โมน ธีระธาดา เชฟหนุ่มผู้หลงใหลการทำอาหารและแรงกดดัน
น้อยคนนักจะชอบแรงกดดัน โดยเฉพาะความกดดันกับการทำอาหารที่ไม่น่าจะมาอยู่คู่กันได้ นั่นจึงทำให้ เชฟโมน (ออกเสียงว่า โมนะ) ธีระธาดา มีความแตกต่างจากคนอื่น เพราะเขาเป็นชายหนุ่มที่หลงใหลการทำอาหารที่ชอบการแข่งขัน และความกดดัน
จุด SPARK ในการทำอาหาร
“ต้องย้อนกลับไปตอนที่เรียนซิดนีย์ ช่วงนั้นเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย และงานร้านอาหารที่จะรับเด็กเข้าทำงานก็คือร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด พอเราได้เข้าไปทำก็รู้สึกชอบบรรยากาศ ชอบการโต้ตอบของสิ่งแวดล้อมในห้องครัวและปลูกฝังให้เรารักการอยู่ในครัว รู้สึกไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ ไปแล้วไม่รู้สึกเหมือนไปทำงาน
“ช่วงนั้นเป็นช่วงวัยรุ่น เราได้ไปปาร์ตี้ ไปเที่ยวกับเพื่อนๆ ผมจะเป็นคนทำอาหาร พอเราทำแล้วได้เสียงตอบรับ ได้คำชม ไม่ว่าจะพูดด้วยความจริงใจ หรือเขาไม่อยากเสียน้ำใจ ก็เป็นแรงผลักดันให้เราทำต่อ เลยจุดประกายว่าหรือเราควรเลือกด้านการทำอาหาร และเป็นเส้นทางในการเข้าสู่วงการอาหาร”
บาร์บีคิว กลุ่มเพื่อน และมุมโปรด
“ถ้าความชอบส่วนตัว ตอนที่อยู่ซิดนีย์ หลังเลิกเรียนผมจะชอบไปทำบาร์บีคิวกับเพื่อนๆ ตามสวนสาธารณะ มีเตาบาร์บีคิวที่ให้ไปใช้ฟรี เราไปกันตลอดเป็นกิจวัตร ทุก 3-4 วัน คิดว่ามันเป็น Culture ในการยืนอยู่กับคนที่เรารัก คนที่เราสนิท ยืนล้อมเตาด้วยกัน ย่างไปและดื่มไปด้วยกัน
“ผมกับเพื่อนๆ ชอบไปซื้อของที่ซูเปอร์มาปิ้ง ย่าง มีบาร์บีคิวหมู แกะ กุ้งเสียบไม้ เรียกว่าเป็น Culture วิถีชีวิตของวัยรุ่นในช่วงเวลานั้นที่ทุกคนต้องหาโอกาสไป ผมเลยชอบ รักในบรรยากาศที่มีเพื่อนรายล้อม ปิ้งย่าง เตาบาร์บีคิว สังสรรค์กัน ปิ้งไหม้บ้าง ไม่สุกบ้าง แต่โดยรวมแล้ว มันคือบรรยากาศของความสุขที่เพื่อนได้มารวมตัวกัน ณ เตาบาร์บีคิว”
ความกดดันสร้างสรรค์ตัวตนและผลงาน
“ผมอาจชอบบรรยากาศที่ต่างจากคนอื่น ผมชอบบรรยากาศเครียดๆ ดุๆ เพราะทำให้เราแอ๊กทีฟตลอดเวลา การอยู่ในบรรยากาศสบายๆ บางครั้งอาจเกิดความผิดพลาดได้มากกว่าการอยู่ในความกดดัน เวลาผมอยู่ในความกดดันจะเตือนสติตัวเองตลอดเวลา จะระวัง จะเด็ดขาด และการตัดสินใจจะเด็ดเดี่ยว คม ชัด มากกว่าบรรยากาศที่เราอยู่ชิลๆ บางครั้งมันจะมีการลืมนู่น ลืมนี่ และปล่อยปะละเลย การอยู่ในบรรยากาศที่อยู่ในแรงกดดันจะทำให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดของตัวเราออกมา
“แล้วเนื่องจากผมชอบบรรยากาศของการแข่งขันมากๆ ผมเลยชอบความท้าทายในการทำอาหาร เมื่อไรที่อยู่ในครัวแล้วรู้สึกมีแรงกดดัน มันรู้สึกย้อนกลับไปช่วงที่ผมแข่งกีฬา เล่นกีฬา เป็นแรงผลักดันให้ตัวเรามีความพุ่งไปข้างหน้าและสนุกกับมัน เมื่อไรที่ได้รับแรงกดดัน เราจะเป็นตัวตนที่ดีที่สุดของตัวเรา ผมเลยชอบทำงานภายใต้แรงกดดันที่สูงมากๆ”
ทำไมถึงหลงรักการทำอาหาร
“สำหรับผม การทำอาหารเป็นเหมือนการเล่นกีฬาชนิดทีม เราอยู่ในครัว เรามีทีมที่เหมือนกองหน้า กองหลัง มี Sous Chef , Head Chef มีการทำตามคำสั่ง มีรูปแบบที่เซ็ตไว้ก่อนเริ่มเกม เริ่มเกมเมื่อลูกค้าเดินเข้ามาในร้านและจบเมื่อลูกค้าเดินออกไป มันทั้งสนุก ทั้งดุเดือดด้วย ผมชอบความเครียดในการทำงาน มันเป็นสีสันอย่างหนึ่ง เวลาไม่ทำงาน คือ ผมไม่ทำอะไรเลย แต่เวลางานชอบเครียดๆ ชอบดุๆ
“ผมหลงรักการทำอาหาร ชอบทำอาหารมากกว่าเป็นเชฟ เพราะว่าผมไม่ได้ยึดเชฟเป็นอาชีพ ผมยึดการทำอาหารเป็นอาชีพ ทำสิ่งที่เราชอบด้วย สนุกด้วย และเราไม่เบื่อกับมัน อยู่กับมันแล้วเกิดเป็นรายได้ด้วย ทำออกไปแล้ว ถึงจะมีคนแค่หนึ่งคนก็ได้ บอกว่าชอบอาหารของเรา ไม่จำเป็นว่าต้องอร่อยนะ แต่เขาชอบอาหารที่เรานำเสนอ แค่นี้ก็เป็นกำลังใจได้แล้วครับ”
เรื่อง : ธัญยธรณ์ นาราเต็มทรัพย์
ภาพ : กรานต์ชนก บุญบำรุง