DITP ดัน 60 แบรนด์นักออกแบบรุ่นใหม่ สู่ตลาดโลก ชูเอกลักษณ์ท้องถิ่นผสานดีไซน์ร่วมสมัย ผ่านโครงการ Designers’ Room / Talent Thai & Creative Studio Promotion 2023

หากกล่าวถึงเรื่องของการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน สวน หรือข้าวของเครื่องใช้ ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นอกจากความสวยงาม แน่นอนเลยว่าต้องใช้งานได้ดี มีดีไซน์ตอบโจทย์ เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนในยุคสมัย ยิ่งไปกว่านั้น เทรนด์งานออกแบบโลกยังเข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้กับผู้คนและสังคมได้หลากหลายแง่มุม เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการศึกษา เป็นต้น 

ด้วยความสำคัญของงานออกแบบที่ช่วยสร้างคุณค่าให้กับสิ่งต่าง ๆ จึงได้นำมาสู่ โครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก ปี 2566 หรือ Designers’ Room / Talent Thai & Creative Studio Promotion 2023  ที่จัดขึ้นโดย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ DITP มายาวนานกว่า 20 ปี โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Keep an eye on : The Creative Power Of The New Era”

เปิดตัว 60 แบรนด์รุ่นใหม่ ผลักดันนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ DITP ได้เปิดตัว 60 แบรนด์นักออกแบบรุ่นใหม่ที่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่โครงการฯ พร้อมชูประเด็นเรื่องของการออกแบบที่ผสมผสานพลังความสร้างสรรค์เข้ากับเอกลักษณ์ในท้องถิ่น เพื่อผลักดันและส่งเสริมนักออกแบบไทย ให้โดดเด่นในตลาดโลก และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในภูมิภาคเอเชีย โดยแต่ละแบรนด์ได้รับคัดเลือกมาอย่างครอบคลุม จากนักออกแบบในพื้นที่กรุงเมพมหานคร ปริมณฑล และนักออกแบบจากภูมิภาคต่าง ๆ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประเภทสินค้า/บริการ ได้แก่ 

  1. นักออกแบบกลุ่มสินค้าแฟชั่น Designers’ Room 34 ราย 
  2. นักออกแบบกลุ่มสินค้า ไลฟ์สไตล์ Talent Thai  22 ราย 
  3. นักออกแบบกลุ่มธุรกิจบริการออกแบบ Creative Studio 4 ราย


โดย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ DITP ได้สนับสนุนเหล่านักออกแบบด้านองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจ ให้สอดรับกับเศรษฐกิจยุคใหม่ และแนวโน้มเมกะเทรนด์โลก อาทิ ความรู้ด้าน Circular Design, Sustainability, Design Service เป็นต้น เพื่อก้าวสู่ความเป็น “แบรนด์นักออกแบบ” หรือ “ผู้ประกอบการส่งออกรายใหม่” ที่สร้างมูลค่าทางการค้าเพื่อขยายบทบาททางเศรษฐกิจ ผ่านการอบรมร่วมกัน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรความรู้พื้นฐานการเป็นนักออกแบบระดับสากล และหลักสูตรค่ายบ่มเพาะนักออกแบบไทยสู่สากล (CO-BRAND) จากทั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง พร้อมคำแนะนำของเหล่ารุ่นพี่ศิษย์เก่า (Alumni Team) ที่มาช่วยเป็น Mentor ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้ ประสบการณ์ และเครือข่ายความร่วมมือที่ครบรอบด้าน เพื่อการก้าวสู่นักออกแบบมืออาชีพในตลาดโลก

กิจกรรมจากการผนึกกำลัง ร่วมกันชูพลังดีไซน์ยุคใหม่ผสานเอกลักษณ์ท้องถิ่น 

นอกจากการให้องค์ความรู้ทางทฤษฎี ยังมีกิจกรรมที่เน้นการลงมือปฏิบัติจริงผ่านแบบทดสอบของโครงการฯ ที่เหล่านักออกแบบได้ร่วมโชว์ไอเดียออกแบบผลงาน ผ่านการผนึกกำลังกับพันธมิตรชั้นนำทั้ง 7 ได้แก่

  1. Q DESIGN AND PLAY โดย คุณประพัฒน์ สมบูรณ์สิทธิ์
  2. SARRAN โดย คุณศรัณญ อยู่คงดี
  3. MOBELLA GALLERIA โดย คุณอนุพล อยู่ยืน
  4. QUALY โดย คุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์
  5. SC Grand 
  6. บ้านและสวน 
  7. โครงการ LIMITED EDUCATION

กิจกรรมนี้นักออกแบบรุ่นใหม่ได้ร่วม Collaboration กับแบรนด์ชั้นนำต่าง ๆ ที่มีจุดเด่นเรื่องดีไซน์ยุคใหม่ ผสานเอกลักษณ์ท้องถิ่น คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้นักออกแบบได้ฝึกฝนทักษะในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณค่าพร้อมกับเพิ่มมูลค่าอย่างยั่งยืนและเป็นมืออาชีพ โดยยังคงไว้อัตลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ส่วนส่งเสริม Soft Power 

ตัวอย่างเช่นการทำงานร่วมกันของแบรนด์ QUALY แบรนด์ผลิตภัณฑ์ดีไซน์ ที่เชื่อในพลังของการออกแบบเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนไปพร้อมกับการปกป้องโลกและสิ่งแวดล้อม กับแบรนด์ VAANG นักออกแบบรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่อง Sustainable สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เทียนหอมรูปไข่ ในรูปแบบกาชาปอง ที่เพิ่มความน่าสนใจให้การจุดเทียนด้วยโคมร้อนให้ผู้ใช้ได้ร่วมลุ้นว่าจะฟักไข่เทียมหอมได้แม่เหล็กรูปสัตว์ตัวใดจาก QUALY ที่ซ่อนอยู่ในไข่แต่ละใบ ส่งพลังงานดี ๆ ให้กับผู้ใช้ด้วยข้อความพิเศษที่แนบมากับผลิตภัณฑ์แต่ละชุดแตกต่างกัน แถมยังลดการเกิดขยะพลาสติกได้อีกด้วย

ในส่วนของการออกแบบร่วมกับโครงการ LIMITED EDUCATION ได้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานแสดงศักยภาพที่จะช่วยเหลือสังคมผ่านไอเดียสร้างสรรค์ในโจทย์ การสะท้อนปัญหาการศึกษาไทยที่นำไปสู่ความร่วมมือในการระดมทุน เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพและเติมเต็มช่องว่างการศึกษาให้เด็กในประเทศไทย ผ่านการออกแบบ เกิดเป็นผลงาน 5 ชิ้น ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ 

  1. วิชาคณิตศาสตร์ : เครื่องประดับ “ลูกเก๋า” (DICE OF HOPE) ที่ชี้ถึงความสำคัญของเด็กทุกคนในระบบการศึกษา และสร้างความตระหนักถึงจำนวน 20.4% ของเด็กไทยที่หายไปจากระบบการศึกษา 
  1. วิชาวิทยาศาสตร์ : ผ้าห่ม “ลอสสะตาร์” ที่เสมือนแผนที่ ในการตามหาดวงดาว ที่เปรียบได้กับเหล่าเด็กๆ ที่หายไปจากระบบการศึกษาในทุกปี จากการไม่ได้รับแสงสว่างที่มากพอจะทำให้มองเห็น
  1. วิชาภาษาไทย : คอลเลคชั่น “วัตถุฮาไว” ชุดเสื้อผ้าฮาวายร่วมสมัย ที่หยิบคำภาษาไทยที่ผิดเพี้ยนเมื่อไม่มี ด.เด็ก อยู่ในคำมาเป็นลวดลาย สื่อถึงเด็กที่หายไปจากระบบการศึกษา 
  1. วิชาภาษาอังกฤษ : ชุดของที่ระลึก “ฮาว อา ยู ทูเด๊?” กระเป๋าพร้อมเข็มกลัด ชุดพู่กัน และสี สำหรับลากเส้นต่อจุดบนกระเป๋า เพื่อทำให้ผู้ใช้ได้หวนนึกถึงช่วงเวลาวัยเด็กในชั่วโมงวิชาภาษาอังกฤษ 
  1. วิชาสังคมศึกษา : กระเป๋า Tote bag for SOCIETY ที่ ใช้กราฟิกบนกระเป๋าว่า “Soci ty” หรือแปลว่าสังคม แบบที่ตัว E ขาดหายไป เพื่อสื่อว่าทุกคนช่วยสามารถเติมตัว E ที่มาจาก Education (การศึกษา) ให้กับสังคมนี้ได้

ต่อยอดโอกาสทางการค้าสู่เวทีชั้นนำระดับโลก 

นอกจากโอกาสในการร่วมสร้างสรรค์ผลงาน เหล่านักออกแบบรุ่นใหม่ยังได้รับการส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์แบรนด์ผ่านสื่อชั้นนำ รวมทั้งได้รับโอกาสเจรจาทางการค้า ในงานแสดงสินค้าและเวทีการออกแบบชั้นนำระดับโลก เช่น 

  • งานแสดงสินค้า Bangkok Gems and Jewelry Fair 2024  ระหว่างวันที่ 21 – 25 กุมภาพันธ์ 2567 
  • งานแสดงสินค้า STYLE Bangkok 2024 ระหว่างวันที่ 20 – 24 มีนาคม 2567 
  • การเข้าร่วมงาน Milan Design Week ระหว่างวันที่ 13 – 18 เมษายน 2567 
  • การเข้าร่วม Showroom ณ นครเซี่ยงไฮ้ ช่วงเดือนเมษายน 2567
  •  การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า MAISON & OBJET ณ กรุงปารีส 2024 
  • เจรจาการค้าผ่านแพลตฟอร์ม m.o.m. ช่วงเดือนกันยายน 2567

สามารถติดตามผลงานการออกแบบที่น่าสนใจทั้งหมดจากโครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก หรือ Designers’ Room / Talent Thai & Creative Studio Promotion ได้ที่แฟนเพจ Talent Thai & Designers’ Room หรือตามช่องทางการประชาสัมพันธ์ของงานแสดงสินค้าและเวทีการออกแบบข้างต้น และสอบถามข้อมูลโครงการเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th สายด่วนการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169 เพื่อร่วมส่งเสริมงานออกแบบไทยให้ก้าวสู่ตลาดโลกไปด้วยกัน