สวนหลวงสแควร์ หรือที่ชาวสยามรู้จักกันในชื่อ หมอน 47 เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวจีนและขายอะไหล่เก่าเซียงกงมายาวนาน ตั้งอยู่ในเขตที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อมต่อกับถนนจุฬาฯ ซอย 5 และจุฬาฯ ซอย 12 โครงการสวนหลวงสแควร์เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์และเติมเต็มไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยทางสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีวิสัยทัศน์ต้องการเปลี่ยนชุมชนเดิมแห่งนี้ให้กลายเป็นย่านธุรกิจแห่งใหม่ รวมถึงใช้เป็นสถานที่นัดพบและทำกิจกรรมร่วมกัน มีเป้าหมายเป็นกลุ่มนักศึกษาและคนทำงานรุ่นใหม่ โดยตั้งใจให้มีพื้นที่สำหรับกิจกรรมกลางแจ้งมากเป็นพิเศษ เริ่มจากรีโนเวตอาคารทุกหลังในพื้นที่ โดยเลือกเก็บโครงสร้างเดิมไว้ แล้วเน้นไปปรับเปลี่ยนเปลือกอาคารหรือฟาเซดแทน จากเดิมที่เป็นตึกแถวที่อยู่อาศัยก็เปลี่ยนเป็นร้านค้า ขยับขยายทางเดินให้กว้างขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ให้สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งสำหรับนักศึกษาได้
หนึ่งในไฮไลท์ของโครงการนี้คือ การเก็บโครงสร้างอาคารแล้วรีโนเวตเป็น “Architect Sculpture” โดยมี อาจารย์กชกร วรอาคม อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมภูมิสถาปนิกของโครงการเป็นผู้ออกแบบ โดยเลือกรื้ออาคารที่ทรุดโทรมให้เหลือแต่ตัวโครงสร้างที่ไม่ต้องมีภาระในการรับแรงมาก จากนั้นจึงทาสีแดงซึ่งเป็นสีมงคลของคนจีน เพราะต้องการจะสื่อถึงชุมชนชาวจีนที่เคยอยู่อาศัยในย่านนี้มานาน
อาจารย์กชกรกล่าวเพิ่มเติมในเรื่องการทำ Architect Sculpture ว่า “พอทำสคัลป์เจอร์ สิ่งที่ตามมาคือจะเกิดพื้นที่สาธารณะขึ้นมา และนี่เป็นหนึ่งในความต้องการของผู้ออกแบบที่ต้องการให้พื้นที่ส่วนนี้เกิดกิจกรรมระหว่างผู้ใช้งาน อีกทั้งใต้โครงสร้างสีแดงเรายังก่อปูนเป็นช่อง ๆ สำหรับใช้เป็นที่นั่งพักและชมกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยกัน และยังมีแนวคิดใช้วัสดุปูทางเดินที่น้ำสามารถซึมผ่านได้ ไม่ท่วมขังในกรณีที่เกิดฝนตกหนัก (Permeable Surface) และยังเปิดผนังชั้น 1 เชื่อมทางเดินระหว่างกันให้เดินวนได้ทั่วถึง (Loop Circulation) ตลอดทั้งโครงการด้วย”
เนื่องจากโครงการสวนหลวงสแควร์เป็นโครงการที่รีโนเวตกลุ่มอาคารห้องแถวสองชั้นใหม่ทั้งหมด ฉะนั้นการก่อสร้างหน้างานจึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะส่วนของอาคารที่รีโนเวตเป็นร้านค้า เพราะต้องใช้โครงสร้างเดิมเกือบทั้งหมด ส่วนที่ยากที่สุดคือต้องตรวจสอบโครงสร้างเดิมให้ดี และการออกแบบส่วนต่อเติมเพื่อให้เหมาะสมกับโครงสร้างเก่า โครงการนี้จึงถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้ออกแบบก็ว่าได้ และอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือจะดึงคนเข้ามาทำกิจกรรมบนพื้นที่กลางแจ้งอย่างไรให้มากขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่มักคุ้นชินกับการเดินห้างสรรพสินค้ามากกว่า รวมถึงในส่วนของการออกแบบที่ต้องรีไซเคิลกันใหม่ทั้งหมดตั้งแต่งานสถาปัตยกรรม (Architect Scale) ไปจนถึงงานรายละเอียด (Detail Scale) อย่างป้ายสัญลักษณ์ ต่าง ๆ ในอาคารกันเลยทีเดียว
แน่นอนว่า นอกจากเรื่องการเก็บรักษากลิ่นอายชุมชนเดิมให้คงอยู่ โดยถ่ายทอดออกมาให้ดูใหม่ขึ้น สนุกขึ้นและตอบโจทย์เรื่องฟังก์ชันการใช้งานแล้ว การได้เห็นรอยยิ้มอย่างมีความสุขเมื่อเข้ามาใช้พื้นที่ถือว่าเป็นคำตอบที่แท้จริงของการรีโนเวตครั้งนี้ เพราะนั่นแปลว่าพื้นที่แห่งนี้ได้สร้างช่วงเวลาดี ๆ ให้เกิดขึ้นกับผู้คนแล้วนั่นเอง