จากบ้านจัดสรรในโครงการที่มีหน้าตาภายนอกเหมือน ๆ กัน สู่งานตกแต่งภายในที่อบอุ่นด้วยโทนสีไม้จากวัสดุตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์จากเดนมาร์ก เพื่อทำให้เป็น บ้านสไตล์Mid-century
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Studio Fine Art
เคยนึกสงสัยกันไหมว่า ทำไมหลายคนถึงอยากแต่งบ้านสไตล์คาเฟ่ และบางคนถึงอยากแต่งบ้านอารมณ์รีสอร์ต อาจใช่ในเรื่องความสวยงามที่ปฏิเสธกันไม่ได้ แต่นัยที่ซ่อนอยู่ภายใต้โทนสี แสงไฟ และวัสดุตกแต่ง ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ที่เลือกใช้ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างบรรยากาศผ่อนคลายอยู่ภายใต้สิ่งที่เราเรียกกันว่า “งานตกแต่งภายใน” นั่นเป็นที่มาของ บ้านสไตล์Mid-century หลังนี้
เพราะ คุณปาล์ม-นนทวัฒน์ ลพอุทัย ก็เป็นอีกคนที่ให้ความสำคัญกับงานตกแต่งภายในบ้านเป็นพิเศษ และวางใจให้ คุณติ๊ก-ประภัสร์ กูลการขาย จาก STUDIO FINE ART มาช่วยออกแบบพื้นที่ภายในบ้านตั้งแต่ทาวน์โฮมหลังแรกของเขา โดยล่าสุดได้ขยับขยายมาสร้างบ้านเดี่ยวในหมู่บ้านจัดสรร เพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้นทั้งสำหรับคุณแม่ ตัวเขา และน้องหมาพันธุ์ชิบะอีก 2 ชีวิต
บ้านจัดสรรที่ซ่อนความต่างไว้ภายใน
“ที่ผมเลือกบ้านจัดสรรเพราะต้องการความปลอดภัยให้คุณแม่เป็นหลัก อีกอย่างคือเวลาไปต่างจังหวัดก็ไม่ต้องกังวล เพื่อนบ้านก็โอเค และมีพื้นที่ให้น้องหมาวิ่งเล่นด้วย บ้านหลังเดิมผมแต่งสไตล์โมเดิร์นขาวๆ ไม้ๆ แต่พอโตขึ้นก็อยากได้บ้านโทนสีเข้มที่ให้ความรู้สึกสงบ ไม่ต้องหวือหวา หรูแต่ไม่ตะโกน และผมยังชอบเรื่องของวัสดุธรรมชาติด้วยโดยเฉพาะไม้สีวอลนัทกับหินขัด ซึ่งพอรวมภาพงานที่ชอบให้คุณติ๊กดู เขาบอกผมว่านี่คือสไตล์ Mid-century ทำให้ผมรู้สึกสนใจและเริ่มหาข้อมูลมากขึ้นไปด้วย”
ตัวบ้านสร้างอยู่บนที่ดินขนาด 100 ตารางวา มีขนาดพื้นที่ใช้สอย 300 ตารางเมตร โดยดีไซน์ของโครงการนั้นเน้นถึงช่องเปิดที่เชื่อมต่อมุมมองระหว่างภายนอกกับภายใน ด้วยอารมณ์บ้านที่ดูผ่อนคลายและหรูหราแบบรีสอร์ตอยู่แล้ว คุณปาล์มจึงไม่ได้ปรับเปลี่ยนหน้าตาภายนอกของบ้านเลย ยกเว้นแต่ภายในที่ออกแบบใหม่ทั้งหมด ซึ่งคุณติ๊ก ผู้ออกแบบบอกว่าข้อจำกัดหลักอยู่ตรงผนังสำเร็จรูปที่ทำให้ทุบหรือเจาะไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำคือเปลี่ยนวัสดุ ปรับฟังก์ชัน เและทำให้มู้ดภายในบ้านดูผ่อนคลายมากที่สุด
แบ่งฟังก์ชันด้วยวัสดุ
โจทย์แรกที่คุณปาล์มบอกกับผู้ออกแบบมีอยู่เพียง 3 อย่าง คือต้องการโทนสีอบอุ่นของไม้วอลนัท พื้นไม้ปูลายก้างปลา และการใช้วัสดุหินขัด ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักที่คุณติ๊กนำมาใช้เป็นเครื่องมือการออกแบบภายในทั้งหมด
“ผมใช้วัสดุปูพื้นเป็นตัวแบ่งฟังก์ชันใช้งานภายในบ้าน เริ่มต้นที่พื้นหินอ่อนลายขาว-ดำตรงโถงทางเข้า ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นพื้นไม้ปูลายก้างปลาในส่วนนั่งเล่นและรับประทานอาหาร เพื่อให้สเปซดูอบอุ่น อีกอย่างยังปลอดภัยสำหรับน้องหมาด้วย เพราะเวลาเดินจะไม่ลื่นล้มสะโพกกระแทกได้ง่าย พอเข้าสู่ส่วนแพนทรี่ก็ปรับมาเป็นพื้นหินอ่อนลายขาว-ดำอีกรอบ แต่จัดวางแพตเทิร์นให้ล้อรับกับลายก้างปลาต่อเนื่องกันไปเลย ส่วนของพื้นหินขัดนั้นเน้นใช้ภายในห้องน้ำให้ดูเรียบ สะอาด และดูแลง่าย กับใช้กรุเป็นผนังโค้งในมุมติดทีวี นอกจากนี้ยังเลือกใช้วัสดุกระจกลอนแก้วในส่วนของประตูที่ต้องการให้แสงสว่างผ่านได้ ส่วนกระจกสีชากรุผนังห้องนอนและห้องแต่งตัวช่วยสร้างบรรยากาศและลดความทึบตัน ที่เหลือกรุเป็นงานไม้สีวอลนัทผสมผสานไปกับการหยอดไฟเป็นจุดๆ ไม่ให้ดูสว่างจ้า ทำให้บ้านดูอบอุ่นและผ่อนคลายเหมือนเวลาอยู่ในรีสอร์ต”
นอกจากใช้วัสดุช่วยกำหนดฟังก์ชันแล้ว ยังเพิ่มดีไซน์ให้น่าสนใจขึ้นอีก โดยเฉพาะบริเวณผนังบานเลื่อนไม้ในห้องนั่งเล่นชั้น 2 ซึ่งออกแบบมาเพื่อกั้นแสงจ้าจากหน้าต่างไม่ให้สะท้อนกับจอทีวีโดยตรง โดยคุณติ๊กได้แรงบันดาลใจจากรอยสักบนท้องแขนของคุณปาล์มที่เป็นภาพ “The Creation of Adam” มาปรับให้เป็นลายเพ้นต์สีขาววาดลงไปบนฉากไม้หลังโซฟาที่สามารถเลื่อนเปิดรับแสงตรงจุดกลางภาพได้พอดี ซึ่งคุณปาล์มได้พูดถึงความประทับใจในลวดลายนี้ว่า “ผมสักลายนี้ติดตัวเพราะว่าชอบจริงๆ ชอบองค์ประกอบของภาพ รู้สึกว่าคนวาดอัจฉริยะมาก ดูพอดี และลงตัว แม้จะมาปรับเป็นลายเส้นให้ทันสมัยขึ้น ก็ยังดูสวยอยู่”
เฟอร์นิเจอร์คือพระเอก และกลิ่นอาย บ้านสไตล์Mid-century
หลังจากที่คุณปาล์มได้เริ่มศึกษาสไตล์ Mid-century อย่างจริงจังแล้วก็เริ่มรู้สึกหลงรักในเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์จากยุคนั้นเพิ่มขึ้นอีก และกลายมาเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยสร้างบุคลิกเฉพาะให้บ้านได้ชัดเจนขึ้น
“ผมว่าเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ผ่านการออกแบบมาอย่างดีแล้ว ก็สามารถเป็นพระเอกของบ้านได้เลย วัสดุที่คุณปาล์มเลือกไว้ก็ดีแล้ว ผมจึงมีหน้าที่แค่เสริมทั้งหมดให้สวยโดดเด่น เติมด้วยเส้นดีไซน์จากสไตล์ Mid-century ในบางมุมอย่างการเพิ่มซุ้มไม้โค้งที่โถงนั่งเล่น หรือหยอดไว้ตามผนังตกแต่ง ฝ้าเพดาน และซุ้มประตูเข้าห้องครัว”
คุณปาล์มบอกว่ายิ่งได้รู้เรื่องราวที่มาของเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์แต่ละชิ้นว่าทั้งเรื่องแนวคิด วัสดุ และวัฒนธรรมที่แฝงมากับงานดีไซน์ ยิ่งทำให้เขาอยากสนับสนุนสินค้าที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์มากกว่าสินค้าที่ทำขึ้นเลียนแบบ
“ผมว่าคนเดนมาร์กให้ความสำคัญกับบ้านมากนะ เพราะภูมิอากาศบ้านเขาค่อนข้างหนาวก็เลยใช้เวลาอยู่ในบ้านมากกว่า ทุกอย่างรอบบ้านก็เลยต้องใช้งานดีและดูสวยงามสบายตา ซึ่งมันตรงกับผมเลย เพราะผมก็เป็นคนชอบอยู่บ้านมากกว่าออกไปไหน และอยากมีบ้านที่แวดล้อมด้วยของที่ตัวเองชอบ มองไปทางไหนก็มีความสุข ก็เลยลงทุนกับเฟอร์นิเจอร์ในบ้านค่อนข้างมาก ผมปรึกษาคุณติ๊กตลอดว่าชิ้นที่ชอบนั้นเข้ากับบ้านไหม บางชิ้นไม่เข้าก็ตัดไป หรือชิ้นที่แพงมากผมก็ไม่ซื้อ ผมว่าหลายดีไซน์ที่เก่าแก่ยังดูสวยทันสมัยมาได้จนถึงวันนี้ มันมีเสน่ห์มาก ถึงตอนนี้ก็ไม่ได้อยากซื้ออะไรแล้วนะ รู้สึกว่าพอดีและมีความสุขมากพอแล้ว”
เจ้าของ : คุณนนทวัฒน์ ลพอุทัย
ออกแบบ : Studio Fine Art โดยคุณประภัสร์ กูลการขาย
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ สไตล์ : Suntreeya