สวนปทุมวนานุรักษ์ อีกหนึ่งสวนป่ากลางเมือง ปอดของคนกรุง และพื้นที่พักใจแห่งใหม่
สวนปทุมวนานุรักษ์ คือสวนชุมชนในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และทางทิศใต้ของคลองแสนแสบ บนพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ อยู่ภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานครและมูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ ในอดีตบริเวณสวนปทุมวนานุรักษ์ เคยเป็นพื้นที่ของเทคนิคอินทราชัย ก่อนจะถูกย้ายไปทุ่งสีกัน ดอนเมืองในปี 2521-2522
ทั้งนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 จึงเกิดโครงการพัฒนาปรับปรุงที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในเขตปทุมวัน อันเป็นที่ดินของวังเพ็ชบูรณ์เดิม สู่สวนปทุมวนานุรักษ์ ที่ประสานความร่วมมือระหว่างมูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ ในพระราชูปถัมป์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กับกรุงเทพมหานคร รวมถึงเอกชนในพื้นที่ใกล้เคียง และอาสาสมัครส่วนต่างๆ
สำหรับ สวนปทุมวนานุรักษ์ ได้แรงบันดาลใจจากเลข ๙ ไทย บนพื้นที่ 27 ไร่ ประกอบด้วย สวนหย่อม สวนป่า บึงรับน้ำ ลานกิจกรรม พื้นที่นิทรรศการกลางแจ้ง และอาคารอเนกประสงค์ อันจะเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างพื้นที่ซึ่งก่อประโยชน์ให้กับคนเมือง ภายใต้แนวความคิด “สวนเพื่อพ่อ” สวนเพื่อเผยแพร่หลักการทรงงาน งานโครงการในพระราชดำริ รวมถึงปรัชญาคำสอนของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ในส่วนของการเตรียมการเปิดให้บริการและการดูแลสวนปทุมวนานุรักษ์ มูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ได้รับความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร รวมถึงเอกชนในพื้นที่ใกล้เคียง และอาสาสมัครจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อดำเนินการปรับปรุงสวนปทุมวนานุรักษ์ให้เรียบร้อยเหมาะสมกับการเปิดอย่างไม่เป็นทางการให้ประชาชนได้ใช้งานในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2566 นี้ และเตรียมการปรับปรุงพัฒนาส่วนที่เหลือต่อไปเพื่อการเปิดให้บริการสวนปทุมวนานุรักษ์อย่างเป็นทางการ
ล่าสุด มูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับกรุงเทพมหานคร กำหนดเปิดให้บริการสวนปทุมวนานุรักษ์ เขตปทุมวัน อย่างไม่เป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป โดยช่วงแรกจะให้บริการตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. ทุกวัน โดยประชาชนจะมีส่วนร่วมทดลองใช้ในบริเวณพื้นที่สวนหย่อม (ส่วนที่ติดกับถนนราชดำริ) สำหรับเป็นพื้นที่นันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ แหล่งท่องเที่ยว และออกกำลังกาย
ภายในแบ่งพื้นที่ออกเป็น สวนส่วนที่หนึ่งดำเนินการปลูกต้นไม้ และปล่อยให้ต้นไม้โตตามธรรมชาติให้เป็นลักษณะสวนป่า และสวนส่วนที่สองแบ่งเป็น พื้นที่บำบัดน้ำ ซึ่งเป็นการจำลองพื้นที่บำบัดน้ำทางธรรมชาติ , ลานอัฒจันทร์ เป็นพื้นที่สำหรับชมการแสดงริมน้ำ , ป่าของเมือง เป็นทางเดินสู่อาคารหลักแสดงเรื่องความสัมพันธ์ของต้นไม้และเมือง และ พื้นที่พักผ่อน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มี มีกรณีข้อพิพาทของ สวนปทุมวนานุรักษ์ พื้นที่พัฒนา 27 ไร่ บริเวณถ.ราชดำริ ด้านหลังเซ็นทรัลเวิลด์ ก่อสร้างมาตั้งแต่ปลายปี 2560 เริ่มจากการตั้งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนเดิมของ ชุมชนโรงปูน บนพื้นที่ 40 ไร่ ที่มีผู้คนอาศัยอยู่กว่า 1,000 หลังคาเรือน มานาน 30-50 ปี
ต่อมาผู้ถือครองที่ดิน อย่างสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้มีการขอคืนพื้นที่ เพื่อปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะ ตามเป้าประสงค์ของการเป็นที่ดินเพื่อประโยชน์สาธารณะมาแต่แรกเริ่ม โดยมอบเงินชดเชย และดำเนินการหาที่อยู่อาศัยใหม่แก่ครัวเรือนในพื้นที่ที่ต้องย้ายออก แต่ข้อพิพาทระหว่างผู้อยู่อาศัยบางส่วน ที่ยังไม่ยอยย้ายออกก็ยังไม่สิ้นสุด จนกระทั่งเดือนมกราคม 2566 ชาวชุมชนทุกครัวเรือน ยอมย้ายออกจากพื้นที่เรียบร้อย กทม.ก็ได้ประกาศเปิดใช้งานสวนได้
อนึ่ง กรุงเทพมหานคร ตระหนักถึงความสำคัญในการสืบทอดเจตนารมณ์การสร้างสวนปทุมวนานุรักษ์ จึงเข้ามามีส่วนร่วมประสานความร่วมมือกับมูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ รวมทั้งอาสาสมัครจากภาคส่วนต่างๆ ดำเนินการปรับปรุงสวนปทุมวนานุรักษ์ให้เรียบร้อยเหมาะสมกับการเปิดอย่างไม่เป็นทางการ ในโอกาสนี้จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมทดลองใช้บริการสวนปทุมวนานุรักษ์ โดยประชาชนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ผ่านช่องทางของกรุงเทพมหานคร หรือส่งมายังอีเมล์ [email protected] โดยความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์จากประชาชนผู้มาใช้บริการ จะนำไปปรับปรุงการให้บริการและพัฒนางานส่วนที่เหลือสำหรับการเปิดสวนปทุมวนานุรักษ์อย่างเป็นทางการต่อไป
สรุปรายละเอียดสวนปทุมวนานุรักษ์
- ยังเปิดเฉพาะโซนสวนหย่อม
- เวลา 10:00-18:00 น.
- ที่ตั้งและทางเข้า ถนนราชดำริ หลังห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์
บทความที่เกี่ยวข้อง
“สวนเบญจกิติ” เปลี่ยนโรงงานยาสูบ กลายเป็นสวนสาธารณะใจกลางกรุงเทพฯ
10 สุดยอดสวนสวยยอดฮิต ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุด
สวนทุ่งน้ำ หรือ wetland การคืนระบบนิเวศสู่ธรรมชาติในเมือง
ติดตามไอเดียบ้านและสวนเพิ่มเติมได้ทาง : บ้านและสวน Baanlaesuan.com