บ้านไม้อารมณ์ญี่ปุ่นกลางทุ่งนา

บ้านไม้อารมณ์ญี่ปุ่นกลางทุ่งนาที่จังหวัดสกลนคร

บ้านไม้อารมณ์ญี่ปุ่นกลางทุ่งนา
บ้านไม้อารมณ์ญี่ปุ่นกลางทุ่งนา

บ้านไม้อารมณ์ญี่ปุ่นกลางทุ่งนา ที่ตอบโจทย์เจ้าของบ้าน ซึ่งต้องการบ้านกลางทุ่งนาเอาไว้ถ่ายรูปเหมือนเป็นสตูดิโอส่วนตัว รวมถึงใช้เป็นมุมรับรองเพื่อนๆ ท่ามกลางบรรยากาศที่ชวนให้เผลอคิดว่าเป็นชนบทสักแห่งในประเทศญี่ปุ่น แต่ที่จริงคือตั้งอยู่ในภาคอีสานตอนบนของประเทศไทย

บ้านไม้อารมณ์ญี่ปุ่นกลางทุ่งนา
บ้านไม้อารมณ์ญี่ปุ่นกลางทุ่งนา
สะพานไม้

ภาพ บ้านไม้อารมณ์ญี่ปุ่นกลางทุ่งนา หลังนี้ อาจทำให้เผลอคิดว่าเป็นที่ใดที่หนึ่งในชนบทสักแห่งในประเทศญี่ปุ่น แต่ที่จริงแล้วบ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในภาคอีสานตอนบนของประเทศไทยที่อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร สะพานไม้สั้นๆ ทอดผ่านทุ่งนา มีบ้านไม้ขนาดกะทัดรัดพร้อมกระท่อมเล็ก ๆ อีก 2 หลังคือภาพในฝันของ คุณลิ่ง-อนุช ใครบุตร เภสัชกรสาวที่ลงมือออกแบบบ้านหลังนี้ด้วยตัวเอง   

นาข้าวแปลงนี้อยู่ตรงข้ามกับบ้านของคุณลิ่ง เมื่อเจ้าของประกาศขาย แม้ว่าตัวลิ่งเองอยากจะได้ที่นามาก แต่ก็คิดอยู่นานจนกระทั่งคุณแม่ตัดสินใจซื้อที่ดินแปลงนี้อย่างไม่ลังเล เป็นที่นาขนาดประมาณ 1 งานเศษ

บ้านไม้อารมณ์ญี่ปุ่นกลางทุ่งนา
บ้านไม้อารมณ์ญี่ปุ่นกลางทุ่งนา
บ้านไม้

“เราดีใจที่แม่ซื้อที่แปลงนี้ เพราะมันอยู่ใกล้มาก แค่เดินออกมาจากบ้านก็เจอเลย ทีแรกไม่ได้ตั้งใจว่าจะทำอะไร เพราะเราชอบทุ่งนามาก แต่อยู่ดีๆวันหนึ่งแม่ถมที่ไปครึ่งหนึ่งเพราะเขาอยากปลูกผัก แต่ไม่ได้บอกเรา เขารู้ว่าเราจะต้องห้ามแน่ๆ พอถมไปแล้วก็มาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ที่ดินตรงนี้มันสวย เราอยากมีสะพาน มีกระท่อม อาจจะไม่ได้อยู่อาศัยจริงแต่มองว่าเผื่อวันหนึ่งจะทำเป็นร้านให้พี่สาว เพราะพี่สาวเปิดร้านกาแฟที่บ้านอยู่แล้ว ในอนาคตอาจจะขยับขยายมาก็ได้คือคิดเผื่อไว้ แต่หลักๆคือทำที่ดินตรงนี้ให้สวยไว้ก่อน”

สะพาน ทุ่งนา และกระท่อม

จากภาพที่คิดฝันสู่การสร้างบ้านอย่างรวดเร็วโดยที่ยังไม่มีแบบบ้านเลย ทุกอย่างเริ่มต้นจากสะพานไม้สั้น ๆที่ผู้ใหญ่บ้านมาช่วยสร้างให้จนเลยเถิดกลายเป็นบ้านหนึ่งหลัง   

