ความท้าทายของคนทำธุรกิจคือทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ช่วยเหล่าผู้ประกอบการหาคำตอบอย่างเต็มที่ ทั้งในมิติของการเป็นแหล่งทุนและช่วยเสริมสร้างทักษะเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการทำธุรกิจในแง่มุมต่างๆ
หนึ่งในคำถามสำคัญของคนเริ่มทำธุรกิจ คือ ทำอย่างไรจะเป็นแบรนด์ที่ถูกเลือก SME D Bankจึงชวน 2 ผู้เชี่ยวชาญ คุณก้อง-อรรฆรัตน์ นิติพน นักธุรกิจผู้มากประสบการณ์การเล่าเรื่อง และ คุณรัฐ เปลี่ยนสุข สถาปนิกและนักออกแบบ มาเติมไอเดีย ในเวทีสัมมนา “ติดอาวุธผู้ประกอบการ SME ยุค DIGITAL NEXT NORMAL” นั่งลงเผยเคล็ดลับการปั้นแบรนด์ด้วย ‘เรื่องเล่า’ และ ‘ดีไซน์’ ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถหยิบเอาไปใช้ประยุกต์กับธุรกิจของตัวเองได้
เล่าเรื่องให้ตรงใจลูกค้า
คุณก้อง-อรรฆรัตน์ นิติพน เจ้าของและผู้ดำเนินรายการอายุน้อยร้อยล้าน ผู้ที่มีทั้งเรื่องราวของตัวเองในฐานะนักธุรกิจและผ่านการรับฟังเรื่องเล่าของนักธุรกิจรุ่นใหม่มานับไม่ถ้วน
“ผมมีโอกาสสัมภาษณ์หมอดู เขาบอกว่าเวลาดูดวง เกิน 500 คนขึ้นไป เราจะจับรูปแบบการใช้ชีวิตของคนได้ ไม่ว่าจะเป็นการเงิน การงาน ความรัก ซึ่งเหมือนกับการทำธุรกิจ หากเจอลูกค้าทุกวัน ก็จะเห็นลักษณะร่วมบางอย่างของพวกเขา”
คนทำธุรกิจต้องทำความรู้จักลูกค้าแต่ละคนและรวบรวมเป็นชุดข้อมูลมาตรฐานที่จะทำความรู้จักจุดร่วมของลูกค้า จึงจะสามารถบอกเล่าจุดเด่นของสินค้าหรือบริการที่ตัวเองมีให้ถึงลูกค้าได้
“ธุรกิจก็คือการที่สินค้าและบริการของเราสามารถเข้าไปแก้ปัญหาให้กับคนหลาย ๆ คนได้ แล้วเขายอมที่จะเสียเงินให้กับเรา และโลกทุกวันนี้เป็นโลกดิจิทัลที่ทำให้เราสามารถบอกเล่าเรื่องราวของแบรนด์ไปถึงกลุ่มคนได้ และสามารถทำให้เขายอมจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการของเรา”
จากคำแนะนำของคุณก้อง ส่วนประกอบสำคัญ 3 ข้อที่จะปั้นแบรนด์ให้ปังด้วยการเล่าเรื่องได้ ก็คือ
1. ต้องรู้จักลูกค้าของตัวเอง
2. บอกเล่าจุดเด่นของสินค้าและบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการหรือแก้ปัญหาของลูกค้าได้ และ
3. ช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด
ซื้อใจลูกค้าด้วยดีไซน์และฟังก์ชัน
คุณรัฐ เปลี่ยนสุข สถาปนิก นักออกแบบ ผู้ร่วมก่อตั้ง SUMPHAT GALLERY สตูดิโอออกแบบที่ทำงานส่งเสริมงานหัตถกรรมของคนไทยในชุมชนออกสู่สายตาคนต่างประเทศในรูปแบบงานดีไซน์ ทำให้งานไทยๆ ที่เราคุ้นเคยและอาจมองข้ามสามารถสร้างมูลค่าได้มหาศาลในตลาดโลก
“เราลงไปทำงานในพื้นที่ชุมชน เราเห็นงานฝีมือที่ซ่อนอยู่เป็นเครื่องรางแกะสลักกระดูกเป็นรูปแพะ ซึ่งเขาบอกว่าเป็นกระดูกควายที่โดนฟ้าผ่าตายกลางท้องนา ซึ่งชุมชนไทยมีเรื่องราวเกี่ยวกับวัสดุเหล่านี้ซ่อนอยู่เยอะมากแต่ว่าไม่ถูกนำมาเผยแพร่ เลยอยากพัฒนาแล้วส่งต่อไปให้กับชาวต่างชาติได้เห็น”
คุณรัฐเปรียบการออกแบบให้สินค้าให้ถูกใจลูกค้า ต้องเริ่มต้นจาก
1. สร้างตัวตน มีจุดเด่น จึงจะสามารถดึงความสนใจจากลูกค้าที่มีจริตตรงกับแบรนด์
2. ออกแบบโดยเชื่อมโยงกับสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ คุณรัฐยกตัวอย่างการทำหนังใหญ่ ซึ่งปกติแล้วจะตอกหนังวัวให้เป็นรูปตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ แต่หนังใหญ่ของ SUMPHAT GALLERY แทนที่จะใช้ลวดลายแบบไทยๆ กลับตอกหนังเป็นลาย The Great Wave off Kanagawa หรือภาพวาดคลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางาวะที่โด่งดังของญี่ปุ่น แล้วนำไปจัดแสดงที่ปารีส เพราะสิ่งสำคัญคือต้องสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้
3. ทำให้คุณค่ากับมูลค่าของงานชัดเจนขึ้น ยกตัวอย่างการผลิตงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก ‘ลายรดน้ำ’ ที่ใช้เทคนิคการลงรักปิดทอง ด้วยระยะเวลาการทำถึง 7 วันต่อชิ้น ทั้งที่ปัจจุบันสามารถพิมพ์ลวดลายสีทองได้ทันที นี่คือการเปรียบเทียบระหว่างมูลค่ากับคุณค่าของวัฒนธรรม
4. สร้างคำมั่นสัญญาระหว่างแบรนด์กับลูกค้า เพื่อกำหนดทิศทางการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน ซึ่งสำหรับ SUMPHAT GALLERY คำมั่นสัญญาคือการนำเสนองานหัตถกรรมไทยให้กับแบรนด์ชาติ และเมื่อสัญญาแล้วก็พยายามทำให้ได้
เทคนิคทั้ง 4 ข้อดังกล่าว นำไปใช้ได้กับการออกแบบผลิตภัณฑ์รวมไปถึงออกแบบพื้นฐานการสร้างแบรนด์เลยทีเดียว
งานเสวนาครั้งนี้เป็นเพียงหนึ่งกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของ SME D Bank ควบคู่กับบริการด้านแหล่งเงินทุนที่ธนาคารพร้อมสนับสนุนเสมอ โดย ผศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ราชรักษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการ SME D Bank ให้ข้อมูลเสริมว่า นอกเหนือจากนี้ ยังมีกิจกรรมเพื่อช่วยพัฒนาเอสเอ็มอีในมิติต่างๆ เช่น บริการปรึกษาธุรกิจครบวงจรในโครงการ SME D Coach อีกทั้งกิจกรรมอบรม สัมมนา เพิ่มช่องทางขาย ทำการตลาดออนไลน์ การจับคู่ธุรกิจเพื่อขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ฯลฯ ช่วยให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพธุรกิจเพิ่มขึ้นอีกมากมาย รวมถึงบริการตรวจสุขภาพธุรกิจว่าแข็งแรงแค่ไหนจะได้เสริมแกร่งได้ถูกจุด
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและติดต่อรับบริการได้ที่ ฝ่ายพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการ Call Canter 1357