อาจถือเป็นความปกติใหม่อย่างหนึ่งไปแล้ว เมื่อผู้คนนิยมนำต้นไม้มาแต่งบ้านและจัดสวนกันทั่วบ้านทั่วเมือง นอกจากเรื่องความสวยงามและสร้างความรู้สึกสดชื่นได้เป็นอย่างดีแล้ว ต้นไม้และสวนยังมีดีมากกว่าที่คิด เพราะช่วย แก้ไขปัญหาบ้าน ได้อีกด้วย
บ้านและสวน จึงมีตัวอย่างการหาทางออก แก้ไขปัญหาบ้าน ด้วยการปลูกต้นไม้และจัดสวนมาให้ลองทำตามกัน
1.บ้านร้อน
บ้านร้อนถือเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเรา แน่นอนว่าความร้อนส่วนใหญ่มาจากแสงอาทิตย์นั่นเอง ทางแก้อย่างแรกคือ การสร้างร่มเงาด้วยการปลูกต้นไม้ใหญ่ที่มีทรงพุ่มทึบ เช่น พิกุล มะฮอกกานีใบใหญ่ อโศกอินเดีย กระพี้จั่น โดยเฉพาะในบริเวณทิศใต้ไปจนถึงทิศตะวันตกของบ้านที่ได้รับแดดในช่วงบ่าย ซึ่งมีอุณหภูมิร้อนที่สุดของวันด้วย เช่นเดียวกับบ้านที่มีลานพื้นคอนกรีตนอกบ้านก็มักสะท้อนความร้อนเข้าสู่บ้านได้เช่นกัน ควรออกแบบลานพื้นแข็งให้อยู่ทางทิศตะวันออกหรือทิศเหนือจะดีที่สุด หากบ้านมีพื้นที่ไม่มากหรือเป็นระเบียงคอนโดมิเนียม อาจเลือกปลูกไม้พุ่มกระถางตัดแต่งทรงให้แน่น เช่น ไทรเกาหลี ชาดัด จั๋งจีน เพื่อช่วยพรางแสงไม่ให้เข้ามาภายในบ้าน หรืออาจปลูกไม้เลื้อยคลุมระแนงหรือตาข่ายบังในทิศที่แสงแดดส่องลงมาก็ได้
การสร้างลมเย็นเข้าสู่บ้านเพื่อช่วยนำพาความร้อนออกไปก็สำคัญ โดยมากลมร้อนจะพัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้หรือทิศใต้ในฤดูร้อนและฤดูฝน ส่วนฤดูหนาวจะได้รับอิทธิพลลมหนาวที่พัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทิศทางการวางตำแหน่งของบ่อน้ำมีส่วนช่วยสร้างลมเย็นได้มาก ควรออกแบบให้มีบ่อน้ำหรือสระน้ำทางทิศเหนือ เมื่อน้ำระเหยขึ้นจะเกิดลมพัด เพื่อนำอากาศไหลมาแทนที่ทำให้บ้านเย็นขึ้น เช่นเดียวกับการวางตำแหน่งสระน้ำทางทิศใต้ ลมร้อนจะพาความชื้นจากสระน้ำเข้ามาในบ้านได้เช่นกัน ควรหลีกเลี่ยงการวางตำแหน่งของสระน้ำในทิศตะวันออกและตะวันตกที่สะท้อนแสงจากผิวน้ำเข้าตัวสู่บ้าน แต่หากไม่มีทางเลือก อาจแก้ไขด้วยการทำซุ้มระแนงหรือระเบียง เพื่อช่วยพรางแสงที่สะท้อนเข้าสู่บ้านได้อีกทางหนึ่ง
2.น้ำฝนไหลจากหลังคาจนเฉอะแฉะและท่วมขังพื้น
เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนอาจมีปัญหาน้ำฝนไหลผ่านหลังคาลงมาจนท่วมขัง และไหลเข้าทำความเสียหายแก่บ้านได้ ประเด็นสำคัญคือการวางแผนระบายน้ำรอบบ้านให้ดี บ้านที่ทำรางน้ำจากหลังคาช่วยให้ง่ายต่อการทราบปริมาณและทิศทางน้ำที่จะไหลมาจากท่อ เราต้องเตรียมรางระบายน้ำหรือภาชนะเก็บกักน้ำ เช่น โอ่ง หรือตุ่ม เพื่อรับน้ำไว้ใช้ประโยชน์หรือชะลอน้ำก่อนระบายออกไปยังท่อระบายที่เชื่อมกับท่อระบายน้ำสาธารณะ หรือบ่อเก็บน้ำในพื้นที่ต่อไป