“มันเริ่มจากผู้ใหญ่บ้านช่วยสร้างสะพาน นาข้าวตรงนี้ก็ให้เขาทำด้วย เขาเอาไม้มาทำสะพานด้วยตัวเองคนเดียว พอเสร็จก็หาช่างทำบ้านให้ด้วย เป็นคนในท้องที่นี่เอง ทุกอย่างมันเกิดขึ้นรวดเร็วมาก พอแม่ถมที่ได้สัก 2 เดือน เราก็คิดว่าจะสร้างบ้านเลย อยากมีกระท่อมเล็กๆหลายๆหลังอยู่ด้วยกัน แบบบ้านยังไม่มีนะ คือได้ช่างก่อนโดยที่ยังไม่มีอะไรเลย”

“เราดูรูปในไอจีส่วนใหญ่จะเจอบ้านสไตล์ฝรั่ง เราก็ตัดสินใจว่าจะทำแบบนั้น วาดแบบคร่าว ๆ ให้ช่างไปแล้วด้วย เป็นบ้านแบบชั้นครึ่ง จนกระทั่งไปเจอบ้านญี่ปุ่นโบราณในไอจี เห็นแล้วชอบเลย มันแตกต่างจากบ้านแบบที่เคยเห็นมา คือรู้สึกกับมันมากกว่า เลยบอกผู้ใหญ่บ้านให้แจ้งช่างว่าอย่าเพิ่งทำนะ เดี๋ยวเราขอวาดแบบใหม่ก่อน  ซึ่งตอนนั้นช่างสั่งเสาไปแล้วด้วย ก็เสียงบตรงนั้นไปนิดหน่อย พอเปลี่ยนแบบเลยให้ช่างเริ่มจากวางตำแหน่งเสากันก่อนคร่าว ๆ ขึ้นเป็นโครงกันมาก่อนระหว่างที่ทำแบบ เราก็ดูแบบจากหลายๆที่เอามาดัดแปลงเอง”

สะพานไม้

สร้างรายละเอียดบ้านญี่ปุ่นจากวัสดุไทย

“ปกติบ้านไทยมักจะสร้างโดยหันจั่วมาด้านหน้า แต่เราเปลี่ยนให้จั่วหันด้านข้างแบบบ้านญี่ปุ่น ไม้ที่ใช้สร้างบ้านเป็นไม้เก่าที่ขายยกหลังมา ตอนที่ซื้อไม้มาเราเองก็ไม่มีความรู้พอ ข้อเสียคือเราเลือกไม้ไม่ได้ มันจะมีทั้งไม้ดีและไม่ดี แต่ข้อดีคือได้มาในราคาไม่แพง ตอนนั้นเราได้ไม้มาก่อน ยังไม่มีแบบเลยก็ขนไม้มากองไว้เพราะคิดไว้ว่าจะเป็นบ้านไม้นี่แหละ”

ด้วยความที่คิดแบบบ้านเองอย่างง่าย ๆ บางอย่างจึงแก้ปัญหากันที่หน้างาน เช่น จากเดิมที่วางแผนว่าจะสร้างบ้านยกพื้นสูงขึ้นมา 50 เซนติเมตร แล้วค่อยปิดส่วนใต้ถุนจึงมีการเทพื้นรอไว้ก่อน แต่ภายหลังก็เปลี่ยนใจสร้างเป็นบ้านติดพื้นดิน จึงต้องถมดินขึ้นมาเพิ่มอีก 50 เซนติเมตร แล้วเทคานเป็นฐานราก นอกจากนี้แล้วเดิมทีจะสร้างเป็นบ้านไม้ทั้งหมด ก็เปลี่ยนเป็นตัวบ้านชั้นล่างให้มีส่วนที่เป็นบ้านปูนผสมเข้ามา

บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้
บ้านสไตล์ญี่ปุ่น

“บ้านหลังนี้ใช้เวลาสร้างประมาณ 2 เดือนเสร็จเรียบร้อย จริง ๆ ไม่ได้ทำทีเดียวเสร็จนะคะ เพราะระหว่างสร้างช่างมีหยุดไปทำงานที่อื่นด้วย ซึ่งกลายเป็นข้อดีให้เรามีเวลาค่อย ๆ คิดดีเทลตัวบ้านแต่ละด้านว่าจะให้ออกมาหน้าตาประมาณไหน”

