บ้านโมเดิร์นสีขาวมีคอร์ต ที่สร้างกรอบผนังโดยรอบ แล้วเปิดสเปซภายในให้เป็นพื้นที่สีเขียวที่กลายเป็นหัวใจของบ้าน
เมื่อบ้านคือนิยามของพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัวมากที่สุด การออกแบบโดยคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวจึงเป็นโจทย์สำคัญสำหรับ คุณปาล์ม – ทวิชากร เหล่าไชยยงค์ สถาปนิกแห่ง S.Pace.Studio ผู้ออกแบบหลังนี้และตั้งชื่อว่า “บ้านกรอบนอก” เนื่องจากบ้านตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้กับโรงงานหรือมีเเนวโน้มที่จะพัฒนาไปเป็นโรงงานในอนาคต การออกแบบจึงต้องคำนึงถึงสิ่งรบกวนที่อาจตามมา เช่น การมองเห็น เเละเสียงรบกวนจากภายนอก จนกลายเป็นที่มาของการออกแบบให้ตัวบ้านดูปิดกั้นจากบริบท โดยสร้างกรอบของตัวเองขึ้นมา แต่ก็ไม่ลืมที่จะสร้างสภาวะน่าสบายภายในบ้านให้มีพื้นที่สีเขียวส่วนตัว ซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจของบ้านหลังนี้ บ้านโมเดิร์นสีขาวมีคอร์ต
ฟังก์ชันที่จัดเรียงอย่างตั้งใจ เพื่อความเป็นส่วนตัวของผู้อาศัย
เมื่อโจทย์หลักในการออกแบบบ้านหลังนี้คือการสร้างความเป็นส่วนตัวให้ผู้อยู่อาศัย สถาปนิกจึงออกแบบให้ผนังปิดล้อมโดยรอบบ้าน เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้พื้นที่ห้องนั่งเล่นบริเวณชั้น 1 โดยเลือกใช้เป็นผนังอิฐช่องลมที่มีขนาดช่องค่อนข้างเล็ก เพื่อช่วยบดบังสายตาจากภายนอกให้มากที่สุด แต่อากาศยังคงสามารถไหลเวียนเข้ามาภายในบ้านได้ ผ่านพื้นที่ศาลาพักผ่อนในสวนที่เป็นพื้นที่สีเขียวภายในบ้าน เเละเป็นที่พักผ่อนให้สมาชิกครอบครัวสามารถมาทำกิจกรรมได้อย่างสบายตลอดทั้งวัน
“ตัวบ้านเเบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ ได้แก่ ศาลานั่งเล่นภายนอก เเละอาคารอยู่อาศัยซึ่งออกแบบเป็นบ้านสามชั้นเเทนการเป็นบ้านสองชั้น เพื่อเพิ่มสัดส่วนของพื้นที่ว่าง อาคารทั้งสองพื้นที่นี้เชื่อมต่อกันด้วยคอร์ตยาร์ตกลางบ้าน เเม้บ้านจะดูปิดกั้นจากภายนอก เเต่ภายในยังคงโปร่งโล่งเเละไม่ทึบตันเหมือนกับภายนอก”
สำหรับห้องนอนซึ่งต้องการความเป็นส่วนตัวมากที่สุด ออกแบบให้อยู่ชั้น 2-3 เมื่อมองจากภายนอกจะเห็นเป็นผนังทึบบริเวณห้องนอนเกือบทั้งหมด เพื่อปิดกั้นมุมมองเเละเสียงรบกวน แต่ออกแบบให้มีเเสงธรรมชาติเข้ามายังพื้นที่โถงทางเดิน ซึ่งเปิดมุมมองไปยังคอร์ตยาร์ตเเละนำแสงธรรมชาติให้เข้ามาภายในห้องนอน ที่ให้ความรู้สึกสบายในการพักผ่อน
บ้านที่ปลอดโปร่งจากภายในด้วยพื้นที่สวนใจกลางบ้าน
