ต้นไทรคู่ขนาดใหญ่ 2 ต้นเป็นจุดเริ่มต้นการออกแบบ บ้านโมเดิร์น ให้เป็นรูปตัวแอล (L) เพื่อล้อมต้นไม้ไว้ โดยเปิดทุกมุมของบ้านออกมาให้เห็นความงามของธรรมชาติ จนเกิดเป็นชื่อเรียกบ้านหลังนี้ขึ้นมาว่า “บ้านไทรคู่”
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Anonym
ไม่บ่อยนักที่จะได้เห็นต้นไม้เป็นพระเอกนำตัวบ้าน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบบ้านหลังนี้เลยก็ว่าได้ เพราะหลังจากที่เจ้าของบ้านตัดสินใจจะสร้าง บ้านโมเดิร์น หลังใหม่สำหรับครอบครัวขยาย พวกเขาเกือบลืมไปแล้วว่าตัวเองมีที่ดินขนาด 3 ไร่ครึ่งที่ซื้อเก็บไว้และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมานานร่วม 50 ปี เป็นที่ปล่อยร้างเหมือนป่ารก ๆอันชุ่มฉ่ำไปด้วยหนองน้ำ แต่ถ้าแหวกแนวพงไม้รกเรื้อและย่ำผ่านความเฉอะแฉะมาจนถึงใจกลางที่ดินก็จะพบกับความงามของต้นไทรขนาดใหญ่ยักษ์ 2 ต้นที่ยืนต้นเคียงข้างกันอวดกิ่งก้านแผ่กว้างแบบที่ธรรมชาติและกาลเวลาเท่านั้นจะสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างสมบูรณ์ขนาดนี้
ต้นไทรทั้งสองต้นนี้ยังเป็นคนละสายพันธุ์ที่เติบโตและเกื้อกูลกันมาอย่างดี ถึงอย่างนั้นก็ตามเจ้าของบ้านบอกว่าสถาปนิกทีมอื่นแนะนำให้ตัดต้นไม้ทิ้งทั้งหมด แต่สิ่งที่ คุณบอย-พงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์ และคุณปาน-ปานดวงใจ รุจจนเวท สถาปนิกจาก Anonym ทำนั้นไม่เพียงแค่เก็บต้นไม้คู่นี้ไว้ หากยังออกแบบให้มีลานไม้กว้างล้อมรอบสำหรับใช้งานอเนกประสงค์ภายใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ พร้อมกับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบบ้านให้เป็นรูปตัวแอล (L) ล้อมต้นไม้ไว้เพื่อเปิดทุกมุมของบ้านออกมาให้เห็นความงามของธรรมชาติ จนเกิดเป็นชื่อเรียกบ้านหลังนี้ขึ้นมาว่า “บ้านไทรคู่”
เดิมทีเจ้าของบ้านเคยอยู่ทาวน์โฮมย่านทองหล่อมาก่อน จนเมื่อแต่งงานและเริ่มวางแผนจะมีลูก ทั้งคู่จึงอยากสร้างบ้านหลังใหม่ที่มีบริเวณกว้างๆ ให้ลูกได้วิ่งเล่นและใช้ชีวิตวัยเด็กเติบโตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติเหมือนๆ กับที่ทั้งคู่เคยมีประสบการณ์และความประทับใจในวัยเด็กมา ประกอบกับยังต้องการบ้านอีกหลังสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เพื่อสามารถอยู่ดูแลกันได้ใกล้ ๆ และลดปัญหาการเดินทางไกลไปมาระหว่าง 2 บ้านตลอดทุกสัปดาห์
