ฮ็อปส์ ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตคราฟต์เบียร์ เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นเมื่อกระแสคราฟต์เบียร์เป็นที่นิยมและรู้จักกันแพร่หลาย
ฮ็อปส์ หากคุณเป็นคนที่หลงใหลการดื่มเบียร์ เมื่อกระแสคราฟต์เบียร์เป็นที่นิยมและรู้จักกันแพร่หลายแล้ว วัตถุดิบสำคัญในการผลิตคราฟต์เบียร์อย่าง “ฮ็อปส์” ก็เริ่มเป็นที่สนใจและเริ่มรู้จักตามไปด้วย คุณอ๊อบและคุณอาร์ต จึงศึกษาเรื่องฮ็อปส์อย่างจริงจัง เพื่อนำมาใช้ทำคราฟต์เบียร์และกลายมาเป็นฟาร์มฮ็อปส์แห่งแรกในประเทศไทย
“การปลูกฮ็อปส์ต้องดูว่าเราจะทำเบียร์อะไร เบียร์แต่ละชนิดใช้ ฮ็อปส์ ไม่เหมือนกัน ที่เมืองนอกจะมี Contract Farming ว่าโรงเบียร์นี้จะผลิตเบียร์ ขนิดนี้อีก 3 ปีข้างหน้า ต้องใช้ฮ็อปส์ประมาณเท่าไร เพราะต้องปลูกสายพันธุ์นั้น ให้เพียงพอ ชนิดที่ฮิตมากก็มักจะไม่พอในตลาด เบียร์มีช่วงเวลานิยมเหมือนกัน ตอนนี้ชอบรสนี้ อีกปีสองปีก็อาจจะต้องเปลี่ยนไปปลูกสายพันธุ์อื่น ถึงแม้ว่า ฮ็อปส์จะมีอายุ 20 – 30 ปี แต่ส่วนใหญ่อยู่ไม่ถึงหรอก เพราะคราฟต์เบียร์มันก็คือความวาไรตี้ของรสชาติ กลิ่น ที่ต้องคอยเปลี่ยนตามลูกค้า ตอนนี้เราคัดสายพันธุ์ดีๆ มาได้ 4 -5 ตัว เช่น Cascade, Mt. Hood, Galena ลองทำไป 2 -3 รอบ แจกให้คนทำคราฟต์เบียร์ไปลอง ผมเทสต์เองนิดๆ หน่อยๆ รสชาติก็โอเค”
โรงเรือนหลังคาแบบฟันเลื่อยหรือหลังคา ก ไก่ (Sawtooth Greenhouse) สูง 5.20 เมตร โครงเหล็กกัลวาไนซ์ เมื่ออากาศร้อนลอยตัวขึ้นจะระบายออกบริเวณ ที่หลังคาโค้งซ้อนเหลื่อมกัน ด้านหน้าโรงเรือนมีประตูชั้นแรกที่ช่วยป้องกันแมลง ก่อนเปิดเข้าโรงเรือนโดยตรง ผนังโรงเรือนกรุตาข่าย 32 ตา หลังคามุงพลาสติกยูวี 200 ไมครอน ช่วยป้องกันฝน จึงลดปัญหาเชื้อราได้
ทำเกษตรแบบ Smart Farming ฟาร์มฮ็อปส์แห่งนี้ปลูกในโรงเรือนทั้งหมด ดีไซน์โรงเรือนให้สูงกว่าปกติเพื่อให้ต้นเลื้อยได้ยาวที่สุด ส่วนในต่างประเทศนิยมปลูกกลางแจ้ง โดยตั้งเสาคล้ายเสาไฟฟ้าขึงสะลิงช่วยพยุงต้น “เราปลูกลงกระถางเพื่อควบคุมปริมาณสารอาหารและไม่ให้ รากแผ่กว้าง เพราะโดยธรรมชาติเส้นผ่านศูนย์กลางของรากประมาณ 2 เมตร ที่อเมริกาเลี้ยงเหมือนองุ่นเลย แตกใบตอนฤดูใบไม้ผลิ พอเข้าฤดูใบไม้ร่วงออกดอก พอเก็บเกี่ยวเสร็จตัดเหลือ 1 เมตร ทิ้งไว้ให้ โอเวอร์วินเทอร์ โดนหิมะกลบต้นก็จะแห้งอยู่ในดิน รอแตกใบใหม่ในฤดู ถัดไป ทำให้เก็บเกี่ยวได้ปีละครั้งเท่านั้น แต่ของผมพอตัดแต่งเสร็จ อีกสองอาทิตย์ก็แตกใบใหม่ เพราะฉะนั้นปีหนึ่งเราเก็บได้ 3 – 4 รอบ”