หากไม่มีระบบรางน้ำที่หลังคาบ้าน อาจสังเกตว่าหลังคามีความชันมากน้อยเพียงใด หากมีความชันมากควรเตรียมรางระบบน้ำล้อมรอบบ้านให้ตรงกับบริเวณที่น้ำฝนตกลงมา เพื่อระบายน้ำที่ตกลงมาอย่างเร็วและแรง โดยไม่ไปสร้างความเสียหายให้สวนบริเวณอื่น หากไม่สามารถทำรางระบายน้ำรอบบ้านได้ ควรทำรางน้ำฝนต่อจากหลังคาพร้อมท่อน้ำไหลลงมายังจุดที่ต้องการเพื่อระบายน้ำ หรือทำพื้นราบซึ่งเป็นงานฮาร์ดสเคปพื้นแข็งบริเวณที่ฝนตกลงมาให้มีความชันตามการใช้งานและลาดลงไปสู่ท่อระบายน้ำหรือบ่อเก็บน้ำ โดยทั่วไปทางระบายน้ำควรมีความชันไม่ต่ำกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ และลานทั่วไปควรมีความชันไม่น้อยกว่า 0.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากมีพื้นที่มากควรให้ภูมิสถาปนิกหรือผู้เชี่ยวชาญช่วยคำนวณ เพื่อให้มีทางระบายน้ำอย่างเพียงพอและได้ประสิทธิภาพดีที่สุด
3.ฝุ่นละอองและมลภาวะต่าง ๆ
ทำอย่างไรให้บ้านของเราเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด ในขณะที่พื้นที่ โดยรอบต้องเผชิญกับมลภาวะที่เกิดจากทั้งเสียง ฝุ่น และสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ มีการวิจัยพบว่าต้นไม้หลายชนิดมีส่วนช่วยกรองอากาศและจับฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ราว 1.4 กิโลกรัมต่อปีต่อต้น โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ที่มีทรงพุ่มแน่นและมีพื้นที่ใบมาก ใบมีลักษณะหนา หยาบสาก หรือมีขน เช่น สั่งทำ ข่อย อโศกอินเดีย จามจุรี ตะขบ ขี้เหล็ก ซึ่งต้องปลูกควบคู่กับไม้พุ่มขนาดรองลงมาที่มีทรงพุ่มแน่นและมีพื้นที่ใบมากเช่นกัน เช่น ไทรเกาหลี ชาดัด จั๋งจีน หมากเหลือง แต่หากบ้านของคุณมีพื้นที่ไม่มากหรือกังวลว่า ระบบรากของต้นไม้อาจทำอันตรายต่อระบบโครงสร้างของอาคาร อาจปลูกไม้พุ่มและไม้เลื้อย เช่น ลีกวนยู จั๋งจีน สนบลู สนสามร้อยยอด ชาดัด ในกระบะบริเวณหน้าต่างในทิศที่มีลมพัดเข้าบ้าน นอกจากช่วยกรองฝุ่นได้แล้ว ยังกรองเสียงได้ระดับหนึ่งด้วย
การออกแบบสวนให้มีลานโล่งหรือถนนในทิศเหนือและทิศใต้เสี่ยงต่อการที่ลมประจำฤดูจะพัดพาฝุ่นเข้ามาภายในอาคาร อาจต้องเปลี่ยนทิศทางการวางผังให้เหมาะสม โดยกลุ่มต้นไม้ที่มีความสูงประมาณ 9 เมตร ซึ่งมีทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม และไม้คลุมดินสามารถป้องกันลมและฝุ่นละอองได้ดีในระยะไกลกว่า 40 เมตร แต่หากต้องการป้องกันเสียงอาจจำเป็นต้องถมเนินดิน เพื่อให้เกิดระดับความสูงไม่เท่ากันเข้ามาช่วย
4.อยู่ในบ้านแต่รู้สึกไม่เป็นส่วนตัว
ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว คือ สิ่งสำคัญในการออกแบบบ้าน สวนสามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้ด้วยการสร้างฉากหรือกำแพงรั้วที่มีระดับความสูงเหนือกว่าระยะสายตา คือ ประมาณ 1.90 – 3 เมตร ยิ่งเป็นรั้วฮาร์ดสเคปจะให้ความรู้สึกมิดชิดมาก เหมาะใช้บดบังพื้นที่ภายในบ้านที่ต้องการความเป็นส่วนตัวสูง เช่น ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น หรือห้องนอน แต่ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกกระด้างและไม่สบายตา อาจเพิ่มความสบายตาด้วยการปลูกต้นไม้เป็นกลุ่มสลับกับรั้วฮาร์ดสเคป ที่นิยมมากคือ ต้นไม้ตัดแต่งทำเป็นแนวรั้ว เช่น ข่อย ไทรเกาหลี ชาดัด ไทรทอง หรือใช้ไม้เลื้อย โดยนำตะแกรงพีวีซีมาติดขึงกับกำแพงหรือรั้ว และปลูกไม้เลื้อย อย่าง ตีนตุ๊กแก เหลืองชัชวาล พวงชมพู หรือสร้อยอินทนิล
นอกจากนี้เรายังอาจใช้องค์ประกอบอื่นในสวนเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว เช่น กระบะปลูก กำแพงดิน บ่อน้ำ หรือแนวต้นไม้ โดยระดับความสูงของต้นไม้มีผลต่อความรู้สึกเป็นส่วนตัวมาก เช่น ต้นไม้ที่สูงกว่าระดับสายตาจะให้ความเป็นส่วนตัวที่สุด ส่วนต้นไม้ที่สูงระดับอกจะให้ความเป็นส่วนตัวปานกลางหรือในระหว่างที่กำลังนั่ง ส่วนต้นไม้ที่มีระดับเตี้ยกว่านั้นไม่ให้ความเป็นส่วนตัว แต่ช่วยในการกำหนดทิศทางหรือสร้างขอบเขต
5.กลิ่นอาหารและควันไฟจากครัวคลุ้งไปทั่วบ้าน
เมนูอาหารไทยส่วนมากมีกลิ่นแรงและต้องใช้ไฟร้อนมากในขณะประกอบอาหาร บ้านที่มีครัวเชื่อมต่อกับบริเวณอื่นในบ้านคงไม่สะดวกเท่าไรนัก จำเป็นต้องต่อเติมพื้นที่ครัวเดิมออกไปเป็นครัวไทย ซึ่งต้องมีช่องลมขนาดใหญ่เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก สำหรับบางคนอาจดัดแปลงพื้นที่สวนรวมเข้ากับครัวไทยหรือครัวปิ้งย่างก็ได้เช่นกัน
ครัวในสวนของเราไม่ควรมีบริเวณติดกับเพื่อนบ้านมากนัก ควรอยู่ทางทิศตะวันตกของบ้าน เพื่อให้แสงแดดส่องมาฆ่าเชื้อโรค เชื้อรา ลดกลิ่นอับ หลีกเลี่ยงทิศเหนือและใต้ เพราะทิศเหนือมีแดดเข้าน้อยอาจไม่มีแสงแดดช่วยสร้างสุขภาวะที่เหมาะสม ส่วนทิศใต้ที่มีลมร้อนผ่านอาจโชยกลิ่นอาหารเข้ามาภายในบ้านได้ อาจออกแบบในลักษณะของศาลาในสวนที่ใช้หลังคาโปร่งแสงหรือบริเวณที่เปิดโล่งช่วยให้แสงเข้ามามากเป็นพิเศษ แต่ควรคำนึงถึงความร้อนในตอนกลางวันด้วย ดังนั้น จึงควรมีบริเวณหลังคาทึบในส่วนที่ต้องใช้งานมากเป็นพิเศษ ส่วนพื้นควรปูกระเบื้อง หรือพื้นแข็งที่ไม่ลื่นเมื่อเปียกน้ำ แต่ก็ไม่หยาบจนยากต่อการทำความสะอาด เช่น กระเบื้อนคอนกรีต กระเบื้องดินเผา พื้นทรายล้าง โดยสามารถเพิ่มกระบะปลูกผักสวนครัวที่ง่ายต่อการหยิบมาทำอาหาร หรือศาลาซุ้มไม้เลื้อยสำหรับรับประทานอาหารในสวนได้เลย
เรื่อง : ปัญชัช
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน