บ้านอิงสุข สถาปัตยกรรมเชิงทดลองจากการนำทรัพยากรมาใช้ซ้ำเเละนำวัสดุเก่ากลับมาใช้ใหม่ 

บ้านไม้พื้นถิ่นชั้นเดียว ที่ผสมผสาน “ขนำ” เพิงแบบภาคใต้ และ “เพิงผาม”ของภาคเหนือ

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: YANGNAR STUDIO

บ้านไม้พื้นถิ่นชั้นเดียว
บ้านไม้พื้นถิ่นชั้นเดียว
บรรยากาศโดยรอบโอบล้อมด้วยภูเขา บ้านอิงสุขออกแบบให้เคารพ และกลมกลืนไปกับธรรมชาติที่สวยงาม ไม่โดดเด่น แปลกแยกไปจากโดยรอบมากเกินไป

จาก “บ้านม่อนอิงสุข” ผลผลิตจากการตกหลุมรักภาคเหนือของเจ้าของบ้าน คุณน้ำ – วริษฐ์ เเละ คุณนุ่น –  มุกดา วรรละออ ที่ตั้งใจสร้างไว้สำหรับมาพักผ่อนเเละอยู่อาศัยของครอบครัว เเต่เมื่อวันเวลาผ่านไปตัวบ้านเดิมต้องการขยับขยายพื้นที่เพื่อรองรับสมาชิกในครอบครัวที่แวะเวียนมามากขึ้น เเละตั้งใจปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นเกสต์เฮ้าส์ในอนาคต จึงเกิดเป็นไอเดียที่จะสร้าง “บ้านอิงสุข” เรือนขนาดกะทัดรัดขึ้นมาในเขตพื้นที่ดินเดียวกัน ภายใต้ข้อจำกัดทางงบประมาณ และที่ตั้งของโครงการซึ่งอยู่ลึกเข้าไปใกล้ทางเข้าอุทยานแห่งชาติออบขาน ด้วยความประทับใจในเเนวคิดของ ยางนาสตูดิโอ สถาปนิกผู้ออกแบบบ้านม่อนอิงสุข เจ้าของบ้านจึงมอบโจทย์ให้กับทางยางนาสตูดิโอเช่นเคยโดย คุณเดโชพล รัตนสัจธรรม เเละ คุณเมธี มูลเมือง มารับหน้าที่ออกแบบบ้านอยู่อาศัยขนาดเล็ก ที่มีข้อจำกัดและอยู่ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติที่สวยงามแห่งนี้ บ้านไม้พื้นถิ่นชั้นเดียว
             “โจทย์หลักของบ้านหลังนี้เราเริ่มกันที่งบประมาณ ให้ทางยางนาสตูิโอมาออกแบบและจัดสรรทรัพยากรที่หาได้ตามท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย รายละเอียดในการออกแบบบางอย่างจึงเกิดขึ้นหน้างาน ซึ่งผมค่อนข้างเปิดกว้าง เเละตั้งใจให้สถาปนิกสามารถทดลองไอเดียต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้กับทางยางนาด้วย”

บ้านไม้พื้นถิ่นชั้นเดียว
มุมมองบริเวณพื้นที่เติ๋นเเละห้องนอน ที่สถาปนิกตั้งใจออกแบบให้หน้าต่างมีความหลากหลายในการใช้งาน จะเห็นว่าโทนสีไม้ที่ใช้กรุผนังนั้นมีความหลากหลายจากการใช้ไม้เก่าโดยไม่ทาสีทับ เพื่อโชว์ความสวยงามของผิวไม้จริง
บ้านไม้พื้นถิ่นชั้นเดียว
มุมมองจากฝั่งทางขึ้นบ้านในทางทิศใต้ ออกแบบให้มีลานดินก่อตัวเหนือพื้นดินเล็กน้อยเพื่อให้ทางเข้าบ้านพ้นจากน้ำท่วมเมื่อถึงเวลาฝนตก
บ้านไม้พื้นถิ่นชั้นเดียว
มุมมองจากฝั่งชานนั่งเล่นในทางทิศเหนือ ซึ่งโอมล้อมพื้นที่เตาไฟเอาไว้ นับเป็นพื้นที่ส่วนกลางหรือเป็นหัวใจของบ้านหลังนี้ เมื่อเเต่ละห้องวางเเยกส่วนออกจากกัน จึงเกิดเป็นพื้นที่ว่างระหว่างห้องที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือนอุโมงค์ลม
บ้านไม้พื้นถิ่นชั้นเดียว
บ้านไม้พื้นถิ่นชั้นเดียว
พื้นที่ชานทางเดินต่อเนื่องไปยังส่วนหลังบ้านในอีกฝั่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ของห้องน้ำ ส่วนเตรียมอาหารเเละตู้เก็บเสื้อผ้า บริเวณอ่างล้างมือออกแบบให้เป็นเคาน์เตอร์ลอยฝากโครงสร้างไว้กับเสา เเทนการเป็นผนังทึบเพื่อให้ลมสามารถไหลเวียนเข้าสู่ตัวบ้านได้จากทุกทิศทาง
บันไดทำมาจากเสาไม้เก่า นำมาบากโดยใช้มุย(ขวาน) เเละมีด ก้อนหินที่นำมารองรับชิ้นไม้บันไดพบเจอจากบริเวณลำเหมืองในบริเวณใกล้เคียง โดยนำมายึดกับเหล็กเพื่อรับน้ำหนักของบันได 
บ้านไม้พื้นถิ่นชั้นเดียว

บ้านที่ประกอบขึ้นจากฟังก์ชันที่แสนจะเรียบง่ายเเละคำนึงถึงภาวะน่าสบาย

บ้านหลังนี้ประกอบขึ้นจากฟังก์ชันการใช้งานพื้นฐานเพียงไม่กี่อย่าง แต่เพียงพอสำหรับการอยู่อาศัยได้อย่างสบายในขนาด 50 ตารางเมตร ด้วยลักษณะบ้านเเบบเรือนไทยพื้นถิ่น ภายในบ้านแบ่งแยกพื้นที่ออกจากกันและสามารถเชื่อมต่อถึงกันด้วยชานทางเดินซึ่งทอดยาวไปตลอดทั้งเเนวอาคาร
               การใช้งานในบ้านประกอบไปด้วยสามฟังก์ชันหลัก ได้แก่ ห้องนอน ห้องอเนกประสงค์ และส่วนเซอร์วิสหลังบ้านซึ่งเป็นพื้นที่รวมกันระหว่างส่วนเตรียมอาหาร กับตู้เก็บของใช้และเสื้อผ้า โดยมีห้องน้ำเเยกออกมาอีกฝั่งหนึ่งของบ้าน เมื่อบ้านเเบ่งเป็นสัดส่วนออกจากกัน พื้นที่ว่างระหว่างห้องจึงกลายเป็นตำแหน่งของโถงบันไดทางเข้าบ้านทั้งสองฝั่ง เเละทำหน้าที่เป็นช่องลม ช่วยให้ลมธรรมชาติพัดผ่านเข้ามาสู่ตัวบ้านได้อย่างเต็มที่ “เราตั้งใจให้บ้านพึ่งพาธรรมชาติมากที่สุด พื้นที่ว่างระหว่างห้องซึ่งเป็นเส้นทางที่ลมพัดเข้ามายังตัวบ้าน จึงออกแบบเป็นโถงบันไดทั้งสองฝั่งเเทนการทำเป็นพื้นที่ปิด ลมจึงสามารถพัดผ่านไปยังพื้นชานนั่งเล่น เติ๋น เเละส่วนอื่นๆ ภายในบ้าน ทำให้อากาศถ่ายเทได้อย่างสะดวก”
               ลักษณะสำคัญของเรือนพื้นถิ่นภาคเหนือ คือ การมีชานเเละเติ๋น สถาปนิกออกแบบให้ชานทางเดินยกสูงขึ้นจากพื้นดินเพียงเล็กน้อย เเละอยู่ในฝั่งทิศเหนือตลอดแนวเพื่อรับแสงแดดที่ไม่แรงจนเกินไป ชานจะทำหน้าที่เชื่อมต่อเเต่ละพื้นที่เข้าด้วยกัน เเละเป็นพื้นที่ใช้สอยสำหรับนั่งเล่นโดยโอบล้อมเตาไฟหรือพื้นที่ใจบ้านเอาไว้ เชื่อมความสัมพันธ์ของผู้อยู่อาศัยเข้าด้วยกัน ส่วน “เติ๋น” เป็นภาษาเหนือ คือ พื้นที่ลำลองก่อนเข้าห้องส่วนตัว ซึ่งต่อเนื่องมาจากชานทางเดิน เติ๋นของบ้านหลังนี้จึงอยู่บริเวณด้านหน้าห้องนอนในทางทิศเหนือ ไว้สำหรับนั่งเล่นพักผ่อนในระดับที่มีความเป็นส่วนตัวมากกว่าชาน บ้านไม้พื้นถิ่นชั้นเดียว

บ้านไม้พื้นถิ่นชั้นเดียว
เติ๋น หรือพื้นที่นั่งเล่นก่อนเข้าสู่ห้องนอนต่อเนื่องมาจากชานทางเดิน ออกแบบให้ยกสูงจากพื้นชานเล็กน้อยเพื่อเเบ่งพื้นที่การใช้งาน เเต่ยังสามารถเข้าถึงได้ง่ายตามเเบบบ้านพื้นถิ่น
บ้านไม้พื้นถิ่นชั้นเดียว
ห้องนอนต่อเนื่องมาจากพื้นที่เติ๋น ออกแบบให้มีลูกเล่นโดยการใช่ช่องเปิดหลากหลายเเบบ ทั้งบานเลื่อน บานเกล็ด เเละบานเปิด เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ทั้งในห้องนอนเเละห้องอื่นๆ ได้มาจากตลาดนัดขายของเก่า
บ้านไม้พื้นถิ่นชั้นเดียว
ห้องอเนกประสงค์ ปัจจุบันใช้สำหรับเป็นห้องนอนแขก ออกแบบให้หน้าต่างเป็นบานฝาไหลเพื่อให้พื้นที่ภายในห้องนี้ไม่ปิดกั้นจากภายนอกมากจนเกินไปเหมาะสำหรับปรับพื้นที่การใช้งานเป็นฟังก์ชันอื่นๆ เช่น ห้องครัว หรือพื้นที่รับประทานอาหาร
บริเวณบ้านออกแบบให้มีแปลงปลูกผักสวนครัว และต้นไม้ เพิ่มพื้นที่ทำกิจกรรมยามว่างให้กับลูก

แนวคิดจากประสบการณ์นำมาซึ่งการทดลองเป็นบ้านอิงสุข

“ด้วยความผูกพับกับวิถีชีวิตชาวใต้ของเจ้าของบ้าน “ขนำ” หรือเพิงที่พักชั่วคราวของชาวสวนทางภาคใต้ จึงเป็นเเนวคิดหลักที่เราหยิบยกมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบบ้านหลังนี้” สถาปนิกอธิบายถึงบ้านอิงสุขที่ถอดลักษณะทางสถาปัตยกรรมของเรือนขนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับเรือนชั่วคราวของทางภาคเหนืออย่าง “เพิงผาม” เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมท้องถิ่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวเรือนที่ยกสูงจากพื้นขึ้นมาเพียงเล็กน้อย ตั้งอยู่เหนือลานดินที่ก่อตัวขึ้นทั้งสองฝั่ง ลานดินที่ว่าช่วยให้พื้นที่ทางเข้าเเละลานเตาไฟพ้นน้ำเมื่อยามฝนตก รวมไปถึงการมีพื้นที่ใช้สอยรอบบ้าน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ได้รับเเรงบันดาลใจมาจากเรือนขนำ ข้อดีของการยกเรือนในระดับที่ไม่สูงมากนัก ช่วยให้ตัวบ้านหนีพ้นจากความชื้นของพื้นดินโดยไม่ทำให้พื้นที่ด้านล่าง เเละตัวอาคารด้านบนตัดขาดจากกันมากจนเกินไป เเต่ยังคงอยู่ในระดับความสูงที่เข้าถึงได้ง่าย สามารถใช้งานได้สะดวกทั้งเด็กและคนเฒ่าคนแก่ ชานทางเดินรอบบ้านจึงทำหน้าที่ได้มากกว่าการเป็นเเค่ส่วนเชื่อมต่อ ด้วยระดับความสูงที่เหมาะสมชานจึงเป็นพื้นที่นั่งเล่นรอบใจบ้านหรือเตาไฟด้วย

“เพิงผาม” หรือเพิงที่พักชั่วคราวในทางภาคเหนือ เป็นส่วนหนึ่งที่นำมาประยุกต์ออกแบบกับบ้านหลังนี้

สถาปนิกได้นำเรื่องราวที่พบเจอระหว่างการเดินทางมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ โดยเริ่มต้นทดลองกับของที่มีสเกลขนาดเล็ก บันไดขึ้นบ้านขนาดกะทัดรัดฝั่งลานใจบ้านจึงเป็นหนึ่งในการทดลองที่น่าสนใจ โดยสถาปนิกนำเสาไม้เก่าที่พบเจออยู่ตามลานดินมาแปรรูป โดยใช้มุย(ขวาน)และมีด บากจนเกิดเป็นรูปร่างของขั้นบันไดขึ้นมา “การทดลองใช้เสาไม้มาบากเป็นขั้นบันไดได้รับเเรงบันดาลใจมาจากการไปท่องเที่ยวที่เวียดนามเเละลาว เเนวคิดคือการนำทรัพยากรที่มีอยู่เดิมตามท้องถิ่นมาดัดแปลงให้เกิดประโยชน์ใช้สอยใหม่” เมื่อขั้นบันไดเป็นไม้เก่าที่นำมาใช้กับบริบทเมืองร้อนชื้น สถาปนิกจึงนำหินจากลำเหมืองใกล้เคียงมาทำเป็นฐานรองรับโครงสร้างของบันได เพื่อไม่ให้ไม้สัมผัสกับความชื้นจากพื้นดินโดยตรง การต่อยอดรายละเอียดในการก่อสร้างจึงเป็นสิ่งที่คิดขึ้นไปพร้อมๆ กันโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมตามท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ร่วมด้วย จนประกอบกันเป็นบันไดที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจมากชิ้นหนึ่ง

บ้านไม้พื้นถิ่นชั้นเดียว
ห้องน้ำออกแบบโดยใช้ผนังอิฐบล็อค ซึ่งหาซื้อได้ง่ายตามท้องถิ่น ก่อบนโครงสร้างเหล็กในส่วนพื้นที่เปียก
ออกแบบเคาน์เตอร์ห้องน้ำ โดยยื่นโครงสร้างเคาน์เตอร์ออกจากแนวผนัง ใช้วิธีเจาะ บาก เข้าลิ่มไม้ เพื่อยึดกับเสาและโครงสร้างหลังคา
บ้านไม้พื้นถิ่นชั้นเดียว
พื้นที่เตรียมอาหารหรือบาร์กาแฟขนาดเล็ก ออกแบบให้มีระเเนงบังตาโดยใช้ไม้ไผ่ซางที่หาได้จากบนดอย

สถาปัตยกรรมจากวัสดุเหลือใช้เเละไม่เติมเเต่ง

บ้านหลังนี้ใช้วัสดุเป็นไม้เกือบทั้งหลัง โครงสร้างทั้งหมดเป็นไม้เก่าที่ได้จากการรื้อถอนบ้านเดิมเเต่ยังคงสภาพดีเพื่อลดค่าใช้จ่าย ไม้ที่นำมาใช้ทำโครงสร้างเป็นไม้เต็งเเละไม้รังโดยส่วนใหญ่ ก่อรูปโครงสร้างโดยการเข้าเดือยไม้เพื่อโชว์ความสวยงามของรอยต่อวัสดุ โดยใช้โครงสร้างเสาเหล็กซึ่งดัดแปลงจากเหล็กเก่าแทนเสาไม้ เฉพาะบริเวณชานฝั่งพื้นที่นั่งเล่นรอบเตาไฟเท่านั้น เนื่องจากสถาปนิกตั้งใจอยากให้พื้นที่ชานมีมุมมองเปิดโล่งมากที่สุด
               บานประตูหน้าต่างทั้งหมดของบ้านล้วนมาจากไม้เก่าเช่นกัน โดยใช้ไม้สักเก่ามาทำเป็นวงกบ เเละกรุตัวบานด้วยไผ่สับฟาก เนื่องจากไม้ไผ่เป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เเละสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้ง่าย เมื่อวัสดุหลักของบ้านหลังนี้เป็นไม้เก่า สถาปนิกจึงตั้งใจละการทาสีเคลือบไม้เพื่อเผยพื้นผิวธรรมชาติของเนื้อไม้เเม้จะผ่านการใช้งานมาก่อน จึงมีความหลากหลายจากร่องรอยของวัสดุเดิม ทำให้บ้านดูมีเสน่ห์มากยิ่งขึ้นจากการไม่เติมเเต่งมากจนเกินไป
               “ข้อจำกัดในการออกแบบบ้านอิงสุขคือหนทางที่นำไปสู่การทดลองใหม่” เป็นสิ่งที่สถาปนิกกล่าวทิ้งท้าย
สถาปัตยกรรมของบ้านอิงสุขก่อตัวขึ้นจากข้อจำกัดทางงบประมาณเเละที่ตั้งของโครงการ ผ่านการทดลองหารูปเเบบเฉพาะที่เหมาะสม โดยมีวัตถุดิบทางความคิดจากประสบการณ์ที่สถาปนิกหยิบยกมาใช้ เเละไม่ลืมให้ความสำคัญกับทรัพยากรที่มีอยู่เดิมด้วยการนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือดัดแปลงให้เกิดประโยชน์ใช้สอยใหม่ จนประกอบกันเป็นบ้านอิงสุขในสเกลขนาดพอดิบพอดีแก่การอยู่อาศัยท่ามกลางบรรยากาศป่าเขาแห่งนี้

ระดับของพื้นชานเเละเติ๋น ออกแบบให้เเตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ระดับที่เกิดขึ้นยังคงแบ่งพื้นที่ให้ออกเป็นสัดส่วนได้
เหล็กยึดกับไม้ เสาเหล็กเก่ารับโครงสร้างหลังคาไม้บริเวณชาน โดยนำมายึดเข้ากับโครงสร้างไม้ ส่วนเหล็กรางน้ำและเหล็กแป๊บนำมาประยุกต์ใช้เป็นโครงสำหรับติดหลอดไฟให้เเสงสว่าง

เจ้าของ : คุณวริษฐ์ – มุกดา วรรละออ www.chiangmai-ecolodge.com
IG: chiangmai_ecolodge Facebook: https://facebook.com/Mon.Ing.Suk


เรื่อง : Nantagan
ภาพ :  Rungkit Charoenwat


บ้านม่อนอิงสุข บ้านเล็กในป่าใหญ่

รวม แบบบ้านไม้เก่า อบอุ่น ผ่อนคลาย

ติดตามบ้านและสวน