ต่อเติมบ้าน ให้ถูกวิธี โรงรถไม่พอจอด ครัวไม่พอใช้งาน อยากได้ระเบียงนั่งเล่นนอกบ้าน มาดูวิธีการออกแบบส่วนต่อเติมโรงรถ เฉลียง และครัว พร้อมประเด็น การ ต่อเติมบ้าน ต่างๆ ที่ควรรู้
เข้าใจโครงสร้าง
การต่อเติมบ้าน และโครงสร้างบ้านไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ทั้งขนาดและจำนวนชิ้นส่วนโครงสร้าง จึงจำเป็นต้องให้วิศวกรคิดคำนวณเป็นกรณีๆ ไป เพื่อให้มั่นใจได้ในความแข็งแรงและปลอดภัย โดยเฉพาะส่วนประกอบสำคัญที่ต้องคำนึงคือเสาเข็มและฐานรากซึ่งทำหน้าที่รับน้ำหนักทั้งหมดของส่วนต่อเติม รวมถึงต้องเตรียมรับมือกับระดับการทรุดตัวที่ต่างกันระหว่างตัวบ้านหลักและส่วนต่อเติมด้วย
การต่อเติมบ้านที่ถูกวิธี
วิธีออกแบบที่เหมาะสมที่สุดคือการออกแบบส่วนต่อเติมให้แนบชิดกับบ้านเดิม แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้โครงสร้างส่วนต่อเติมแยกออกจากบ้านเดิมด้วย ทั้งเสาเข็ม ฐานราก เสา คาน และโครงสร้างหลังคา เมื่อส่วนต่อเติมทรุดลงไปในอนาคตจะได้ไม่ดึงโครงสร้างบ้านเดิมลงมาด้วยจนเกิดความเสียหาย
ทำไมส่วนต่อเติมมักทรุด?
ส่วนต่อเติมใหม่มักจำเป็นต้องใช้เสาเข็มขนาดเล็กและสั้นกว่าเสาเข็มของตัวบ้านเดิม (ด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ก่อสร้างที่ทำให้ไม่สามารถนำปั้นจั่นเข้าไปตอกเสาเข็มขนาดใหญ่ในพื้นที่ได้) จึงทำให้เกิดการทรุดตัวที่ต่างกัน ส่งผลถึงรอยต่อระหว่างอาคารทั้งสองส่วนที่อาจเกิดปัญหาแตกร้าวและน้ำรั่วซึมตามมา
เสาเข็มเหล็ก vs เสาเข็มไมโครไพล์
เนื่องด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ก่อสร้าง การต่อเติมบ้าน ส่วนใหญ่จึงมักลงเสาเข็มขนาดเล็กที่ทำงานได้สะดวกกว่าอย่าง เสาเข็มเหล็ก และเสาเข็มไมโครไพล์ ซึ่งมีคุณสมบัติและเหมาะสำหรับการต่อเติมบ้านในกรณีที่แตกต่างกัน
- เสาเข็มเหล็ก ผลิตจากเหล็กเคลือบกันสนิม มีเกลียวส่วนปลายท่อนคล้ายสกรู ติดตั้งด้วยเครื่องมือขนาดเล็กที่หมุนเสาเข็มลงไปในดิน มีให้เลือกหลายขนาด ส่วนใหญ่ในท้องตลาด ยาวตั้งแต่ 60 เซนติเมตร – 3 เมตร รวมถึง มีแบบยาวพิเศษที่สามารถเจาะลึกถึงชั้นดินดานด้วย ข้อดีคือ หน้างานสะอาด มีเสียงและแรงสั่นสะเทือนรบกวนน้อย ทั้้งยังสามารถถอนย้ายไปใช้ที่อื่นได้ด้วย สำหรับเสาเข็มเหล็กโดยทั่วไปที่ลึกประมาณ 3 เมตร จะเหมาะกับส่วนต่อเติมที่รับน้ำหนักไม่มากนัก
- เสาเข็มไมโครไพล์ ผลิตจากคอนกรีตเสริมเหล็ก ยาวประมาณ 1.50 เมตร มีทั้งแบบไอไมโครไพล์ หน้าตัดรูปตัวไอ (I) และแบบสปันไมโครไพล์ หน้าตัดกลม ซึ่งแข็งแรงกว่าแบบแรก ข้อดีคือสามารถตอกและเชื่อมเหล็กที่หัว-ท้ายของเสาแต่ละต้นเข้าด้วยกัน เพื่อต่อให้เสาเข็มยาวลึกลงไปถึงชั้นดินแข็งได้ ทำให้อัตราการทรุดตัวใกล้เคียงกับตัวบ้าน เหมาะสำหรับส่วนต่อเติมที่เชื่อมต่อกับตัวบ้านมากกว่า เช่น ห้องครัว ห้องทำงาน ห้องนอนเสริม
โรงรถ
โรงรถเป็นส่วนต่อเติมยอดฮิต โดยเฉพาะบ้านที่ครอบครัวขยายใหญ่ขึ้น หรือมีจำนวนรถเพิ่มขึ้น ดูเหมือนจะเป็นส่วนต่อเติมง่ายๆ แต่ที่จริงแล้วต้องคำนึงถึงทั้งขนาดพื้นที่ที่เพียงพอ วัสดุหลังคาที่ตอบโจทย์ รวมถึงโครงสร้างและวัสดุพื้นที่แข็งแรง รับน้ำหนักได้ดี
ขนาดที่จอดรถ
โดยปกติพื้นที่จอดรถ 1 คันมีขนาดกว้าง 2.50 เมตร ยาว 5-5.50 เมตร แต่หากมีพื้นที่พอแนะนำให้เผื่อพื้นที่สำหรับเดินรอบๆ เอาไว้ด้วย เพื่อการเข้า-ออกรถ รวมถึงขนสัมภาระที่สะดวกสบาย สามารถจัดวางได้หลากหลายตามความต้องการและพื้นที่ว่างหน้าบ้าน ทั้งจอดเดี่ยว จอด 2 คันขนาน จอด 2 คันต่อท้าย และแบบจอดได้ 4 คัน
โครงสร้างพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก
พื้นโรงรถที่เรียบและแข็งแรงควรทำด้วยโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งติดตั้งเหนือพื้นดินที่บดอัดจนแน่น ปรับระดับด้วยทรายชุ่มน้ำอัดแน่น ก่อนเทคอนกรีตด้านบน หากต้องต่อเติมพื้นใหม่ให้เชื่อมต่อกับพื้นเดิม ควรเว้นร่องเล็กน้อย แล้วยาแนวด้วยยางมะตอซึ่งมีความยืดหยุ่น จะช่วยป้องกันการแตกร้าวของพื้นจากการขยายตัวเนื่องจากความร้อน
วัสดุหลังคาที่นิยมใช้
- หลังคาเมทัลชีต เป็นวัสดุทึบแสง แข็งแรง ติดตั้งง่าย ดัดโค้งได้ รอยต่อน้อย หากต้องการมุงหลังคาโปร่งแสงร่วมด้วยก็มีวัสดุโปร่งแสงที่ลอนเข้ากับเมทัลชีตให้เลือกหลายประเภท แม้ตัววัสดุจะทำให้บ้านร้อนช่วงกลางวันและเสียงดังเวลาฝนตก แต่หากเลือกใช้หลังคาเมทัลชีตประเภทที่มาพร้อมฉนวนกันความร้อนในตัว ก็จะช่วยลดปัญหาความร้อนและเสียงได้
- หลังคาไวนิล ผลิตจากพลาสติก Polyvinyl Chloride คุณสมบัติทึบแสง กันรังสียูวี ช่วยซับเสียงได้ดีเมื่อฝนตก ข้อจำกัดคือมีสีให้เลือกไม่มากนัก และสีอาจดูหมองลงตามอายุการใช้งาน
- หลังคาอะคริลิกโปร่งแสง เป็นแผ่นโปร่งแสงที่ใสเหมือนกระจก แต่มีน้ำหนักเบา เนื้อเหนียว ไม่กรอบ-แตก ดัดโค้งได้ มีรุ่นกรองแสงและรังสียูวีให้เลือก มีราคาสูงกว่าเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ
- หลังคาไฟเบอร์กลาส มีให้เลือกทั้งแบบเรียบและลอนลูกฟูก แบบสีใสและแบบขุ่น มีน้ำหนักเบา ยืดหยุ่น ดัดโค้งได้ มีแบบเคลือบฟิล์มกันรังสียูวีให้เลือกด้วย เวลาฝนตกอาจเกิดเสียงรบกวนบ้าง และสีสันอาจซีดจางตามอายุการใช้งาน
- หลังคาพอลิคาร์บอเนต วัสดุอีกประเภทที่น้ำหนักเบา ยืดหยุ่น ดัดโค้งได้ มีให้เลือกหลายเกรดตามความแข็งแรง มีแบบเคลือบผิวกันแสงยูวีให้เลือก หากเป็นแบบลูกฟูกที่มีช่องว่างตรงกลางควรปิดขอบให้ดีเพื่อป้องกันความชื้นสะสมภายในจนเกิดตะไคร่น้ำและคราบสกปรกที่ทำความสะอาดยาก
วัสดุพื้นที่นิยมใช้
- กรวดล้างและทรายล้าง ทำจากเม็ดทรายหรือกรวดและปูนซีเมนต์ขาว มีผิวสัมผัสหยาบ สามารถเลือกขนาดและสีสันของเม็ดทรายหรือเม็ดกรวดได้ ควรเคลือบน้ำยาป้องกันตะไคร่น้ำที่อาจสะสมตามซอกเม็ดกรวดจนพื้นลื่นและเกิดอันตรายได้
- คอนกรีตเปลือย มีทั้งแบบขัดมันและขัดหยาบ เหมาะสำหรับบ้านในสไตล์ดิบเท่ แม้เป็นพื้นผิวที่ดูเรียบง่าย แต่จริงๆ แล้วต้องใช้ช่างที่มีฝีมือจึงจะออกมาสวยงาม เพราะหากส่วนผสมไม่ได้สัดส่วนอาจทำให้พื้นมีรอยร้าว หน้าปูนหลุดล่อนได้
- คอนกรีตพิมพ์ลาย พื้นผิวที่เป็นการพิมพ์ลวดลายลงบนพื้นคอนกรีต และเสริมด้วยน้ำยา Color Hardener ที่ทำให้เกิดสีสันและเพิ่มความแข็งแกร่ง รวมถึงมีการเคลือบพื้นผิวเพื่อป้องกันรังสียูวีด้วย
- กระเบื้อง วัสดุยอดนิยมในการปูพื้นโรงรถเพราะมีสีสันและลวดลายให้เลือกมากมาย ควรเลือกประเภทที่เนื้อหนา แข็งแรงทนทาน สามารถรับน้ำหนักรถยนต์ได้ รวมถึงควรเลือกกระเบื้องผิวหยาบ ไม่ลื่น เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานภายนอก