รู้จักระบบกรองน้ำใช้ในบ้าน ปรับคุณภาพน้ำประปาและน้ำบาดาล

น้ำประปาไม่สะอาด ระบบกรองน้ำใช้ในบ้าน ช่วยได้! เหมาะสำหรับบ้านที่พบปัญหาน้ำกร่อย น้ำเค็ม น้ำกระด้าง ปัญหาในระบบท่อส่งน้ำประปา และบ้านที่ใช้น้ำบาดาล

ระบบกรองน้ำใช้ในบ้าน (Whole House Water Filter System) เป็นการติดตั้งเครื่องกรองน้ำเข้าไปในระบบประปาของบ้านเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำใช้ภายในบ้านให้ดียิ่งขึ้น ก่อนแจกจ่ายเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของบ้านเพื่อใช้อุปโภคบริโภค ทั้งในห้องน้ำ ห้องครัว เครื่องซักผ้า รวมถึงระบบกรองน้ำดื่ม

แม้น้ำประปาส่วนใหญ่จะผ่านการกรองจากโรงกรองน้ำมาแล้วก่อนส่งต่อผ่านท่อมายังบ้านของเรา แต่ในบางพื้นที่ก็อาจยังพบกับปัญหาท่อประปาเก่าชำรุด การปนเปื้อนสิ่งสกปรก ปัญหาน้ำกร่อย น้ำเค็ม หรือน้ำกระด้าง นอกจากนั้นบางบ้านก็ยังมีการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ด้วย การติดตั้งระบบกรองน้ำใช้ในบ้านจึงช่วยให้เราอุ่นใจได้ถึงคุณภาพน้ำที่สะอาด ปลอดภัย ไร้สารตกค้าง รวมถึงเป็นการกรองน้ำประปาขั้นแรกก่อนส่งเข้าระบบกรองน้ำดื่มเพื่อให้ได้น้ำที่สะอาดยิ่งขึ้นอีกด้วย

เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ควรติดตั้งเครื่องกรองน้ำต่อจากมิเตอร์น้ำประปา เพื่อกรองสิ่งสกปรกและสารตกค้างจากน้ำที่ถูกส่งต่อมาทางท่อประปาส่วนกลาง ก่อนส่งต่อเข้าสู่ถังเก็บน้ำและเครื่องปั๊มน้ำเพื่อแจกจ่ายไปยังส่วนต่างๆ ภายในบ้าน

ประเภทเครื่องกรองน้ำใช้

แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ โดยจะเลือกติดตั้งแบบไหนนั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณและรูปแบบการใช้น้ำประปาภายในบ้าน

  1. กระบอกกรองน้ำ เป็นเครื่องกรองน้ำขนาดเล็ก ส่วนใหญ่ตัวกระบอกทำจากพลาสติกแข็ง มีทั้งแบบใสและแบบทึบ เหมาะสำหรับบ้านขนาดเล็กที่มีผู้อยู่อาศัย 1-2 คน หรือห้องคอนโดมิเนียมที่ใช้น้ำไม่มาก จึงไม่จำเป็นต้องติดตั้งถังเก็บน้ำและเครื่องปั๊มน้ำ ข้อดีคือมีไส้กรองสำเร็จรูปที่สามารถหาซื้อมาเปลี่ยนเองได้ง่าย อายุการใช้งานสั้นกว่าอีก 2 ประเภท
  2. เครื่องกรองน้ำแบบถังไฟเบอร์กลาส เป็นแบบที่เหมาะกับบ้านพักอาศัยทั่วไปมากที่สุด รองรับการกรองน้ำได้มากกว่าแบบกระบอก ประสิทธิภาพการกรองดี ใช้งานง่าย สามารถเปลี่ยนสารกรองเองได้ ต้องติดตั้งควบคู่กับหัวกรองเพื่อล้างทำความสะอาดสารกรองภายใน สามารถติดตั้งถังกรองต่อกันหลายถังได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกรองผ่านสารกรองหลายๆ ประเภทซึ่งแก้ปัญหาคุณภาพน้ำได้แตกต่างกันออกไป รวมถึงมีถังกรองแบบที่มาพร้อมกับระบบกรองหลายชั้นภายในถังเดียวให้เลือกใช้ด้วย
  3. เครื่องกรองน้ำแบบถังสแตนเลส เป็นเครื่องกรองขนาดใหญ่ ข้อดีคือแข็งแรง ทนแดดทนฝน ประสิทธิภาพการกรองสูง สามารถบรรจุสารกรองจำนวนมากได้ ข้อจำกัดต้องใช้พื้นที่ติดตั้งมาก ตัวเครื่องมีน้ำหนักมาก และการเปลี่ยนสารกรองจำเป็นต้องทำโดยช่างผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

