ออกแบบ พื้นที่รอบบ้านดูแลง่ายป้องกันงู กันยุง ไม่พังเร็ว โดยวางแผนเรื่องการดูแลรักษาตั้งแต่ตอนสร้าง มาดู 13 จุดที่มักเกิดปัญหากับพื้นที่รอบบ้านกัน
1.ป้องกันงูขึ้นบ้าน
การยกพื้นบ้านสูงเป็นวิธีป้องกันสัตว์เลื้อยคลานเข้ามาในบ้านได้ดีที่สุด ซึ่งบ้านโดยทั่วไปในประเทศไทยนิยมยกพื้นบ้านสูงตามภูมิปัญญาไทยเดิมที่เป็นบ้านใต้ถุนสูง โดยบ้านในปัจจุบันควรยกสูงจากพื้นดิน 50-60 เซนติเมตร ก็จะป้องกันสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กและขนาดกลางได้ แต่ในหลายกรณี สัตว์เลื้อยคลายอย่างงู ก็ยังสามารถเลื้อยขึ้นบ้านได้หลายทาง ทั้งทางบันได พื้นบ้านที่ยกสูงไม่พอ และจากต้นไม้ที่พาดตัวบ้าน ซึ่งมีตัวอย่างดีเทลที่ออกแบบยกตัวบ้านให้ป้องกันงูได้ดี พื้นที่รอบบ้านดูแลง่ายป้องกันงู กันยุง
2.ออกแบบสวนให้ยุงน้อย
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดย่อมเลือกอยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีแหล่งอาหารและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งยุงชอบอาศัยในพื้นที่มืดทึบ อับชื้น เพาะพันธุ์ในแหล่งน้ำนิ่ง และอาหารของยุงคือน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ โดยยุงตัวเมียเท่านั้นจะกินเลือดของมนุษย์หรือสัตว์ เพื่อใช้สร้างพลังงานและช่วยในการเจริญเติบโตของไข่ ดังนั้นการตัดปัจจัยที่ดึงดูดยุงจึงทำให้ยุงมาอาศัยในสวนน้อยลง ด้วยการออกแบบสวนและบ้านให้สว่าง โล่ง มีซอกมุมน้อย ไม่มีแหล่งน้ำนิ่ง และปลูกพืชพรรณพุ่มโปร่ง เน้นไม้ใบที่ไม่มีดอกที่จะดึงดูดยุงและแมลง ดังตัวอย่างสวนของบ้านสีขาวเรียบโล่งหลังนี้ที่จัดเป็นสวนกรวด ซึ่งเจ้าของบ้านอยู่อาศัยแล้วพบว่ามียุงค่อนข้างน้อย พื้นที่รอบบ้านดูแลง่ายป้องกันงู กันยุง
3.ป้องกันรางระบายน้ำตัน
เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน แทบทุกบ้านมักประสบปัญหารางระบายน้ำหลังคา และรางระบายน้ำที่พื้นตัน ซึ่งทำให้เกิดน้ำล้น น้ำขัง จนตัวบ้านเสียหาย โดยมี 4 แนวทางในการป้องกันรางน้ำ ท่อน้ำตัน คือ
- ปลูกต้นไม้ให้ห่างจากรางระบายน้ำ ทั้งรางระบายน้ำหลังคาและรางระบายน้ำพื้น และเลือกต้นไม้ที่มีใบร่วงน้อย
- ทำตะแกรงครอบรางน้ำ ป้องกันใบไม้และสิ่งแปลกปลอมหล่นเข้าไปในรางน้ำ
- ทำความสะอาดรางน้ำอย่างน้อยปีละครั้งก่อนเข้าฤดูฝน
- สำหรับหลังคาดาดฟ้าและพื้นระเบียง ควรใช้ฝาตะแกรงระบายน้ำสำหรับหลังคา (Roof Drain) ซึ่งเป็นเหมือนตะกร้าคว่ำ ช่วยให้ระบายน้ำได้แม้จะมีเศษใบไม้ขวางอยู่ พร้อมทำช่องน้ำล้น (Over Flow) เพื่อช่วยระบายน้ำกรณีท่อระบายน้ำตัน
4.ระวังรากต้นไม้ทำบ้านพัง กำแพงร้าว
