EARLY BKK ประกอบขวดแก้ว ผสมกล่องนม สู่คาเฟ่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

EARLY BKK คาเฟ่ขนาดกะทัดรัดที่ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนน ภายในหมู่บ้านสัมมากรแห่งนี้ แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ทว่าอัดแน่นไว้ด้วยดีไซน์และความตั้งใจให้ที่นี่เป็นหมุดหมายของผู้คนทั้งในหมู่บ้านและคนทั่วไปได้เข้ามาเสพสเปซ พร้อมจิบกาแฟ ทานอาหาร และได้แรงบันดาลใจกลับบ้านกันคนละเล็กละน้อย

“อย่างแรกเลยคือเราสองคนสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เลยอยากเอาวัสดุทดแทนเหล่านี้เอามาใช้ ให้คนเห็นว่ามันสามารถใช้ได้จริง มันทน แล้วก็ด้วยพื้นฐานเดิมคุณเคชอบทํากาแฟด้วย ส่วนกิ๊ฟชอบทําอาหาร มันก็เลยรวมกัน ออกมาเป็นคาเฟ่ที่มีอาหารด้วยค่ะ แล้วก็ตกแต่งด้วยวัสดุทางเลือก” –คุณกิ๊ฟ

ฟาซาดที่เกิดจากเหล็กวงกลมมาเชื่อมต่อกัน อีกหนึ่งความท้าทายของช่างที่ต้องวัดระยะให้ทั้งสองระนาบเท่ากัน เพื่อที่จะสามารถสอดขวดแก้วได้อย่างพอดี

จุดเริ่มต้นของคาเฟ่แห่งนี้ที่สองเจ้าของอย่างคุณกิ๊ฟ-กรัณฑารณ์ ธนะกวินวัจน์ และ คุณเค-เคฑิตา ชัยศักดิ์ศิริ เล่าให้เราฟังถึงที่มาของคาเฟ่จิ๋วแต่แจ๋ว ที่โดดเด่นตั้งแต่ฟาซาดโครงเหล็กพาดเฉียงที่เติมช่องว่างด้วยขวดแก้วสีชาช่วยเพิ่มมิติให้กับพื้นที่ภายในยามแสงธรรมชาติส่องลอดผ่าน ก่อนจะตกกระทบลงบนเคาน์เตอร์เทอร์ราซโซผสมเศษแก้ว ผนังจากกล่องนม และพื้นจากอิฐทำมือ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นฝีมือการออกแบบโดยทีมนักออกแบบจาก space+craft ถ่ายทอดร่วมกับช่างที่ต้องทำแต่ละส่วนราวกับเป็นงานคราฟต์

“จากตอนแรกที่เราบรีฟให้ทีมออกแบบ ด้วยความที่เคยมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับออกแบบมาก่อน เลยมีคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนแต่แรก แล้วก็ให้โจทย์ไปว่าอยากได้วัสดุทดแทนพวกนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในแบบ  ให้มันกลายเป็นมากกว่าร้านคาเฟ่ทั่วไป ซึ่งก็ใช้เวลาออกแบบกันอยู่นานเหมือนกันค่ะ” -คุณกิ๊ฟ

ฟาซาดช่วยกรองความร้อนที่จะเข้าสู่พื้นที่ภายในโดยตรง พร้อมสร้างให้เกิดเงาตกกระทบ เพิ่มมิติให้กับร้าน
ท็อปเคาน์เตอร์เทอร์ราซโซหนา 25 มิลลิเมตร  ที่สามารถทนความร้อน ความชื้น ทำความสะอาดง่าย ตอบโจทย์การใช้งาน

วัสดุใกล้ตัว หาง่าย เข้าถึง

เมื่อโจทย์สุดท้าทายซึ่งมีสารตั้งต้นเป็นวัสดุทางเลือกดังกล่าว จึงนำมาสู่การเฟ้นหาต้นตอ แหล่งผลิต และวิธีการเพื่อให้วัสดุเหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงในคาเฟ่

“หลักๆ เลยก็มีตัวแผ่นกล่องนมค่ะ เราใช้เวลาหาวัสดุพวกนี้อยู่เป็นปี พอไปเจอก็เลยคุยกับโรงงานว่าเราจะเอาอันนี้มาใช้นะ เราก็เหมาล็อต จองล็อตไว้ตั้งแต่ก่อนที่จะรู้ด้วยซ้ำว่ามันทําได้หรือเปล่า? เพราะเรารู้สึกว่าถ้ามันหายไปมันอาจจะหาไม่ได้อีก เพราะโจทย์ที่เราตั้งใจคือการใช้วัสดุที่เข้าถึงได้ง่าย เราจึงมองว่าการใช้กล่องนมน่าจะเป็นแกนหนึ่งที่คนเข้าถึง เห็นแล้วก็ลิงค์กัน  แล้วก็บอกเขาว่าแกนอื่นๆ ในการดีไซน์ก็ขอให้ใช้พวกเครื่องดื่มเช่นกัน  เคอยากให้มันเป็นสิ่งที่เรานําอัพไซเคิลที่คนเดินออกจากร้านแล้วเห็นภาพเข้าใจง่ายค่ะ มันเป็นขยะที่อยู่ทั่วไปตามบ้านเรือน ตามร้านอาหารค่ะ” – คุณเค

นอกจากพื้นผิวขนาดใหญ่อย่างผนังที่กรุด้วยแผ่นกล่องนมแล้ว ส่วนของท็อปเคาน์เตอร์บาร์ซึ่งเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของร้านที่ทุกคนต้องมายืนสั่งเครื่องดื่มกันตรงนี้ สะดุดตาด้วยพื้นผิวแบบหินขัดที่ประปรายไปด้วยเศษแก้วสีชา วัสดุตัวเดียวกับขวดแก้วที่ใช้ทำฟาซาด ถูกนำมาทุบให้ละเอียดแล้วผสมกับ เสือ เดคอร์ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ขาว งานเทอร์ราซโซ แล้วมาหล่อขึ้นรูปที่หน้างาน จากนั้นก็ทำการขัดเพื่อเปิดผิวหน้าเกิดเป็นพื้นผิวเทอร์ราซโซ ที่ใช้วัสดุเหลือทิ้งแทนการผสมหินแบบปกติได้มากถึง 80% ซึ่งอีก 20% ยังคงใช้หินปกติเพื่อคงความแข็งแรงและยึดเกาะของวัสดุ ต่อเนื่องไปกับตัวฐานเคาน์เตอร์ที่ทำจากปูนซีเมนต์ขาวคอนกรีตปั๊มลายขวด

จริงๆ ขั้นตอนการทำฐานเคาน์เตอร์ เราก็ไม่ได้รู้ลึกมากตอนแรก เราก็ต้องทำงานร่วมกับผู้รับเหมา หมายถึงว่าให้เขาไปทําการบ้านมาว่าทํายังไงได้บ้าง ให้เขาทดลองขึ้นรูปก่อนที่โรงงานว่าถ้าทำแบบนี้อยู่ได้กี่วัน ถ้าต้องเจอความร้อน เจอความชื้น จะแตกไหม ขนย้ายมาจะแตกหรือเปล่า ถ้าขนย้ายจากโรงงานเดินทางมาที่นี่ ระหว่างทางจะแตกไหม ถ้าแตกจะซ่อมได้หรือเปล่า อะไรอย่างนี้  ส่วนตัวพื้นผิวเทอร์ราซโซ ก็ให้เขาลองจากแผ่นเล็กๆ ก่อน พอได้ปุ๊บจากชิ้นเล็กๆ ก็ค่อยๆ ให้เขาทําชิ้นใหญ่ขึ้น  เพราะสุดท้ายแล้วทํามาเป็นแผ่นแล้วมาวางไว้ตรงนั้นไม่ได้ ก็คือกิ๊ฟต้องให้ช่างมาเทปูนที่นี่ แล้วก็ลงวัสดุทั้งขวดสีชาแล้วก็พวกหิน ขัดใหม่เลย ก็เป็นการทำหน้างาน ถ้าดูมันจะมีส่วนที่มันอาจจะไม่เท่ากันอยู่ แต่ไม่เป็นไร เพราะว่าเรายอมรับได้ แล้วผลลัพธ์ที่ได้ก็ดูเป็นงานคราฟต์ที่เราชอบ” คุณกิ๊ฟ

ทุกพื้นที่ของร้านต้อนรับสัตว์เลี้ยง พร้อมมีตะขอให้ยืดกับสายจูงของน้องๆ ได้สะดวก
ปูพื้นด้วยอิฐมอญ ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดความร้อนและกักเก็บความเย็น ทำให้พื้นที่ชั้นสองที่มีการเปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศเป็นเวลา ยังรู้สึกสบาย เสริมด้วยการระบายอากาศเมื่อเปิดหน้าต่าง

Reduce ที่ควรมาก่อน Recycle

“ถ้าย้อนกลับมามองที่แนวคิดของเราสองคนก็คือเราอยากจะลดก่อนเริ่ม ลดในที่นี้ก็คือลดขยะ ตอนที่จะสร้างคาเฟ่นี้เราก็กลับมานั่งคิดว่า  การที่สร้างคาเฟ่ขึ้นมามันเป็นขยะอยู่แล้ว แต่เราจะทํายังไงดีให้มันเกิดขยะให้น้อยที่สุด ถ้าพูดว่าไม่เกิดเลยคงเป็นไปไม่ได้ เราก็เลยเอากลับมานั่งคิดว่างั้นเราจะเอาขยะนี่แหละมาทําร้าน แล้วก็อยากทดลองให้ลูกค้าดูด้วยว่ามันใช้ได้จริงนะ มันทนนะ
            ซึ่งถ้าจะให้แนะนำคนที่อยากเปิดร้านแนวนี้ ก็อยากให้กลับไปคิดก่อนว่ามีสิ่งไหนที่เราจะลดได้บ้าง เดี๋ยวนี้คนไปโฟกัสที่การรีไซเคิล  จริงๆ แล้วอาจจะย้อนกลับมาหนึ่งสเต็ป เคว่าต้องโฟกัสที่ความคิดก่อนที่จะรีไซเคิล ถ้าเรา Rethink เราอาจจะไม่ต้องไปถึงจุดที่เราต้องมานั่งรีไซเคิล แล้วทุกคนก็มองว่ารีไซเคิลมันยุ่งยาก จริงๆ เเค่เราคิดใหม่ว่าเราลดอะไรได้บ้าง ไม่ต้องเหมือนร้านเราก็ได้ ไม่ต้องเอาขยะมาทําก็ได้  แต่แค่ลองไปนั่งทบทวนว่าตัวเองจะทําร้านแบบไหน  ลดอะไรได้บ้าง เพื่อให้เกิดขยะน้อยลง”   –
คุณเค

บริเวณชั้นหนึ่งมีมุมสำหรับใครที่สนใจผลิตภัณฑ์ออแกนิคแบบเติม เสื้อผ้ามือสอง และของใช้ต่างๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณขยะครัวเรือน

ความยั่งยืนในระยะยาว ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ

ถ้ามองในความยั่งยืน เคมองว่ามันเป็นระยะยาวมากกว่า เพราะในวันนี้เราอาจจะมีค่าก่อสร้างที่สูงกว่าการทำคาเฟ่แบบปกติ แต่เราไม่ต้องไปตัดไม้ทําลายป่าอีกไม่รู้กี่ต้น ถ้าเคยใช้ไม้ธรรมดาร้อยเปอร์เซ็นต์ เคก็ใช้บางอย่างทดแทนเป็นกล่องนมบ้าง เป็นขยะที่อาจจะสามารถเจอได้ในสังคมธรรมดา นอกเหนือจากงานโครงสร้างมันต้องกลับมาดูที่เมนูที่ร้านด้วย อย่างเมนูที่ร้านทุกอย่าง เราพยายามเลือกใช้วัตถุดิบร่วมกันตั้งแต่เครื่องดื่มไปจนถึงอาหาร พยายามที่จะให้มันเกิดขยะน้อยที่สุด”-คุณเค
              “สังเกตดูเมนูอาหาร จะเห็นว่าตั้งแต่เมนูแรกถึงเมนูสุดท้ายจะดูคล้ายกันหมด  เพราะเราจะปรึกษากันเรื่องวัตถุดิบ เคจะบอกตลอดว่าถ้าอันไหนต้องซื้อวัตถุดิบใหม่  เคไม่เอา เราต้องการทุกอย่างอยู่ภายใต้กรอบจากจานที่มีวัตถุดิบเยอะที่สุด  แล้วก็ดึงอันนั้นออกมาใช้
            เครื่องดื่มก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น Seasonal หรือว่าเมนูใหม่ก็จะใช้วัตถุดิบที่มีอยู่แล้วในร้านมากกว่า ทำให้ทุกวันนี้ที่ร้านเราก็แทบไม่ได้ทิ้งเลย หรือหากมีขยะเศษอาหารของที่ร้าน เราก็จะส่งไปเป็นอาหารให้กับฟาร์มแมลงที่เป็นพาร์ทเนอร์กัน เพื่อที่แมลงนั้นจะกลายเป็นโปรตีนแมลงที่จะถูกนำไปทำเป็นขนมน้องหมาน้องแมวแบรนด์ Jaika ต่อ เลยเรียกได้ว่าเราไม่ได้ก่อให้เกิดขยะเลย”
– คุณกิ๊ฟ

บรรยายภาพซ้าย: เฟอร์นิเจอร์แบบสั่งทำที่ออกแบบจากกล่องนมเช่นกัน โดยในอนาคตกำลังมีการพัฒนาเพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ และก้าวข้ามขีดจำกัดของวัสดุไปอีกขั้น
บรรยายภาพขวา: แม้ว่าจะเป็นส่วนของห้องน้ำก็ให้ความสำคัญ ด้วยประตูจากแผ่นกล่องนมพร้อมมือจับจากขวดแก้วสีชา เชื่อมโยงไปกับพื้นเทอร์ราซโซแบบเดียวกับท็อปเคาน์เตอร์เพื่อช่วยลดการเกิดขยะในทุกตารางเมตรอย่างแท้จริง

ไม่เพียงแต่การออกแบบ-ตกแต่งร้านเท่านั้นที่ทั้งสองคนพยายามทุกทางให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ของลูกค้าก็มีส่วนช่วยในการรักษ์โลกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการไม่วางกระดาษทิชชูบนโต๊ะ  การไม่มีจุดเติมไซรัป (ซึ่งสำหรับใครที่เป็นสายหวาน สามารถขอเติมได้ที่เคาน์เตอร์ตามปกติ แต่จะเป็นการค่อยๆ เติม ค่อยๆ ชิมกันสดๆ ไปเลย)  การตั้งใจออกแบบแก้วกระดาษที่สามารถกระดกดื่มได้โดยไม่ต้องใช้หลอด ไปจนถึงการเปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศเป็นเวลา ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้นี่เองที่ผู้บริโภคอาจจะไม่ได้สังเกต หากแต่ค่อยๆ ซึมซับและรับรู้ได้เองว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะกลายเป็นเรื่องปกติในอนาคต และเป็นสิ่งไม่จำเป็นในกระบวนการดื่มด่ำกับคาเฟ่อีกต่อไป เพื่อให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการรับผิดชอบต่อสังคม ต่อสิ่งแวดล้อม ต่อโลกของเราง่ายๆ เพียงแค่ปรับทัศนคติและเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เช่นเดียวกับที่ Early BKK มุ่งหวังให้ที่นี่เป็นคาเฟ่ที่เป็นมิตรต่อผู้คน สัตว์เลี้ยง และสิ่งแวดล้อม  

แต่หากมองภาพรวมของกระบวนการ การช่วยโลกไม่ใช่เพียงปลายทางในรูปแบบของบริการเท่านั้น  จริงๆ แล้วเราสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ต้นน้ำผ่านกระบวนการผลิตวัสดุต่างๆ  ที่จะนำมาใช้งานการก่อสร้าง ผ่านการเลือกใช้สินค้าทางเลือก ดังเช่นแนวทางการดำเนินธุรกิจขององค์กรใหญ่อย่าง SCG ที่มุ่งมั่นในการช่วยดูแลโลกในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการผลิตสินค้าภายใต้ฉลาก Green Choice ที่ช่วยให้ลูกค้าเชื่อมั่นได้ว่าการเลือกใช้สินค้าของ SCG จะเป็นการช่วยโลกของเราได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับใครที่สนใจผลิตภัณฑ์ทางเลือก สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tigerbrandth.com/home/tiger-cement-product-detail/3-1-Tiger-decor-portland-cement-for-Terrazzo-works