บ้านหลองข้าวเก่า ใกล้ชิดทุ่งนาสีเขียวในอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ดัดแปลงมาจากหลองข้าวเก่าที่ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้งานใหม่ ด้านล่างของบ้านเตรียมพื้นที่ไว้เป็นแกลเลอรี่แสดงงานศิลปะ รายรอบด้วยสวนสวยๆ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากบอนสีสะสมของเจ้าของบ้าน
เริ่มจากบอนสีกระถางเดียว มาเป็น บ้านหลองข้าวเก่า
คุณรัฐ เปลี่ยนสุข แห่ง Sumphant Gallery เจ้าของบ้าน แม้จะเป็นที่รู้จักในฐานะนักออกแบบผลิตภัณฑ์มือรางวัล แต่จริงๆ แล้วคุณรัฐก็ทำงานเป็นสถาปนิกตามที่ได้จบการศึกษามาด้วย นอกจากจะมีความสนใจในเรื่องวัฒนธรรมความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมแล้ว ยังเริ่มสนใจบอนสีจากการติดตามเนื้อหาใน บ้านและสวน จนกระทั่งได้เป็นผู้จัดนิทรรศการเรื่องบอนสีกับงานกออกแบบในงาน Bangkok Design Week ทำให้ต้องการขยับขยายบอนสีที่มีอยู่ให้มีที่วางอย่างเหมาะสม
คุณรัฐเล่าอย่างอารมณ์ดีว่า “เริ่มจากเล่นบอนสีจนล้นบ้านที่กรุงเทพฯ พอดีมีที่ดินของญาติๆ ที่ซื้อไว้ ก็เลยคิดว่าเอามาไว้ที่บ้านสวนดีกว่า คิดว่าเอาแบบง่ายๆ ไปซื้อหลองข้าว (ที่เก็บข้าวเปลือกของชาวล้านนา) มา แล้วเอาพื้นที่ด้านล่างไว้ตั้งบอนสี” แต่ทำไปทำมากลายเป็น “บ้านงอก” ที่ใช้อยู่อาศัยและเป็นแกลเลอรี่ในท้ายที่สุด
เข้าใจไม้เก่า เข้ากับทิศทาง
เมื่อตกลงซื้อหลองข้าวเก่าจากภาคเหนือทางเฟซบุ๊ก ก็พบว่าการขนส่งมาหลังเดียวดูไม่ค่อยคุ้มเท่าไร ระหว่างรอเวลารื้อหลองข้าวไม้เดิม 4 เดือน คุณรัฐจึงเริ่มวางแผนเพิ่มเติมและซื้อหลองข้าวมาอีก 2 หลัง พร้อมวางระบบ จัดแปลน และทำความเข้าใจโครงสร้างไม้เก่าที่อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่พอสมควร
ประการแรก คือ เรื่องความแข็งแรงของโครงสร้างฐานราก เมื่อต้องย้ายหลองข้าวมา ตัวเสาจะยึดกับปูนเป็นต้นๆ ไป ซึ่งอาจไม่แข็งแรงนัก จึงออกแบบทำระเบียงยื่นออกไปจากตัวหลองข้าวเดิม เพื่อทำหน้าที่ช่วยค้ำยันและเพิ่มจำนวนเสาที่แข็งแรงให้มีฐานที่กว้างขึ้นด้วย
ประการถัดมาคือต้องเข้าใจว่าไม้จากตัวหลองข้าวอาจมีส่วนที่ใช้ได้จริงๆ แค่ 50-60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น คุณรัฐบอกว่าหลองข้าวที่เลือกซื้อมีผนังสองชั้น แต่เมื่อสร้างจริงแม้จะทำผนังชั้นเดียวก็มีไม้ไม่พอ
วางแปลนเป็นอาคารเปิดรับคนและวิวต้นจามจุรี
แปลนหลองข้าวทั้ง 3 หลัง จัดให้มองออกไปเห็นต้นก้ามปูด้านหน้าที่ดินเป็นวิวหลัก และสามารถมองเห็นตะวันตกดินลับไปกับทุ่งนาได้ ซึ่งมองออกไปเห็นทิวตาลเป็นทางเดินยาวแลดูสวยงาม คุณรัฐเล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนอำเภอบ้านนามีแต่ทุ่งข้าว ทิวตาลที่เห็นนี้คุณตาเป็นคนปลูกเอง จึงกลายเป็นความประทับใจในวัยเด็กที่ไม่เคยลืม ส่วนที่ดินมีการถมสูงขึ้นมาจากที่ดินโดยรอบพอสมควร เนื่องจากแถวนี้มีน้ำท่วมทุกปี สมัยก่อนบ้านทุกหลังจะมีเรือผูกไว้ พอถึงหน้าน้ำก็ต้องพายเรือมารับเข้าบ้าน แต่ถ้าเป็นเด็กๆ บางทีก็ถอดเสื้อว่ายน้ำเข้าบ้านไปเลย
