ทำออฟฟิศให้เป็นบ้าน กลางกัวลาลัมเปอร์

Work from Home กลายเป็นรูปแบบการทำงานที่ใช้กันในช่วงโควิด -19 ที่ผ่านมา แต่ที่ออฟฟิศสถาปนิก EDI ในมาเลเซีย การ “ทำออฟฟิศให้เป็นบ้าน” ดูจะเป็นแนวทางที่น่าสนใจ แถมกลมกลืนกับพื้นที่ด้วยการให้พื้นที่ชั้นล่างเป็นร้านขายเต้าฮวยอร่อยๆ

ครัวด้านหลังรับแสงและแดดที่เข้ามาในช่วงเช้า ออกแบบให้มีไอส์แลนด์ซึ่งใช้งานเป็นโต๊ะประชุมง่ายๆ ได้ด้วย
มุมทำงานที่เหมือนนั่งคาเฟ่ ด้านซ้ายมือมีสวนใต้บันไดที่รับแสงและลมจากด้านหน้าด้วย
ครัวด้านหลังอาคาร ผนังด้านขวามือเป็นชั้นเก็บหนังสือที่ใช้งาน มีทางหนีไฟ และเชื่อมต่อกับห้องประชุมด้วยประตูบานเลื่อนเพื่อประหยัดที่

รีโนเวตแก้ปัญหาสำคัญ แสงและการไหลเวียนอากาศ

อาคารพาณิชย์เดิมอายุกว่า 40 ปีในย่าน Petaling Jaya กรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้รับการรีโนเวตใหม่ให้อยู่กับบริบทโดยรอบได้อย่างน่าสนใจแต่ก็กลมกลืนกันดีไปกับพื้นที่ซึ่งคึกคักและเต็มไปด้วยร้านค้า ด้วยข้อจำกัดของอาคารพาณิชย์ยาว 21 เมตร ที่มีช่องแสงน้อย สถาปนิกจึงออกแบบแปลนให้ทะลุถึงกันหมดเพื่อนำแสงธรรมชาติและมีการไหลเวียนอากาศที่ดีอันเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ตัวอาคารวางยาวอยู่ในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก มีแสงเข้ามาต่างกันไปตามช่วงเวลา จึงพยายามให้มีผนังกั้นห้องให้น้อยที่สุด และมีความยืดหยุ่นในการใช้งาน

พื้นที่ระเบียงชั้นสองที่เพิ่มขึ้นมา จัดวางสวนกระถางเป็นวิวสีเขียวให้ภายใน มองลงไปจะเป็นป้ายร้านอื่นๆในย่านนั้น
มุมห้องนั่งเล่นด้านหน้าอาคารในยามบ่าย ดีไซเนอร์ทั้งสองคน Chan Muu Inn และ Wong Pei San
กำลังนั่งทำงานเหมือนนั่งพักอยู่ในบ้าน

ฟาซาดโปร่ง เพิ่มเติมด้วยต้นไม้

Chan Mun Inn และ Wong Pei San ผู้ออกแบบ เล่าให้ฟังว่า จริงๆ แล้วทำออฟฟิศใหม่เสร็จก่อนช่วงโควิด-19 เพียง 2-3 เดือน ตอนแรกมีผนังสีเขียวเป็นสวนแนวตั้งอยู่ภายในด้วย แต่เมื่อมีวิกฤตโรคระบาด ต้นไม้ภายในก็ตายหมดเพราะยากต่อการเข้ามาดูแล จึงได้รีโนเวตอีกรอบ โดยยังเก็บไอเดียการมีพื้นที่สีเขียวเอาไว้ แต่ไปเพิ่มในส่วนของสวนระเบียงด้านหน้าและหลังแทน มีฟาซาดโปร่งเป็นกระจกเพื่อนำแสงและวิวจากภายนอกเข้ามา

Chan Muu Inn สถาปนิกกับระเบียงเล็กๆ ด้านหลังและต้นไม้ที่ปลูกไว้เป็นพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้น
สวนบันไดด้านหน้า พยายามเปิดให้มีแสงเข้ามาจากกระจกบานใหญ่
โถงบันไดด้านหน้าและโคมไฟพระจันทร์ เปิดโล่งช่วยนำแสงธรรมชาติเข้าสู่ด้านข้างของอาคาร

ต้นไม้ที่ใช้เมื่อมองจากภายในก็จะช่วยสร้างวิวและกรองแสงไปในตัว มีทั้งไม้เลื้อยจากด้านบนและไม้กระถาง ด้านหลังซึ่งมีแปลนติดกับครัวเป็นพืชสมุนไพร อาทิ มินต์ โหระพา ขณะที่ด้านหน้าคูหาจะมีบันไดที่ใช้เป็นบันไดหลักก็เปิดให้แสงเข้ามาได้เช่นกัน มีการหยอดสวนใต้บันไดเข้ามาอย่างสวยงามโดยให้แสงเข้ามาจากการเปิดเป็นผนังกระจกด้านข้างด้วย ส่วนชั้นบนสุดด้านหน้าเป็นช่องเปิดโล่งที่แขวนโคมไฟรูปดวงจันทร์ขนาดใหญ่เอาไว้เพื่อสร้างบรรยากาศและเป็นจุดเด่นเวลาที่มองจากภายนอก

