วันพืชมงคล 2566

วันพืชมงคล 2566 มีความสำคัญอย่างไร

วันพืชมงคล 2566
วันพืชมงคล 2566

วันพืชมงคล 2566 พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี

วันพืชมงคล 2566
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

วันพืชมงคล 2566 ประวัติพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

        พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธี ๒ พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ อย่างหนึ่ง ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นพิธีพราหมณ์ อย่างหนึ่ง ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง

    พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งในสมัยกรุงสุโขทัยนั้น พระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเอง เป็นแต่เพียงเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น

     ครั้งถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธาน เหมือนกับสมัยกรุงสุโขทัย และจะทรงจำศีลเงียบ ๓ วัน แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้ เจ้าพระยาจันทกุมาร เป็นผู้แทนพระองค์ โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์ ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

     สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการประกอบพระราชพิธีนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ แต่ผู้ทำการแรกนาเปลี่ยนเป็นเจ้าพระยาพลเทพ คู่กันกับการยืนชิงช้า แต่พอถึงรัชกาลที่ ๓ ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนา ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคล จึงได้เริ่มมีขึ้น แต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

    นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลนี้เป็น วันเกษตรกรประจำปี อีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้จัดงาน วันเกษตรกรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลตลอดมา

.

หมายกำหนดการ

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖

วันอังคารที่ ๑๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖

– เวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา (เวลาโดยประมาณ)

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงประกอบพระราชพิธีพืชมงคล ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วันพุธที่ ๑๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖

– เวลา ๗.๑๙ นาฬิกา (เวลาโดยประมาณ)

พระยาแรกนาขึ้นรถยนต์หลวงออกจากพระบรมมหาราชวังไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง แล้วเดินนำกระบวนแห่อิสริยยศไปที่โรงพิธีพราหมณ์ พระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐานหยิบผ้านุ่งแต่งกายไว้พร้อม

– เวลา ๘.๓๐ นาฬิกา (เวลาโดยประมาณ)

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพิธีมณฑลท้องสนามหลวง เพื่อเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ฤกษ์พิธีไถหว่าน

ระหว่างเวลา ๐๘.๐๙ – ๐๘.๓๙ นาฬิกา

การแต่งกาย

– วันอังคารที่ ๑๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ แต่งกายเครื่องแบบครึ่งยศ

– วันพุธที่ ๑๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ แต่งกายเครื่องแบบปกติขาว

    สำหรับปี ๒๕๖๖ นี้ กรมการข้าวได้ดำเนินการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำพันธุ์ข้าวนาสวน จำนวน ๖ พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ขาวดอกมะลิ ๑๐๕ พันธุ์ปทุมธานี ๑ พันธุ์กข ๖ พันธุ์กข ๘๗ พันธุ์กข ๘๕ และพันธุ์กข ๔๓ น้ำหนักรวม ๒,๒๔๔ กิโลกรัม ซึ่งได้จากการปลูก ณ โครงการนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เป็น “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” นำเข้าพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี ๒๕๖๖ และบรรจุซองพลาสติกแจกจ่าย เพื่อเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพการเกษตรตามประเพณีนิยม เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์สืบไป

ข้อมูลจาก : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ภาพ : กรมศิลปากร

ภาพปก : Freepik


บทความที่เกี่ยวข้อง

วันพืชมงคล ปี 2566 กรมการข้าว แจกฟรี 6 พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน

ติดตามไอเดียบ้านและสวนเพิ่มเติมได้ทาง : บ้านและสวน Baanlaesuan.com