ส่วนหลองข้าวหลังเล็กตรงกลางเป็นเหมือนพื้นที่ส่วนกลาง ด้านบนใช้เก็บของ ด้านล่างเป็นครัว และเคาน์เตอร์รับประทานอาหารเช้า เสมือนการสัมผัสชีวิตธรรมชาติไปในตัว ตรงกลางเป็นบ่อน้ำขนาดเล็กรับ คอร์ตรูปตัวยู (U) ที่เกิดจากการวางแปลนของอาคารทั้งสามหลัง สร้างความรู้สึกต้อนรับขับสู้ได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับพื้นที่สีเขียวรอบบ้าน
จัดวางต้นไม้ไทยตามการใช้งาน
เดิมทีที่ดินด้านเหนือมีกอไผ่กิมซุงขนาดใหญ่ปลูกไว้อยู่ก่อนแล้ว จึงเป็นด้านที่ร่มที่สุด ส่วนรั้วด้านหน้าด้านทิศตะวันตกก็ไม่ร้อนและค่อนข้างร่มเพราะอยู่ใต้ร่มเงาของต้นจามจุรี ประกอบกับเป็นคูน้ำ จึงเลือกปลูกต้นจั๋งผสมไปกับรั้วไม้ไผ่ ส่วนคอร์ตตรงกลางต้องการให้ได้บรรยากาศแบบสวนทรอปิคัลที่มีใบไม้สีเขียวขนาดใหญ่ จึงเลือกบอนกระดาดที่มีใบใหญ่และรูปทรงคล้ายงานประติมากรรมเป็นจุดเด่น ทั้งยังวางตำแหน่งให้เกิดเงาบังที่นั่งตรงระเบียงได้พอดีในอนาคต
ขณะที่พระเอกอย่างบอนสีก็จัดไว้รอบบ้านตามตำแหน่งที่ต้องการโชว์ เช่น เมื่อเข้าประตูด้านหน้ามองตรงไปจะเห็นบอนสีวัวแดง ซึ่งเป็นบอนสีแรกที่มีการค้นพบจากรูปถ่ายของรัชกาลที่ 4 ในปี พ.ศ. 2405 ด้านหน้าซ้ายมือเป็นบอนสีตัวที่อยากโชว์ ส่วนมุมหลังบ้านจะเป็นบอนสีอื่นๆ และไม้ประดับที่ชอบแดด และมีชะอมป่าเป็นรั้วด้านหลังอีกชั้น
ปัญหาในการรีโนเวต
จากประสบการณ์ในการนำหลองข้าวเก่ามาสร้างใหม่ในครั้งนี้ คุณรัฐแนะนำว่า ทีมงานที่รื้อและย้ายมาสร้างควรเป็นทีมเดียวกันเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ถัดมาคือไม่ควรย้ายตำแหน่งเสาใดๆ ทั้งสิ้น แม้ตำแหน่งของเสาเรือนจะไม่ได้อยู่เป็นแนวตรงหรือขนานกัน เพราะทั้งลิ้นและสลักด้านตัวเรือนได้ถูกสร้างมาตามเสาเดิม หากมีการเคลื่อนตำแหน่งเสา สลักไม้จะเข้ากันไม่ได้
ปัญหาอีกอย่างคือกระเบื้องมุงหลังคาที่ใช้ในครั้งนี้เป็นกระเบื้องวิบูลย์ศรีจากภาคเหนือ ซึ่งเป็นกระเบื้องคอนกรีตอัดที่ไม่ผ่านการเผา อีกทั้งจังหวัดนครนายกมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าภาคเหนือ ทำให้เนื้อวัสดุมีความอุ้มน้ำ ระเหยออกไม่ทัน จึงเกิดปัญหาน้ำซึมน้ำหยดได้ บางจุดเลยแก้ปัญหาด้วยการนำไม้อัดทนน้ำมากรุเพดานเสริมแทน
วันวานและเวลา
ส่วนที่มาของชื่อ Atelier Vela คุณรัฐเล่าว่าที่นี่เป็นสถานที่ทำงานออกแบบเชิงคราฟต์ กลิ่นอายงานช่างฝีมือ จึงเลือกใช้คำว่า “Atelier” ส่วน “Vela” ก็คือคำว่า “เวลา” เพราะต้องการให้ผู้มาเยือนสัมผัสได้ถึงเวลาที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงวัน ซึ่งก็มาจากแปลนที่เป็นคอร์ตเปิดตรงกลาง ทำให้แต่ละช่วงเวลาของวันเกิดเงาที่แตกต่างกันไป มุมที่นั่งใช้ชีวิตก็จะต่างกันออกไปด้วย และยังเชื่อมโยงถึงวิถีชีวิตเก่าของชุมชนในแถบนี้เมื่อครั้งที่คุณรัฐยังเป็นเด็ก ไม่ใช่เพียงแค่ภาพธรรมชาติที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า แต่เป็นทั้งรอยยิ้มของหมู่ญาติ และความงดงามของชุมชน
เจ้าของ – สถาปนิก : คุณรัฐ เปลี่ยนสุข Sumphant Gallery
เรื่อง: สมัชชา วิราพร
ภาพ: สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์: Suanpuk