เคล็ดลับการติดตั้งและเปิดแอร์ให้บ้านเย็นแต่ ประหยัดไฟ สู้อากาศร้อน
เปิดแอร์ ประหยัดไฟ

เคล็ดลับการติดตั้งและเปิดแอร์ให้บ้านเย็นแต่ ประหยัดไฟ สู้อากาศร้อน

การเปิดแอร์หรือเครื่องปรับอากาศสู้อากาศร้อน แต่ ประหยัดไฟ น่าจะเป็นโจทย์ที่ยากพอสมควรของทุกบ้าน ซึ่งค่าไฟฟ้าแพงหลีกเลี่ยงได้ยากเพราะเป็นวิธีที่ทำให้อุณหภูมิในห้องหรือในบ้านเย็นเร็วที่สุด แน่นอนว่าการเปิดแอร์เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องอากาศร้อนที่สะดวก แต่สิ้นเดือนก็ต้องเจอกับปัญหาคือบิลค่าไฟที่สูงขึ้นในช่วงฤดูร้อนที่เครื่องใช้ไฟฟ้าช่วยทำความเย็นอย่าง แอร์ และ พัดลม ทำงานหนัก

วันนี้ บ้านและสวน มีเคล็ดลับในการเลือกซื้อ ติดตั้ง และใช้แอร์แบบประหยัดไฟที่สุดมาแนะนำ

1.เลือกใช้แอร์ที่มีอินเวอร์เตอร์และประหยัดไฟเบอร์ 5

การประหยัดค่าไฟจากแอร์ ต้องเริ่มต้นที่การเลือกซื้อ เครื่องปรับอากาศ โดยควรเลือกที่มีระบบ ระบบอินเวอร์เตอร์ (Inverter) ระบบควบคุมการทำงานของคอมเพรสเซอร์ที่แปลงกระแสไฟฟ้าสลับ สามารถปรับขนาดแรงดันและความถี่ได้ ซึ่งเครื่องปรับอากาศอินเวอร์เตอร์เมื่อเริ่มเปิดเครื่องอุณหภูมิจะค่อย ๆ ลดลงถึงระดับที่ตั้งไว้ หลังจากนั้นคอมเพรสเซอร์จะปรับรอบการทำงานลงเพื่อคงอุณหภูมิภายในห้องให้คงที่สม่ำเสมอ และยังช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 20-30% เนื่องจากระบบการทำงานของคอมเพรสเซอร์ไม่ได้ถูกตัดบ่อยหรือรีเซ็ตระบบใหม่เมื่ออุณหภูมิถึงความเย็นที่กำหนดไว้

นอกจากนี้ ยังต้องเลือก แอร์ ที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ดาว ที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและประหยัดไฟยิ่งกว่าเดิมเมื่อเทียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีฉลากเบอร์ 5 ซึ่งส่วนใหญ่จะสามารถคำนวณค่าไฟฟ้าของคุณได้เลย

2.แอร์ต้องเหมาะสมกับขนาดห้อง

การเลือก แอร์ ให้เหมาะสมกับขนาดห้องช่วยให้คุณประหยัดค่าไฟได้ โดยควรพิจารณา​จากค่า BTU/hr (British Thermal Unit per hour) ซึ่งเป็นหน่วยสากลที่ใช้วัดขนาดความเย็นของแอร์ และมีความสำคัญ​อย่างยิ่งต่อการประหยัดพลังงาน

ทั้งนี้ การเลือกซื้อแอร์ขนาดใหญ่เพื่อให้ห้องเย็นเร็วขึ้น ซึ่งเป็นการตัดสินใจไม่ถูกต้อง เพราะการใช้แอร์ที่มี BTU สูงเกินความจำเป็นกับขนาดห้องจะทำให้คอมเพรสเซอร์ตัดบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานของแอร์ลดน้อยลง และทำให้ภายในห้องมีความชื้นสูงส่งผลให้ผู้ใช้งานรู้สึกไม่สบายตัว รวมถึงมีราคาแพงเกินความจำเป็น​ แต่หาก​เลือก​แอร์ที่มี BTU ต่ำเกินไป การทำความเย็นจะช้า ไม่ได้ตามอุณหภูมิที่ตั้งไว้ รวมถึงคอมเพรสเซอร์ทำงานหนักจนเกินไป ทำให้แอร์เสียเร็ว สิ้นเปลืองพลังงาน และค่าไฟแพงขึ้น

3.ตำแหน่งการติดตั้งแอร์และคอมเพรสเซอร์

อีกหนึ่งเรื่องสำคัญคือ ตำแหน่งการติดตั้งแอร์และคอมเพรสเซอร์ให้เหมาะสม ซึ่งตำแหน่งการติดตั้งแอร์ควรหลีกเลี่ยงการติดตั้งในทิศตะวันตก เนื่องจากบริเวณดังกล่าวจะโดนแสงแดดส่องในช่วงบ่ายทำให้ความร้อนสูง แอร์ต้องทำงานหนักมากขึ้น

เช่นเดียวกับการติดตั้งคอมเพรสเซอร์ให้หลีกเลี่ยงบริเวณที่เป็นพื้นปูน ดาดฟ้า มุมอับที่อากาศไม่ค่อยถ่ายเท หรือได้รับแสงแดดโดยตรง เพราะคอมเพรสเซอร์แอร์เป็นอุปกรณ์​ระบายความร้อนจึงควรอยู่ในที่ร่ม และยกสูงเหนือพื้น​ เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดียิ่งขึ้นและประหยัดพลังงาน

4.การเลือกอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ

เป็นข้อถกเถียงกันมากว่า อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ ที่เหมาะสมและประหยัดไฟ ควรอยู่ที่เท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะแนะนำว่า ไม่ควรตํ่ากว่า 25 องศา หรืออยู่ที่ประมาณ 25-28 องศาเซลเซียส เนื่องจากร่างกายของมนุษย์สามารถรับความเย็นระดับ 27 องศาเซลเซียสได้อย่างสบายตัว และหากต้องการประหยัดมากกว่าเดิม ให้เปิดพัดลมควบคู่กันไปส่งผลให้แอร์ทำความเย็นได้เร็วขึ้นและใช้พลังงานน้อยลง

5.เปิดพัดลมควบคู่ในช่วงที่เริ่มเปิดแอร์

egat หน่วยงานของกฟผ. ระบุว่า การเปิดพัดลมช่วยไล่ความร้อนภายในห้องก่อนและช่วงเปิดแอร์ใหม่ๆ ช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ โดยควรเพิ่มอุณหภูมิแอร์ไปที่ 26-27 องศาเซลเซียส การเปิดพัดลมควบคู่จะช่วยลดอุณหภูมิลงได้ 2 องศา แต่สามารถประหยัดไฟมากกว่าการเปิดแอร์ที่ 23-24 องศาเซลเซียส และช่วยประหยัดค่าไฟได้ถึง 10% ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ ห้องเริ่มเย็นขึ้นแล้ว ก็สามารถปิดพัดลมได้ ซึ่งตำแหน่งในการเปิดพัดลมต้องอยู่ในจุดใต้แอร์ ให้ลมของพัดลมพัดไปในทิศทางเดียวกับแอร์ จากนั้นเมื่ออุณหภูมิห้องเริ่มเย็นคงที่ ก็สามารถปิดพัดลมได้

6.ปิดประตูและหน้าต่างให้สนิท และเลี่ยงการใช้แอร์ในห้องพื้นที่เปิด

ในห้องที่เปิดแอร์ควรเป็นห้องหรือพื้นที่ที่ปิดค่อนข้างสนิท ไม่มีประตู หน้าต่าง หรือ ช่อง เปิดอยู่ เนื่องจากจะทำให้แอร์ทำงานหนัก และเปลืองค่าไฟ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการเปิดแอร์ในห้องที่เปิดโล่งอย่างห้องโถง ที่มีทางขึ้นบันได ทางเดินไปห้องอื่นๆ ไม่มีประตูกั้น เพราะแอร์ไม่ค่อยเย็นแล้ว ยังทำให้แอร์ต้องทำงานหนักกว่าปกติและส่งผลให้ค่าไฟเพิ่มขึ้นอีกด้วย