และเพราะคุณอ๊อบเรียนมาทางสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เขาจึงนำระบบคอมพิวเตอร์มาเป็นผู้ช่วยในการจัดการฟาร์ม เช่น ระบบพ่นหมอก ตั้งเวลาให้ปุ๋ยผสมกับน้ำ และให้น้ำอัตโนมัติ โดยเก็บข้อมูลในด้านต่างๆ ทั้งความเร็วลม อุณหภูมิ อากาศ ความชื้น สัมพัทธ์ แล้วนำมาวิเคราะห์สภาพอากาศในระดับ Microclimate เพื่อ วางแผนปลูกพืช เช่น ฝนตกบ่อยช่วงไหนเพื่อกำหนดช่วงเวลาฉีดยา ป้องกันเชื้อรา การกำหนดวันออกดอกของ ฮ็อปส์ เพราะถ้าออกดอก ช่วงที่ร้อนมากๆ ดอกจะไหม้ได้
อ็อปส์สดดีอย่างไร?
“เราชอบเบียร์เลยอยากมีของสดใช้ เพราะตอนนี้ฮ็อปส์นำเข้า 100% เป็นของแห้ง ซึ่งของแห้งกับของสดรสชาติและกลิ่นไม่เหมือนกัน ไม่ได้บอกว่าอันไหนอร่อยกว่า ฮ็อปส์ที่เราปลูกเองจะมีรสชาติและกลิ่นที่สดใหม่กว่า แล้วการปลูกแต่ละที่ก็จะให้รสไม่เหมือนกัน เช่น ฮ็อปส์ที่อเมริกากับยุโรปสายพันธุ์เดียวกันยังให้รสชาติไม่เหมือนกัน เลยคิดว่าปลูกที่ไทยมันก็น่าจะต่างออกไป อาจจะดีกว่าหรือไม่ดีกว่า เป็นเรื่องท้าทายดี แล้วยังไม่ค่อยมีคนปลูก จึงอยากลองให้สำเร็จครับ”
อ็อปส์ใช้เวลาออกดอก 3 – 4 เดือน ช่วง 2 เดือนแรกจะเริ่มออกดอก อีก 2 เดือนจึงเริ่มเก็บได้ เมื่อเก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้วตัดให้เหลือ 1 เมตร แล้ว จึงเลี้ยงใหม่ ฮ็อปส์เป็นพืชที่เจริญเติบโตเร็ว บางวันอาจจะเห็นว่าต้นสูงเพิ่มขึ้นถึง 1 ฟุต เมื่อเลี้ยงต้นได้สูงประมาณเกือบ 3 เมตร (ประมาณ 1 เดือนหลังตัดแต่ง) ต้องจับต้นเอียงเพื่อให้ต้นเติบโตทางยาวได้เต็มที่ ความสูงโรงเรือนประมาณ 5.20 เมตร การจับต้นเอียงจะได้ต้นอปส์ยาวถึง 6 เมตร จากนั้นคอยพันยอด ให้เรียบร้อย ต้นที่จับเอียงแล้วประมาณ 1 – 1.5 เดือนจะเริ่มออกดอก โรงเรือนหนึ่งหลังปลูกอ็อปส์ได้ประมาณ 140 ต้น ให้ผลผลิตเฉลี่ยต้นละ 1 กิโลกรัม
เจ้าของฟาร์ม : คุณอ๊อบ – ณัฐชัย และ คุณอาร์ต – ธีรภัทร อึ้งศรีวงศ์
เรื่อง : เกซอนลา
เรียบเรียง : อธิวัฒน์ ยั่วจิตร
ภาพ : ณัฐวัฒน์ ส่องแสง , Deva Farm
บทความที่เกี่ยวข้อง
สมุนไพรไล่แมลง พร้อมสูตรผสมทำใช้เองง่ายๆ
สมุนไพรฝรั่ง ที่นิยมปลูกในเมืองไทย
ติดตามไอเดียบ้านและสวนเพิ่มเติมได้ทาง : บ้านและสวน Baanlaesuan.com