สำหรับหลายคนที่ฝันอยากมีบ้านรูปทรงเท่ทันสมัย แต่สุดท้ายก็ไม่กล้าก่อสร้างจริง เพราะกลัวสารพัดปัญหา ทั้งเรื่องการก่อสร้าง ผู้รับเหมา งบประมาณ ไปจนถึงการใช้งานไม่ได้จริง แต่สำหรับครอบครัวของ คุณเอ็ดดี้ – วิทยา วรัญญชัยชนะ เจ้าของ แบบบ้านโมเดิร์น หลังนี้ กล้าเปิดใจรับฟังไอเดียของสถาปนิกและผู้รับเหมา จนได้บ้านสวยถูกใจโดยปราศจากปัญหาวุ่นวายต่างๆนานา
เจ้าของ : คุณวิทยา วรัญญชัยชนะ
สถาปนิก : IDIN Architects โดยคุณจีรเวช หงสกุล
คุณเป้ – จีรเวช หงสกุล สถาปนิกจาก IDIN Architects และทีมงานได้รับการติดต่อหลังจากงานสถาปนิก’ 53 เพราะผลงานของบริษัทตรงกับความตั้งใจของเจ้าของบ้าน บ้านพักตากอากาศที่ปากช่องหลังนี้จึงค่อยๆเป็นรูปเป็นร่างขึ้น คุณเอ็ดดี้เล่าถึงที่มาที่ไปให้ฟังว่า แบบบ้านโมเดิร์น
“ผมอยากมีบ้านอีกสักหลังสำหรับครอบครัว เพราะตอนไปท่องเที่ยวที่นิวซีแลนด์ รู้สึกว่าชีวิตที่นั่นช้าลงมาก แต่เมื่ออยู่กรุงเทพฯ เวลาเดินเร็วมาก สถานที่ท่องเที่ยวก็มีแต่ห้าง ชีวิตเลยไม่ได้เห็นอะไรอื่นๆเลย”
รูปแบบที่ดูเท่ไม่เหมือนใครของบ้านหลังนี้เกิดจากแรงบันดาลใจของเจ้าของบ้าน ซึ่งอยากให้บ้านเป็นตัวแทนเรื่องเล่าการเดินทางของคุณเอ็ดดี้กับภรรยา สถาปนิกจึงนำไลฟ์สไตล์และความชอบของเจ้าของบ้าน ซึ่งก็คือการท่องเที่ยวและความหลงใหลการเล่นเรือคายัคที่มีทั้งความตื่นเต้น ท้าทาย และสนุก มาแปลงเป็นฟังก์ชันการใช้งานของห้องต่างๆ แล้วจึงค่อยพัฒนาสู่การวางรูปแบบของอาคารที่ลดทอนองค์ประกอบให้เหลือแต่สิ่ง จำเป็น ทว่าคงเรื่องราวและประโยชน์ใช้สอยไว้อย่างครบถ้วน
เดิมพื้นที่แถบนี้เป็นคอกม้าและที่ลาดลงตามเนินเขา การก่อสร้างจึงค่อนข้างลำบาก เพราะต้องปรับพื้นดินที่เอียงลาดให้เป็นแนวระดับเดียวกันก่อน สถาปนิกวางผังบ้านเป็นแนวยาวขนานกับถนน โดยหันหน้าบ้านไปทางทิศเหนือ เพื่อรับลมและวิวสวยๆ วางด้านสกัดเข้าหาทิศตะวันออกและตะวันตก เพื่อให้บ้านโดนแสงและความร้อนน้อยที่สุด ภายในบ้านจึงไม่ร้อน แถมยังมีลมพัดเบาๆทั้งวันจนแทบไม่ต้องอาศัยเครื่องปรับอากาศเลย ส่วนพื้นที่รอบๆบ้านปล่อยให้เป็นสนามหญ้าเรียบๆ และปลูกต้นไม้ใหญ่ริมรั้วแทน เพื่อเปิดมุมมองธรรมชาติให้ตัวบ้าน มองจากภายนอก ตัวบ้านดูคล้ายการนำกล่อง 2 ใบมาวางซ้อนให้เหลื่อมกัน
แต่พื้นที่ภายในระหว่างชั้นบนกับชั้นล่างมีความต่อเนื่องกลมกลืน ชั้นล่างประกอบด้วยส่วนนั่งเล่นและส่วนรับประทานอาหาร เลือกใช้ประตูบานเปิดกระจกใสสูงจากพื้นจรดเพดานตลอดแนวยาวของตัวบ้านแทนผนัง โดยด้านนอกยังออกแบบเป็นประตูบานเฟี้ยมระแนงไม้อีกชั้น เพื่อกรองแสงแดดในยามบ่าย เพิ่มความเป็นส่วนตัว และช่วยในเรื่องความปลอดภัยด้วย บรรยากาศของชั้นนี้จึงเปิดโล่ง อากาศถ่ายเทได้ดี
ชั้นบนมีเพียงส่วนพักผ่อน โดยออกแบบให้ห้องนอนใหญ่และห้องนอนเล็กอีก 2 ห้องยื่นออกไปจากชั้นล่าง เพื่อช่วยป้องกันแสงแดดให้พื้นที่ด้านล่างด้วย ห้องนอนแต่ละห้องแยกกันอยู่คนละด้าน เพื่อเปิดให้เห็นมุมมองรอบๆแตกต่างกันไป ก่อนที่จะเดินขึ้นสู่ชั้นดาดฟ้า (Roof Deck) ซึ่งเป็นพื้นที่หลังคาราบ สถาปนิกออกแบบทำขอบปูนโดยรอบเพื่อใช้เป็นที่นั่งและราวกันตก บริเวณนี้ใช้เป็นพื้นที่นั่งเล่นหรือจัดปาร์ตี้แบบสบายๆที่ได้วิวสวยๆของ ภูเขาและธรรมชาติรอบๆ โดยไม่ถูกอาคารรบกวน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความต้องการของเจ้าของบ้าน
สิ่งที่น่าประทับใจอีกอย่างของบ้านหลังนี้คือความเนี้ยบและความกลมกลืน กัน ของวัสดุก่อสร้างและตกแต่งที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมรอบๆ ด้วย เช่น การเลือกใช้รั้วผนังหินเพื่อเป็นตัวแทนประสบการณ์การท่องเที่ยว หรือการเลือกใช้วัสดุที่มีสีเอิร์ธโทนให้ดูเนียนไปกับธรรมชาติ ซึ่งมี 3 สี คือ เทา ดำ และแดงอมน้ำตาล เช่น ปูนเปลือย เหล็ก ไม้แดง
จากคอนเซ็ปต์ที่ผู้ออกแบบวางไว้นำไปสู่การก่อสร้างจริงโดยผู้รับเหมาก่อสร้าง เจ้าของบ้านเล่าถึงความประทับใจให้ฟังว่า “พี่ช้าง (คุณสมไทย ภู่ชูภักดี) ถ่ายทอดความต้องการของสถาปนิกออกมาได้เป็นอย่างดี เขาตั้งใจทำงานมากและดูแลเราดีมาก จนถึงตอนนี้ก็ยังดูแลบ้านให้อยู่เลย”
ก่อนกลับเราถามคุณเอ็ดดี้ถึงเคล็ดลับดีๆว่า ทำอย่างไรให้บ้านเสร็จสมบูรณ์ได้ดังใจและไร้ปัญหาวุ่นวาย ซึ่งก็ได้คำแนะนำว่า เจ้าของบ้านควรศึกษาเรื่องการก่อสร้างบ้านมาก่อนบ้างเล็กน้อย เพื่อจะได้เห็นภาพร่วมกันระหว่างสถาปนิกกับผู้รับเหมา รวมถึงควรให้ความสำคัญและเชื่อใจสถาปนิกมืออาชีพ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องสิ้นเปลือง เพราะมุมมองที่สถาปนิกเห็นก็เป็นคนละมุมจากสิ่งที่เจ้าของบ้านมอง สุดท้ายคืออย่าจำกัดความคิดตัวเองในเรื่องการออกไอเดีย ถ้าอยากให้บ้านของเราดูสนุกไม่น่าเบื่อ ก็ควรเปิดใจเพื่อให้ได้บ้านที่ใช่ และสะท้อนตัวตนของเจ้าของบ้านได้อย่างชัดเจน
เรื่อง : รนภา นิตย์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