นอกจากนั้นยังควรเปิดแอร์ในห้องที่เป็นพื้นที่ปิด หรือหากจำเป็นต้องใช้แอร์ในห้องโถงจริงๆ ก็ควรติดตั้งฉากกั้นพื้นที่แบบเปิดปิด กั้นทางขึ้นบันได และทางเดินไปห้องอื่นๆ รวมถึงปิดหน้าต่าง ม่านให้เรียบร้อย โดยม่านก็ช่วยลดอุณหภูมิจากแสงดอาทิตย์ภายนอก แอร์ทำงานน้อยลง ประหยัดพลังงานและค่าไฟแล้ว

7.ล้างแอร์เป็นประจำ

การล้างแอร์ เป็นหนึ่งในการช่วยให้ประหยัดไฟ เพราะเมื่อแอร์มีการใช้งานไปนานๆ จะมีฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกเข้าไปในตัวแอร์ และเมื่อสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้แอร์ไม่ค่อยเย็น ทำงานหนัก กินไฟมากกว่าเดิม โดยหากฝุ่นละอองเข้าไปอุดตันในท่อน้ำแอร์ก็จะทำให้แอร์มีน้ำหยด การล้างแอร์เบื้องต้นด้วยการทำความสะอาดแผ่นกรองหยาบก็สามารถช่วยให้แอร์กลับมาทำงานได้ดีขึ้น หรือจะให้ช่างแอร์มาล้างให้สะอาดเอี่ยมอ่องก็จะทำให้แอร์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม มีคำแนะนำว่า การล้างแอร์ทุก 6 เดือน จึงทำให้แอร์สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและปล่อยลมเย็นได้เหมือนเดิม ประหยัดค่าไฟได้มากถึง 10%

8.อย่านำของร้อน ของชื้น และเครื่องใช้ไฟ้ฟ้าที่ให้ความร้อนเข้ามาในห้องที่เปิดแอร์

ในส่วนของการนำของร้อนเข้ามาในห้องที่เปิดแอร์ จะทำให้แอร์ทำงานหนักขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิความร้อนที่เพิ่มขึ้นในห้องหลายคนคงคิดไม่ถึงว่าการมี ต้นไม้ เสื้อผ้าเปียก ภาชนะใส่น้ำของเหลวในห้อง ก็ทำให้แอร์ทำงานหนักขึ้น ส่งผลต่อค่าไฟที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากหลักการการทำงานของแอร์ นอกจากจะใช้พลังงาน 30% ลดอุณหภูมิห้องแล้ว ยังใช้พลังงาน 70% กำจัดความชื้นให้อากาศให้ห้องแห้ง ดังนั้นการมีสิ่งที่ก่อความชื้นภายในห้อง ทำให้แอร์ต้องใช้พลังงานทำงานหนักเพื่อกำจัดความชื้นภายในห้อง การหลีกเลี่ยงไม่นำของชื้นและของร้อนเข้ามาในห้องจึงเป็นการช่วยแอร์ประหยัดพลังงาน ลดค่าไฟได้เช่นกัน

ขณะที่การนำเครื่องใช้ไฟฟ้า ประเภทที่ให้ความร้อน ไปใช้ในห้องนั้น จึงเป็นสิ่งที่ทำให้แอร์ ต้องทำงานหนักขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น การปรุงอาหารด้วยกระทะไฟฟ้า การใช้หม้อต้มน้ำร้อน หรือจะเป็นการใช้เตารีดก็ตาม โดยหากหากหลีกเลี่ยงได้ ก็จะเป็นการช่วยให้เครื่องปรับอากาศ ทำงานลดลงได้มาก

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.egat.co.th/home/20220819-art01/

บทความที่เกี่ยวข้อง

8 ต้นไม้คลายร้อน ปลูกในบ้าน ช่วยลดอุณหภูมิ เพิ่มความเย็น

เปิดแอร์อย่างไรให้ประหยัด เย็นสบายได้ ไม่ต้องห่วงค่าไฟพุ่ง

รวม ต้นไม้ทนแดด ต้นไม้ดูดความร้อน สำหรับให้ร่มเงา

ติดตามไอเดียบ้านและสวนเพิ่มเติมได้ทาง : บ้านและสวน Baanlaesuan.com