สร้างมุมส่วนตัวบนพื้นที่สาธารณะสอดแทรกไปในทุ่งไม้ยมหอมที่กว้างใหญ่ และเนินเขาสูงต่ำ กับการวาง บ้านคอนกรีตเปลือย ที่มีรูปลักษณ์ภายนอกปิดทึบทรงกล่องสี่เหลี่ยม ห่อหุ้มชีวิตของผู้อยู่อาศัย ให้รู้สึกได้ทั้งความอบอุ่นและปลอดภัย
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: JOYS Architects
บ้านคอนกรีตเปลือย หลังนี้ คือส่วนต่อขยายของร้านกาแฟ Yellow Submarine Coffee Tank และ Yellow Mini ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางเนินดินสูงต่ำบนสุด รายล้อมด้วยไม้ยมหอมเรียวสูงบนผืนดินกว้างใหญ่ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา บนพื้นที่ 12 ไร่ ของ คุณสืบสาย จิตตเกษม เจ้าของบ้านและหนึ่งในสถาปนิกผู้ออกแบบ
นคอนกรีตเปลือย
บ้านที่เป็นครัวของคาเฟ่ บ้านคอนกรีตเปลือย
รุ่งเช้าเกือบทุกวัน จะได้กลิ่นหอมเนยและช็อกโกแล็ตคละคลุ้งไปทั่วบ้าน จากฝีมือการทำขนมของทีมอบมือหนึ่งของร้านกาแฟบ้านคอนกรีตเปลือย Yellow House ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางเนินดินสูงต่ำบนสุด รายล้อมด้วยไม้ยมหอมเรียวสูงบนผืนดินกว้างใหญ่ เป็นส่วนต่อขยายของร้านกาแฟ Yellow Submarine Coffee Tank และ Yellow Mini ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา บนพื้นที่ 12 ไร่ บ้านหลังนี้สร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เป็นส่วนสนับสนุนร้านกาแฟ Yellow Submarine Coffee Tank ของ คุณสืบสาย จิตตเกษม เจ้าของบ้านและหนึ่งในสถาปนิกผู้ออกแบบ ด้วยความจำเป็นต้องดูแลคาเฟ่ทุกช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ โดยเฉพาะพื้นที่ส่วนครัวที่ตั้งใจออกแบบให้ใหญ่เป็นพิเศษเพื่อรองรับการทำขนม
สถาปัตยกรรมกำหนดขอบเขตเชื่อมต่อฟังก์ชันและความสัมพันธ์
ที่ตั้งโครงการเป็นพื้นที่เก่าแก่ของครอบครัว ลักษณะเป็นเนินดินสูงต่ำตามเชิงเขา มีกลุ่มไม้ยมหอมกระจายตัวทั่วแปลง ที่ดินส่วนแรกเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะอย่างร้านคาเฟ่ Yellow Submarine Coffee Tank ต่อมาได้สร้างส่วนที่ 2 เพื่อเพิ่มพื้นที่นั่งให้ลูกค้าในชื่อ Yellow Mini ส่วนที่ 3 เป็นบ้านพักอาศัยซึ่งอยู่ถัดขึ้นไปบนเนินสูงในระยะมองเห็นได้จากโครงการ Yellow Mini ซึ่งเจ้าของบ้านต้องการให้เกิดความเป็นส่วนตัว และปลอดภัยให้มากที่สุด ในขณะที่ตั้งอยู่ท่ามกลางการเป็นพื้นที่สาธารณะ จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายในการออกแบบของทีมสถาปนิกจาก JOYS Architects ได้แก่ คุณสืบสาย จิตตเกษม คุณประเสริฐ อนันทยานนท์ และ คุณณัฏฐ์ ละเอียดอ่อน
ด้วยความตั้งใจของเจ้าของบ้านที่ต้องการรักษาต้นไม้เดิมไว้ให้อยู่ในระดับดินเดิม จึงยึดหลักการใช้ลักษณะทางธรรมชาติของที่ตั้งเป็นตัวกำหนดการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน และต้องการให้เกิดการเชื่อมต่อที่ลื่นไหล ไม่ปิดกั้นระหว่างภายนอกกับภายใน จึงออกแบบเป็นบ้านรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส 1 ชั้น ขนาดพื้นที่ใช้สอย 200 ตารางเมตร ที่แต่ละด้านมีคอร์ตของตัวเอง เปิดรับทิวทัศน์ของธรรมชาติจากภายนอกได้ทั้งในระยะใกล้และระยะไกล ใช้เชื่อมต่อพื้นที่ภายในระหว่างกันและกัน ให้รับรู้ได้ทั้งทางความรู้สึกและทางสายตา