บรรยากาศของครัวในช่วงบ่าย ใช้วัสดุธรรมชาติในการตกแต่งแบบคุมโทนสี
ที่นั่งตรงข้ามห้องประชุมเป็นแบบที่นั่งแบบขั้นบันไดโรงละครหรือสนามกีฬาดูลำลองเป็นกันเองเวลาใช้งาน

เปลี่ยนการใช้สอย ทำบ้านให้เป็นออฟิศ

บนพื้นที่ชั้น 3 ทั้งหมด มีการวางผังแบบมีส่วนนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร และครัวต่อทะลุถึงกันแบบบ้านโมเดิร์น และใช้งานเป็นเสมือนบ้านยูนิตหนึ่งได้เลย โดยมีการใช้งานที่ซ้อนทับกันในรูปแบบของออฟฟิศด้วย ส่วนนั่งเล่นจะใช้เป็นพื้นที่ทำงานพร้อมจิบกาแฟไปในตัว ส่วนรับประทานอาหารใช้เป็นห้องประชุม แต่เพิ่มฟังกชันให้ด้านหนึ่งใช้งานเป็นที่นั่งแบบขั้นบันไดที่สามารถเก็บของได้ พร้อมการกั้นกระจกหากต้องการประชุมที่ไม่ให้เสียงไปรบกวน สุดท้ายส่วนครัวที่นอกจากจะใช้งานได้จริงๆ แล้ว ยังเป็นโซนปาร์ตี้สังสรรค์ของพนักงานทั้งหมดได้ด้วย และบางทีหากต้องการเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานจะยกโน้ตบุ๊กมาทำตรงเคาน์เตอร์ครัวก็ยังได้

ตรงกลางของอาคารแบ่งการใช้งานเป็นสองฟาก ด้านหนึ่งเป็นโต๊ะประชุม อีกด้านเป็นที่นั่งแบบสนามกีฬาง่ายๆ
รายละเอียดของที่นั่ง ซึ่งสามารถเปิดเป็นชั้นเก็บของได้
บรรยากาศของส่วนออฟฟิศชั้นสามแผนกสถาปัตยกรรมของ EDI
โครงหลังคาอาคารเดิมที่ถูกเปิดออกกับโครงสร้างใหม่ที่มาบรรจบกัน

Chan Mun Inn ให้รายละเอียดเรื่องการใช้พื้นที่ชั้น 3 นี้ว่า “ปกติหัวหน้าในส่วนออกแบบจะใช้ชั้นนี้เป็นพื้นที่ทำงานอย่างยืดหยุ่น สามารถนั่งตามมุมต่างๆ ได้ตามใจ หากมีประชุมคนเยอะๆ ก็อาจหลบไปนั่งทำงานที่ร้านกาแฟอื่นก็ได้ (หัวเราะ) เพราะเราเชื่อว่าทำงานจากที่ไหนก็ได้

ตัวอาคารยังมีบันไดด้านหลังอีกชุดที่สามารถเดินถึงกันได้ในตำแหน่งที่มีห้องน้ำอยู่ติดกัน ซึ่งชั้น 2 – 4 จะเป็นพื้นที่ทำงานของทีมสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายใน ส่วนชั้นล่างสุดเป็นพื้นที่ขายของเชิงพาณิชย์ที่ทางบริษัทปล่อยให้เช่าเป็นร้านขายเต้าฮวยและนมถั่วเหลือง กลมกลืนกับการสัญจรโดยทั่วไปของด้านล่างและแยกกับบริษัทออกแบบโดยบันไดเดิมที่อยู่ด้านหน้าอาคาร  

การเล่นแสงในห้องน้ำเพื่อให้ดูกว้างขึ้น
ห้องน้ำด้านบนมีการเจาะช่องรับแสงธรรมชาติจากภายนอก

Wong Pei San กล่าวว่างานนี้เป็นการออกแบบที่ “Bring Home to Office” และจัดการให้พอเหมาะพอดีในปัจจัยกำจัด จนได้รับรางวัล Gold Medal จากเวที MIID REKA Awards ของสถาบัน Malaysian Institute of Interior Designers ในปีที่ผ่านมาอย่างน่าชื่นชม

เจ้าของและสถาปนิก: EDI (Essential Design Integrated)

เรื่อง: สมัชชา วิราพร

ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล


รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์ 45 ปี ให้เป็นโฮมออฟฟิศ

โฮมออฟฟิศสายมินิมัลของดีไซเนอร์

รวม 3 บ้านน่าอยู่จากมาเลเซีย