ชวนมารู้จักผู้ก่อตั้ง ป่าน้ำใส ชุมชนสุขภาวะที่อยากให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างเคารพธรรมชาติ

ถ้าเลือกได้… หลายคนก็คงอยากมีชีวิตเรียบง่าย ได้อาศัยอยู่ในบ้านที่มีฟังก์ชั่นเพียงพอกับการดำเนินชีวิต ถ้ามีพื้นที่เหลือก็อาจจะปลูกผักแปลงเล็กๆ ไว้กินเอง มีเวลาสำหรับเดินเล่น ดูแลต้นไม้รอบบ้าน ออกกำลังกาย กินอาหารที่ดี และอยู่ร่วมกับผู้คนที่น่ารัก

ชีวิตเช่นนี้ ดูจะเป็นเหมือนชีวิตในฝัน แต่ใช่จะเป็นไปไม่ได้ เพราะบรรยากาศแบบนี้กำลังค่อยๆ ก่อร่างขึ้นแล้ว ที่ ป่าน้ำใสชุมชนกลางป่า ที่อยากชวนผู้คนมาอยู่ร่วมกันอย่างมีสุขภาวะ สบายกาย สบายใจ และร่วมขับเคลื่อนให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นหมู่บ้านในอุดมคติ ที่ไม่เพียงอยู่สบาย แต่ยังเคารพซึ่งกันและกัน

บ้านและสวน เปิด ‘ห้องนั่งเล่น’ ชวนมาพูดคุยแบบสบายๆ ท่ามกลางความร่มรื่นของ ป่าน้ำใส กับ คุณชูชัย ฤดีสุขสกุล นักธุรกิจและนักขับเคลื่อนสังคม ผู้ปลีกวิเวกออกจากเมืองใหญ่ แล้วหันหน้าเข้ามาสร้างบ้านน้อย เพื่ออาศัยอยู่กับป่าที่เขาปลูกเองในเขตรอยต่อจังหวัดนครปฐมและราชบุรี จนกลายมาเป็นชุมชนสุขภาวะใกล้เมืองกรุง

อะไรที่ทำให้นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เลือกหนีจากเมืองอันศิวิไลซ์ แล้วหลบมาใช้ชีวิตในป่ากว่า 20 ปี ด้วยความหวังว่าจะเปลี่ยนผืนป่าที่ฟูมฟักมากับมือเป็นเวลาถึง 36 ปีแห่งนี้ จะกลายเป็นพื้นที่ที่ทุกคนจะอยู่ร่วมกันอย่างเอื้อเฟื้อเกื้อกูล และส่งเสริมให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างไม่เบียดเบียน

เปิดห้องนั่งเล่น
เพียงชั่วโมงเศษจากเมืองกรุง มุ่งหน้าสู่เขตรอยต่อของจังหวัดนครปฐมและราชบุรี เราก็มาถึง ‘ป่าน้ำใส’ ฝนที่เพิ่งหมาดเม็ด ช่วยให้พื้นที่แห่งนี้เขียวชอุ่ม ต้นไม้น้อยใหญ่โบกใบอย่างเริงร่า แสงแดดยามเช้าตกต้องกระทบใบไม้ เกิดเป็นเงาสะท้อนบนพื้นถนน ไกลออกไปผืนน้ำในทะเลสาบส่องแสงระยิบล้อแดด ขณะเรากำลังชื่นชมธรรมชาติรอบกาย คุณชูชัย เจ้าของโครงการ และผู้ก่อตั้งป่าน้ำใส ก็จอดรถกระบะ แล้วเดินเข้ามาทักทาย

ชายร่างเล็ก ในเสื้อผ้าฝ้ายสีขาวบางเบา และกางเกงตัวโคร่ง พร้อมรองเท้าแตะ ดูไม่มีมาดของนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผู้เป็นเจ้าของผืนดินกว้างใหญ่แห่งนี้ ต้อนรับเราด้วยรอยยิ้มอย่างเป็นมิตร พร้อมชักชวนให้นั่งรถไปสู่อีกด้านของโครงการสู่แพริมน้ำ ที่เปรียบเสมือนห้องรับแขกของ ‘ป่าน้ำใส’

“เดี๋ยวไปที่แพดีกว่า จะได้คุยกันสบายๆ” ระหว่างนั่งรถไป เขาก็ชี้ชวนให้ดูต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ มีทั้ง ประดู่ป่า สะเดา ยางนา จามจุรี มะค่า พะยูง ยูคาลิปตัส ไผ่ และอื่นๆ กระจายอยู่ทั่วบริเวณ ที่ดินบางแปลงถูกจับจองไปแล้ว บ้างกำลังก่อสร้าง บางหลังก็สร้างเสร็จเรียบร้อย รอเจ้าของย้ายเข้ามาอยู่ ความร่มรื่นของต้นไม้ที่มีทั้งขนาดใหญ่ เล็ก ลดหลั่นให้ร่มเงาแก่กัน ให้ความรู้สึกแตกต่างจากโครงการจัดสรรที่เคยพบมา แต่เหมือนกับกำลังไปเที่ยวบ้านเพื่อนในชนบทบรรยากาศสบายๆ มากกว่า

รถจอดหน้าเรือนแพที่ตั้งอยู่ริมทะเลสาบ มีลูกบ้านนั่งกินอาหารอยู่ก่อนแล้ว และเอ่ยชักชวนพวกเราร่วมวงด้วยกัน “ไก่ย่างบางตาลของที่นี่เป็นเจ้าต้นตำรับเลยนะ ก่อนจะกระจายสาขาไปทั่วอย่างที่เห็นกัน” คุณชูชัย บอกข้อมูล แล้วชวนเราไปนั่งแพอีกหลังที่มีสองชั้น ขนาดกะทัดรัด เขาเล่าว่าถ้าวันไหนอากาศดี ก็จะพาลูกบ้านขับออกไปล่องแพชมวิวในทะเลสาบ และวันนี้ก็จะพาพวกเราไปลองชมวิวกันด้วย

ระหว่างนั่งคุยกัน เขาเล่าให้ฟังว่าตัวเองนั้นชอบทำกิจกรรมตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน พอเข้ามหาวิทยาลัย ก็เป็นนายกองค์กรนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิ่งเหล่านี้ช่วยบ่มเพาะให้เขาอยากสร้างสังคมที่ผู้คนจะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี

หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย ธุรกิจแรกที่คุณชูชัยทำคือโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำ ในปี 2524 กระทั่งขายกิจการไปในปี 2536 ระหว่างนั้นก็ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไปด้วย รวมทั้งธุรกิจหมู่บ้านจัดสรร ที่เขาบอกว่า สำเร็จบ้าง เฟลบ้าง แต่ก็ได้เรียนรู้ทั้งเรื่องบริหารธุรกิจ การจัดการพื้นที่ และธรรมชาติของมนุษย์ที่อาศัยร่วมกัน 

“ผมเป็นคนเบื่อง่ายนะ ทําๆ ไปจนถึงจุดนึงก็อิ่มตัว แล้วบางทีก็เบื่อ แต่ก็ทำมาหลายอย่างทั้งภาคธุรกิจ และภาคสังคม ส่วนที่ป่าน้ำใสนี่ ไม่ใช่การทำธุรกิจแบบที่ผ่านมา เพราะไม่ได้มีเป้าหมายเรื่องเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์จัดสรรที่ดินขาย เป็นเหมือนงานอดิเรกมากกว่า ส่วนที่เตรียมไว้สําหรับการอยู่อาศัยของสมาชิก เดิมทีก็ไม่ได้คิดถึงสมาชิกภายนอกเท่าไรหรอก คือเป็นความฝันวัยหนุ่มนะ เพื่อนเยอะ ก็กะว่าจะอยู่ด้วยกันกับเพื่อน ไม่ได้คิดว่าจะขายบุคคลภายนอก”

‘ป่าน้ำใส’ ประทับใจจากฝันในวัยเยาว์
ซึ่งความฝันในวัยหนุ่มของคุณชูชัย ก็ขับเคลื่อนมาจากความทรงจำในวัยเยาว์ จนกลายมาเป็นต้นธารของป่าน้ำใสในปัจจุบัน เขาเล่าย้อนไปถึงอดีต แววตาทอดยาวไปถึงช่วงชีวิตที่แม้จะไม่สะดวกสบาย แต่เห็นได้ชัดว่ามีความสุข และความประทับใจมากมายอยู่ในนั้น

ชีวิตในวัยเด็กของคุณชูชัย เติบโตมาในครอบครัวเกษตรกร พ่อกับแม่เช่าที่ดินในจังหวัดสมุทปราการ เพื่อทำสวน ปลูกผัก และเลี้ยงสัตว์ไปด้วย ในวันเสาร์อาทิตย์ตัวเขาและพี่น้องก็ต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน ความสุขกับครอบครัวในบ้านหลังน้อย ตั้งอยู่ในสวนริมทุ่งนา เป็นภาพความเป็นอยู่อันสงบสุขที่ยังคงติดตรึงในความทรงจำ ผนวกกับความประทับใจหนังสือเรื่อง ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ ทำให้เขามีความฝันว่าสักวันหนึ่งถ้าเป็นไปได้ก็อยากมีบ้านกลางป่าอันสงบสุขเหมือนในหนังสือ

ป่าน้ำใส

“การสร้างพื้นที่นี้ขึ้นมา ถ้าในเชิงส่วนตัวก็เป็นเรื่องที่ผมประทับใจกับหนังสือบ้านเล็กในป่าใหญ่ของ ลอร่า อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์ ตั้งแต่ตอนเด็กๆ ส่วนตัวเรื่องที่สองก็คือแม่ผมเคยไปเช่าที่แปลงหนึ่งประมาณสิบกว่าไร่ อยู่บางปิ้ง สมุทรปราการ ก็จะมีทั้งคลอง บ่อปลา นาข้าว เล้าไก่ แล้วเสาร์อาทิตย์นี่แฮปปี้มากเลย เพราะว่าจะมีคนมาส่งปลาเป็ด ก็คือปลาตัวเล็กๆ ที่เกือบเน่าน่ะ เอามาโม่ผสมกับรำแล้วเอาให้ปลาดุกกิน เราก็มีหน้าที่ขนปลาเนี่ยไปโรงโม่ตั้งแต่หกโมงเช้า พอตอนสายแม่ก็จะสั่งว่าวันนี้จะกินอะไรก็ไปเก็บมา จะกินแกงส้มไหม? จะกินก็ไปเอาดอกแคมา แล้วไปจับปลาช่อนมาด้วย อยากกินขนมหวาน ก็ไปเก็บไข่ในเล้า ก็มีตีกับไก่นิดหน่อย เอาไข่มาให้แม่ทำไข่หวาน ชีวิตวัยเด็กก็คือโตมาแบบนั้น ซึ่งก็ทำให้เรารู้สึกประทับใจวิถีที่เรียบง่าย”

ป่าน้ำใส

ไม่เพียงความประทับใจจากวัยเด็ก เมื่อโตขึ้นการทำงานภาคสังคมร่วมกับหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ด้วยต้องการขับเคลื่อนให้เกิดสังคมที่ดี เป็นสังคมอุดมคติที่ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

“แต่ถ้าในเชิงส่วนรวม ก็น่าจะมาจากเรื่องของสังคม ผมทํางานการเมืองในภาคพลเมืองกับทํางานภาคสังคมมาตลอด จนกระทั่งปี 2555 ก็วางมือจากทุกองค์กร เพราะรู้สึกว่าในภาพใหญ่ สังคมอุดมคติแบบที่เราอยากเห็นคนเท่าเทียมกัน ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อกัน มีความเสมอภาคกัน มันเกิดขึ้นได้ยาก เพราะสุดท้ายแล้วคนเราก็ติดหล่มในระบบเดิม ความคิดแบบเดิม ก็มาคิดว่าในเมื่อทำใหญ่ๆ แล้วไม่สำเร็จ ไม่เป็นไร ช่างมัน ก็มาทำเล็กๆ ละกัน ทำหมู่บ้านของเราตรงนี้แหละ โดยยังคงคอนเซ็ปต์การสร้างสังคมดีเอาไว้อยู่ ก็นำมาสู่การคัดเลือกคนที่จะซื้อที่ดินในโครงการ”

ป่าน้ำใส

ทำไมต้องเป็นบ้านคลองบางตาล 
ก่อนจะมาซื้อที่ดินผืนนี้ คุณชูชัย เล่าว่า ในขณะนั้นตัวเขาเองทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่อำเภอสามพราน นครปฐม แล้วต้องใช้รถขุดเพื่อนำดินมาถมที่เพื่อสร้างโครงการ ทำให้ได้รู้จักกับผู้รับเหมาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนบ้านโพรงมะเดื่อ อำเภอเมืองนครปฐม เมื่อสืบสาวประวัติความเป็นมาของกันและกัน ภาพความทรงจำในวัยเยาว์ที่พ่อแม่มักพามาเยี่ยมญาติในหมู่บ้านแห่งนี้อยู่เสมอก็ฉายชัดขึ้นมา

ด้วยความผูกพันตั้งแต่เด็กบวกกับความประทับใจในแผ่นดินอุดมสมบูรณ์ บ่อน้ำใสดุจกระจก ทำให้เขาตัดสินใจซื้อที่ดินขนาด 438 ไร่ในเขตบ้านคลองบางตาล อำเภอบ้านโป่ง ราชบุรี ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านเดิมของบรรพบุรุษ แล้วพลิกฟื้นให้เป็นป่าอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

“พอโตขึ้นมาก็ไม่ได้กลับมาที่บ้านโพรงมะเดื่ออีกเลย กระทั่งมาเจอกับเพื่อนที่เป็นผู้รับเหมา ก็ทำงานด้วยกัน ไปมาหาสู่จนสนิทสนม แล้วแม่ของเขาก็เป็นเพื่อนสนิทของแม่ผมอีก ก็เลยผูกพัน แล้วที่แถวนี้ตอนเด็กๆ จำได้ว่าอุดมสมบูรณ์มาก ในวัดโพรงมะเดื่อจะมีบ่อน้ำที่ใสมากๆ อยู่ ก็ประทับใจตั้งแต่ตอนนั้น รวมทั้งชอบอัธยาศัยของคนที่นี่ที่มีความจริงใจ ลูกทุ่งๆ พอเพื่อนมาบอกว่ามีที่ดินขาย ก็ตัดสินใจซื้อเลย”

ป่าน้ำใส

บ้านน้อยในป่าใหญ่
หลังจากวางแปลนพื้นที่เรียบร้อย ก็เข้าสู่กระบวนการปรับพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนที่ตั้งใจไว้ โดยให้ทะเลสาบอยู่กลางโครงการ ล้อมรอบด้วยพื้นที่ว่าง แล้วถัดไปจึงเป็นส่วนของที่อยู่อาศัย และมีลำคลองขุดเชื่อมต่อกันทั่วโครงการ เสมือนเส้นเลือดคอยหล่อเลี้ยงใหม่พื้นที่แห่งนี้ชุ่มชื้น เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นไม้

“ผมเริ่มซื้อที่แปลงนี้เมื่อปี 2532 ตอนนั้นที่นี่ยังเป็นท้องนา ไร่อ้อยอยู่เลย เราก็วาดภาพในหัวไว้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าป่าน้ำใสจะมีหน้าตายังไงมาตั้งแต่แรก ก็ให้โจทย์สถาปนิกไปว่าให้ออกแบบเลย์เอาต์พื้นที่ให้มีสัดส่วนของน้ำเยอะๆ เป็นที่อยู่น้อยๆ แค่ไม่เกิน 30% พอ แล้วก็ทิ้งสเปซให้มาก เพราะเราอยากปลูกต้นไม้เยอะๆ พอวางแปลนอะไรเรียบร้อยก็เริ่มปลูกต้นไม้ก่อนเลย ช่วงนั้นก็มีคนงานอยู่ที่นี่สำหรับปลูกต้นไม้ แผนกขุด แผนกถมดินก็ทำกันไป ตัวผมเองยังไม่ได้เข้ามาอยู่ เพราะยังทำธุรกิจอื่นอยู่ด้วย แต่ก็แวะมาดูทุกเย็น

ป่าน้ำใส

“ย้ายมาอยู่ที่นี่จริงๆ ก็ปี 2546 ต้นไม้จากต้นเล็กๆ ก็ใหญ่ขึ้น มีตายไปบ้างตามสภาพ ก็ไม่เป็นไร ปลูกใหม่ เน้นต้นไม้ที่เป็นพืชเศรษฐกิจ อย่าง ยางนา ไม้มะค่า สะเดา เราใช้ประโยชน์จากไม้ได้ด้วย แล้วริมน้ำก็เป็นพวกกก ธูปฤๅษี ต้นไม้ที่นี่ปล่อยให้โตไปตามธรรมชาติเลย ไม่ได้จัดวางให้สวยงาม เราอยากสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมือนป่าจริงๆ มากที่สุด”

สิ่งที่ทำให้คุณชูชัย ตัดสินใจเข้ามาอยู่ในป่าของตัวเองเป็นการถาวร เริ่มมาจากความเบื่อชีวิตวุ่นวายในเมือง รวมทั้งต้องแก้ปัญหาให้ลูกบ้านซึ่งมีเข้ามาให้จัดการแทบทุกวัน ประกอบกับต้นไม้ที่ปลูกไว้เริ่มโต ภาพบ้านน้อยในป่าใหญ่ที่เขาอยากอยู่เริ่มชัดเจนมากขึ้น จากเดิมที่ไปๆ มาๆ สัปดาห์ละครั้ง กลายเป็นการย้ายบ้านมาถาวร เพื่อให้เวลากับการดูแลป่าอย่างเต็มที่

ป่าน้ำใส

“ย้ายมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 2546 ตอนแรกผมอยู่หมู่บ้านจัดสรรของผมอีกที่นึงนะครับ ก็ตั้งใจจะอยู่กับลูกบ้านของเรานั่นล่ะ แต่เพราะว่าพอเป็นหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ คนก็อยู่กันเยอะ ปัญหาก็มาสารพัดรูปแบบให้เราต้องไปจัดการ ในที่สุดก็เบื่อหน่ายความวุ่นวาย ซึ่งตรงนั้นก็เป็นบทเรียนสำคัญให้เราคัดเลือกลูกบ้านของป่าน้ำใส บวกกับตอนนั้นต้นไม้เริ่มโตแล้ว ถึงเวลาพัฒนาในเฟสถัดไป เพราะงานพัฒนาพื้นที่ต้องมาดูแลเองนะ จะได้เห็นว่ามีอะไรบกพร่องตรงไหน แล้วถึงจะเกิดไอเดียว่าต้องเติมอะไรลงไปบ้าง”

“จนกระทั่งปี 2555 ก็เป็นช่วงที่ผมตัดสินใจหยุดงานภาคสังคมทั้งหมด ลาออกจากบอร์ดทุกคณะ แล้วมาดูแลป่าน้ำใสอย่างเต็มตัว เพราะคิดว่าเราอายุ 55 แล้ว เดี๋ยวจะทำสิ่งที่คิดไว้ไม่ทัน ถ้าเราตายไปก่อนงานก็จะค้างคา ก็เริ่มเคลียร์พื้นที่ จากเดิมคือเป็นป่ารกๆ หน่อยนะครับ ก็จัดการให้มันโปร่งขึ้น กำจัดวัชพืชที่มันรกๆ ออกไป ทุกวันจะตื่นตั้งแต่ตีห้ามาเดินดูว่าตรงไหนมีปัญหา ก็ใช้เวลาประมาณ 8 ปีกว่าจะปรับปรุงให้เข้าที่”

ให้ป่าเยียวยากายใจ
ด้วยความเติบโตมากับบ้านทุ่งที่มีธรรมชาติล้อมรอบ เราคิดว่าเหตุผลของการปลูกป่าน่าจะเป็นเพราะชื่นชอบต้นไม้ แต่คุณชูชัยบอกว่า “ไม่ได้ชอบต้นไม้ แต่ชอบป่า” เขาขยายความว่า ป่าก็คือต้นไม้นั่นล่ะ เพียงแต่ความชอบของเขาไม่ใช่ความหลงใหล หรืออยากปลูกเพื่อความสวยงาม

“สำหรับผมเป็นเรื่องของสุนทรียะมากกว่า เป็นความสุขทางใจ แม้แต่ทางกายก็ด้วย เพราะป่าช่วยให้อากาศเย็น แล้วแสงตกกระทบจะพอดี ถ้าไม่มีต้นไม้แดดก็อาจจะแรงกว่านี้ แล้วรอบๆ ทะเลสาบเนี่ยถ้าไม่มีแบ็คกราวด์ของต้นไม้ ลมก็อาจจะไม่ดีขนาดนี้ แต่เมื่อกี้อาจพูดเล่นนะที่ว่าไม่ชอบต้นไม้ ความจริงก็คงจะชอบนั่นแหละ เพียงแต่ไม่ได้หลงใหล ไม่ได้อินเหมือนรักหมานะ ถ้าต้นไม้ตายไปก็ไม่ได้รู้สึกเสียใจ ตายก็ตัดออก เอาไปแปรรูปไว้ แล้วก็เอาต้นใหม่มาลง อย่างไม้ประดับก็ไม่ค่อยเน้นเท่าไหร่ ปลูกให้แค่พอกลมกลืนกับบรรยากาศ ไม่ต้องให้สวยเนี้ยบเหมือนสวนสาธารณะ อยากให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด”

ดังนั้นต้นไม้ที่เลือกมาปลูกจึงคำนึงถึงความเหมาะสมกับพื้นที่ เขาเล่าว่าต้นไม้ทุกต้น แม้จะไม่ได้ลงมือปลูกเอง แต่จะเป็นคนเลือกทั้งพันธุ์ไม้ และพื้นที่สำหรับปลูก โดยเน้นไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจ ส่วนไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติบางต้นก็ปล่อยให้เติบโตไป แต่ถ้าตรงไหนหนาแน่นเกินไปก็เอาออกบ้าง เพื่อให้เจริญเติบโตได้ดี    

“คอนเซ็ปต์การปลูกป่าของผมคือให้มีความหลากหลาย เป็นลักษณะของป่าร้อนชื้นที่มีความหลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ ต้นไม้ที่เราปลูกจะเน้นไม้มีค่า อย่าง ยางนา หรือพวกต้นสีดำๆ ก็คือประดู่ป่า ซึ่งเป็นไม้ที่แพง ถ้าไปซื้อไม้ล้อมมา แล้วก็ให้ได้ต้นใหญ่เลย ก็เป็นแสนนะครับ ในบางแปลงเราปลูกไว้จนโตแล้วเนี่ยมีห้าถึงหกต้น มูลค่าจะเท่าค่าที่ดินอยู่แล้ว และก็เป็นไม้ท้องถิ่นที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ อย่าง ต้นปีบ สะเดา จามจุรี ส่วนใหญ่ตอนเริ่มปลูก เราจะปลูกเยอะๆ ก่อน เผื่อมันตายบ้าง ส่วนไหนเกินก็เอาออกไปปลูกที่ใหม่ ก็ปลูกต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2532 ทุกวันนี้ก็ยังปลูกอยู่”

ตามหาคน ‘เผ่าเดียวกัน’
ถึงแม้ภาพของป่าน้ำใสจะเป็นไปตามสิ่งที่วาดไว้แล้ว ยังมีสิ่งหนึ่งที่คุณชูชัยบอกว่า “ไม่เป็นไปตามที่คิด” นั่นคือสมาชิกของชุมชน จากในตอนแรกตั้งใจอยากให้เพื่อนสนิทที่มีจริตเดียวกันมาอยู่ เปลี่ยนเป็นการหาสมาชิกภายนอกแทน และนำมาสู่การตามหาคน ‘เผ่าเดียวกัน’

“การจะชวนเพื่อนมาอยู่ด้วยกันเหมือนความฝันในวัยหนุ่มเรารู้แล้วว่าเริ่มเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเพื่อนแต่ละคนเขาก็มีฝันของเขา ก็มานั่งคุยกันว่าจะเอายังไงกับที่ตรงนี้ดี เพื่อนๆ ก็ไม่อยากให้ขาย เพราะยิ่งนานไปจะยิ่งทรงคุณค่า แล้วผมเองก็ไม่มีความจำเป็นต้องขาย เพราะที่ผืนนี้ไม่มี ไม่มีหนี้ ผมใช้เงินจากการทำธุรกิจสร้างขึ้นมา ไม่ได้กู้ธนาคาร ดังนั้นถึงไม่มีเงินเราก็อยู่ได้ ก็ให้เพื่อนช่วยกันคิดว่าถ้าไม่ขาย แล้วจะทำยังไงในระยะยาว เดี๋ยวผมก็ตายแล้วเนี่ย ก็เลยเป็นที่มาว่าขายเฉพาะส่วนที่เราจัดสรรไว้ยี่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์นี่แหละ แล้วเลือกคน ‘เผ่าเดียวกัน’ มาอยู่ด้วยกัน”

เมื่อตกลงใจได้แล้วว่าจะขาย แต่ขายในจำนวนจำกัด ก็เริ่มสู่กระบวนการทำตลาด และเริ่มเปิดขายในปี 2564 โดยยึดหลักว่าหาคนที่ใช่ และขายในราคาไม่แพง แลกกับการคัดเลือกอย่างพิถีพิถัน เพื่อสร้างสังคมในอุดมคติให้เกิดขึ้นจริง  

“สังคมอุดมคติที่ผมอยากสร้างเนี่ย ก็คือเป็นสังคมสุขภาวะ ซึ่งประกอบด้วยสิ่งแวดล้อมที่ดี มีธรรมชาติที่สมบูรณ์ เรามีป่ากับน้ำแล้ว อีกองค์ประกอบหนึ่งของสังคมสุขภาวะก็คือคน หากสภาพแวดล้อมมีสุขภาวะ แต่คนไม่มีสุขภาวะก็แย่ ฉะนั้นก็น่าจะประกอบด้วยคนที่ไม่สร้างปัญหาให้กับสังคม นอกจากนี้ยังต้องเป็นคนใจกว้าง มีการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเกื้อกูล ยึดส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ยึดส่วนตนเป็นรอง แล้วก็พร้อมจะแบ่งปันให้กับคนอื่น”

เคารพมนุษย์ เคารพธรรมชาติ
ซึ่งเกณฑ์ในการคัดเลือกคนเข้าร่วมในชุมชน จะพิจารณาจากการพูดคุยกันเป็นหลัก เพื่อหาคนที่ใช่จริงๆ เข้ามาอยู่ ซึ่งคนที่ว่าใช่นั้น ไม่เป็นเพียงใครก็ได้ที่มีเงินซื้อ แต่ต้องมีตัวตนที่เคารพในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น และเคารพธรรมชาติรอบกายด้วย เพื่อร่วมกันสร้างสังคมสุขภาวะที่ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสบายกาย สบายใจ

“อย่างแรกที่จะดูเลยคือในแง่ตัวตน เขาเอาตัวเองเป็นที่ตั้งหรือเปล่า อย่างที่สองคือดูเชิงปรัชญานะครับ ว่าเขาเคารพในสิทธิมนุษยชนมั้ย ตรงนี้ก็ไม่ยาก ดูจากว่าเขาพูดถึงคนอื่นแบบไหน หรือเขาวิพากษ์วิจารณ์แบบอคติหรือเปล่า ถ้าเป็นแบบนั้นก็แสดงว่าเขาไม่เคารพความเห็นต่างหลากหลาย ไม่เคารพความเป็นจริง ซึ่งเหล่านี้ดูได้จากการพูดคุย ถ้ายังไม่ชัวร์เราก็ยังไม่ขายให้ หรือถ้าผ่านเกณฑ์แล้ว แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะอยู่ที่นี่ได้มั้ย ก็อาจจะลองชวนมานอนดูสักคืนหนึ่ง เพื่อให้เขาตัดสินใจว่าจะอยู่ได้จริงมั้ย”

“เพราะโครงการของเราค่อนข้างไกลจากตัวเมือง ไม่ได้สะดวกสบาย หรือใกล้ร้านสะดวกซื้อ ก็อยากให้คนที่จะมาอยู่ยอมรับในส่วนนี้ด้วย ดังนั้นบ้านหลังนี้ อาจจะไม่เหมาะเป็นบ้านหลังแรก หรือหลังที่สอง แต่อยากให้เป็นหลังที่ 1.5 คุณจะมาพักผ่อนอยู่กับธรรมชาติตอนไหนก็ได้ที่อยากมา”

ป่าน้ำใส

ป่า น้ำ คน
ด้วยความตั้งใจของป่าน้ำใสคือการสร้างชุมชนสุขภาวะ จึงกำหนดให้ลูกบ้านเข้ามาอยู่อาศัยภายในระยะ 3 ปี นับตั้งแต่ทำสัญญาจนก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จ เพื่อให้ครบองค์ประกอบของ น้ำ ป่า และคน มาอาศัยอยู่ร่วมกัน แล้วขับเคลื่อนให้เกิดชุมชนที่อยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต 

“ป่ากับน้ำเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิต คือที่ไหนมีน้ำที่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิต ที่นี่เรามีแหล่งน้ำที่ดี มีความสะอาด ปลาก็เยอะ อยู่สุขสบาย เราเองก็อาศัยสุนทรียภาพกับน้ำด้วย แล้วเรายังใช้น้ำในการรดต้นไม้ทำการเกษตร ส่วนป่าก็เอื้อต่อเรื่องของลม อุณหภูมิที่ต่ำกว่าภายนอก มีการคายอ็อกซิเจนออกมา เราหายใจเข้าไปก็สดชื่น ทำให้อากาศดีทั้งวันทั้งคืน มีสิ่งแวดล้อมที่จรรโลงใจ ดินเราดี น้ำดี ปลูกอะไรก็ได้ผลผลิตดี อาหารก็ดีตามไปด้วย และถ้าได้คนที่ดีมาอยู่ด้วย สังคมนี้ก็น่าจะอยู่กันอย่างมีความสุข”

ป่าน้ำใส

“การมาอยู่ที่นี่เหมือนกลับเข้าสู่ความสงบ สู่ความเรียบง่าย มีคุณภาพชีวิตที่ดีตั้งแต่อยู่ที่บ้าน เราก็ดีไซน์ให้พื้นที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตแบบนี้ ที่ส่งเสริมสุขภาวะทางจิต ให้คนที่อยู่รู้สึกผ่อนคลาย ปล่อยวาง สบายกาย สบายใจ หลุดจากโลกความยุ่งเหยิงภายนอก พอใจเรามีความสงบ ก็เกิดปัญญาได้ง่าย”

ป่าน้ำใส

หัวใจของป่าน้ำใส
เมื่อถามว่าแล้ว ‘หัวใจ’ ของป่าน้ำใส คืออะไร คุณชูชัย ตอบว่า การเป็นสังคมสุขภาวะที่ประกอบด้วยสิ่งแวดล้อมที่ดีกับคนที่น่ารักมาอยู่ร่วมกัน ภายใต้หลักคิดที่เป็นเหมือนจิตวิญญาณของที่นี่ นั่นคือ สิทธิ เสรีภาพ ภราดรภาพ 

“จิตวิญญาณที่นี่ก็คือเรื่องความเสมอภาคนะครับ เสาตรงประตูเข้าโครงการเราแทนสัญลักษณ์ของสมาชิก มีเล็ก มีใหญ่ มีอ้วน มีผอม แสดงถึงสถานภาพแตกต่างกันของคน แต่ในชุมชนนี้ไม่ว่าจะมีสถานภาพอย่างไรทุกคนเท่ากันหมด เรื่องที่สองคือ อิรสภาพ เสาทุกต้นจะไม่เชื่อมกัน ความสำคัญคือคนในชุมชนต่างมีสิทธิเสรีภาพโดยสมบูรณ์ เท่าเทียมกัน และสุดท้ายคือภราดรภาพ คืออยู่เป็นกลุ่ม คนต้องอยู่ร่วมกัน คุณอยู่คนเดียวไม่ได้ ฉะนั้นต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นให้ได้ ประตูนี้เลยดีไซน์ให้สะท้อนปรัชญา 3 ข้อนี้ เราก็อยากได้สังคมอุดมคติแบบนั้น เลยสร้างป่าน้ำใสขึ้นมา”

ป่าน้ำใส

อยากให้ป่าน้ำใสสร้างแรงบันดาลใจอะไรให้สังคม
โดยคุณชูชัยวางแผนในระยะยาวเอาไว้ว่า หลังจากมีลูกบ้านเข้ามาอยู่แล้ว ก็อยากขับเคลื่อนให้เกิดธุรกิจสุขภาวะในพื้นที่ โดยเปิดให้ลูกบ้านดำเนินกิจการ รวมทั้งหาพาร์ตเนอร์จากภายนอกเข้ามาร่วมสร้างสรรค์ธุรกิจสุขภาวะในรูปแบบต่างๆ เพื่อบริการคนในชุมชน และเปิดให้คนภายนอกเข้ามาใช้บริการได้ด้วย

“สำหรับธุรกิจสุขภาวะ เราก็เตรียมพื้นที่เอาไว้ กระจายตัวอยู่รอบโครงการ เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจเหล่านี้ อาจจะเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ สตูดิโอโยคะ สอนศิลปะ ปลูกผักขาย เป็นธุรกิจอะไรก็ได้ที่ไม่เดือดร้อนต่อชุมชน ซึ่งก็วางขอบเขตไว้ให้ครอบคลุมสุขภาวะทั้ง 4 ด้าน คือ ทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางจิตวิญญาณ ตามนิยามของ นพ.ประเวศ วะสี รวมทั้งกำลังหาพาร์ตเนอร์มาร่วมลงทุนในพื้นที่ด้วย”

ป่าน้ำใส

ไม่เพียงสร้างสังคมสุขภาวะที่ดีต่อคน และดีต่อธรรมชาติ จุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งที่คาดหวังเอาไว้ คืออยากให้ป่าน้ำใสสร้างแรงบันดาลใจในการอยู่ร่วมกันอย่างเอื้อเฟื้อเกื้อกูล

“ก็คาดหวังว่าชุมชนป่าน้ำใสจะสามารถเชื่อมต่อกับชุมชนโดยรอบได้ อาจจะเริ่มจากมิติง่ายๆ เลยคือช่วยเหลือคนรอบชุมชน ชาวบ้านเขาขาดเหลืออะไร ไปช่วยเขาหน่อย หรือสร้างที่นี่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ไปเป็นวิทยากรตามโรงเรียน เป็นสังคมที่ให้ความรู้ซึ่งกันและกัน ถ้าตรงนี้เกิดขึ้นได้ ก็อาจจะสร้างแรงบันดาลใจ ให้ชุมชนอื่นอยากสร้างสังคมที่ดีในแบบของตัวเองต่อไปอีก”

ป่าน้ำใส

ด้วยความตั้งใจและทุ่มเทของคุณชูชัย เราน่าจะได้เห็นสังคมอุดมคติแบบที่คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเคารพ และเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน เกิดขึ้นในอีกไม่นานต่อจากนี้

สำหรับใครได้อ่านแล้วเห็นภาพสังคมอุดมคติซ้อนทับกับภาพที่เคยนึกฝันไว้ ลองเปิดตา เปิดหู เปิดใจ แล้วเข้าไปสัมผัสกับ ‘ป่าน้ำใส’ ด้วยตัวคุณเอง ไม่แน่ว่ารูปแบบชีวิตที่เคยคิดว่าเป็นไปไม่ได้ อาจเป็นจริงได้ที่นี่



ค้นหาบ้านหลังใหม่ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนสุขภาวะ
ได้ทาง inbox ป่าน้ำใส www.facebook.com/PaaNamsai 

หรือ โทร. 081-4959269