“เราถมที่รอบ ๆไปเยอะมากเพื่อสร้างบ้านขึ้นมา เพราะที่ค่อนข้างต่ำและชุ่มน้ำ แล้วก็บอกสถาปนิกไปว่าอยากให้ทุกห้องในบ้านมีฟังก์ชันที่ใช้งานได้จริง ไม่เอาแบบโชว์สวย ที่สำคัญคือเราสองคนชอบใช้ชีวิตแบบเอ๊าต์ดอร์มากกว่าอยู่แต่ในห้องแอร์ ชอบอยู่กับแสงและลมธรรมชาติ อยากเดินเข้าเดินออกตามมุมต่าง ๆในบ้านได้ตลอดเวลาแบบไม่ต้องคอยเปิด-ปิดประตูเพื่อกันแอร์ออก เวลาฝนตกก็อยากมีมุมนั่งเล่นนอกบ้านได้โดยไม่เปียก มีที่กว้าง ๆให้ลูกได้วิ่งเล่นสบาย มีลู่วิ่งหรือปั่นจักรยานรอบบ้านได้ และคิดไปถึงอนาคตว่าให้วีลแชร์สามารถออกมาใช้พื้นที่ชมสวนและธรรมชาติได้ด้วยเลย”
หากเปรียบตัวอาคารเป็นรูปทรงตัวแอล (L) ส่วนของฐานเล็กๆ นั้นคือพื้นที่ส่วนตัวสำหรับเจ้าของบ้านฝ่ายชายซึ่งประกอบไปด้วยห้องทำงาน เวิร์กช็อป พื้นที่กึ่งกลางแจ้งสำหรับสอนดำน้ำ ขนานไปกับสระว่ายน้ำที่ยาว 25 เมตร และลึกถึง 3 เมตร เพราะเจ้าของใช้เป็นที่สอนดำน้ำแบบคลาสส่วนตัว จึงมีประตูทางเข้า-ออกแยกเป็นของตัวเอง เพื่อไม่ต้องไปรบกวนพื้นที่ส่วนพักอาศัยซึ่งอยู่ในอาคารฝั่งด้านยาวของตัวแอล (L) โดยจัดวางฟังก์ชันให้เป็นโถงนั่งเล่นขนาดใหญ่ภายในยกเพดานให้สูงแบบ Double Volume ที่เอื้อต่อการเปิดมุมมองจากห้องทำงานชั้นบนให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวภายในโถงนั่งเล่นได้ เจ้าของบ้านจึงสามารถมองเห็นลูกชายหรือคุณพ่อคุณแม่ที่พักผ่อนอยู่ด้านล่างได้ แม้จะทำกิจกรรมอยู่คนละพื้นที่ก็ตาม โดยทั้งสองอาคารนี้เชื่อมต่อด้วยลานบาร์บีคิวที่จัดวางเฟอร์นิเจอร์นั่งเล่นกึ่งกลางแจ้งขนาดใหญ่ภายใต้ชายคากันแดดกันฝนแต่เปิดโล่งรับลมได้อย่างสบาย
และแทนที่จะต่อฟังก์ชันของอาคารให้ยาวเป็นก้อนเดียว สถาปนิกเลือกที่จะเว้นช่องว่างระหว่างอาคารโดยทำเป็นคอร์ตต้นไม้เล็ก ๆ กั้นแยกระหว่างโถงนั่งเล่นกับห้องรับประทานอาหาร ระหว่างอาคารจึงเป็นช่องลมที่หมุนเวียนระบายความร้อนไปในตัว พร้อมกับเพิ่มมุมนั่งเล่นเล็ก ๆนอกบ้านได้อีก ซึ่งเป็นมุมที่เจ้าของบ้านเลือกใช้ต้นมะกอกฟอร์มสวยเพียงต้นเดียวเป็นไม้ประธานกลางพื้นกรวดสีขาว ให้มุมมองของสวนมินิมัลที่เรียบเท่ ดูแตกต่างไปจากการจัดต้นไม้ในพื้นที่สีเขียวแบบทั่วไป
