บ้านหิ่งห้อย เย็นกาย สบายใจ ในเรือกสวนบ้านเกิด

“ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับบ้านเกิด เปรียบได้กับหิ่งห้อยที่ถือกำเนิดใต้ต้นลำพูครับ แม้จะออกโบยบินไปไกลแค่ไหน แต่สุดท้ายในช่วงบั้นปลายก็จะหวนคืนกลับสู่ บ้านหิ่งห้อย ต้นลำพูต้นเดิมเสมอ”

แนวคิดนี้ที่ คุณกึ๋น-กศินร์ ศรศรี สถาปนิกจาก Volume Matrix Studio ได้แรงบันดาลใจมาจากกวีนิพนธ์ หิ่งห้อย โดยมหากวี รพิทรนาถ ฐากุร คือสิ่งที่บอกเล่าถึงความสำคัญของบ้านหลังนี้ได้เป็นอย่างดี บ้านหิ่งห้อย แห่งนี้คือบ้านที่เปรียบเสมือนต้นลำพูต้นใหญ่ของ คุณเก๊า-วิจัย และ คุณฐิ-ฐิติมา หอมศักดิ์มงคล บนที่ดินถิ่นเกิดของคุณฐิในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ให้ทั้งสองได้แวะกลับมาพักพิงใกล้ชิดกับญาติพี่น้อง ทั้งยังเปิดต้อนรับผู้คนหลากหลายให้เข้ามาสัมผัสกับวิถีชีวิตแบบไทยๆ ที่ไม่เคยล้าสมัย ผ่านความร่มรื่นของพรรณไม้ ลมเย็นสบาย ขนมไทยและเครื่องดื่มแสนอร่อย

คุณเก๊าและคุณฐิ สองสามี-ภรรยาเจ้าของบ้าน
มุมมองจากทางเข้าเผยให้เห็นวัสดุที่หลากหลาย รวมถึงผนังต้นมะพร้าว สัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงที่ตั้งของบ้าน
นอกจากเจ้าของบ้านแล้ว ยังมีต้นมะพร้าวลูกดกรอต้อนรับเราอยู่ตรงหน้าบ้านด้วย

สเปซไทยรูปโฉมใหม่

ทั้งคู่สร้างบ้านหลังที่สองแห่งนี้เพื่อใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัวในวันหยุด รวมถึงเพื่อใช้ชีวิตวัยเกษียณในอนาคต ภายใต้คอนเซ็ปต์บ้านในสวนแบบไทยๆ ที่เน้นพื้นที่กิจกรรมด้านนอก แม้หน้าตาจะดูไม่ใกล้เคียงกับบ้านไทยตามแบบฉบับเดิม แต่สเปซแทบทุกส่วนออกแบบมาเพื่อการใช้ชีวิตเรียบง่ายแบบไทยในรูปลักษณ์ที่แตกต่าง โดยแต่ละห้องถูกวางแยกออกจากกัน เชื่อมถึงกันด้วยระเบียง และเว้นพื้นที่ให้ลมไหลผ่าน โดยเฉพาะชั้นล่างที่เย็นสบายเป็นพิเศษเพราะมีอาคารด้านบนช่วยบังแดด ทั้งยังให้ความรู้สึกอบอุ่นเป็นกันเองด้วยสเปซแบบใต้ถุนบ้านไทยที่ไม่สูงจนเกินไป เหมาะกับอิริยาบถนั่งหรือนอนเอกเขนกยามกลางวัน

ฟังก์ชันภายในห้องต่างๆ ออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัด โดยชั้นล่างประกอบด้วยห้องนอนของคุณเก๊าและคุณฐิพร้อมห้องน้ำในตัว ห้องนั่งเล่น ห้องน้ำแขก และห้องครัวพร้อมโต๊ะรับประทานอาหารที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นคาเฟ่และห้องสอนทำขนมไทยได้ในช่วงวันหยุด ไม่ไกลจากห้องครัวมีบันไดนำทางขึ้นไปชั้นบนซึ่งมีดาดฟ้าขนาดใหญ่สำหรับทำกิจกรรมกลางแจ้งพร้อมวิวสวน ล้อมรอบด้วยห้องนอนของลูกๆ สองห้อง ห้องนอนแขก และห้องน้ำที่แบ่งย่อยเป็นห้องอาบน้ำฝักบัวและโถชักโครก ห้องอาบน้ำในอ่าง และอ่างล้างหน้าอเนกประสงค์ที่ตั้งอยู่ด้านนอก

บ้านตั้งอยู่ใกล้ชิดกับเรือกสวนมะพร้าว เพียงเปิดหน้าต่างออกไปก็จะพบกับต้นมะพร้าวแล้ว
พื้นที่ใต้ถุนที่ออกแบบให้ความสูงใกล้เคียงกับใต้ถุนของบ้านไทย
ผนังต้นมะพร้าว ผนังคอนกรีตที่ใช้ต้นมะพร้าวเป็นแบบหล่อ จนได้พื้นผิวที่เป็นเอกลักษณ์

วัสดุเล่าเรื่องราว

บ้านหลังนี้เลือกนำเสนอความเป็นบ้านไทยด้วยวัสดุที่ต่างออกไป นั่นคือปูนเปลือยขัดมันบนพื้นและผนังส่วนใหญ่ของบ้าน “ชอบพื้นผิวปูนขัดมันเพราะเดินแล้วรู้สึกเย็นเท้าดี ให้ความรู้สึกเหมือนบ้านสมัยก่อนในความทรงจำของเราที่ดูคลาสสิก แล้วก็ดูแลรักษาง่ายด้วยค่ะ” คุณฐิเล่า นอกจากนั้นบางส่วนยังมีการผสมผสานวัสดุหลากหลาย อย่างไม้เรือนเก่า ผนังทาสี และผนังโลหะได้อย่างลงตัวด้วย

บางจุดมีการใช้วัสดุพิเศษที่สื่อถึงตัวตนของผู้คนและพื้นที่ได้อย่างน่าสนใจ อย่างผืนผนังคอนกรีตลวดลายแปลกตาที่เกิดจากการนำต้นมะพร้าวมาใช้เป็นแม่แบบ บอกเล่าความเป็นมาของสวนมะพร้าวแห่งนี้ รวมถึงคุณแม่ของคุณฐิที่แต่ก่อนมีอาชีพขายมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งเป็นของดีขึ้นชื่อของอัมพวา อีกจุดหนึ่งคือ ฟาซาดบานเฟี้ยมนอกระเบียงห้องนอนชั้นบนที่ฉลุเป็นลายจุดด้วยจังหวะสวยงามคล้ายลายม่านลูกไม้แบบไทยโบราณ ซึ่งนอกจากจะช่วยกันแดดแล้ว ยังสื่อความหมายถึงหิ่งห้อย อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของอัมพวาและเป็นที่มาของบ้านหลังนี้ตามแนวคิดของคุณกึ๋นนั่นเอง

ทางขึ้นระเบียงตรงคอร์ตกลางบ้าน พื้นที่พักผ่อนที่เย็นสบายในช่วงกลางวัน
คอร์ตกลางบ้านถูกเติมเต็มด้วยพรรณไม้หลากหลายที่คุณเก๊าเลือกและปลูกเองกับมือ
ระเบียงเชื่อมต่อไปยังห้องครัว ทะลุผ่านคอร์ตกลางบ้านที่มีต้นจิกเศรษฐีให้ร่มเงา
ตรงระเบียงมีชิงช้าสำหรับนั่งเล่นตากลมเย็นชมวิวสวนด้านนอก

ชีวิตรื่นรมย์ในบ้านสวน

สวนอันร่มรื่นที่ช่วยเติมเต็มความน่าอยู่ของบ้านหลังนี้นั้นเป็นผลงานของคุณเก๊าที่ลงมือเลือกพรรณไม้ต่างๆ ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะไม้ประธานตรงคอร์ตกลางบ้านที่เลือกปลูกจิกเศรษฐี ต้นไม้หายากที่รูปทรงสวย โตช้า ให้ร่มเงาดี ใบร่วงน้อย รวมถึงชื่อเป็นมงคลด้วย สำหรับที่นี่ พืชพรรณกับการใช้ชีวิตดูเกือบเป็นเรื่องเดียวกัน ตามวิถีไทยในยุคที่เรายังใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติ ทั้งร่มเงา ความงาม ความสดชื่นสบายตา และอาหารการกิน โดยเฉพาะขนมไทยแสนอร่อยหลายชนิดฝีมือพี่สาวของคุณฐิที่ทำขายวันต่อวัน เช่น ขนมตะโก้เผือกมันม่วงมะพร้าวอ่อน ขนมกล้วยจี่ ขนมต้ม และขนมถั่วแปบ ซึ่งทำจากวัตถุดิบสดใหม่ที่หาได้ในเรือกสวนข้างบ้าน ทั้งมะพร้าว กล้วย ใบเตย รวมถึงมันม่วงด้วย

บ้านใหม่ที่สะดวกสบายขึ้นทำให้การกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดรื่นรมย์กว่าที่เคย ตามที่คุณฐิเล่าว่า “เมื่อก่อนมาเช้าเย็นกลับ ไม่ค่อยได้ค้างคืนค่ะ เดี๋ยวนี้พอวันหยุดปุ๊บก็รีบเก็บกระเป๋ามาเลยค่ะ ได้มาค้างคืนและใช้เวลายามเช้าที่นี่ด้วย” บ้านหลังนี้ยังกลายเป็นจุดนัดหมายใหม่อีกด้วย ทั้งการจัดงานรวมญาติบนลานดาดฟ้า และการรับรองเพื่อนฝูงที่แวะมาเที่ยวค้างคืน พร้อมเสียงชื่นชมของทุกคนที่สร้างความรู้สึกอิ่มเอมให้เจ้าของบ้านเสมอ

ห้องรับประทานอาหารกลางสวนที่บางครั้งเปิดเป็นคาเฟ่และห้องสอนทำขนมในช่วงวันหยุดด้วย
บันไดนำทางขึ้นไปยังชั้น 2 ตรงมุมประดับด้วยดอกเบิร์ดออฟพาราไดส์ที่ตัดมาจากในสวน
ลานกิจกรรมด้านบน เหมาะเป็นพื้นที่สังสรรค์ท่ามกลางวิวสวนในยามเย็น
ห้องนอนเสริมแยกออกไปอีกด้านหนึ่งจากตัวบ้านหลัก

“อยากให้บ้านหลังนี้เป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตแบบไทยๆ ที่สวยงาม ตอบโจทย์การใช้งาน และสร้างความรู้สึกที่ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่แห่งนั้นจริงๆ ครับ” คุณกึ๋นพูดถึงความรู้สึกที่มีต่อบ้านหลังนี้ในฐานะผู้ออกแบบที่ตั้งใจให้บ้านเป็นสถานที่ที่เปี่ยมด้วยคุณค่า ซึ่งเจ้าของบ้านก็คงเห็นเช่นนั้นด้วย ตามที่คุณเก๊าปิดท้ายว่า “บ้านหลังนี้เป็นที่ที่รวมความรักของเราไว้จริงๆ ครับ ทั้งครอบครัว ต้นไม้ และสิ่งต่างๆ ที่เราทำร่วมกัน เราเลยตั้งใจที่จะดูแลรักษาบ้านให้ยังคงทำหน้าที่ของมันต่อไปตราบชั่วลูกชั่วหลานครับ”

ภายในห้องนอนเสริมมีเตียงสองชั้น 2 ชุด รับรองแขกได้อย่างน้อย 4 คน
ห้องน้ำแยกออกเป็น 2 ห้องเพื่อความคล่องตัวในการใช้งาน โดยมีอ่างล้างหน้าอเนกประสงค์อยู่ด้านนอก
ห้องอาบน้ำแบบอ่าง สำหรับอาบน้ำและนอนชมวิวด้านนอกไปพร้อมๆ กัน
ห้องนอนลูกห้องหนึ่งมีชั้นลอยที่สามารถปีนขึ้นไปด้านบนได้
บรรยากาศภายในห้องชั้นลอยเหมือนอยู่ในบ้านไม้เก่า เพราะสร้างจากไม้เรือนเก่าจริงๆ จากตลาดไม้บางแพ
ห้องนอนของลูกๆ มีระเบียงที่เปิดออกไปนั่งเล่นชมวิวด้านนอกได้

เจ้าของ : คุณวิจัย-คุณฐิติมา หอมศักดิ์มงคล

ออกแบบ : Volume Matrix Studio โดยคุณกศินร์ ศรศรี

ที่ตั้ง : จังหวัดสมุทรสงคราม


คอลัมน์ บ้านสวย นิตยสารบ้านและสวน ฉบับ เม.ย. 2566

เรื่อง : Tinnakrit

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

สไตล์ : Suntreeya


บ้านฟาร์มหลังเกษียณ ที่กลายเป็นโฮมสเตย์ ปลูกผักกินเอง

บ้านไม้ชั้นเดียว ภายใต้โรงเลี้ยงหมูเก่า กลางสวน

เฮือนอีสานใต้ถุนสูง ใกล้ชิดธรรมชาติ

ติดตามบ้านและสวน facebook.com/baanlaesuanmag