ปรับปรุงบ้าน อย่างไรให้เวิร์ค
ทำใหม่…ใช่ว่าไร้ปัญหา
เมื่อกำหนดพื้นที่ใช้สอยใหม่แล้ว ก็เป็นเวลาของการปรับเปลี่ยนการใช้งาน การต่อเติมบ้านส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้งาน ซึ่งบ่อยครั้งก็มักเกิดปัญหาในขั้นตอนเหล่านี้ อย่าเพิ่งตกใจครับ ทุกปัญหามีทางออก ลองมาดูปัญหาที่เจ้าของบ้านมักตกใจกันดีกว่า
1. พื้นแอ่น ส่วนใหญ่เกิดในกรณีที่ใช้แผ่นพื้นสำเร็จ เพราะระยะพาดวางแผ่นพื้นกับคานนั้นสั้นเกินไป รวมถึงการค้ำยันก่อนการวางพื้นมีการตกท้องช้าง เมื่อเทคอนกรีตทับหน้า น้ำหนักจึงยิ่งทำให้พื้นแอ่นตกท้องช้าง ไปจนถึงอาจเกิดการร้าวและถล่มลงมาได้ในที่สุด วิธีป้องกันจึงต้องเลือกแผ่นพื้นสำเร็จให้ตรงกับการใช้งาน และมีช่างที่ชำนาญในการก่อสร้าง
2. เสาระเบิดคานร้าว เมื่อชั้นสอง (หรือชั้นที่อยู่ด้านบน) มีน้ำหนักมากเกินกว่าที่เสาจะรับได้ เสาก็จะเกิดอาการแตกระเบิดออก โดยมีอาการร้าวนำมาก่อน แก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้โดยระมัดระวังน้ำหนักที่จะเกิดขึ้นที่ชั้นบนในระหว่างต่อเติม เลือกใช้วัสดุน้ำหนักเบา แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ให้หุ้มเสาหรือพอกเสาด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก แผ่นเหล็ก หรือแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ก็ได้ แล้วแต่สะดวก
จะเห็นว่าปัญหาหลักของโครงสร้างที่มักเกิดขึ้นในช่วงการปรับปรุงบ้านก็คือเรื่องของน้ำหนักที่มากขึ้น ทำให้โครงสร้างเดิมรับไม่ไหว การคำนึงถึงวัสดุต่างๆ ที่รับกับการรับน้ำหนักของโครงสร้างไปพร้อมกันด้วย ก็ทำให้เราไม่ต้องมาแก้ปัญหาน่าปวดหัวนี้ในภายหลัง
นิดๆ หน่อยๆ ไม่เป็นไรหรอก
มีบางกรณีที่เราชอบคิดว่า ไม่เป็นไรหรอก…ทำได้ จนลืมคิดไปว่า สิ่งที่ลงมือทำไปนั้นจะก่อปัญหาในภายหลัง และนี่คือเรื่องเล็กน้อยที่เราไม่ควรมองข้ามครับ
ทำบ้านเรา…บ้านเขาก็โดนไปด้วย จะต่อเติมก็ดี หรือทุบก็ดี หากเป็นอาคารพาณิชย์ที่ใช้โครงสร้างร่วมกัน ก็ควรพูดคุยและตกลงกับเพื่อนบ้านให้เรียบร้อย เพื่อจะได้ไม่ต้องมีเรื่องมีราวกันในภายหลัง แม้หากพอใจกับการปรับปรุงบ้านของเรา แต่เป็นสาเหตุทำให้บ้านของเพื่อนบ้านร้าว ก็คงเป็นรื่องที่เถียงกันไปอีกยาวนาน
อย่าล้อเล่นกับโครงสร้าง อย่ามองโครงสร้างเป็นส่วนประกอบตกแต่งเป็นอันขาด ถ้าไม่ได้ออกแบบให้โชว์โครงสร้างที่สวยงามมาตั้งแต่แรก ตัวอย่างเช่น บ้านสไตล์ลอฟต์และวินเทจซึ่งเป็นแนวการตกแต่งที่นิยมการรีโนเวต เคยเห็นบางท่านกะเทาะปูนที่เสาและคานให้ดูเก่า อันนี้อันตรายนะครับ เพราะจะทำให้เสารับแรงได้น้อยลง หากกะเทาะลงไปถึงเหล็กก็ยิ่งอันตราย เพราะเหล็กที่ถูกเปลือยออกมาอาจเกิดสนิมและทำให้โครงสร้างเสาไม่สามารถรับแรงได้ในที่สุด จึงควรระมัดระวัง หากต้องการทำจริงๆให้พอกปูนที่เสาก่อนและกะเทาะปูนที่ตกแต่งเสาจะปลอดภัยกว่าครับ
อย่าลืมกฎหมาย “บ้านฉัน…ฉันจะทำอะไรก็ได้” คำกล่าวนี้คงเรียกได้ว่าจริงครึ่ง ไม่จริงครึ่ง คืออยากออกแบบให้วิจิตรบรรจงขนาดไหนก็แล้วแต่ใจจะพาไปเถอะครับ แต่ควรอยู่ในกรอบระเบียบของกฎหมายอาคารด้วย ซึ่งตามพระราชบัญญัติอาคารจะเรียกการรีโนเวตว่า “การดัดแปลง” ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการเพิ่ม เปลี่ยนแปลง ลด ขยาย เปลี่ยนสัดส่วน น้ำหนัก หรือกระทำการอื่นใดให้บ้านเปลี่ยนไปจากเดิม ถือว่าเป็นการดัดแปลงทั้งสิ้น ดังนั้นเพื่อไม่ต้องมาแก้ไขในภายหลัง ก็ควรจะแจ้งแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นและได้รับอนุญาตตามลำดับขั้นตอนให้ครบถ้วนเสียก่อนจึงจะวางใจได้
เขียน : “วุฒิกร สุทธิอาภา”
ภาพประกอบ : OIC Studio