ไม้ยืนต้นที่นิยมปลูกทั่วไป เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดทรงพุ่มกว้าง 7- 8 เมตร ดังนั้นควรปลูกต้นไม้ให้ห่างจากบ้านอย่างน้อย 5 เมตร เพื่อป้องกันรากดันตัวโครงสร้างของอาคาร อีกทั้งการปลูกชิดกำแพงมากเกินไป ลำต้นจะเอนหาแสงทำให้รูปทรงไม่สวยงาม และถ้าปลูกริมรั้วหรือแนวกำแพง พื้นทางเดิน ควรปลูกห่างอย่างน้อย 2 เมตร เพื่อป้องกันระบบรากดันคานหรือเสารั้วจนเกิดความเสียหาย ที่สำคัญไม่ควรปลูกไม้ที่มีเรือนยอดขนาดใหญ่และมีระบบรากแข็งแรง ใกล้รั้วหรือตัวอาคารโดยเด็ดขาด เช่น จามจุรี ชมพูพันธุ์ทิพย์ หางนกยูงฝรั่ง ไทร ยางอินเดีย และทองหลาง
หากบ้านมีพื้นที่จำกัดและไม่สามารถเว้นระยะห่างต้นไม้ได้มากพอ ควรควบคุมการเติบโตของรากไม่ให้แผ่ขยายมากเกินไป ด้วยการทำกระบะปลูกต้นไม้ เพื่อให้ต้นไม้เติบโตในพื้นที่ที่กำหนดไว้ สามารถทำได้ทั้งการก่อกระบะบนผิวดิน และฝังไว้ใต้ดิน โดยทั่วไปแล้วขนาดทรงพุ่มจะสัมพันธ์กับการแผ่ของราก จึงทำให้ขนาดทรงพุ่มเล็กกว่าปกติด้วย
5.ตัดแต่งกิ่งไม้ ก่อนหล่นทับบ้าน
หากมีต้นไม้ใหญ่ใกล้บ้าน จำเป็นต้องตัดแต่งกิ่งไม่ให้ยื่นมาใกล้หลังคา และแต่งกิ่งให้โปร่ง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักจากลมแรง รวมถึงกิ่งแห้งที่อาจร่วงหล่นลงมา ซึ่งควรตัดแต่งอย่างน้อยปีละครั้ง โดยช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดในการตัดแต่งคือ ช่วงฤดูหนาว ประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระยะที่ต้นไม้พักตัว และเก็บสะสมอาหารเตรียมแตกยอดใบใหม่ในฤดูกาลถัดไป หรือก่อนเข้าฤดูฝนที่มักมีลมพายุ
วิธีการตัดกิ่งไม้ขนาดใหญ่
A. เลื่อยด้านล่างของกิ่งห่างจากลำต้นประมาณ 20 เซนติเมตร โดยตัดให้ลึกครึ่งหนึ่งของกิ่ง เพื่อความปลอดภัยควรผูกเชือกที่กิ่งกับลำต้น ป้องกันการหล่นลงมาใส่ผู้ทำงานที่อยู่ด้านล่าง
B. ตัดด้านบนให้ห่างจากรอยเดิมประมาณ 10 เซนติเมตร
C. ครั้งสุดท้ายตัดให้ชิดลำต้น โดยให้รอยตัดตั้งฉากกับกิ่ง แผลจากการตัดต้องเรียบ ไม่เป็นแอ่ง เพราะอาจเกิดน้ำขังจนเป็นเชื้อรา แล้วทาปูนแดงหรือสีน้ำมันทุกครั้งหลังการตัดแต่งกิ่ง
6.ป้องกันเศษดินทำพื้นลื่น-เลอะ
เมื่อฝนตกมักทำให้เศษดินกระเด็นขึ้นมาบนพื้นทางเดินและพื้นเฉลียง ทำให้พื้นยิ่งลื่นจนเป็นอันตรายได้ ซึ่งสามารถป้องกันด้วยการทำระดับพื้นทางเดินและพื้นเฉลียงให้สูงกว่าพื้นดินอย่างน้อย 10 เซนติเมตร และบริเวณพื้นดินส่วนที่ติดกับพื้นทางเดิน ให้ปลูกพืชคลุมดิน หรือรองด้วยแผ่นจีโอเท็กซ์ไทล์แล้วโรยกรวด พร้อมทำพื้นทางเดิน และพื้นดินให้ลาดเอียงไม่ให้เกิดน้ำขัง ก็ช่วยป้องกันน้ำกระเด็นหรือน้ำท่วมแล้วพาดินขึ้นมาเลอะพื้นได้
7.ระวังความชื้นทำสีผนังลอกล่อน
ผนังบ้านที่ติดกับพื้นดินมักเกิดปัญหาสีลอกล่อน ซึ่งมีสาเหตุจากความชื้นในดินซึมขึ้นมาตามผนัง แล้วความชื้นไม่มีทางระบายออก เมื่อสะสมนานวันจึงดันฟิล์มสีให้โป่งออก การแก้ไขจึงทำได้ด้วยการป้องกันหรือลดความชื้นที่อยู่ใกล้ผนัง และการหาทางระบายความชื้นให้ผนัง ดังนี้
- ไม่ทำพื้นดินติดผนังบ้าน
- ไม่ปลูกต้นไม้ใกล้แนวผนังบ้าน
- เปลี่ยนวัสดุพื้นผิวให้ระบายอากาศได้
8.มีทางเซอร์วิสเข้าไปซ่อมบำรุงได้
ทุกส่วนของรอบบริเวณบ้านควรมีทางเดินที่เข้าถึงได้ง่าย เพื่อเข้าไปซ่อมแซมและบำรุงรักษา โดยเฉพาะคนที่ต้องการดูแลพื้นที่รอบบ้านด้วยตัวเอง เช่น การบำรุงรักษาบ่อน้ำ น้ำตก ระบบระบายน้ำรอบบ้าน บ่อพักน้ำทิ้ง รวมถึงแปลงต้นไม้ที่ควรมีทางเดินให้เข้าไปตัดแต่งได้ทั่วถึง และการเลือกชนิดต้นไม้ที่ไม่สูงเกินกว่าจะตัดแต่งกิ่งได้ ก็จะช่วยให้ดูแลได้ง่าย เพราะหากเข้าไปดูแลลำบาก จะทำให้ท้อใจจนปล่อยทิ้งให้โทรมได้ง่าย
9.ป้องกันวัชพืชขึ้นพื้นโรยกรวด
พื้นโรยกรวดทำได้ง่าย แล้วยังสวยเป็นธรรมชาติ แต่ขั้นตอนสำคัญที่หลายคนอาจละเลย คือการเตรียมพื้นที่ก่อนโรยกรวด เพื่อป้องกันก้อนกรวดจมดิน และป้องกันวัชพืชขึ้น ซึ่งจะทำให้หมดสวยและเหนื่อยในการกำจัดออก โดยปรับระดับพื้นด้วยทรายหนาประมาณ 5 เซนติเมตร ให้ลาดเอียงไปยังทางระบายน้ำ ปูทับด้วยแผ่นจีโอเท็กซ์ไทล์ หรือแผ่นพลาสติกกันวัชพืช ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันแสงลอดผ่าน แต่ยังระบายน้ำลงดินได้ แล้วจึงโรยกรวดทับปิดแผ่นรองด้านล่างให้มิดเพื่อความสวยงาม
10.แก้ปัญหาพื้นลานร้อนเกินจะทน
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้อยู่บ้านแล้วรู้สึกร้อน คือพื้นลานรอบบ้านเป็นพื้นคอนกรีตผืนใหญ่ ซึ่งมีคุณสมบัติสะสมความร้อนได้ดี และคายความร้อนช้า เมื่อตากแดดสะสมความร้อนไว้ทั้งวัน จะทำให้พื้นผิวมีอุณหภูมิสูง ส่งผลให้อุณหภูมิโดยรอบและลมที่พัดผ่านมีอุณหภูมิสูงขึ้นด้วย
- การป้องกัน บ้านที่กำลังออกแบบก่อสร้าง แนะนำให้ทำพื้นคอนกรีตเท่าที่จำเป็น แล้วแทรกด้วยพื้นดินปลูกพืชคลุมดิน หรือใช้วัสดุปูพื้นที่น้ำซึมผ่านได้ เช่น บล็อกคอนกรีตปูหญ้า บล็อกคอนกรีตชนิดน้ำซึมผ่านได้ หรือการปูแผ่นพื้นสลับพืชพรรณต่างๆ ก็จะลดการสะสมความร้อน และความชื้นจากพื้นดินก็จะช่วยลดความร้อนได้
- การแก้ไข หากทำพื้นคอนกรีตแล้ว และพื้นอยู่ในทิศที่โดนแสงแดดทั้งวันโดยเฉพาะช่วงบ่าย แนะนำให้สร้างร่มเงาด้วยสิ่งก่อสร้างหรือพรรณไม้ เช่น หลังคา ซุ้มระแนง ไม้ยืนต้น และการปลูกไม้พุ่มโดยรอบ เพื่อช่วยสร้างร่มเงาและดูดซับความร้อน
11.ป้องกันน้ำฝนจากชายคาเซาะพื้นดินเป็นหลุม
ความแรงน้ำฝนที่ตกลงมาจากหลังคามักสร้างความเสียหายให้พื้นดิน พื้นสนาม และพืชพรรณได้ หรือถ้าตกลงบนพื้นคอนกรีตก็จะกระเด็นทำให้บริเวณโดยรอบเปียกและเปื้อนเป็นวงกว้าง โดยสามารถป้องกันได้หลายวิธี ได้แก่ การทำรางน้ำโดยรอบชายคา และต่อท่อหรือโซ่ระบายน้ำลงมายังบ่อพักระบายน้ำทิ้ง การทำพื้นโรยกรวดที่รองด้วยแผ่นจีโอเท็กซ์ไทล์ บริเวณที่น้ำฝนตกลงจากชายคา ก็จะช่วยลดการกระเด็น และไม่กัดเซาะพื้นสนามให้เป็นหลุม
12.น้ำในบ่อเขียว ขึ้นตะไคร่เร็ว
หากทำบ่อน้ำตกแต่งสวนแล้วมีปัญหาน้ำในบ่อเขียวและขึ้นตะไคร่เร็ว เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ
- ไม่มีระบบกรองน้ำ หรือระบบกรองน้ำมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอกับขนาดบ่อน้ำ โดยเฉพาะบ่อที่เลี้ยงปลา ซึ่งสามารถใช้ร่วมกับน้ำยาควบคุมตะไคร่น้ำเพื่อให้เกิดช้าลง
- น้ำนิ่งไม่เคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวและหมุนเวียนของน้ำ มีส่วนขัดขวางไม่ให้สปอร์ของตะไคร่น้ำเจริญเติบโต แล้วยังเพิ่มออกซิเจนให้น้ำ สามารถทำได้ทั้งการทำน้ำพุ น้ำตก การติดหัวพ่นอากาศ
- บ่อน้ำได้รับแสงแดดมากเกินไป แสงแดดทำให้ตะไคร่น้ำเจริญเติบโตได้ดี จึงควรหาวิธีพรางแสงแดดให้ผิวน้ำได้รับแสงน้อยลง เช่น ปลูกไม้ให้ร่มเงาที่ใบร่วงน้อย ปลูกไม้น้ำ ไม้ริมน้ำ ทำหลังคาหรืแระแนงคลุมบางส่วน
13.ตะไคร่น้ำทำพื้นลื่น
ฤดูฝนทำให้พื้นที่มีน้ำขัง และโดนความชื้นตลอดเวลาเกิดตะไคร่น้ำเร็วขึ้น โดยเกิดกับวัสดุปูพื้นที่ดูดซึมน้ำได้ เช่น คอนกรีต อิฐ กระเบื้องดินเผา จนทำให้เกิดการลื่นล้มได้ ซึ่งวิธีกำจัดและป้องกันตะไคร่น้ำทำได้ ดังนี้
- พื้นภายนอกที่กำลังก่อสร้าง ควรเช็กระดับให้ลาดเอียงไปยังรางระบายน้ำ และพื้นผิวเรียบไม่เป็นแอ่ง ก็จะลดการเกิดตะไคร่น้ำได้
- พื้นเดิมที่เป็นแอ่ง สามารถปรับระดับพื้นผิวใหม่ได้ ด้วยซีเมนต์สําหรับงานซ่อมพื้นและปรับพื้นผิวคอนกรีต
- พื้นที่เกิดตะไคร่น้ำ สามารถกำจัดได้ด้วย น้ำยากำจัดเชื้อราและตะไคร่น้ำ ซึ่งจะฆ่าเชื้อราและตะไคร่น้ำจนถึงราก แล้วขัดด้วยแปรงหรือฉีดด้วยเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง
- ป้องกันการเกิดตะไคร่น้ำ ด้วยการทาน้ำยาเคลือบพื้นผิว จะช่วยลดการซึมน้ำของพื้นผิว โดยเลือกชนิดให้เหมาะกับพื้นผิวและบริเวณที่ใช้งาน ซึ่งต้องทาน้ำยาทุก 1-2 ปี ตามการใช้งานและอายุของผลิตภัณฑ์
คอลัมน์ Home Expert มิ.ย.66
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน