มินิมัลลิสต์ หรือมินิมัล เป็นแนวคิดที่ประยุกต์มาใช้ในวิถีการอยู่อาศัยของสังคมกลุ่มหนึ่ง มีจุดเริ่มต้นที่ฝั่งตะวันตก และแถบเอเชียตะวันออกอย่างญี่ปุ่นที่ว่าด้วยเรื่องการดำรงชีวิต ซึ่งมีแนวคิดพื้นฐานมาจากการใช้ชีวิตของเซน (Zen) กับชินโต (Shinto) ที่ตัดทุกอย่างที่ไม่จำเป็นออกไปจากชีวิต ให้ดูเรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จนกลายเป็นไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแบบ “พอดี” มุ่งค้นหาความสำคัญแก่นแท้ต่อการใช้ชีวิตเท่านั้น แนวคิดมินิมัลลิสต์ได้ขยายขอบเขตไปสู่งานศิลปะ และงานออกแบบอื่นๆ ทั้งวงการแฟชั่น สถาปัตยกรรม ผลิตภัณฑ์ จนกลายเป็นรูปแบบศิลปะที่เฟื่องฟูและมีค่าในเวลาต่อมา minimal style
การแสดงออกถึงแนวทางของมินิมัลลิสต์ เป็นการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมามากที่สุด เช่น รูปทรงพื้นฐาน วัตถุทรงเรขาคณิต ใช้วัสดุธรรมชาติ หรือที่ผลิตจากภาคอุตสาหกรรม ไร้การตกแต่งเพิ่มเติม เช่น ไม้ เหล็ก คอนกรีต อะลูมิเนียม ไฟเบอร์กลาส กระจก และในปัจจุบันกลายเป็นไลฟ์สไตล์ที่สะท้อนภาพลักษณ์วิถีชีวิตที่เรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยคุณค่าที่ได้รับความนิยม และคนทั่วโลกหลงใหลอย่างมาก เช่น สินค้าเทคโนโลยีแบรนด์ Apple ที่มีความน้อย เรียบง่าย แต่แฝงด้วยมูลค่าด้านอื่น เช่น เป็นเครื่องประดับที่สะท้อนภาพลักษณ์ที่เท่ สร้างสรรค์ และมีคุณภาพที่ตอบโจทย์การใช้งาน minimal style
ในงานสถาปัตยกรรมมีการประยุกต์ใช้เสน่ห์งานมินิมัลลิสต์ มีการขยายอิทธิพลผสมผสานไปกับสไตล์อื่นๆ ในยุคเวลาไล่เลี่ยกัน สอดคล้องตามความนิยมชมชอบของทั้งสถาปนิกผู้เป็นต้นแบบ กลุ่มคน และแนวคิดของการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมในแต่ละภูมิภาค เรามาทำความรู้จักสไตล์มินิมัลในแต่ละรูปแบบกัน
Minimalist Style
ความเป็นมา : แนวคิดมินิมัลในงานสถาปัตยกรรมเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1920 ที่ใช้รูปทรงเรขาคณิตในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ผสมผสานกับหลักการของกลุ่ม De Stijl และ Bauhaus ที่เน้นองค์ประกอบเรียบง่าย ใช้เส้นตรงแนวตั้งและแนวนอนเป็นหลัก ในเวลาต่อมายังได้ผสมผสานกับแนวปรัชญาของนิกายเซนจากญี่ปุ่น ที่เน้นความเรียบง่าย การเผยให้เห็นเนื้อแท้ของวัสดุอย่างตรงไปตรงมา การเล่นกับแสงธรรมชาติ โครงสร้างออกแบบไม่ซับซ้อนและเน้นพื้นที่เปิดโล่ง ด้วยรายละเอียดที่เหมาะกับการใช้งานจริง
“Less is More” คือประโยคสำคัญที่สถาปนิกชาวเยอรมัน Ludwig Mies van der Rohe ใช้เป็นปรัชญาในการออกแบบอาคารสไตล์มินิมัล โดยลดทอนโครงสร้างและของตกแต่งที่ไม่จำเป็นต่างๆ ลง ต่อมาถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายและกลายมาเป็นต้นแบบงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 และในปี ค.ศ. 1989 แนวคิดมินิมัลลิสต์ได้แผ่ขยายไปยังฝั่งตะวันออก
รูปแบบ : ตัวอย่างในยุคแรก คือ S.R. Crown Hall อาคารหอประชุมของคณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีแห่งอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1956 เป็นอาคารโล่งอาคาร 2 ชั้นเป็นทรงสี่เหลี่ยม โครงสร้างเบา โดยใช้โครงเหล็กเรียบง่ายแต่มีความหมายมาก ผลงานของ Ludwig Mies van der Rohe เป็นที่จดจำและสร้างแรงบันดาลใจให้สถาปนิกรุ่นหลังได้เสมอ
Church of the Light โบสถ์คริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ในโอซาก้า ออกแบบโดยทาดาโอะ อันโด สถาปนิกชาวญี่ปุ่น ได้รับรางวัล Pritzker Prize รางวัลสูงสุดของวงการสถาปัตยกรรมโลก จุดเด่นอยู่ที่ออกแบบผนังคอนกรีตแบบไม่บรรจบกัน ทำให้เกิดช่องว่างรูปไม้กางเขนจากแสงธรรมชาติ ตัดกับสีเทาเข้มของคอนกรีตและงานไม้ ให้ความรู้สึกเรียบง่ายแต่ทรงพลัง และกระจกทำหน้าที่กำหนดพื้นที่ว่าง และแบ่งพื้นที่ภายในที่ปรับเปลี่ยนได้
Minimalist Modern Style
ความเป็นมา : สไตล์มินิมัลและสไตล์โมเดิร์นมีจุดกำเนิดไล่เลี่ยกันจากชาวตะวันตก โดยที่มินิมัลเริ่มขึ้นก่อนจากความเคลื่อนไหวทางศิลปะ ขณะที่สถาปัตยกรรมโมเดิร์นมีจุดกำเนิดเมื่อปี ค.ศ.1967-1987 เป็นการนำแนวคิดเรื่องความทันสมัยและความเรียบง่ายมาประยุกต์เข้าด้วยกัน จนเกิดความนิยมอย่างมาก มีองค์ประกอบที่คล้ายกันและแตกต่างกันหลายประการ สำหรับประเทศไทยเริ่มได้รับอิทธิพลในปี พ.ศ. 2510 – 2530 จากการกลับมาของกลุ่มสถาปนิกคนไทยที่เป็นนักเรียนทุนหัวก้าวหน้า ซึ่งมีวิถีชีวิตตามสังคมสมัยใหม่แบบชาวตะวันตก และเป็นผลโดยตรงจากการปฏิวัติรูปแบบสังคมและเศษฐกิจด้วยระบบอุตสาหกรรมในโลกตะวันตก ที่พยายามประยุกต์ใช้กับเทคนิคการก่อสร้างและวัสดุท้องถิ่นที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงให้สอดคล้องกับสภาพอากาศเขตร้อนชื้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของสถาปัตยกรรมในประเทศไทย
รูปแบบ : สไตล์มินิมัลมีแนวคิดของการตัดทอนองค์ประกอบลงให้เหลือเฉพาะส่วนที่จำเป็น และเน้นคุณภาพชีวิตการอยู่อาศัยเท่านั้น เช่น การออกแบบให้มีพื้นที่ว่าง หรือ Open Plan การใช้แสงสว่างที่เรียบง่าย โทนสีขาว ส่วนสไตล์โมเดิร์นส่วนมากใช้รูปทรงเรขาคณิต เส้นสายที่ตรงไปตรงมา วัสดุที่ไร้การตกแต่ง นิยมใช้วัสดุจากธรรมชาติหรือที่ผลิตจากโรงงาน แสดงเนื้อแท้ของวัสดุ เช่น เหล็กและแผ่นกระจกใส ออกแบบเป็นโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อนและเน้นพื้นที่เปิดโล่ง โปร่ง แต่แฝงด้วยรายละเอียดที่เหมาะกับการใช้งานจริง และเทคนิคการหล่อคอนกรีตที่กลายเป็นแฟชั่นใหม่แทนการก่ออิฐฉาบปูนแบบเดิม ๆ มาพร้อมกับการจัดวางผังอาคารให้เปิดโล่งและโปร่งมากที่สุด โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมเพื่อประหยัดการใช้พลังงาน และการออกแบบแผงกันแดดให้ตอบรับทิศทางแสง แทนการใช้ชายคา เปลี่ยนภาพลักษณ์อาคารให้ดูทันสมัยและมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีก่อสร้าง
Nordic Style
ความเป็นมา : สไตล์นอร์ดิกเริ่มได้รับความนิยมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีต้นกำเนิดในแถบยุโรปตอนเหนือ ประกอบด้วยเดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์
รูปแบบ : งานสถาปัตยกรรมรูปแบบนี้ได้รับอิทธิพล และแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า Organic Form เส้นสายที่ใช้จึงดูนุ่มนวลกว่างานสไตล์โมเดิร์น แนวทางการออกแบบของสไตล์นอร์ดิกให้ความสำคัญเรื่องความยืดหยุ่น (Flexible Design) ทำให้เกิดรูปแบบที่อิสระ เด่นเรื่องการจัดแบ่งสัดส่วนด้วยเส้นที่สะอาดตา มีความเรียบง่ายแต่โดดเด่น ให้ความรู้สึกโปร่งสบายในบรรยากาศโดยรวม รูปทรงบ้านมีจุดเด่นที่การทำหลังคาจั่วต่อเนื่องมาที่ผนังตัวอาคาร และเพราะมีต้นกำเนิดที่เมืองหนาว ซึ่งมีความมืดสลัวเกือบทั้งวัน จึงมักเลือกใช้วัสดุโทนสีสว่าง หนักไปทางสีขาว สีน้ำตาลอ่อน และสีเทาที่เรียบง่าย ให้ความรู้สึกอบอุ่น และนำไปประยุกต์ใช้กับการตกแต่งที่มีลวดลายแนวเรโทร และโทนสีพาสเทลได้ด้วย ซึ่งเหมาะกับผู้ที่มีความทันสมัยอยู่ในตัว แต่ยังชอบความย้อนยุคที่ดูร่วมสมัยได้ การตกแต่งนิยมใช้วัสดุ เช่น ไม้เนื้อแข็ง ไม้ไพน์ (Pine) หรือเบิร์ช (Birch) แบบดิบๆ เปลือยๆ ให้เห็นสีแท้ของไม้ คอนกรีตเผยผิวทั้งพื้นและผนัง รวมถึงนำมาทำเฟอร์นิเจอร์สีแบบดิบๆ ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้วัสดุกลุ่มโลหะ อะลูมิเนียม หรือใช้วัสดุสำเร็จรูปเพื่อความรวดเร็วในการสร้าง เช่น พื้นลามิเนตสีอ่อน ส่วนการจับคู่สีผนังกับเฟอร์นิเจอร์ เช่น สีเนวีบลูกับสีแดง สีเขียวขรึมกับสีทอง และการจัดวางผังพื้นที่อย่างเป็นระเบียบ จัดการง่าย ให้ความสำคัญกับแสงที่เหมาะสม
Japandi Style
ความเป็นมา : เป็นการผสมผสานระหว่างอิทธิพลของญี่ปุ่น (มินิมัล) กับสแกนดิเนเวีย (นอร์ดิก) สร้างความสวยงามที่เรียบง่าย ประยุกต์ใช้ให้เหมาะสำหรับบ้านสมัยใหม่ เช่น บ้านตามแนวคิดวาบิซาบิของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการชื่นชมความสมบูรณ์แบบในความไม่สมบูรณ์แบบ
รูปแบบ : สไตล์นี้เป็นการออกแบบสไตล์สแกนดิเนเวีย (นอร์ดิก) เข้ากับความอบอุ่นและองค์ประกอบที่เป็นธรรมชาติของสไตล์ญี่ปุ่น โดยการผสมผสานเส้นสายที่สะอาดตาและความเรียบง่ายของทั้ง 2 สไตล์เข้าด้วยกันอย่างลงตัว โดยปกติเป็นพื้นที่เปิดโล่ง โปร่ง กว้าง ชุดเฟอร์นิเจอร์ค่อนข้างเรียบง่าย น้อยชิ้น ดูนิ่งๆ สามารถ เคลื่อนย้ายได้ง่าย เน้นวัสดุท้องถิ่นจากธรรมชาติ และเป็นงานออกแบบที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมโดยรอบอย่างลงตัว ใช้วัสดุธรรมชาติเป็นหลัก เช่น ไม้ ไม้ไผ่ หิน หวาย นิยมใช้เส้นใยธรรมชาติ (Natural Fibres) เช่น หนังสัตว์ ผ้าฝ้าย การตกแต่งภายในมักใช้สีขาว เบจ เทาสว่าง และสีน้ำตาล ในทางกลับกันก็นิยมใช้สีดำ สีน้ำเงินเข้ม และสีเขียว เพื่อสร้างความแตกต่างที่ดูไม่น่าเบื่อได้
Pacific Northwest
ความเป็นมา : การออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในยุคกลางสไตล์ Mid Modern เรียกว่าการออกแบบ Northwest Regional และนำสไตล์เรโทรที่รักษ์โลกและยั่งยืนมาประยุกต์เข้าด้วยกัน และผสมผสานกับสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น ซึ่งพบได้ทั่วไปในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1930 – 1960 เป็นสไตล์ที่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากสถาปนิกอย่าง Paul Hayden Kirk, John Yeon, William Fletcher และ Robert Rummer
รูปแบบ : เป็นแนวทางการออกแบบที่พยายามจะเปิดเผยธรรมชาติของทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของสถานที่ตั้ง วัสดุ และธรรมชาติโดยรอบ แสดงออกถึงปรัชญาที่ชัดเจนและจริงใจ ผสานองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่คล้ายคลึงกันในสมัยนั้น เช่น Mid-centuryModern และ International มีเส้นสายที่ทันสมัยของบ้านในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือ (อิทธิพลของ Mid Modern) และกระจกสูงจากพื้นจรดเพดาน ทั้งยังพบว่าสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นมีอิทธิพลต่อการออกแบบของสถาปนิกในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ เนื่องจากลักษณะของพื้นที่มีภูมิประเทศเป็นเกาะเหมือนกัน ทำให้มีภูมิอากาศคล้ายคลึงกัน ด้วยองค์ประกอบของการออกแบบจึงเน้นธรรมชาติ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเรียบง่าย มีความทันสมัย ออกแบบฟังก์ชันที่คุ้มค่า และก่อสร้างง่าย บ้านเหล่านี้มีลักษณะเพรียวบางและเป็นเส้นตรง และมีหลังคาลาดเอียงพอที่จะให้ระบายน้ำฝนได้เท่านั้น และมักมีส่วนที่ยื่นออกมาเพื่อป้องกันผู้อยู่อาศัยจากฝน นอกจากนี้ยังมีหน้าต่างบานใหญ่รอบบ้านเพื่อเชื่อมต่อกับธรรมชาติโดยรอบ เปิดรับแสงธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ และสร้างด้วยวัสดุที่มาจากท้องถิ่น เช่น ไม้และหินในบริเวณใกล้เคียง บ้านในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือมักโชว์สีของแผ่นไม้เผยความงามของต้นซีดาร์ เฟอร์ หรือต้นสน
6 ดีเทลออกแบบบ้านมินิมัลให้เหมาะกับภูมิอากาศร้อนชื้น
สไตล์มินิมัลมีต้นกำเนิดจากประเทศในเขตอากาศหนาว บางดีไซน์จึงไม่สอดคล้องกับภูมิอากาศในประเทศไทย มาดู 6 ดีเทลที่ช่วยให้บ้านดูเรียบง่าย สอดคล้องกับภูมิอากาศแบบร้อนชื้น และการอยู่อาศัยจริงที่เน้นการดูแลรักษาง่าย
1.ช่องเปิดหลบแดด ร่นระยะผนังเข้าด้านในไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร นอกจากทำให้อาคารดูมีมิติมากขึ้นแล้ว ยังช่วยลดการสัมผัสความร้อนของกระจกหรือช่องเปิดได้ และทำขอบช่องเปิดด้านล่างให้ลาดเอียงเพื่อไม่ให้น้ำสะสมบริเวณนี้
2.วัสดุประตู-หน้าต่างกันน้ำกันร้อนได้ดี เลือกใช้วัสดุประตูหน้าต่างคุณภาพดีที่มีระบบป้องกันน้ำรั่วซึม และเสียงผ่านเข้ามา ใช้กระจกที่ป้องกันความร้อนได้ เช่น กระจกฉนวน การติดฟิล์มกันความร้อน และทำช่องเปิดสูงถึงฝ้าเพดาน เปิดมุมมมองรับแสงธรรมชาติเข้าสู่ภายในได้กว้าง และถ้าต้องการให้ช่องเปิดดูเรียบง่ายมากขึ้น แนะนำให้ใช้กรอบบานกว้างไม่เกิน 3 เซนติเมตร (ปกติจะใช้ความกว้าง 5 เซนติเมตร) ซึ่งเป็นอะลูมิเนียมขนาดสั่งพิเศษ
3.ติดตั้งม่านกันความร้อนแบบเรียบง่าย โดยซ่อนรางม่านในฝ้าเพดานที่ทำเป็นหลืบลึก 20-30 เซนติเมตร โดยเว้นระยะห่างจากผนังประมาณ 20 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะที่ช่างสามารถทำงานได้ง่าย
4.หลังคาระบายน้ำฝนได้ดี บ้านมินิมัลมักทำหลังคาแบบไม่มีชายคา แต่จำเป็นต้องออกแบบให้ระบายน้ำฝนได้ดี ด้วยการซ่อนรางน้ำฝนภายในผนังอาคาร หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของหลังคาเพื่อทำให้รูปทรงหลังคาเรียบง่าย
5.ดีไซน์ซ่อนหลังคา หากต้องการลุคบ้านหลังคาแบน แต่ไม่อยากทำหลังคาคอนกรีตเรียบ สามารถซ่อนหลังคาด้วยการทำขอบ (Parapet) ปิดบังไว้ แล้วด้านในมุงวัสดุหลังคาที่ลาดเอียงน้อยๆได้ เช่น เมทัลชีต ซึ่งแนะนำให้มุงลาดเอียง 5 องศาขึ้นไป เป็นอีกวิธีที่ช่วยสร้างสัดส่วนทางสถาปัตย์ให้สวยงาม
6.ออกแบบการเก็บของให้ไม่สะสมความชื้น การทำตู้บิลท์อินเก็บของ ช่วยตอบโจทย์บ้านไม่รกและดูแลง่ายได้ดี แนะนำให้ทำช่องระบายอากาศ เพื่อป้องกันการสะสมความชื้นและการเกิดเชื้อรา โดยเฉพาะตู้สำหรับแขวนเสื้อผ้าที่ต้องการใส่ซ้ำ หรือผ้าเช็ดตัว
เรื่อง : อุราวัลย์ รุกขไชยศิริกุล
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน, ภาพประชาสัมพันธ์
ภาพประกอบ : หงเอี๊ยด