ต้น เบาบับ เป็นพืชที่มีรูปลักษณ์โดดเด่นสะดุดตาด้วยทรงต้นที่อวบอ้วนและสูงชะลูด จนถือได้ว่าเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งมีอายุได้ยืนยาวนับพันปีเลยทีเดียว
เบาบับ ถือเป็นหนึ่งในไม้อวบน้ำขนาดใหญ่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Adansonia digitata ในวงค์มัลเวซีอี (Malvaceae) ชื่อสกุลอแดนโซเนียของเบาบับนั้นตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ Michel Adason นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรังเศสผู้ค้นพบและจัดทำคำบรรยายลักษณะของสกุลนี้ โดยมี “เบาบับ” หรือ A. digitata จากแอฟริกาเป็นพืชต้นแบบ เดิมพบเพียงชนิดเดียว คือ A. digitata ต่อมาสำรวจพบเพิ่มขึ้นรวม 10 ชนิด มี 6 ชนิดเป็นพืชเฉพาะถิ่นของเกาะมาดากัสการ์ คือ A. grandidieri, A. madagascariensis, A. perrieri, A. rubrostipa, A. suarezensis และ A. za อีกสองชนิดอยู่บนทวีปแอฟริกา คือ A. digitata และ A. kilima รวมทั้ง A. gregorii ที่พบในทวีปออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหลักฐานที่บอกว่าหลายล้านปีมาแล้วแผ่นดินทวีปแอฟริกาและออสเตรเลียเคยเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินมหาทวีปกอนด์วานา (Gondwana) ก่อนแยกตัวออกจากกัน จึงมีสิ่งมีชีวิตที่คล้ายกันและวิวัฒนาการกลายเป็นชนิดใหม่ ชนพื้นเมืองใช้กิ่งแห้งทำฟืนหุงต้ม ผลสุกกินเป็นไม้ผลหรือทำสีย้อม มีวิตามินซีสูงมาก ส่วนชาวมาดากัสการ์นำเปลือกต้นมาใช้มุงหลังคาบ้านและทำเครื่องใช้ต่างๆ
เบาบับปลูกเลี้ยงง่ายและชอบน้ำ ดินระบายน้ำดี ไม่ขังแฉะ โตช้า ใช้เวลาหลายปีกว่าลำต้นจะอวบอ้วนเป็นโขด มีบางชนิดโตเร็ว เช่น A. digitata, A. kilima และ A. gregorii หากเลี้ยงเป็นบอนไซในกระถางก็ใช้เวลาไม่มาก ขยายพันธุ์ได้ทั้งปักชำและตอนกิ่ง ส่วนพันธุ์ใบด่างนิยมนำมาเสียบยอดกับต้นตอ A. digitata ปัจจุบัน A. digitata ติดผลในเมืองไทยแล้ว
ลักษณะทั่วไปของสกุลอแดนโซเนีย เป็นไม้ต้นผลัดใบขนาดใหญ่ ลำต้นเป็นโขดคล้ายขวดน้ำ ใบเดี่ยวหรือใบประกอบแบบฝ่ามือหรือนิ้วมือ มี 5-9 ใบย่อย ดอกเดี่ยวออกที่ซอกใบห้อยลง สีขาว บานตอนกลางคืน มีค้างคาวและผีเสื้อกลางคืนช่วยผสมเกสร กลีบดอก 5 กลีบ มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ผลเป็นฝักแข็งทรงกลมหรือทรงกระบอก ยาวถึง 50 เซนติเมตร มีขนนุ่มปกคลุม ภายในมีเมล็ดเป็นเหลี่ยมและมีปุยขนปกคลุม
พืชอีกชนิดที่มีลักษณะคล้ายสกุลอแดนโซเนียคือ สกุลบราคีไคตอน (Brachychiton) ซึ่งชื่อสกุลมาจากภาษากรีก 2 คำ คือ brachys แปลว่า สั้น กับ chiton แปลว่าเสื้อคลุม สื่อถึงลักษณะเปลือกหุ้มเมล็ดแบบหลวมๆของพืชสกุลนี้ มีประมาณ 31 ชนิด กระจายพันธุ์ในทวีปออสเตรเลีย 30 ชนิด และอีก 1 ชนิดอยู่บนเกาะนิวกินี หลายชนิดมีลำต้นเป็นโขดอ้วนคล้ายขวดน้ำ จึงมีชื่อสามัญว่า Bottle Tree ซึ่งชาวอะบอริจินส์ในออสเตรเลียนำมาใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น กินรากขณะต้นยังเล็ก เจาะกินน้ำภายในลำต้น นำเปลือกมาทำเชือกและเครื่องมือใช้สอยต่างๆ ในบ้านเรารู้จักพืชสกุลนี้กันพอสมควร เพราะงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำ B. rupestris ขนาดใหญ่หลายต้นเข้ามาปลูกประดับบริเวณสถานที่จัดงาน และตั้งชื่อว่า “ต้นขวด” แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม อีกทั้งมีเชื้อราเข้าทำลายระบบรากจนติดเชื้อเข้าในลำต้น ทำให้ต้นขวดเหล่านั้นทยอยเน่าตาย ชอบดินปลูกระบายน้ำดีและเป็นกรดเล็กน้อย ปัจจุบันสามารถปลูกในกระถางเป็นบอนไซได้
ลักษณะทั่วไปของสกุลบราคีไคตอน เป็นไม้ต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 4-30 เมตร หลายชนิดมีลำต้นเป็นโขดอวบอ้วน เส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่ถึง 1.50 เมตร ใบประกอบรูปฝ่ามือ ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 กลีบ มักมีสีแดงจนบางชนิดมีชื่อเรียกว่า Flame Tree (B. acerifolius) ซึ่งมีดอกสีแดงเพลิงทั้งต้น ผลเป็นฝักทรงกลมรีขนาดใหญ่ เมล็ดมีขนหุ้มที่ทำให้คันเมื่อสัมผัสถูกผิวหนัง และมีข้อควรระวังคือพื้นที่การปลูก เบาบับ ต้องมีการระบายนํ้าที่ดี
เรื่อง: ภวพล ศุภนันทนานนท์, ชนินทร์ โถรัตน์ และพิชญะ วัชจิตพันธ์
ภาพ : สำนักพิมพ์บ้านและสวน
ติดตามเนื้อหาเกี่ยวพรรณไม้อวบน้ำเพิ่มเติมได้ที่ หนังสือไม้อวบน้ำ Succulents ซึ่งรวมเทคนิคการปลูกเลี้ยง ขยายพันธุ์ ดูแลรักษา พร้อมรวบรวมภาพถ่ายและข้อมูลของไม้อวบน้ำทั้งที่พบปลูกในเมืองไทยและตามถิ่นกำเนิดในธรรมชาติ ซึ่งได้รับความเอื้อเฟื้อจากนักปลูกเลี้ยงและนักพฤกษศาสตร์ชาวต่างชาติหลายท่าน รวมมากกว่า 3,000 ชนิด ถือเป็นหนังสือไม้อวบน้ำที่สมบูรณ์ที่สุดในขณะนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง