บ้านมินิมัลชั้นเดียว สำหรับคนแพ้ฝุ่น

บ้านมินิมัลชั้นเดียว หลังเล็กๆ ที่มีฟังก์ชันใช้งานครบและเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ปัจจัยหลักๆ เลยคือเจ้าของเป็นภูมิแพ้จึงไม่อยากให้มีฝุ่นในบ้านเยอะ และเป็นที่มาของความชอบในสไตล์มินิมัลที่เรียบกับเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น

Design Directory : Depth Architect Studio

บ้านมินิมัลชั้นเดียว
ช่องทางเดินเข้าบ้านมีผนังเล็กๆ กั้นไว้ให้ดูเป็นสัดส่วน แต่ก็เจาะช่องเปิดเพื่อไม่ให้รู้สึกอึดอัดเวลาเดินเข้ามา
บ้านมินิมัลชั้นเดียว
มุมมองจากภายในหันออกไปบริเวณทางเข้าบ้านซึ่งมีช่องเปิดให้สามารถเห็นคนที่จะเข้ามาบ้านได้ด้วย

ทันทีที่เลี้ยวผ่านรั้วบ้านเข้ามาก็รู้สึกได้ถึงกลิ่นหอมๆ ของขนมปังที่ลอยละล่องออกมาจากเตาอบร้อนๆและแทรกซึมอยู่ในทุกอณูอากาศ ก่อนที่จะได้เจอกับ บ้านมินิมัลชั้นเดียว สีขาวทรงจั่วขนาดเล็กหลังนี้ด้วยซ้ำ เลยไม่แปลกใจว่าทำไมหลายคนถึงเข้าใจว่าที่นี่เป็นคาเฟ่สไตล์มินิมัลซึ่งต้องมีขนมปังและเบเกอรี่อร่อยๆ แต่แท้ที่จริงแล้วมีเพียงโรงทำขนมปังที่ตั้งอยู่ริมรั้วด้านหน้า ส่วนบ้านหลังเล็กหลังน้อยที่กระจายตัวอยู่ด้านในนั้นคือบ้านพักอาศัยของสมาชิกต่างๆ ใน ครอบครัวสมมิตรวศุตม์ นั่นเอง

บ้านมินิมัลชั้นเดียว
โถงหลักของบ้านที่ยกเพดานให้สูงรับกับแนวหลังคาทรงจั่วกรุด้วยไม้อัดเพื่อสร้างบรรยายากาศของบ้านให้อบอุ่นและรับกับพื้นกระเบื้องยางลายไม้

“หน้าบ้านเป็นโรงทำขนมปังของพี่ชายค่ะ” คุณฝน-พิชามญชุ์ สมมิตรวศุตม์ เจ้าของบ้านเล่าให้ฟังทันทีเหมือนรู้ว่าเรากำลังสงสัย “ตอนนี้ยังไม่ได้เปิดเป็นคาเฟ่ แต่ต่อไปน่าจะเปิดหน้าร้านให้เข้ามานั่งได้ เวลาคนมาที่โรงทำขนมปังก็มักชอบคิดว่าบ้านของฝนที่อยู่ด้านในเป็นคาเฟ่ด้วย เพราะเป็นพื้นที่เปิดต่อเนื่องถึงกันได้ง่าย ฝนเลยคิดว่าต่อไปต้องทำขอบเขตของบ้านให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้คนรู้ว่าตรงนี้เป็นบ้านพักผ่อนส่วนตัวซึ่งนอกจากบ้านฝนแล้ว ก็ยังมีบ้านคุณแม่และบ้านพี่ชายอยู่ด้วย”

คุณฝนมักใช้เวลาพักผ่อนอยู่ที่โซฟานั่งเล่นเสมอทั้งอ่านหนังสือและดูทีวี อีกทั้งสามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวภายนอกได้ในเวลาเดียวกัน รวมถึงปลูกต้นลิ้นมังกรไว้ในบ้านเพื่อช่วยฟอกอากาศด้วย
บ้านมินิมัลชั้นเดียว
เฟอร์นิเจอร์หลักภายในบ้านเน้นใช้โทนสีสว่างตาผสมผสานไปกับงานไม้ และมีเท่าที่จำเป็นเพื่อให้ดูแลทำความสะอาดง่ายที่สุด

รื้อบ้านเก่า สร้างบ้านใหม่

“เดิมทีที่ตรงนี้เคยเป็นบ้านของคุณตาคุณยาย แต่พอท่านเสียก็ไม่มีใครอยู่ บ้านเลยถูกปล่อยทิ้งไว้นานจนทรุดโทรมทำให้ต้องรื้อทิ้งไปเป็นที่เปล่าว่างๆ ราว 140 ตารางวา คุณแม่เลยแนะนำให้ฝนใช้ที่ดินตรงนี้สร้างบ้านหลังเล็กของตัวเอง เมื่อก่อนเคยมีต้นมะขามใหญ่อยู่ด้วยแต่กลัวว่าต่อไปรากจะไชเข้าบ้าน เลยตัดสินใจรื้อออก แต่เก็บบ่อน้ำโบราณหน้าบ้านที่มีอยู่นานแล้วไว้ คนภาคเหนือเชื่อกันว่าจะไม่ทุบบ่อน้ำหน้าบ้านทิ้งเพราะอาจทำให้อยู่อาศัยไม่สบายก็เลยเก็บบ่อน้ำนี้ไว้มาตลอด พอพี่ชายแต่งงานแล้วสร้างบ้านหลังใหม่ของตัวเอง  ฝนเลยมีความคิดอยากจะมีบ้านของตัวเองบ้าง อยากได้บ้านชั้นเดียวหลังเล็กๆ ที่มีฟังก์ชันใช้งานครบและเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ปัจจัยหลักๆ เลยคือเราเป็นภูมิแพ้ ถึงไม่อยากให้มีฝุ่นในบ้านเยอะ และเป็นที่มาของความชอบในสไตล์มินิมัลที่เรียบกับเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้นด้วย”

บ้านมินิมัลชั้นเดียว
ภายในบ้านเน้นการวางผังแบบโอเพ่นแปลนเพื่อให้ทุกมุมปลอดโปร่งสบายตา เชื่อมต่อถึงกันได้ง่าย ส่วนเพดานของโถงหลักในบ้านยกให้สูงโชว์ให้เห็นแนวหลังคาทรงจั่วชัดเจน กรุด้วยไม้อัดสีอ่อนสว่างเพิ่มความอบอุ่นนุ่มนวล และทำให้พื้นที่เรียบๆ ภายในบ้านมีความน่าสนใจขึ้น
บ้านมินิมัลชั้นเดียว
ส่วนรับประทานอาหารอยู่ใกล้กับหน้าต่างกระจกซึ่งเป็นช่องเปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามาเพิ่มความผ่อนคลายภายในบ้าน
บ้านมินิมัลชั้นเดียว
ตกแต่งด้วยโต๊ะไม้ทรงกลมกับเก้าอี้ไม้ผสมงานหวายที่ให้ความรู้สึกถึงความเป็นบ้านพักผ่อน 
บ้านมินิมัลชั้นเดียว
แพนทรี่เป็นงานออกแบบบิลท์อินให้พอดีกับพื้นที่ พร้อมชุดครัวที่ใช้งานง่ายและมีแสงธรรมชาติเข้าถึง หน้าบานตู้ครัวเลือกใช้เป็นไม้อัดแอชที่นำมาย้อมสีและเคลือบแล็กเกอร์ เพราะต้องการความรู้สึกของความเป็นไม้มากกว่าวัสดุลามิเนต อีกทั้งยังราคาถูกกว่าใช้ไม้แอชจริง แต่สามารถอยู่กับความชื้นหรือโดนน้ำได้ในระดับหนึ่งโดยไม่มีการหดตัวจึงเหมาะกับการใช้ในพื้นที่ส่วนครัว

สไตล์มินิมัลที่เหมาะกับคนแพ้ฝุ่น

คุณฝนใช้เวลามองหาสถาปนิกอยู่ไม่นานก็ได้มาเห็นผลงานของ คุณโปลก้า- ธนกร ฉัตรทิพากร สถาปนิกจาก Depth Architect Studio จึงติดต่อให้มาช่วยออกแบบบ้านด้วยโจทย์ความต้องการที่ชัดเจนของตัวเอง ทั้งเรื่องความเป็นบ้านชั้นเดียวขนาดเล็กสำหรับอยู่คนเดียว สไตล์มินิมัลที่สะอาดไม่เก็บฝุ่น ทำความสะอาดง่าย พร้อมที่เก็บของใช้จากการทำงาน และต้องใช้งบประมาณที่ไม่สูงจนเกินไป ซึ่งคุณโปลก้าเล่าถึงความคิดนี้ว่า

“การจะออกแบบให้บ้านดูเรียบน้อยและอบอุ่นด้วยต้องอาศัยองค์ประกอบของสีและวัสดุต่างๆ ที่เลือกใช้เพื่อทำให้ความเรียบนิ่งนั้นไม่น่าเบื่อ แต่ก็มีมิติที่น่ามอง คือถ้าเป็นมินิมัลที่เรียบโล่งถ่ายรูปได้สวยก็แบบหนึ่ง แต่มินิมัลที่สวยแล้วใช้ชีวิตอยู่ได้จริงพร้อมข้าวของเครื่องใช้ประจำวัน เราต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่เก็บของอย่างเพียงพอ อย่างบ้านนี้เราคุยกันตั้งแต่ก่อนออกแบบเลยว่าคุณฝนมีของใช้อะไรบ้าง ทั้งของที่ต้องการหยิบใช้ในแต่ละวันกับของที่จำเป็นต้องเก็บ เพื่อนำมาออกแบบเป็นพื้นที่จัดเก็บให้พอเหมาะพอดี ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญที่จะทำให้บ้านโล่งทำความสะอาดง่าย ชั้นเก็บของต้องมีทั้งแบบปิดและแบบเปิดในความสูงที่พอดีกับฝ้าเพดานเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างสำหรับฝุ่น”

เบรกโทนสีของไม้ที่ฝ้าเพดานและพื้นด้วยผนังสีขาวโล่งบริเวณส่วนนั่งเล่น ด้านข้างเป็นช่องทางเดินไปสู่ห้องนอนด้านใน
บ้านมินิมัลชั้นเดียว
ระหว่างโถงหลักกับพื้นที่ห้องนอนส่วนตัวด้านในมีประตูบานเลื่อนไม้กั้นเพื่อปิดพื้นที่เวลาต้องการใช้เปิดเครื่องปรับอากาศ และเปิดเมื่อต้องการขยายมุมมองพื้นที่ให้กว้างขึ้น
บ้านมินิมัลชั้นเดียว
ห้องซักล้างอยู่ไปทางทิศตะวันตกเพื่อเป็นตัวรับแสงแดดและป้องกันไม่ให้ความร้อนปะทะส่วนพักผ่อนโดยตรง
ตู้เก็บของ
เพื่อให้บ้านดูเรียบโล่งแบบมินิมัลและดูแลทำความสะอาดง่ายจึงต้องออกแบบให้มีตู้เก็บของซ่อนไว้หลายจุด โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ของผนังว่างๆ ของทางเดินสู่ห้องนอน ซึ่งมีการแบ่งช่องชั้นวางให้พอดีกับข้าวของเครื่องใช้ที่มีอยู่

บ้านมินิมัลชั้นเดียว

การวางผังภายในพื้นที่ราว 120 ตารางเมตรเป็นแบบโอเพ่นแปลน (Open Plan) เน้นการเปิดโล่งของโถงหลักเพื่อตอบรับกับสไตล์มินิมัลที่เรียบและน้อย ภายใต้หลังคาทรงจั่วที่ล้อรับไปกับรูปทรงภายนอกของบ้าน เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวช่วยกำหนดฟังก์ชันของส่วนนั่งเล่นและส่วนรับประทานอาหาร เสริมด้วยบิลท์อินส่วน

แพนทรี่ พร้อมการสร้างผนังกั้นเล็กๆ ระหว่างทางเข้ากับส่วนนั่งเล่นให้ดูเป็นสัดส่วนขึ้น รวมถึงออกแบบให้มีประตูบานเลื่อนกั้นระหว่างพื้นที่ส่วนกลางกับส่วนตัว เพื่อสามารถปิดเมื่อต้องการกระชับพื้นที่ใช้งานเฉพาะส่วนโถง และเลื่อนเปิดให้พื้นที่โล่งเชื่อมต่อถึงทางเดินไปสู่ห้องนอนได้เมื่อต้องการความปลอดโปร่งที่มากขึ้น

“เวลาออกแบบเราจริงจังในเรื่องตำแหน่งของห้องต่างๆ ในบ้านให้สัมพันธ์ไปกับทิศทางของแสงและแดดด้วย ก็เลยวางตำแหน่งของห้องเก็บของ ห้องซักล้าง และแพนทรี่ไว้ทางฝั่งตะวันตกเพื่อใช้เป็นแนวป้องกันแดดและความร้อนไม่ให้ปะทะกับพื้นที่พักผ่อนภายในโดยตรง ส่วนห้องนอนก็เน้นเปิดรับแสงสดชื่นยามเช้า ขณะที่โถงหลักต้องไม่ถูกตัดขาดจากภายนอกไปอย่างสิ้นเชิง เพราะมีบ้านของสมาชิกครอบครัวอยู่รายล้อมรอบด้าน จึงจำเป็นต้องมีช่องเปิดให้มองเห็นความเคลื่อนไหวและพื้นที่สีเขียวด้านนอกด้วย แต่ก็ยังรู้สึกถึงความเป็นส่วนตัวภายในได้เช่นกัน” 

บ้านมินิมัลชั้นเดียว
พื้นกระเบื้องยางลายไม้ที่ปูด้วยลวดลายแบบก้างปลาต่อเนื่องมาถึงภายในห้องนอน โดยสถาปนิกออกแบบส่วนฐานเตียงนอนด้วยไม้สีอ่อนสว่างให้กลมกลืนกันไปตลอดถึงดีไซน์พนักหัวเตียง
ห้องน้ำ
การออกแบบห้องน้ำที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรีสอร์ต ทั้งเรื่องประตูไม้บานเปิดและการใช้อ่างอาบน้ำแบบลอยตัวเพื่อเน้นให้รู้สึกถึงการผ่อนคลาย

บ้านทรงจั่วสีขาวภายในอบอุ่นด้วยโทนสีไม้

จากการวางผังภายในที่ไม่ซับซ้อนนำมาสู่รูปทรงของบ้านด้วยที่ออกแบบขึ้นมาอย่างเรียบง่ายและไม่ซับซ้อน เป็นรูปทรงจั่วสีขาวเหมือนภาพบ้านที่แทบทุกคนเคยวาดเมื่อตอนเป็นเด็ก พร้อมหน้าต่างช่องเปิดเล็กๆ หน้าบ้านผสมด้วยฟังก์ชันของหน้าต่างแบบบานกระทุ้งของบ้านไทย ภายในเน้นตกแต่งด้วยวัสดุไม้หรือวัสดุที่ให้มุมมองเหมือนไม้ธรรมชาติ อย่างกระเบื้องยางลายไม้ที่คุณฝนต้องการให้ปูในลวดลายแบบก้างปลาตลอดทุกห้องในบ้าน เพื่อทำให้ภายในดูกว้างสบาย อบอุ่น และมีชีวิตชีวามากขึ้น ผสนผสานไปกับเฟอร์นิเจอร์สีขาวครีมสำหรับใช้งานเท่าที่จำเป็นจริงๆ

“เราเลือกใช้พื้นกระเบื้องยางลายไม้ SPC แบบมีคลิปล็อกในตัว พัฒนามาจากกระเบื้องยางไวนิล แต่ทนทานกว่า ไม่ยืดไม่หดตัว โดนน้ำได้ ปลวกไม่กิน กันรอยขีดข่วนได้ดีระดับหนึ่ง ที่สำคัญคือให้สัมผัสที่ใกล้เคียงกับไม้จริง ไม่เย็นกระด้างเหมือนกระเบื้องทั่วไป แล้วก็ยังมีฝ้าเพดานที่เป็นไม้อัด และงานหน้าบานไม้ในส่วนของแพนทรี่ รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่เลือกมาตกแต่งและใช้งาน”

พื้นไม้
พื้นกระเบื้องยางลายไม้ปูสลับลายแบบก้างปลา เป็นกระเบื้องแบบมีคลิปล็อกในตัวทำให้รอยต่อค่อนข้างเนียบเพราะไม่ต้องยาแนว คุณสมบัติมีความทนทานกว่า ไม่ยืดไม่หดตัว โดนน้ำได้ ปลวกไม่กิน กันรอยขีดข่วนได้ดีระดับหนึ่ง ที่สำคัญคือให้สัมผัสที่ใกล้เคียงกับไม้จริง

แม้ว่าปกติแล้วคุณฝนมักต้องเดินทางไปทำงานต่างจังหวัดบ่อยๆ ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาอยู่บ้าน แต่ทุกครั้งที่ได้กลับมาในช่วงวันหยุด ก็รู้สึกผ่อนคลายและหายเหนื่อยทันที นั่นเพราะบ้านหลังเล็กนี้มีทั้งความเรียบโล่ง สงบ และปลอดโปร่งสำหรับคนแพ้ฝุ่นอย่างแท้จริง อีกทั้งยังอุ่นใจอยู่ภายในรั้วอันร่มรื่นของครอบครัวเดียวกัน

เจ้าของ : คุณพิชามญชุ์ สมมิตรวศุตม์ 

สถาปนิก : Depth Architect Studio โดยคุณธนกร ฉัตรทิพากร

เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์

ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม

สไตล์ : Suntreeya


บ้านสีขาวมินิมัล ที่อบอุ่นนุ่มละมุน

รวมแบบบ้านมินิมัล ชั้นเดียว