สถาปนิกยังเล่าถึงแนวคิดต่อมาว่า “เราแยกตัวอาคารของห้องรับประทานอาหารนี้ไว้ด้วยพื้นที่ของครัวไทยนอกบ้าน แล้วออกแบบห้องพักผ่อนสำหรับเจ้าของบ้านฝ่ายหญิงที่อยู่ด้านหลังให้มีความพิเศษแบบกลาสเฮ้าส์ คือเพดานเป็นกระจกใสแต่คลุมด้วยหลังคาด้านบนอีกชั้นเพื่อป้องกันความร้อน โดยที่ยังได้แสงสว่างส่องลงมา ภายในห้องดูมีชีวิตชีวาด้วยผนังที่เพ้นต์งานศิลปะแฟนตาซีผลงานของคุณปอม ชาน (Pomme Chan) แล้วก็เพิ่มคอร์ตต้นไม้ขนาดกลางไว้ด้านหลัง เพื่อเว้นระยะของตัวบ้านหลักกับบ้านของคุณพ่อคุณแม่ออกมา กลุ่มอาคารฝั่งนี้จึงเป็นเหมือนรูปตัวยู (U) ที่ล้อมคอร์ตไว้และซ่อนตัวอยู่หลังบ้านหลัก ทำให้คุณพ่อคุณแม่มีพื้นที่พักผ่อนของตัวเองแยกสัดส่วนชัดเจนและมีฟังก์ชันใช้สอยครบเหมือนเป็นบ้านส่วนตัวอีกหลัง แต่ก็ออกมานั่งที่ลานด้านนอกหรือใช้พื้นที่สีเขียวบริเวณคอร์ตนี้ได้เหมือนมีสวนหน้าบ้าน รวมถึงเพิ่มพื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัวไว้ให้ด้วย ส่วนชั้นบนของบ้านหลักนั้นเป็นห้องนอนเกือบทั้งหมด ซึ่งเจ้าของบ้านขอแค่ห้องนอนขนาดพอดีตัวและไม่ต้องตกแต่งอะไรมาก เพราะเน้นใช้ชีวิตอยู่ข้างล่างมากกว่า ดูเหมือนเป็นบ้านหลังใหญ่นะแต่ก็เน้นฟังก์ชันที่จำเป็น เพราะพื้นที่รอบบ้านนั้นปล่อยให้เป็นส่วนพักผ่อนกึ่งกลางแจ้งภายใต้ชายคาที่ยื่นยาวเกือบสองเมตร ทำให้อยู่มุมไหนก็มีลมพัดโกรกสบายได้ทั้งวัน”
เจ้าของบ้านจึงเชิญชวนให้เราไปนั่งรับลมตรงโซฟานอกบ้านแล้วเล่าทิ้งท้ายให้ฟังว่า “ที่จริงก่อนที่บ้านจะเสร็จสมบูรณ์เราตัดสินใจลองเข้ามาอยู่กันก่อนล่วงหน้าเพื่อจะได้ดูเรื่องการตกแต่งส่วนย่อยๆ เพิ่มไปด้วย แต่ปรากฏว่าตั้งแต่วันนั้นที่ตั้งใจจะมานอนเล่น ๆก็ไม่ได้กลับไปนอนบ้านเดิมอีกเลย (หัวเราะ) ไม่อยากกลับไปอยู่ในเมืองและไม่อยากไปเที่ยวโรงแรมที่ไหนแล้ว เพราะบ้านนี้มีทุกอย่างที่ต้องการครบ อยู่ที่นี่เราได้เดินเยอะมากแทบจะหมื่นก้าวต่อวัน ได้ออกกำลังกาย ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน โดดเชือก ให้อาหารปลา และใช้ชีวิตอยู่กลางธรรมชาติแบบที่ชอบ ลูกเราก็ไม่ติดทีวีไม่ติดเทคโนโลยี เพราะมีกิจกรรมให้สนุกได้ทั้งวัน”
แม้จะเป็นช่วงฤดูร้อน แต่ลมธรรมชาติที่พัดเวียนรอบบ้านตลอดวันนั้นที่มุมโซฟานอกบ้านใต้ชายคาขนาดใหญ่ซึ่งช่วยบังแดดได้ดี แถมบรรยากาศรอบๆ ราวกับอยู่ในพูลวิลล่าสวยๆ ที่ไหนสักแห่ง นั่นก็ทำให้เราอยากจะเอนหลังทิ้งตัวลงนอนสักงีบอยู่เหมือนกัน
สถาปนิกและภูมิสถาปนิก : Anonym โดยคุณพงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์ และคุณปานดวงใจ รุจจนเวท
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
สไตล์ : Suntreeya