การ รีโนเวตบ้านจัดสรร หลังนี้ มีนิยามมาจากแนวคิดทรอปิคัลหรืออากาศแบบเขตร้อนชื้น ผสมผสานอยู่ในการการออกแบบ เพื่อให้ผู้อาศัยสัมผัสกับบรรยากาศธรรมชาติ เเละเข้าถึงภาวะน่าสบาย
นั่นทำให้ คุณธฤต ทศไนยธาดา สถาปนิกแห่ง Design In Motion ผู้มารับหน้าที่ตีความทางสถาปัตยกรรม ภายใต้กรอบของแปลนบ้านที่เจ้าของมีส่วนร่วมในการจัดวางมาก่อนเบื้องต้น เพื่อให้ได้ฟังก์ชันสอดคล้องกับวิถีชีวิตของตัวเองมากที่สุด ก่อนส่งต่อให้สถาปนิกออกแบบในเรื่องของพื้นที่เเละความสวยงาม เพื่อ รีโนเวตบ้านจัดสรร ให้ออกมาเป็นบ้านสไตล์ทรอปิคัลอันอบอุ่นเเละน่าอยู่อาศัยในทุกฤดูกาลหลังนี้
รีโนเวตบ้านจัดสรร สเปซใหม่ที่น่าสนใจภายใต้ข้อจำกัดของโครงสร้างเดิม
ก่อนการรีโนเวต บ้านหลังนี้มีพื้นที่ใช้งานที่เรียงต่อเนื่องกัน โดยล้อมคอร์ตตรงกลางบ้านเอาไว้ เเละมีพื้นที่จอดรถเกือบเต็มเเนวบริเวณทางเข้าคล้ายกับผังบ้านจัดสรรโดยทั่วไป สิ่งที่คำนึงถึงในการรีโนเวตบ้านหลังนี้คือการคงโครงสร้างเดิมของบ้านไว้ให้ได้มากที่สุด
เมื่อฟังก์ชันเดิมร้อยเรียงต่อกันอย่างน่าอึดอัด เพราะต้องเดินผ่านแต่ละห้องเพื่อไปยังอีกห้อง สถาปนิกจึงเกิดแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนพื้นที่ชั้น 1 ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เเต่ยังเกิดประโยชน์ในเชิงใช้สอยภายใต้คอนเซ็ปต์ทรอปิคัลที่เจ้าของตั้งใจไว้ ด้วยการลดขนาดพื้นที่ในแต่ละฟังก์ชันลง ได้แก่ ห้องนั่งเล่น ห้องทำงาน เเละห้องครัว เพื่อเเบ่งพื้นที่บางส่วนให้เป็นทางเดินรอบคอร์ตแบบกึ่งกลางแจ้ง การเเบ่งพื้นที่ออกจากกันอย่างชัดเจน ทำให้เเต่ละห้องสามารถเปิดช่องเปิดหรือหน้าต่างได้ทุกด้าน เนื่องจากไม่มีผนังห้องอื่นมาบดบัง ลมจึงสามารถไหลเวียนเข้าไปในทุกห้องได้อย่างสะดวก ช่วยลดความอึดอัดของพื้นที่ เเละเปิดมุมมองเห็นวิวสวนภายในคอร์ตยาร์ดเเละสวนรอบๆ บ้านได้อย่างเต็มที่
ช่องเปิดสร้างความสัมพันธ์ภายนอกและภายใน
พื้นที่คอร์ตเดิมสถาปนิกยังคงเก็บไว้เเละปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นสวนสไตล์ทรอปิคัล ปลูกต้นไม้ประเภทร้อนชื้นอย่างเฟิน กก จั๋ง เฮลิโคเนีย เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศของป่าฝน การออกแบบช่องเปิดของชั้น 1 จึงทำบานเปิดที่สามารถเปิดโล่งได้มากเพื่อรับลม เเสงแดด เเละวิวสวน ให้สอดคล้องไปกับพื้นที่ชานนั่งเล่นรอบบ้าน บานเลื่อนอะลูมิเนียมจึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม เนื่องจากสามารถเปิดได้กว้างเต็มที่ และคุมโทนสีอ่อนของผนังและเฟรมอะลูมิเนียมสีเทาอ่อน
ชั้น 2 ประกอบด้วยห้องนอนหลักเเละห้องนอนเเขก ซึ่งได้กลายเป็นพื้นที่ของเหล่าเเมวทั้ง 5 ตัวไปเเล้วเรียบร้อย รวมถึงมีพื้นที่นั่งเล่นหรือแฟมิลีรูมสำหรับนั่งพักผ่อนหย่อนใจ เเละพื้นที่ระเบียงนั่งเล่นภายนอก การทำช่องเปิดขนาดใหญ่จึงไม่มีความจำเป็นมากนักสำหรับพื้นที่ส่วนตัว สถาปนิกจึงออกแบบช่องเปิดของชั้น 2 ให้มีขนาดเล็กลง เเละเลือกใช้บานไม้เเทนการใช้อะลูมิเนียม เพื่อให้บรรยากาศมีกลิ่นอายความเป็นพื้นถิ่นเจืออยู่
ปรับเปลี่ยนเล็กน้อย เเต่ได้ประโยชน์ใช้สอย
แต่เดิมหน้าบ้านเป็นพื้นที่จอดรถเต็มเเนวทางเข้า จึงมีการปรับเเนวการจอดรถเป็นตอนลึกเข้าไปในบ้านเเทน ทำให้พื้นที่บริเวณหน้าบ้านนั้นเปิดโล่ง ช่วยเน้นมุมมองทางเข้าบ้านให้สวยงามมากยิ่งขึ้น มุมมองจากฝั่งหน้าบ้านจึงเปิดเห็นพื้นที่นั่งเล่นกึ่งภายนอกหรือระเบียงจากชั้น 2 ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งปรับเปลี่ยนฟังก์ชันเดิมจากห้องนอนมาเป็นพื้นที่นั่งเล่นเเทน เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเจ้าของบ้านมากยิ่งขึ้น สถาปนิกตั้งใจออกแบบพื้นที่ส่วนนี้โดยถอดองค์ประกอบมาจากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เน้นโชว์ความสวยงามของโครงสร้างอย่าง ค้ำยัน จันทัน เเละที่นั่งไม้ เพื่อลดความเเข็งกร้าวของบ้านเดิม สร้างบรรยากาศให้บ้านเข้าถึงได้ง่าย เเละไม่โมเดิร์นมากจนเกินไป
บันไดเดิมซึ่งอยู่ฝั่งหน้าบ้านยังคงเก็บไว้ เเต่ออกแบบให้มีความโปร่งมากขึ้น โดยการใช้กระจกบานใหญ่เเทนการเป็นผนังทึบตัน เเสงธรรมชาติจึงสามารถเข้าถึงได้ เเละใช้ระเเนงไม้ติดตายซ้อนด้วยมุ้งกันยุงอีกหนึ่งชั้น เพื่อเปิดรับลมธรรมชาติให้ไหลเวียนเข้าสู่ภายในตัวบ้าน พร้อมทำโถงบันไดเพิ่มอีกตำแหน่งบริเวณด้านหลังบ้าน เพื่อความสะดวกในการใช้งาน ช่วยให้เเบ่งโซนส่วนตัวภายในบ้าน เเละพื้นที่กึ่งภายนอกให้เเยกออกจากกันอย่างชัดเจน
สีสันที่ได้เเรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ
สีสันของบ้านเป็นหัวใจอย่างหนึ่งที่ช่วยสร้างบรรยากาศความเป็นทรอปิคัล โทนสีไม้นุ่มนวลจึงกลายเป็นธีมสีหลักของบ้านหลังนี้ เนื่องจากเลือกใช้ไม้สักเกือบทั้งหมดตามความชื่นชอบของเจ้าของบ้าน โดยนำมาปูพื้นเป็นส่วนใหญ่เเละฝ้าเพดาน สถาปนิกตั้งใจออกแบบโทนสีบ้านให้มีความใกล้เคียงกับสีสันของธรรมชาติ โดยการเเบ่งโทนสีออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจน เพื่อให้สอดคล้องไปกับภาษาในการออกแบบของช่องเปิดด้วย ชั้น 1 เลือกใช้เป็นผนังโทนสีขาวนวลคู่กับเฟรมกระจกอะลูมิเนียมบานใหญ่สีเทาอ่อน เเละชั้น 2 เป็นผนังสีอมน้ำตาลเอิร์ธโทนคู่กับสีบานหน้าต่างไม้สักในขนาดสเกลน่ารักน่าใช้
สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เเละช่วยสร้างภาพรวมของบ้านให้มีกลิ่นอายบ้านทรอปิคัลได้อย่างเต็มที่นั่นก็คือหลังคา ซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากมุมมองฝั่งหน้าบ้าน สถาปนิกเก็บโครงสร้างเดิมไว้ เเละเปลี่ยนเพียงวัสดุมุงหลังคาเป็นแผ่นหลังคาไม้ซีดาร์ เพื่อสร้างบรรยากาศภาพรวมของบ้านให้ดูอบอุ่น สบายตา จากการเเต่งเติมด้วยสีสันจากธรรมชาติ
ความงามของบ้านหลังนี้เกิดจากการพยายามใกล้ชิดกับธรรมชาติให้มากที่สุด ทั้งเเสงแดดพอเหมาะ ลมที่ไหลเวียนได้ดี เเละสวนสีเขียวที่สามารถเข้าถึงได้จากทุกมุมห้อง บ้านจึงมอบความรู้สึกเป็นกันเอง เข้าถึงได้ง่ายเเละเชื้อเชิญให้เข้าไปพักผ่อนตามอัธยาศัย ภายใต้พื้นที่โอบล้อมด้วยบรรยากาศอันอบอุ่น น่าอยู่อาศัยในทุกฤดู
เจ้าของ : คุณณัฐพงษ์ ศรีสุโข และคุณพัทนพงษ์ วงศ์หาญ
ออกแบบสถาปัตยกรรม – ออกแบบตกแต่งภายใน : Design In Motion
เรื่อง : Nantagan
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล