แบบบ้านไม้สไตล์โคโลเนียล เสน่ห์แห่งการอยู่อาศัยที่เหนือกาลเวลา - บ้านและสวน
แบบบ้านไม้สไตล์โคโลเนียล

รวม แบบบ้านไม้สไตล์โคโลเนียล ที่เปี่ยมด้วยความงดงาม

ในอดีต “ไม้” เป็นวัสดุสำคัญในการสร้างบ้าน ขณะที่ในช่วงรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ไทยเริ่มรับอิทธิพลด้านงานออกแบบตกแต่งของทางฝั่งยุโรปเข้ามา ซึ่งเราเรียกว่า “สไตล์โคโลเนียล” เมื่อทั้งสองปัจจัยนี้มารวมตัวกัน จึงเกิดเป็น แบบบ้านไม้สไตล์โคโลเนียล ที่เปี่ยมด้วยความงดงาม

เราได้รวม แบบบ้านไม้สไตล์โคโลเนียล มาให้ชมกัน มีทั้งที่เป็นบ้านเก่าอายุนับร้อยปีไปจนถึงบ้านใหม่ที่สร้างโดยอิงความเป็นโคโลเนียล อันเนื่องมาจากความหลงใหลของเจ้าของบ้าน ซึ่งอย่างไรก็ตามปัจจุบันเริ่มมีให้เห็นน้อยลงไปเรื่อยๆ

“บ้านชุมดวง” การคืนชีวิตบ้านไม้ 100 ปี ใกล้พัง ใน 97 วัน

  • เจ้าของ : คุณโสภณ ปลูกสร้าง

บ้านไม้สักทองทั้งหลังที่มีอายุนับร้อยปี เคยเป็นเรือนแพตั้งอยู่ในแม่น้ำยม โดยใช้เป็นสำนักงานของบริษัทค้าไม้บอร์เนียวประจำเมืองสวรรคโลก เพื่อตรวจนับไม้ซุงที่ล่องมาจากแพร่ ก่อนจะปล่อยไม้ไปต่อที่นครสวรรค์และเข้าโรงเลื่อยที่กรุงเทพฯ เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ พอยกเลิกสัมปทานแล้ว จึงยกบ้านหลังนี้มาปลูกบนบก เมื่อเวลาผ่านไปตัวบ้านก็ทรุดโทรมมาก คุณโสภณ ปลูกสร้าง ผู้มีความผูกพันกับบ้านไม้เก่า จึงได้เข้ามาขอบูรณะบ้านหลังนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งภายในเวลาเพียงแค่ 97 วัน >> อ่านต่อ

แบบบ้านไม้สไตล์โคโลเนียล
แบบบ้านไม้สไตล์โคโลเนียล

บ้านไม้โคโลเนียลใต้ถุนสูง กับความทรงจำที่ผูกพัน

  • เจ้าของ- ออกแบบ : คุณไฟซอล – คุณอรุโณทัย  สวนดี

แบบบ้านไม้ใต้ถุนสูงสไตล์โคโลเนียล ที่สร้างขึ้นจากความคุ้นเคยและผูกพันของผู้เป็นเจ้าของ โดยมีพื้นที่ใต้ถุนสูงที่ไม่ต้องกลัวน้ำท่วม ส่วนด้านบนหลังคายกสูง และมีช่องลมโดยรอบทำให้บ้านไม่ร้อน ขณะที่ภายในตกแต่งด้วยข้าวของเก่าที่ให้กลิ่นอายคลาสสิก >> อ่านต่อ

แบบบ้านไม้สไตล์โคโลเนียล
แบบบ้านไม้สไตล์โคโลเนียล

บ้านไม้ทรงปั้นหยาที่ได้แรงบันดาลใจจากพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

  • เจ้าของ- ออกเเบบ : คุณเล็ก

แบบบ้านไม้ทรงปั้นหยา ที่ให้ความรู้สึกย้อนยุคกลับไปสมัยอดีต ด้วยฝีมือช่างไม้ที่ค่อยๆบรรจงคัดไม้และเลือกใช้ไม้อย่างใจเย็นและคุ้มค่า เพื่อให้ได้บ้านไม้เรือนไทยอย่างที่เจ้าของบ้านต้องการ >> อ่านต่อ

แบบบ้านไม้สไตล์โคโลเนียล
แบบบ้านไม้สไตล์โคโลเนียล

บ้านไม้ริมคลอง ที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติมาร่วมร้อยปี

ด้วยชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ เจ้าของบ้านจึงขอซื้อบ้านไม้เก่าอายุร่วมร้อยปีริมคลองบางหลวงนี้มาจาก พ.ต.หลวงประสิทธิอักษรเนติ์ เพื่อปรับปรุงให้เป็นบ้านพักตากอากาศส่วนตัว โดยซ่อมแซมหลายส่วนของบ้านภายใต้โครงสร้างไม้สักเดิมเพื่อคงรักษารูปแบบบ้านไว้ให้มากที่สุด ปัญหาหลักอยู่ที่การซ่อมรอยแตกของไม้ผนังซึ่งตากแดดตากฝนมานานโดยใช้วิธีอุดรอยแตกแล้วทาสีใหม่ หลังหนึ่งเคลือบสีไม้สักทองฉลุลายแบบขนมปังขิงแบบเดิมไว้ อีกหลังเป็นบ้านไม้สไตล์โคโนเนียลที่ทาสีเขียวอ่อนสว่างตา >> อ่านต่อ

แบบบ้านไม้สไตล์โคโลเนียล
แบบบ้านไม้สไตล์โคโลเนียล

บ้านบานเย็น การอนุรักษ์หมู่เรือนไม้อายุกว่า 100 ปี

  • ผู้ครอบครอง : รองศาสตราจารย์โรจน์ คุณเอนก และนายรัชต์ คุณเอนก
  • สถาปนิก / ผู้ออกแบบ : ไม่ปรากฏชื่อผู้ออกแบบ
  • สถาปนิกอนุรักษ์ : รองศาสตราจารย์ ดร. เอกรินทร์ อนุกูลยุทธธน นายพิทักษ์สิน นิวาศานนท์ นางพิมพิชา ธรรมภรณ์พิลาศ

บ้านบานเย็นเป็นหมู่เรือนไม้ที่คาดว่าสร้างขึ้นในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 7 ซึ่งยกย้ายตัวเรือนมาจากถนนราชดำเนิน (บริเวณหน้ากองสลากเก่า) เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการเวนคืนที่ดินเพื่อตัดถนนราชดำเนิน และพระราชทานที่ดินแถวนี้ให้ย้ายมาอยู่แทน ในบริเวณบ้านปัจจุบันมีอาคาร 3 หลัง ประกอบด้วยเรือนพระยาหิรัญยุทธกิจ เรือนขุนวิเศษสากล และเรือนเพ็งศรีทอง (เรียงตามลำดับการสร้างก่อนและหลัง) ตั้งอยู่บริเวณถนนกรุงเกษม ย่านบางขุนพรหม กรุงเทพฯ โดยพบหลักฐานการซื้อขายของเรือนเพ็งศรีทองในปี พ.ศ. 2471 ซึ่งซื้อเรือนแล้วยกมาสร้างในที่ดินนี้เป็นหลังท้ายสุด มีอายุถึง 95 ปีแล้ว จึงสันนิษฐานได้ว่าเรือนอีกสองหลังที่สร้างขึ้นก่อนหลายปีมีอายุมากกว่าร้อยปีอย่างแน่นอน โดยบ้านบานเย็นเป็นหมู่เรือนไม้สักหลังคาทรงจั่วผสมทรงปั้นหยา ยกพื้นสูง ฐานช่วงล่างก่ออิฐฉาบปูนสร้างในช่วงที่สยามมีการเปิดรับรูปแบบอาคารบ้านเรือนจากต่างประเทศ ซึ่งเรียกในยุคนั้นว่า “เรือนไม้วิกตอเรีย” บ้านหลังนี้เป็นตัวอย่างของการปรับปรุงบ้านไม้เก่าให้กลับมาใช้งานได้ดี โดยบูรณะให้อยู่ในสภาพเดิม จึงได้รับรางวัลงานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน ในระดับดี ประจำปี 2565 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ >> อ่านต่อ

แบบบ้านไม้สไตล์โคโลเนียล
แบบบ้านไม้สไตล์โคโลเนียล

เรียบเรียง : Tarnda

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน

รวมแบบบ้านโคโลเนียลหลังงาม สวยละเมียดสะกดใจ

สีสันคลาสสิก … เมื่อวันวาน