ผู้ออกแบบตั้งใจสร้างสถาปัตยกรรมเพื่อกำหนดอาณาเขตพื้นที่การใช้งานที่ต่างกันบนพื้นที่สาธารณะของอาคารทั้ง 3 หลัง โดยใช้ศักยภาพของลักษณะเนินดินสูงต่ำ และองค์ประกอบผนังและหลังคาคอนกรีตเปลือย ช่วยในการกำหนดสเปซที่รองรับแต่ละกิจกรรม โดยร้านคาเฟ่ซึ่งเป็นอาคารสาธารณะ 2 หลังมีสเปซเปิดโล่งเพื่อต้อนรับ ในขณะที่บ้านพักอาศัยมีลักษณะภายนอกทึบตัน และมีขอบเขตของพื้นที่ใช้สอยที่ชัดเจนกว่า แต่ดูมีความต่อเนื่องกันด้วยการใช้ลักษณะพื้นผิวอาคารแบบเดียวกัน
คอร์ตทั้ง 4 เชื่อมต่อความสัมพันธ์ภายนอกและภายใน
ผู้ออกแบบเริ่มจากการวางผังของ 4 คอร์ตครอบลงบนต้นไม้และเนินดินที่มีอยู่เดิม แล้วจึงวางพื้นที่ใช้สอยในพื้นที่ว่างเพื่อเชื่อมฟังก์ชันแต่ละโซนและมุมมองทิวทัศน์ภายนอกให้สัมพันธ์กัน โดยวางให้ห้องรับแขกและห้องนอนอยู่ในแนวแกนกลางของบ้าน แล้วจึงวางห้องแต่งตัว ห้องทำงาน ห้องครัว ส่วนรับประทานอาหาร และห้องนอนแขก ให้อยู่เป็นวงรอบนอกของผัง โดยใช้คอร์ตทั้ง 4 เชื่อมความสัมพันธ์ภายนอกและภายในให้สามารถรับลมและแสงธรรมชาติได้ทุกพื้นที่
- คอร์ตที่ 1 และ 2 อยู่บริเวณด้านหน้าบ้านโดยคอร์ตที่ 1 เป็นเนินดินสูง 40 เซนติเมตร รอบคอร์ตติดกับโถงทางเข้าบ้าน ห้องรับแขก ห้องครัว มีความเป็นสาธารณะมากกว่าส่วนใช้งานอื่น
- คอร์ตที่ 2 เป็น Service Court ที่สูงเท่ากับระดับถนน เป็นส่วนซักล้าง ตากผ้า รวมถึงวางต้นไม้ประดับ และเชื่อมต่อกับห้องน้ำใหญ่
- คอร์ตที่ 3 เป็นเนินดินสูงสุดที่ระดับ 80 เซนติเมตร เป็นพื้นที่คั่นระหว่างส่วนรับประทานอาหารที่อยู่ด้านหน้าบ้าน กับห้องทำงานที่อยู่ด้านหลังบ้าน และมีบันไดขึ้นไปบนดาดฟ้า
- คอร์ตที่ 4 อยู่หลังบ้านด้านในสุด เดิมเป็นพื้นที่โล่งไม่มีต้นไม้ปกคลุม จึงขุดดินทำเป็นสระว่ายน้ำ คอร์ตนี้เชื่อมต่อกับพื้นที่ส่วนตัวมากที่สุด ได้แก่ ห้องทำงาน ห้องนอน และห้องน้ำ
แม้ภายนอกจะปิดทึบ แต่ภายในบ้านกลับให้ความรู้สึกเข้าถึงธรรมชาติในทุกพื้นที่ใช้งาน เสมือนอยู่ภายนอกบ้าน ที่ให้ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน
คอนกรีตเปลือยสะท้อนอัตลักษณ์
ผนังบ้านเป็นคอนกรีตเปลือยโชว์ผิวขรุขระทั้งภายนอกและภายใน เพื่อให้เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงระหว่างภายนอกกับภายใน การทำผนังนี้เกิดจากการทดลองหลายครั้งของผู้ออกแบบ ผนังส่วนใหญ่จะดูหนาและทึบตัน เพราะใช้ระบบโครงสร้างเสา-คาน ก่ออิฐฉาบปูนกั้นพื้นที่ใช้สอยต่างๆ แล้วปิดผิวทับผนังอีกชั้นด้วยเทคนิคการหล่อคอนกรีตในที่ ด้วยการตั้งไม้แบบให้ห่างจากผนังก่อประมาณ 3 เซนติเมตร แล้วขึงเทคอนกรีตลงไป วิธีนี้ทำให้เกิดพื้นผิวผนังเป็นรอยต่อของไม้แบบ และเกิดร่องรอยความไม่เรียบร้อย เช่น มีก้อนหินโผล่ออก มีโพรงเกิดจากฟองอากาศซึ่งเป็นเสน่ห์ของงานหล่อคอนกรีต
เปลี่ยนภาพจำของบ้านกลางป่าใหญ่ที่มักสร้างจากไม้ ด้วยมวลคอนกรีตสี่เหลี่ยมทึบตันคล้ายถ้ำที่ใช้หยุดพักยามเดินหลงป่า
ด้วยแนวคิดการสร้างต่อเนื่องระหว่างพื้นที่ภายในกับภายนอก การเล่นระดับพื้นภายในบ้านที่ให้สัมพันธ์กับระดับเนินดินภายนอก และใช้ศักยภาพของพื้นที่ที่เป็นเนินช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวบดบังมุมมองจากภายนอก ได้ผสานการรับรู้ความเป็นภายนอกบ้านและภายในบ้านเข้าด้วยกันจนแยกไม่ออก ให้ความรู้สึกโล่งกว้าง สบาย เหมือนนั่งอยู่นอกบ้านกลางป่า แต่รู้สึกปลอดภัยเหมือนอยู่ในบ้าน และเชื่อมต่อพื้นที่บ้านที่เป็นส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะที่พลุกพล่านของร้านกาแฟได้อย่างกลมกลืน
Detail Designs
เจ้าของ : คุณสืบสาย จิตตเกษม
ออกแบบ-ตกแต่ง : JOYS Architects
เรื่อง : อุราวัลย์ รุกขไชยศิริกุล
ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส
สไตล์ : Suntreeya