เเม้บ้านจะดูปิดล้อมจากภายนอกด้วยภาษาทางสถาปัตยกรรมที่ค่อนข้างชัดเจน เเต่ภายในกลับดูปลอดโปร่ง โล่งสบาย ด้วยพื้นที่สวนหรือคอร์ตยาร์ตกลางบ้าน ซึ่งทำหน้าที่เป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างศาลานั่งเล่นภายนอกกับพื้นที่ภายในบ้าน โดยมีต้นไม้คอยให้ร่มเงาแก่พื้นที่นั่งเล่นทั้งสองฝั่ง
การเลือกใช้ผนังอิฐช่องลมที่ไม่ทึบตัน ทำให้สวนในบ้านเป็นสเปซที่หายใจได้สะดวก เเละมีเเสง แดดที่พอเหมาะในเเต่ละช่วงเวลา ร่มเงาที่เกิดขึ้นภายในสวนนั้นมาจากการออกแบบของสถาปนิกที่ตั้งใจวางตำแหน่งของอาคารอยู่อาศัยสามชั้นในทางทิศใต้ ให้สัมพันธ์ไปกับทิศทางของแดด ช่วงบ่ายจึงเกิดร่มเงาของอาคารบังให้พื้นที่สวนเเละศาลานั่งเล่นซึ่งอยู่ทางทิศเหนือ
ผู้ออกแบบเล่าถึงการออกแบบว่า “วิถีชีวิตเจ้าของบ้านส่วนใหญ่จะอยู่ชั้นล่าง ชั้นบนมีไว้สำหรับนอนพักผ่อนเท่านั้น ผมจึงออกแบบโดยคำนึงถึงสภาวะน่าสบาย ให้พื้นที่สวนได้รับเเสงแดดในยามเช้าที่มีแสงสวยเเละไม่แรงนัก สามารถออกมาใช้พื้นที่นั่งเล่นได้อย่างสบายตลอดทั้งวัน
“ในการเลือกต้นไม้ฝั่งสวนด้านนอก เน้นเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ให้ร่มเงา ดังนั้นประเภทต้นไม้ที่เลือกคือ มั่งมี กระพี้จั่น และจิกน้ำ ส่วนต้นไม้ในคอร์ตกลางบ้านคือ หมาก ด้วยลักษณะใบที่ไม่ร่วง ดูเเลรักษาง่าย เเละความชะลูดของต้นหมากที่สูงขึ้นไปยังชั้น 2 ช่วยเพิ่มมุมมองของพื้นที่สีเขียวให้ภายในบ้านได้อย่างคุ้มค่า”
ภาษาทางสถาปัตยกรรมที่ชัดเจนเเละมีเหตุผล
จากการสร้างกรอบล้อมบ้านเพื่อความเป็นส่วนตัว นำมาสู่รูปทรงทางสถาปัตยกรรมที่ออกแบบให้ชัดเจนขึ้น ด้วยการซ้อนทับกันของทั้งสามชั้น โดยวางเหลื่อมกันตามความเหมาะสมของทิศทางเเสงแดด เเละยกพื้นเเต่ละชั้นให้ลอยออกจากกัน เพื่อให้บ้านดูเบา เเละไม่ทึบตันจนเกินไป
ผู้ออกแบบเลือกใช้เส้นนอนในการออกแบบจากกรอบบ้านที่สร้างขึ้น ล้อไปกับภายนอกอาคารในชั้นอื่นๆ ให้มีชายคายื่นยาวออกไปตลอดทั้งเเนวอาคาร เป็นเส้นกรอบของอาคารที่ปิดล้อมในฝั่งทางทิศใต้ เเละเปิดกรอบมุมมองเข้าสู่คอร์ตยาร์ต รวมไปถึงการออกแบบพื้นที่ภายในบ้านให้ผนังภายในดูยกลอย เเละใช้เส้นนอนในการออกแบบประตูรั้ว ทั้งหมดนี้เกิดจากภาษาที่เรียบง่ายจากภายนอกอาคารสู่ภายในอาคาร ล้อไปกับองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ภายในบ้าน ทำให้เมื่อมองมาจากภายนอกบ้านจึงดูโดดเด่น เรียบนิ่ง ด้วยเส้นสายเเละภาษาที่ชัดเจน
ออกแบบสถาปัตยกรรม – ออกแบบตกแต่งภายใน : S.Pace.Studio โดยคุณทวิชากร เหล่าไชยยงค์ โทรศัพท์ 09-5056-1564
คอลัมน์บ้านสวย มิ.ย.66
เรื่อง : Nantagan
ภาพ : ทวิชากร เหล่าไชยยงค์