป เช่น การต่อเติม การกั้นห้อง
  7. อุปกรณ์ต่างๆของอาคาร เช่น เครื่องเรือน เป็นสิ่งแสดงวิถีชีวิตของผู้อาศัย ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามผู้ใช้งานในแต่ละยุค

(อ้างอิง : หนังสือการออกแบบโครงการเพื่อการปรับการใช้สอยในอาคารเก่า โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรยา บุญประสงค์)

ปรับปรุงซ่อมแซมบ้านไม้เก่า
สถานที่ : บ้านบานเย็น

แนวทางการอนุรักษ์ ซ่อมแซม หรือปรับเปลี่ยนการใช้งาน

การตัดสินใจที่จะเลือกอนุรักษ์อาคารให้คงสภาพเดิม หรือจะรีโนเวตและปรับเปลี่ยนการใช้งานตามความต้องการใหม่ ขึ้นอยู่กับการประเมินคุณค่า และจุดประสงค์การใช้อาคารของเจ้าของ ปรับปรุงซ่อมแซมบ้านไม้เก่า

  1. คุณค่าทางประวัติศาสตร์และสังคม คืออาคารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในด้านต่างๆ การเป็นสัญลักษณ์ของชุมชน รวมถึงวงการก่อสร้าง เช่น ใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างที่มีเฉพาะในยุคนั้นๆ  
  2. คุณค่าทางจิตใจ เป็นคุณค่าส่วนตัวของเจ้าของ เช่น เป็นบ้านบรรพบุรุษที่ผูกพัน  
  3. คุณค่าทางประโยชน์ใช้สอย หากต้องการเปลี่ยนการใช้สอยอาคารใหม่ แล้วการวางแปลนใหม่ยังสามารถใช้พื้นที่ในอาคารเดิมได้ ก็อาจพิจารณารักษาอาคารไว้ แล้วปรับเปลี่ยนเฉพาะภายใน หรือหากไม่ตอบสนองกับการใช้งานใหม่ อาจพิจารณาอนุรักษ์บางส่วนและปรับเปลี่ยนบางส่วน ก็เป็นการต่อชีวิตอาคารให้ยืนยาวขึ้น ไม่ถูกทิ้งร้างหรือรื้อทิ้งไป
ปรับปรุงซ่อมแซมบ้านไม้เก่า
สถานที่ : บ้านบานเย็น
ปรับปรุงซ่อมแซมบ้านไม้เก่า
สถานที่ : บ้านบานเย็น

การดูแลรักษาบ้านไม้

ไม้เป็นวัสดุที่ต้องดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ โดยส่วนต่างๆของบ้านไม้สามารถปกป้องพื้นผิวและดูแลรักษาเนื้อไม้ได้ ดังนี้

  • โครงสร้างไม้ ไม้ที่อยู่กลางแจ้ง ประตูหน้าต่าง ผนังภายนอกและผนังภายใน สามารถปกป้องเนื้อไม้ทั่วไปได้ด้วยการทาสีย้อมไม้ (Wood Stain) ซึ่งมีฟิล์มสีโปร่งแสง เหมาะกับการโชว์ลายไม้ โดยสีย้อมไม้จะซึมเข้าเนื้อไม้ ช่วยให้ทนทานต่อน้ำและแสงแดด หรือปกป้องพื้นผิวแบบเคลือบปิดเนื้อไม้ด้วยการทาสีน้ำมัน หรือสีน้ำพลาสติกสำหรับงานไม้ และควรทาน้ำยาป้องกันปลวกและแมลงกินไม้ก่อนทาสีด้วย
  • พื้นระเบียง ชานภายนอก พื้นไม้ที่อยู่ภายนอกและอยู่กลางแจ้ง ควรปูเว้นร่องพื้นห่างกันเล็กน้อย เพื่อระบายน้ำและลดการโก่งงอจากการยืดและหดตัว และทาด้วยสีย้อมพื้นไม้ (Deck Stain) สำหรับพื้นภายนอก ซึ่งฟิล์มสีมีความยืดหยุ่น ทนแดดทนฝน และทนการขูดขีดและการเหยียบย่ำได้ดี
  • พื้นภายใน พื้นไม้ที่อยู่ภายในบ้านไม่ต้องต่อสู้กับฝนและแสงแดดมากนัก แต่อาจเกิดรอยขีดข่วนจากการใช้งาน น้ำยาเคลือบผิวชนิดฟิล์มเป็นทางเลือกที่นิยม เพราะช่วยให้ดูแลทำความสะอาดง่าย ให้ผิวมันวาวหรือผิวด้านตามความต้องการ โดยพอลิยูรีเทนจะมีฟิล์มที่ทนการขูดขีดได้ดีและไม่เหลืองขุ่นง่ายอย่างแล็กเกอร์ อีกทั้งความชื้นจากใต้พื้นไม้เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้พื้นโก่งตัว ก่อนปูพื้นไม้จึงควรรอให้ปูนแห้งสนิทเสียก่อน (อย่าไปเร่งให้ช่างทำงานเร็วเกินไป) และหากน้ำยาเคลือบผิวเสื่อมสภาพ หลุดล่อน ไม่ควรทาน้ำยาเคลือบผิวทับไปเลย เพราะนอกจากพื้นผิวจะดูไม่สวยแล้ว ก็จะลอกในอีกไม่นาน จึงควรขัดออกให้หมดก่อนแล้วเคลือบใหม่จะดีที่สุด
  • เฟอร์นิเจอร์ไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้ไม่ต้องรับแรงกระแทกหรือขูดขีดมากนัก นิยมทาเคลือบด้วยแล็กเกอร์ให้พื้นผิวมีความเงางาม แต่ถ้าไม่ชอบแบบฟิล์มเคลือบ สามารถทาด้วยน้ำมันบำรุงรักษาผิว เช่น Teak Oil หรือ Oil Stain ซึ่งเหมือนเป็นโลชั่นสำหรับไม้ แต่ต้องทาสม่ำเสมอทุก 3 เดือน ก็จะให้ผิวสัมผัสเป็นธรรมชาติกว่า โดยระมัดระวังไม่ให้พื้นผิวไม้โดนน้ำยาที่มีส่วนผสมของแอมโมเนียหรือแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้เกิดรอยด่างได้
ปรับปรุงซ่อมแซมบ้านไม้เก่า
สถานที่ : บ้านบานเย็น

ความเสียหายที่มักเกิดกับบ้านไม้

บ้านไม้ที่มีอายุยาวนานจะเสื่อมสภาพตามธรรมชาติและตามการใช้งานเป็นปกติ โดยควรตรวจสอบความเสียหายของตัวบ้านเบื้องต้น ดังนี้

  • การทรุดตัวของบ้าน บ้านไม้ยุคก่อนมักทำฐานรากแบบโบราณ เช่น วางเสาบนก้อนหิน ฐานรากไม้ หรืออาจใช้ระบบเสาเข็มสั้น ซึ่งมีโอกาสทรุดตัวสูง สามารถสังเกตการทรุดตัวได้ด้วยตาเปล่า โดยมองเทียบกับอาคารข้างเคียง หรือการเดินในบ้านแล้วพบระดับพื้นที่ไม่ได้ระนาบปกติ หรือตรวจสอบด้วยการวัดระดับ ซึ่งแก้ไขได้ด้วยการยกบ้านให้กลับมาได้ระดับ พร้อมทำฐานรากใหม่ ซึ่งการพิจารณาว่าจะทำฐานรากเฉพาะบางส่วน หรือทำใหม่ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับสภาพหน้างานและดุลพินิจของวิศวกร โดยเป็นจุดที่ควรซ่อมแซมให้เรียบร้อยก่อนซ่อมแซมส่วนอื่นของบ้าน
  • ความเสียหายของโครงสร้างและวัสดุ โครงสร้างไม้มักเสียหายจากการเสื่อมสภาพของวัสดุ เนื่องจากโดนแดดโดนฝนเป็นเวลานาน ปลวกกัดกิน หรือโครงสร้างเดิมไม่แข็งแรงพอ และมีการรับน้ำหนักมากเกินไป จนเกิดการแตก หัก หรือแอ่นตัว โดยเฉพาะส่วนฐานเสาที่อยู่ใกล้พื้นดิน โครงสร้างภายนอก เช่น ระเบียง ชาน โครงสร้างหลังคาและส่วนประกอบหลังคาที่มีการรั่วซึม และไม้ส่วนที่โดนแดดและฝนโดยตรง เช่น ปั้นลม เชิงชาย โดยสังเกตจากคราบน้ำ สีเนื้อไม้ รอยแตก และการผุกร่อนของพื้นผิวไม้
  • ส่วนประกอบอาคาร เช่น พื้น ผนัง ประตู หน้าต่าง ซึ่งเสียหายจากการใช้งาน และการเสื่อมของวัสดุ หากไม่เสียหายมาก สามารถขัดพื้นผิวไม้ให้กลับมาดูใหม่และสวยงามได้
  • ระบบน้ำและระบบไฟฟ้า เป็นส่วนที่มักต้องทำใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะอาคารที่อายุเกิน 30 ปี อุปกรณ์ต่างๆก็จะเสื่อมสภาพ และหากมีการปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ ก็จะต้องออกแบบจัดวางระบบน้ำและไฟฟ้าใหม่ให้สอดคล้องกันด้วย
  • ความเสียหายจากปลวก สร้างความเสียหายให้บ้านไม้อย่างมาก หากขาดการดูแลรักษา โดยเฉพาะบ้านไม้ที่ปล่อยร้างนาน หากพบปลวกสามารถกำจัดด้วยน้ำยากำจัดปลวก พร้อมกับดูแลสภาพแวดล้อมบ้านไม่ให้อับ ทึบ ไม่มีเศษกิ่งไม้ใบไม้แห้งที่เป็นอาหารของปลวก
สถานที่ : บ้านบานเย็น
สถานที่ : บ้านบานเย็น
สถานที่ : บ้านบานเย็น

การป้องกันปลวก

ปลวกที่ทำลายอาคารบ้านเรือนมักเป็นปลวกที่อาศัยอยู่ใต้ดิน อาหารของปลวก คือ เซลลูโลสจากเส้นใยพืช ได้แก่ ไม้แห้ง ไม้ชื้น ดิน ใบไม้ เศษซากพืชที่ทับถมอยู่บนพื้นดินและใต้ดิน รวมถึงวัสดุอื่นๆ ที่มีเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบ การป้องกันปลวกจึงควรดูแล 3 ส่วน คือ

1.การจัดสภาพแวดล้อม เพื่อลดปัจจัยการทำรังของปลวก ได้แก่

  • กำจัดแหล่งอาหาร เช่น ตอไม้ เศษไม้ ถุงปูน บริเวณใต้อาคารและโดยรอบอาคาร
  • กำจัดแหล่งอาหารภายในอาคาร โดยการเลือกวัสดุทดแทนไม้ หรือวัสดุที่ทนทานต่อปลวก
  • ควบคุมความชื้นภายในอาคารและบริเวณโดยรอบอาคาร เช่น ออกแบบอาคารยกพื้นสูงเพื่อระบายความชื้นใต้อาคาร
  • ออกแบบลดจุดอับของอาคาร ซึ่งอาจเป็นเส้นทางการเข้าถึงของของปลวกใต้ดิน เพื่อให้สามารถสังเกตเส้นทางเดินของปลวกชัดเจนและสามารถแก้ปัญหาได้ทันที
  • ปลูกพืชพรรณห่างจากตัวอาคาร โดยกำหนดตำแหน่งการปลูกต้นไม้ใหญ่ห่างจากตัวอาคาร เพื่อป้องกันการเข้าถึงของปลวกจากเรือนยอดของต้นไม้

2.การตรวจสอบอาคารและสำรวจเส้นทางเดินของปลวกเป็นประจำ ทั้งด้วยวิธีการสังเกต และการใช้อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน ความชื้น ก๊าซ คลื่นความถี่ หรือคลื่นเสียง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

3.การป้องกันปลวก สามารถทำได้ทั้งทางกายภาพ เช่น ทำฐานเสาบ้านล้อมด้วยน้ำ หรือทำระบบกำจัดปลวกซึ่งมี 3 วิธีใหญ่ๆ คือ

  • แบบอัดน้ำยาลงดิน เพื่อทำให้ดินเป็นพิษจนปลวกอาศัยและเดินผ่านไม่ได้ ถือเป็นวิธีป้องกันปลวกใต้ดินที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยฉีดน้ำยาให้ทั่วถึงทั้งภายใน ภายนอกรอบๆอาคารแบบปูพรม หลังจากนั้นทุก 3 – 5 ปี ต้องอัดน้ำยาใหม่ หากเป็นบ้านเก่าต้องเจาะรูที่พื้นบ้านเป็นช่วงๆ แล้วอัดน้ำยาลงพื้น หรือหากเป็นบ้านที่กำลังสร้าง แนะนำให้เดินท่อใต้พื้นไว้เลย โดยน้ำยาเคมีที่ใช้แบ่งเป็น 2 ชนิด
    • ชนิดไล่ปลวก เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์ในการไล่ปลวกให้ออกไปจากบริเวณดินที่ใช้สารเคมีนั้นๆ แต่ปลวกจะหาทางเดินใหม่ที่ไม่มีสารเคมีเพื่อเข้ามาทำลายอาคาร และเมื่อสารเคมีหมดฤทธิ์แล้ว ปลวกจะกลับเข้ามาใหม่ได้
    • ชนิดกำจัดปลวกโดยไม่ไล่ปลวก เป็นสารเคมีที่ใช้ฆ่าปลวกที่เข้ามาในบริเวณดินที่ใช้สารเคมีนั้น และจะคงออกฤทธิ์ในดิน จึงป้องกันและกำจัดปลวกได้ยาวนานกว่า
  • แบบวางเหยื่อล่อ หรือเรียกว่าแบบสถานีปลวก ในสถานีจะใส่สารเคมีที่มีฤทธิ์กำจัดแต่ไม่ขับไล่ หรือแบบแพร่เชื้อ พร้อมกับอาหารที่ปลวกชอบ มีข้อดีคือไม่ต้องเจาะพื้น แต่ข้อจำกัดคือ อาจจะไม่ได้ผลถ้าปลวกไม่เดินเข้ามาในกับดักที่วางล่อไว้ ปลวกที่กินยาจะไม่ตายทันทีแต่จะกลับไปตายที่รัง และปลวกตัวอื่นจะมากินซากทำให้ตายตามกัน
  • แบบใช้นักล่า คือเลี้ยงไส้เดือนฝอย โดยไส้เดือนฝอยที่มีขนาดเล็กกว่าตัวปลวกจะเข้าไปอาศัยข้างในตัวปลวกผ่านช่องเปิดตามข้อต่อของปลวก หรือปลวกกินไส้เดือนฝอยนั้นเข้าไป ไส้เดือนฝอยจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ช่องว่างภายในตัวปลวก แล้วปลดปล่อยแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดของปลวก แบคทีเรียจะสร้างสารพิษ มีผลทำให้ปลวกเกิดอาการเลือดเป็นพิษ หยุดนิ่ง และตายในเวลาประมาณ 6 ชั่วโมง หลังจากนั้น 3 – 4 วันไส้เดือนฝอยจะขยายพันธุ์ได้ไส้เดือนรุ่นใหม่ที่ออกจากซากปลวก เพื่อรอปลวกตัวใหม่มากินต่อไปเป็นวัฏจักรไปเรื่อย ๆ

คอลัมน์ Home Expert เม.ย.66
เรื่อง : ศรายุทธ ศรทิพย์อาสน์
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม, รองศาสตราจารย์โรจน์ คุณเอนก, คลังภาพบ้านและสวน
ภาพประกอบ : คณาธิป จันทร์เอี่ยม


รวมมิตร 70 แบบ บ้านไม้ ยอดนิยมตลอดกาลของบ้านและสวน

รวมบ้านไม้บรรยากาศสบายๆ เห็นแล้วอารมณ์ดี

ติดตามบ้านและสวน