พื้นที่ริมน้ำ
อีกปัญหาจากน้ำที่สำคัญคือ การกัดเซาะในบริเวณสวนหรือบริเวณบ้านซึ่งอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ โดยเฉพาะบริเวณที่มีกระแสน้ำแรงหรือมีคลื่นมากระทบดินจะถูกพัดพาให้ไหลไปได้อยู่เสมอ ดังนั้น จึงควรทำตลิ่งเพื่อป้องกันการกัดเซาะด้วยวิธีต่อไปนี้
1.ตลิ่งแนวตั้ง (Vertical Bank Protection)
เป็นรูปแบบที่นิยมใช้ในพื้นที่แคบหรือมีความชันมาก ไม่สามารถสร้างสิ่งก่อสร้างล้ำเข้าไปในน้ำหรือลาดเทได้ โดยทั่วไปจะตอกเสาเข็มลงไปในแหล่งน้ำลึกจนถึงชั้นดินแข็งด้านล่าง จากนั้นก่อกำแพงโดยใช้แผ่นคอนกรีตหรือวัสดุก่ออิฐฉาบปูนได้ตามความชอบ ปัจจุบันมีเสาและแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปสำหรับการใช้งานในลักษณะดังกล่าว ทำให้ง่ายต่อการก่อสร้างมากยิ่งขึ้น แต่ข้อเสียคืออาจดูไม่ค่อยสวยงามและไม่เป็นธรรมชาติมากนัก ต้องเสริมด้วยกระบะไม้เลื้อยอย่างกระดุมทองเลื้อย หรือลีกวนยูแฮร์ เพื่อช่วยปกปิดโครงสร้างให้ดูสวยงามขึ้น
ปัจจุบันมีการทำตลิ่งแบบอัดฉีดซีเมนต์ (Jet Grouted Piles) เสริมด้วย เทคนิคนี้นิยมใช้กันมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีดินปนกรวด ดินทราย และดินเหนียวมากอย่างในกรุงเทพฯ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาการพังทลายของตลิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพทำงานได้รวดเร็ว และไม่ยุ่งยากเท่าการทำกำแพงกันดิน โดยใช้รถขุดเจาะเข้าไปจนถึงระดับชั้นดินแข็งให้เป็นรูปทรงกระบอกเหมือนเสาเข็ม จากนั้นอัดฉีดน้ำปูนซีเมนต์เข้าไปผสมรวมกับเนื้อดินด้วยความดันสูงในระดับ 200 – 400 บาร์ จึงค่อยดึงก้านเจาะขึ้นด้วยเครื่องจักรระบบควบคุมอัตโนมัติจนถึงระดับที่ต้องการ ซึ่งจำเป็นต้องมีวิศวกรควบคุมงานและใช้บริษัทที่ชำนาญเฉพาะด้าน
2.ตลิ่งแนวลาด (Slope Bank Protection)
รูปแบบตลิ่งอย่างง่ายที่ใช้แรงงานไม่มาก และนิยมทำกันด้วยการถมวัสดุที่มีความแข็งแรง เช่น หินธรรมชาติ หินแม่น้ำ หรือคอนกรีตคลุมดินในอัตราส่วนแนวตั้งต่อแนวราบระหว่าง 1:2 ถึง 1:3 ขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุ โดยถมจนแน่น จากนั้นปิดทับด้วยคอนกรีต เพื่อเชื่อมวัสดุเข้าด้วยกันให้แข็งแรง หรือเพื่อความสวยงาม แต่หากพื้นที่มีความชันมากก็ต้องทำตลิ่งลาดลงไปในแหล่งน้ำมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็อาจเกิดปัญหาในการใช้งานแหล่งน้ำได้
ติดตาม บ้านและสวน