ประเภทไส้กรอง

ไส้กรองมีให้เลือกหลายประเภท แต่ละประเภทช่วยแก้ปัญหาคุณภาพน้ำได้แตกต่างกันออกไป การเลือกว่าจะติดตั้งไส้กรองแบบไหนบ้างจึงขึ้นอยู่กับปัญหาคุณภาพน้ำที่ต้องการปรับปรุงก่อนนำมาใช้อุปโภคบริโภค ไส้กรองที่นิยมใช้สำหรับระบบกรองน้ำใช้ในบ้านมี 4 ประเภท

  1. ไส้กรองคาร์บอน (Activated Carbon) ลักษณะเป็นผงถ่านขนาดเล็กสีดำ มีคุณสมบัติเป็นตัวดูดซับสิ่งสกปรก ช่วยลดความขุ่นของน้ำ ขจัดสารแขวนลอย สารอินทรีย์ สารคลอรีน ช่วยแก้ปัญหาทั้งเรื่องรสชาติ กลิ่น และสีของน้ำ
  2. ไส้กรองแอนทราไซต์ (Anthracite) ลักษณะเป็นเม็ดๆ มันวาว ทำจากถ่านหินซึ่งมีธาตุคาร์บอนสูง มีคุณสมบัติช่วยกรองสารแขวนลอย ลดตะกอนในน้ำ นิยมใช้ในระบบกรองทั้งน้ำประปาและน้ำบาดาล
  3. ไส้กรองเรซิ่น (Ion Exchange Resins) ลักษณะเป็นเม็ดขนาดเล็กสีเหลือง มีคุณสมบัติช่วยปรับประจุเพื่อลดความกระด้างหรือความเค็มของน้ำ กรองสารหินปูน แคลเซียม และแมกนีเซียม จึงเหมาะสำหรับใช้กรองน้ำดิบ น้ำกร่อย และน้ำบาดาล
  4. ไส้กรองแมงกานีส (Manganese) ลักษณะเป็นเม็ดสีน้ำตาลจนถึงดำ มีคุณบัติช่วยขจัดสารละลายเหล็กและสนิมเหล็กที่ปนเปื้อนในน้ำ เป็นสารกรองอีกชนิดที่นิยมใช้ในการกรองน้ำบาดาล

ประเภทชุดหัวกรอง

สิ่งที่ต้องทำเป็นประจำเมื่อติดตั้งระบบกรองน้ำใช้ คือการล้างทำความสะอาดไส้กรองผ่านอุปกรณ์หัวกรอง ที่นิยมใช้แบ่งออกเป็น 2 แบบ

1. ชุดหัวกรองแบบแมนนวล สำหรับล้างทำความสะอาดไส้กรองด้วยตัวเองทุกสุปดาห์ มี 2 แบบ

  • แบบหัววาล์วคันโยก สำหรับล้างทำความสะอาดไส้กรองแบบล้างย้อนกลับ (Backwash) เช่น ไส้กรองแอนทราไซต์ ไส้กรองคาร์บอน
  • แบบมือหมุนพวงมาลัย สำหรับล้างทำความสะอาดไส้กรอง ทั้งล้างแบบย้อนกลับ (Backwash) และล้างเพื่อฟื้นฟูสภาพ (Reactivate) เช่น ไส้กรองเรซิ่น ไส้กรองแมงกานีส

2. ชุดหัวกรองแบบอัตโนมัติ สำหรับล้างทำความสะอาดไส้กรองโดยสามารถตั้งเวลาการล้างทำงานได้โดยอัตโนมัติ


เรื่อง : Tinnakrit

ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล


การขออนุญาตเจาะน้ำบาดาล และ 10 คำถามพบบ่อย

ติดตั้งถังเก็บน้ำตรงไหนของบ้าน ดีที่สุด

วิธีเลือกปั๊มน้ำให้เหมาะกับบ้าน

น้ำประปา ปลอดภัยจริงไหม

ติดตามบ้านและสวน facebook.com/baanlaesuanmag