มะเดื่อฝรั่ง หรือ Figs ผลไม้ในอนาคตที่ให้ผลผลิตมากและราคาดี ยังเป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากนี้ยังมีหลายสายพันธุ์ที่เหมาะกับอากาศเมืองไทย และเหมาะกับการปลูกเชิงพาณิชย์
มะเดื่อฝรั่ง คุณเกียรติ – ดำรงค์เกียรติ ทองโสภณ ประกอบอาชีพหลักเป็นพนักงานบริษัท และมีอาชีพรองเป็นเจ้าของสวนมะเดื่อฝรั่ง (Figs) เฟิร์ส&เฟรนด์ คุณเกียรติ เล่าด้วยรอยยิ้มถึงที่มาที่ไปของการตกหลุมรักมะเดื่อฝรั่งว่า “ เริ่มต้นจากการเห็นภาพในหลวงรัชการที่9 ถือผลมะเดื่อฝรั่งอยู่ จึงสงสัยว่าคือผลไม้อะไร จากนั้นเลยเริ่มทำการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล และได้รู้ว่าคือผลของมะเดื่อฝรั่ง ที่ในหลวงท่านได้นำมาปลูกไว้ที่โครงการหลวง จึงเกิดความสนใจและเริ่มหาต้นพันธุ์จากกลุ่มเฟสบุ๊ก คนรักต้นมะเดื่อฝรั่ง (Figs) เริ่มปลูกสะสมมาเรื่อยๆ ปัจจุบันมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ และยังสะสมเพิ่มเรื่อยๆ สายพันธุ์ใหม่ๆก็รับกิ่งสดมาทดลองเสียบยอด หรือชำไปเรื่อยๆ ”
เมื่อพูดคุยถึงแต่ละสายพันธุ์ของมะเดื่อฝรั่ง คุณเกียรติ บอกว่า “ สายพันธุ์พื้นฐานดั้งเดิมที่นิยมปลูกกัน คือ กลุ่ม BTM6 , บราวน์ตุรกรี (Brown Turkey) , ออสเตรเลีย (Australia) กลุ่มเหล่านี้คือที่นิยมปลูกกันใหม่ๆเลย ซึ่งที่โครงการหลวงก็จะเน้นพวกสายพันธุ์นี้เป็นหลัก ส่วนสายพันธุ์อื่นๆที่อร่อยๆหน่อยก็จะเป็นพวกตระกูล BM ที่ได้ชื่อว่าเป็นราชามะเดื่ออยู่แล้ว โดยที่เนื้อจะมีความอร่อยแต่ว่าเขาจะไม่เหมือนสายพันธุ์ทั่วๆไป คือสายพันธุ์ทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ผลก็สุกแล้ว แต่ตระกูล BM จะใช้ระยะเวลากว่าจะสุกประมาณ 5-6 เดือน รสชาติก็ค่อนข้างที่จะเข้มข้น เนื้อจะหวานเป็นแยมเลย นอกจากนี้ก็มีสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่เวิร์ด (Strawberry verte) รสชาติจะออกติดแนวเบอร์รี่ สำหรับใครที่ไม่ชอบหวานโดดก็ต้องตัวนี้เลย แต่ใครสายหวานต้องกลุ่มตระกูลไวท์ เช่น อิตาเลียนไวท์ (Italian White) ลองกระดุ้ก (longue d’aout) และจะมีช่วงหนึ่งที่พันธุ์ อิรักกี้ (Iraqi) เป็นกระแส หาง่าย และปลูกไม่ยาก พันธุ์นี้ผลจะมีผิวเป็นขนๆ บางคนอาจจะไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ส่วนมากผมจะปลูกไว้เพื่อใช้เป็นต้นตออย่างเดียว เพราะมีลักษณะที่ทนต่อสภาพแวดล้อม โตไว ระบบรากหากินเก่ง จึงเหมาะกับการใช้เป็นต้นตอที่ดีมากครับ ”
“ สำหรับมือใหม่ ผมแนะนำสายพันธุ์บราวน์ตุรกรี (Brown Turkey) , ออสเตรเลีย (Australia) , อิรักกี้ (Iraqi) กลุ่มนี้เขาจะค่อนข้างโตไวและทน ซึ่งพันธุ์บราวน์ตุรกรี จะทนและผลค่อนข้างใหญ่ ถ้าจะปลูกเชิงพาณิชย์ก็แนะนำสายพันธุ์นี้ครับ เพราะค่อนข้างโตเร็ว ลักษณะใบเป็นใบแฉก ผลจะออกสีแดง เนื้อด้านในก็มีสีแดงเช่นกัน และอีกสายพันธุ์ที่แนะนำคือ BTM6 ที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากพันธุ์บราวน์ตุรกรี ก็มีรสชาติคล้ายกัน แต่ลักษณะผลจะค่อนข้างใหญ่กว่า และทนต่อสภาพอากาศได้ดีกว่า”
นอกจากนี้เมื่อเราเริ่มเกิดการเรียนรู้และเข้าใจในการปลูกเลี้ยงมะเดื่อฝรั่งมากขึ้นแล้ว เราก็ต้องลองสายพันธุ์ที่มีความยากขึ้นมาอีกขั้น ซึ่งคุณเกียรติ ก็ได้แนะนำถึงมะเดื่อฝรั่งที่เป็นกลุ่มปลูกยากระดับกลางๆ พร้อมเทคนิคการดูแลง่ายๆไว้ว่า “สำหรับกลุ่มที่ปลูกเลี้ยงยากระดับกลาง ก็จะได้แก่พวกสายพันธุ์ลองกระดุ้ก (longue d’aout) พันธุ์นี้จะผลใหญ่และมีรสชาติหวานนำ ปลูกเชิงพาณิชย์ได้ แต่มีข้อเสียคือเปลือกบาง ใบแฉกคล้ายใบมะละกอ แต่บางต้นก็จะมีทั้งใบโพธิ์และใบแฉกในต้นเดียว ผลจะมีลักษณะคล้ายหยดยน้ำยาวๆ สีน้ำตาลอมเขียว ส่วนมากที่สวนจะออกเขียวๆ อย่างที่บอกว่าขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย บางทีแต่ละฤดูก็สีไม่เหมือนกัน ส่วนเนื้อด้านในก็จะออกน้ำตาล”
แล้วคุณเกียรติ ก็ได้แนะนำถึงสายพันธุ์ระดับเทพที่การปลูกเลี้ยง การดูแลก็มีความยากมากขึ้น “สายพันธุ์ที่ถือว่าเป็นระดับเทพนี้ การดูแลต้องอาศัยความรักความเอาใจใส่ค่อนข้างสูง ซึ่งการเลี้ยงดูที่ยากก็แลกมาด้วยรสชาติที่อร่อยและคุ้มค่าอย่างเช่น พันธุ์ Bordissort Negra Rimada (BNR) ที่มีราคาที่สูง และรสชาติค่อนข้างดี ใช้ระยะเวลาในการสุกนาน ในกลุ่มปลูกเราจะเรียกกันสนุกๆว่า บี้เอ็นอ้า เพราะตระกูลนี้กลุ่มนี้ถ้าได้น้ำมากเกินผิวจะแต่งตึงและแตก ต่อมาคือ ตระกูล Black Madeira (BM) ซึ่งปัจจุบันแตกสายพันธุ์ย่อยไปหลากหลายมาก เช่น BMKK รสชาติจะหวานเข้มข้นมาก เนื้อเป็นแยม ระยะเวลาการสุกค่อนข้างจะนาน ถ้าได้น้ำเยอะผลจะแตกเช่นกัน เพราะผิวจะหนากว่าสายพันธุ์ที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ก็ยังมีตระกูลColl de dame (CDD), พันธุ์ Jolly Tiger, พันธุ์ Chicago Hardy และ พันธุ์คาวาเลีย ที่จัดอยู่ในกลุ่มระดับเทพซึ่งต้องระเอียดในการดูแลมากพอสมควรครับ”
ต่อมาคุณเกียรติก็ได้พาเรามาชิมรสชาติของมะเดื่อฝรั่งหลังจากที่พึ่งพาเราเดินเก็บจากสวน
“ จากจุดเริ่มต้นที่มีเพียงสายพันธุ์พื้นๆ สู่ปัจจุบันที่มีนับร้อยกว่าสายพันธุ์และยังมีเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ ด้วยความรักความชื่นชอบเราจึงอยากสะสมและเรียนรู้ต่อไปเช่นกัน ”
ขอขอบคุณ : คุณเกียรติ – ดำรงค์เกียรติ ทองโสภณ เจ้าของ สวนมะเดื่อฝรั่ง (Figs) เฟิร์ส&เฟรนด์
ภาพ : กรานต์ชนก บุญบำรุง
เรื่อง : อธิวัฒน์ ยั่วจิตร
สนใจสั่งซื้อหนังสือ สมุนไพรฝรั่ง
บทความที่เกี่ยวข้อง