วิธีเปลี่ยนพื้นปูนหรือพื้นคอนกรีตให้เป็นสวน แบบไม่ต้องรื้อ
การมีพื้นที่ดาดแข็ง ไม่ว่าจะเป็นดาดฟ้า ระเบียง ลานปูน หรือลานจอดรถที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อยู่รอบบริเวณบ้านมาก ๆ จะส่งผลต่อสภาวะน่าสบายของผู้อยู่อาศัย เพราะ ทำให้เกิดความร้อนและแสงสะท้อน
ซึ่งหากอยากเปลี่ยนพื้นที่ที่แห้งแล้งเหล่านี้ ให้กลายเป็นพื้นที่ที่ชอุ่มไปด้วยสวนเขียว ๆ บ้านและสวน ก็มีวิธีหรือไอเดีย การจัดสวนบนพื้นปูน มาแนะนำกัน
1.สวนกระถาง
วิธีที่ง่ายที่สุดใน การจัดสวนบนพื้นปูน หากไม่สามารถทุบ เจาะ หรือเซาะได้ ก็ควรจัดเป็นสวนกระถาง ซึ่งหากจัดเป็นสวนกระถาง ก็สามารถนำกระถางขนาดต่าง ๆ มาวางตกแต่งเพิ่มเติม จัดมุมให้สวยได้ โดยเลือกกระถางจากวัสดุประเภทเดียวกันหลาย ๆ ขนาด ในระดับความสูงต่างกัน เช่น กระถางดินเผา ปลูกต้นไม้สูงเป็นไม้ประธาน วางกระถางเล็ก ๆ ตกแต่งเพิ่มเติม หรือหากอยากใช้กระถางต่างวัสดุ ก็อาจ เลือกปลูกพรรณไม้ประเภทเดียวกันแล้วจัดธีมก็ได้ เช่น นำภาชนะเหลือใช้ ในบ้าน อย่างกระป๋องโลหะ กระป๋องเคลือบสีถลอก ตะกร้าสาน ปลูกไม้ใบ จัดวางเป็นกลุ่มร่วมกัน การจัดวางเป็นกลุ่มจะช่วยสร้างจุดสนใจได้ดีกว่า การวางแบบกระจาย โดยเฉพาะในพื้นที่กว้าง
นอกจากนี้ ยังอาจปูหญ้าเทียม พื้นไม้ หรือติดตั้งแผ่นทางเดินให้มีดีไซน์ลวดลายแปลกตา เพื่อช่วยกรองแสง พร้อมจัดวางเฟอร์นิเจอร์เอ้าท์ดอร์ อย่าง ชุดโต๊ะเก้าอี้ ม้านั่ง ชิงช้า และตกแต่งเพิ่มเติมน้ำพุหรืออ่างน้ำนก เพื่อให้กลายเป็นมุมนั่งเล่นน่ารัก ๆ ที่ช่วยเพิ่มความสดชื่นให้แก่บ้าน
2.การกั้นขอบ
พื้นที่ดาดแข็งหรือลานปูนส่วนใหญ่มักจะต่อกับสนามหญ้า หรือกำแพงผนังอย่างน้อยหนึ่งด้าน สำหรับการปูหญ้าหรือปลูกไม้พุ่มทั่วไป จึงสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการกั้นขอบเขต โดยอาศัยผนังเป็นกำแพงกันดินในด้านนั้น ส่วนด้านอื่นก็ทำคันกั้นดิน หรือทำดินเอียงลาดไปบรรจบกับดินเดิม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพจริงของแต่ละพื้นที่ที่เราออกแบบ จากนั้นให้ถมดินทับสูงอย่างน้อย 30 เซนติเมตร สำหรับไม้พุ่ม หรืออย่างน้อย 60 เซนติเมตร สำหรับไม้ยืนต้น และอาจถมเผื่อไว้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ของความสูง (ความลึกที่ถม) เช่น หากต้องการถมดินสูง 50 เซนติเมตร ก็ต้องถมเพื่อเป็น 55 เซนติเมตร เพื่อป้องกันการยุบตัว ซึ่งสำหรับดินถมนั้น แนะนำให้เลือกใช้หน้าดิน เพราะจะเป็นดินปลูกต้นไม้ไปในตัว
3.เจาะหรือเซาะบางส่วน
การปลูกไม้ยืนต้นอาจต้องขุดเจาะพื้นซีเมนต์ (คอนกรีต) เดิมออกบางส่วน เพื่อให้ตุ้มดินฝังในดินและรากเดินได้ โดยอาจทำเป็นช่องเปิดสำหรับปลูกต้นไม้ หรืออาจทำเป็นโครงสร้างร่วมกับกระบะปลูกต้นไม้ เพื่อให้ต้นไม้เติบโตในพื้นที่ที่กำหนดไว้ ควบคุมรากต้นไม้ให้ชอนไชอย่างเป็นระเบียบ และไม่กระทบต่อโครงสร้างหรือสิ่งก่อสร้างโดยรอบ ซึ่งกระบะปลูกจะมีทั้งแบบมีก้นเป็นคอนกรีตด้านล่างที่มีท่อระบายน้ำบริเวณก้นกระบะปลูกด้านล่างสุด และกระบะปลูกหล่อคอนกรีตที่ทำเป็นเพียงขอบด้านข้างเท่านั้น
การเลือกปลูกต้นไม้ใหญ่ควรเลือกต้นไม้ที่มีระบบรากที่ไม่แผ่กว้างมากเกินไปและไม่ลอยเหนือดิน อย่างไม้ประเภทปาล์ม น้ำเต้าต้น ลั่นทม ไทรใบสัก ยางอินเดีย หูกระจง แคนา ซึ่งเราสามารถคาดเดาขนาดของรากข้างใต้ได้จากการแผ่ของกิ่ง และควรหลีกเลี่ยงไม้ใหญ่ เช่น มะม่วง ลำใย ขนุน แคนา เพราะ เป็นต้นไม้ที่มีรากลึก และกินวางกว้าง จึงอาจทำลายพื้นปูน ทำให้โครงสร้างได้รับความเสียหายได้ นอกจากนี้ ยังอาจเลือกไม้พุ่มขนาดใหญ่ที่ปลูกทดแทนไม้ยืนต้น อย่าง กะพ้อ แก้ว แก้วเจ้าจอม จั๋งจีน จันทน์ผา พุดกังหัน โมก หมากเขียว หมากเหลือง ได้เช่นเดียวกัน