“เราไม่ได้เอาบ้านแบบญี่ปุ่นมาทั้งหมด แต่ดัดแปลงในแบบที่เราชอบ เน้นให้ออกมาสวยไว้ก่อน โดยเฉพาะฝั่งที่หันออกถนนเราจะเลือกใช้ไม้สวย ๆ ประตูก็สั่งทำใหม่เลย ส่วนด้านหลังจะเลือกใช้ไม้เก่า ๆที่ไม่ค่อยสวยและใช้ประตูหน้าต่างเก่าที่ได้มา ประตูด้านหน้าที่สั่งทำใหม่ชิ้นนี้จะแพงหน่อยราว ๆ 30,000 บาท ตอนไปสั่งก็ยังไม่รู้จะเอาแบบไหน ก็ไปเลือกและคุยกับช่างจนได้เป็นประตูแบบนี้มา ซึ่งงบสร้างบ้านทั้งหมด 300,000 บาท เท่านั้นเอง แต่กลายเป็นค่าประตูอย่างเดียวก็ 10 เปอร์เซ็นต์ของราคาก่อสร้างแล้ว”

บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้
บ้านกลางทุ่งนา
บ้านไม้

สร้างกระท่อมหลังเล็กเป็นหมู่บ้าน

หลังจากสร้างบ้านหลังใหญ่เสร็จได้ระยะหนึ่ง ปีต่อมาคุณลิ่งตัดสินใจสร้างอาคารหลังเล็กชั้นเดียวเพิ่มอีก 2 หลัง ตั้งใจให้ดูเหมือนหมู่บ้านที่มีอาคารหลายๆหลังอยู่ด้วย หลังแรกเป็นอาคารปูนด้านหน้ากรุไม้เป็นลายตาราง ด้านหลังกรุระแนงเป็นช่องลมโปร่ง ๆ ตั้งใจว่าจะทำเป็นครัว แต่ระหว่างนี้ใช้งานเป็นห้องเก็บอุปกรณ์เกษตร ส่วนอีกหลังทำเป็นห้องน้ำ 2 ห้อง ใช้งบสร้างอาคารทั้ง 2 หลังประมาณ 150,000 บาท

บ้านขนาดเล็ก
บ้านหลังเล็ก
บ้านหลังเล็ก

“ใจจริงเราไม่ชอบห้องน้ำที่อยู่นอกบ้านเลย แต่พอทำบ้านไปก่อนแล้วมาสร้างแยกจะง่ายกว่าต่อเติมเข้าไป จริงๆแล้วบ้านหลังนี้เราไม่ได้ตั้งใจจะมาอยู่จริงจังอยู่แล้ว เพราะเราสร้างโดยไม่ได้ดูทิศทางลมและฝนเลย ทำให้ด้านที่รับลมไม่ได้ใส่หน้าต่างเอาไว้ และไม่มีกันสาดหรือชายคายื่นยาวด้วยก็จะเจอฝนสาดได้หากเปิดหน้าต่างไว้ ภายในบ้านเราไม่ได้กั้นห้องอะไร แต่ปล่อยโล่ง ๆ จัดเป็นมุมนั่งเล่นและปลูกต้นไม้ของเราเรื่อยเปื่อย เราตั้งใจสร้างบ้านนี้ไว้ทำเป็นมุมถ่ายรูปมากกว่า อาจจะมีเพื่อนๆมาพักบ้าง แต่ถ้าจะอยู่จริงจังก็คงต้องปรับเปลี่ยบนบางอย่างให้อยู่สบายขึ้น พอทำบ้านเสร็จแล้วเป็นมุมที่เราแฮ็ปปี้มาก เพราะตอบโจทย์ของเรา คือมีบ้านกลางทุ่งนาเอาไว้ถ่ายรูปเหมือนเป็นสตูดิโอส่วนตัวของเราเอง”

ห้องนอน
ห้องนอนไม้
ห้องนอนไม้
บ้านสไตล์ญี่ปุ่น
บ้านสไตล์ญี่ปุ่น

แม้ว่าจะไม่ใช่บ้านที่ตั้งใจจะเอาไว้อยู่อาศัยอย่างจริงจังถาวร แต่ บ้านไม้อารมณ์ญี่ปุ่นกลางทุ่งนา หลังนี้ก็เป็นมุมรับรองเพื่อนๆให้มาพักที่นี่เสมอ นับเป็นอีกไอเดียในการนำไปดัดแปลงให้เป็นบ้านบรรยากาศน่ารักแสนอบอุ่น จะทำเป็นบ้าน โฮมสเตย์ หรือคาเฟ่ ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว  

เจ้าของ-ออกแบบ : คุณอนุช ใครบุตร


เรื่อง : วรัปศร

ภาพ :  คุณอนุช ใครบุตร

รวมแบบบ้านสไตล์ญี่ปุ่น เรียบน้อย อิงธรรมชาติ

รวมบ้านที่ตื่นมาก็เจอวิวทุ่งนา ใช้ชีวิตเหมือนอยู่สวรรค์บนดิน