บ้านไม้ ที่ออกแบบอย่างเรียบง่ายและธรรมดาที่สุดมักเป็นบ้านที่อยู่แล้ว สบายที่สุด ความพอดีนำมาสู่การจัดวางพื้นที่ใช้สอยและออกแบบสัดส่วนของบ้านได้เหมาะสมลงตัวอย่าง บ้านไม้ หลังนี้ โดยแทบไม่ต้องลงทุนประดับประดาให้มากความ
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Arsom Silp Institude of the Arts
ทีมงาน “บ้านและสวน” เดินทางมาที่ย่านพระราม 2 อันเป็นแถบชานเมืองที่เรายังเห็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ผู้คนและชุมชนที่ผูกพันกับสายน้ำ ผสมปนเปไปกับความเจริญที่ค่อยๆคืบคลานเข้ามา บ้านหลังนี้ไม่ได้มีดีแค่การออกแบบที่ผสมผสานภูมิปัญญาของบ้านไทยให้เข้ากับ เทคโนโลยีการก่อสร้างในปัจจุบันเท่านั้น แต่ที่มาของบ้านและที่ดินผืนนี้ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย คุณป้อม – จรัสศรี ศรีบำรุงเกียรติ เจ้าของบ้าน เล่าให้ผมฟังว่า “ที่ดินผืนนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากสถาบันอาศรมศิลป์มา ออกแบบจัดสรรให้เป็นบ้านพักสวัสดิการของครูในสถาบัน ให้สามารถมีบ้านบนที่ดินของตัวเองได้ในราคาต้นทุน โดยใช้ชื่อว่า ‘บ้านบางครุ’ ที่แปลว่า บ้านพักครู”
บ้านไม้สูง 3 ชั้นหลังนี้ออกแบบโดย คุณเก๋ง – นันทพงศ์ เลิศมณีทวีทรัพย์ สถาปนิกจากอาศรมสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์ เขาเล่าถึงแนวคิดในการออกแบบว่า “ผมมองว่าที่ดินผืนนี้มีศักยภาพมาก ได้วิวดีทั้งจากทะเลสาบและคลอง ด้านหน้าบ้านหันออกทางทิศใต้พอดี ผมพยายามสร้างความเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่ทั้งสองนี้ ออกแบบให้บ้านตั้งอยู่ในแนวขนานทิศตะวันออกและตะวันตก วางตัวบ้านให้ขวางลมที่จะมาจากทางทิศใต้ ถอดรหัสเรือนไทยริมน้ำที่เรียบง่าย ทั้งการยกใต้ถุนสูง มีระเบียงกว้างเป็นชานไม้ขนาดใหญ่ไว้ทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงชายคาโดยรอบบ้านที่ยื่นยาว ป้องกันแดดและฝนได้เป็นอย่างดี นำส่วนบริการของบ้าน เช่น ห้องน้ำและผนังทึบมาบังแดด กันส่วนพักอาศัยให้อยู่ด้านใน ไม่รับแดดโดยตรง ทำให้บ้านอยู่สบาย”
เดิมทีสถาบันอาศรมศิลป์ได้จัดสรรพื้นที่จนเหลือที่ดินแปลงใหญ่ผืนนี้ที่ มีรูปทรงไม่เหลี่ยมเต็มผืนเหมือนที่ดินแปลงอื่นๆ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 120 ตารางวา มีมุมมองวิวที่ดีมาก ขนาบด้วยทะเลสาบซึ่งขุดแต่งมาจากบ่อกุ้งเดิม อีกฝั่งหนึ่งติดกับลำคลองสาธารณะ คุณป้อมเล่าว่า “ตอนแรกดูว่าที่ดินใหญ่เกินไปและไม่สวย มีส่วนเว้าแหว่ง แต่ พี่แบน – คุณธีรพล นิยม สถาปนิกมากฝีมือและเป็นผู้อำนวยการของสถาบันอาศรมศิลป์ แนะนำให้เลือกที่ผืนนี้ เพราะเป็นแปลงที่ดีที่สุด ทั้งทิศทางและมุมมอง ต้องขอบคุณสายตาของสถาปนิกที่ช่วยให้เรามีบ้านที่สวยและอยู่สบายหลังนี้”
บ้านหลังนี้ใช้งบประมาณก่อสร้างถูกว่าบ้านในประเภทเดียวกันประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากได้ความอนุเคราะห์เรื่องไม้และช่างทั้งหมดจากสถาบันอาศรมศิลป์ โดยนำไม้เก่ากลับมาใช้ใหม่มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ใช้ไม้ใหม่เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ คุณใหญ่ พี่สาวของคุณป้อมยังออกไอเดียนำเศษไม้ที่เหลือจากงานก่อสร้างมาทำเป็น เครื่องใช้ไม้สอยภายในบ้านด้วยตัวเองอีกด้วย ยิ่งช่วยลดงบประมาณลงได้มาก แถมยังมีเฟอร์นิเจอร์เก๋ๆไว้ใช้งานอีกด้วย
เมื่อเดินเข้ามาภายในบ้านเราจะพบใต้ถุนบ้านขนาดใหญ่ที่ออกแบบให้โปร่ง โล่งและต่อเนื่องกันทั้งหมด ทั้งยังเชื่อมโยงบ่อน้ำหน้าบ้านออกไปยังคลองหลังบ้านได้ดี มีครัวแยกออกมาเป็นสัดส่วน พื้นที่ส่วนนี้คุณป้อมและครอบครัวใช้นั่งพักผ่อน รับประทานอาหาร รดน้ำตัดแต่งกิ่งไม้ เรียกว่ามีการใช้งานตลอดทั้งวัน และด้วยการวางตัวบ้านที่ดี ทำให้ลมธรรมชาติพัดผ่านพื้นที่นี้ตลอด แม้ในช่วงฤดูร้อนก็ตาม
เดิมทีบ้านหลังนี้ออกแบบเป็นบ้านสองชั้น ต่อมาได้เพิ่มส่วนใต้ถุนหรือชั้น 1 เข้ามา โดยยังคงใช้แบบบ้านสองชั้นของเดิม เพียงแต่กลายมาเป็นชั้น 2 และ 3 ชั้น 2 จัดเป็นส่วนรับแขกที่ดูเป็นทางการขึ้น ต่อเนื่องไปยังส่วนรับประทานอาหาร และครัว (หนีน้ำ) ที่ออกแบบไว้ในกรณีที่หากเกิดน้ำท่วมก็ยังมีครัวสำรองให้ใช้งานได้ ชั้นสามเป็นส่วนพักอาศัย ประกอบด้วยห้องนอน 3 ห้อง และห้องพระ ซึ่งออกแบบให้เชื่อมต่อถึงกัน จึงใช้งานร่วมกันได้สะดวก
บ้านหลังนี้ยังมีรายละเอียดการประกอบงานไม้ที่น่าสนใจ อาทิ ผนังบ้านที่ได้แรงบันดาลใจจากผนังของยุ้งข้าว เราจะเห็นโครงคร่าวไม้จากภายนอกแล้วประกอบแผ่นไม้ทีละแผ่นในลักษณะบังใบต่อ กันที่ด้านใน ซึ่งตัวบังใบนี้เองจะช่วยกันน้ำฝนไม่ให้ไหลซึมเข้ามาในบ้าน โดยไม่ต้องตีซ้อนเกล็ด เน้นให้ผนังภายในบ้านเรียบเสมอกัน รวมถึงการนำไม้เก่ามาต่อกันเพื่อทำเป็นตงไม้โดยใช้วิธีฝากไม้ ไม้จึงรับน้ำหนักของตัวมันเองได้มากขึ้น เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาในการก่อสร้างบ้านไทยที่เราควรอนุรักษ์ไว้
บ้านไทยหลังนี้จึงเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ออกแบบได้ใกล้ชิด ธรรมชาติ ไม่ต้องปรุงแต่งให้มากความ ถือเป็นบ้านที่งดงามอย่าง (บ้าน) ไทยจริงๆครับ
เจ้าของ : คุณจรัสศรี ศรีบำรุงเกียรติ
ออกแบบ : บริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด โดยคุณนันทพงศ์ เลิศมณีทวีทรัพย์
ทีมช่าง : ช่างเกษม ช่างทอง ช่างตุบ ช่างหลุยส์
เรื่อง : ศุภชาติ บุญแต่ง
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์: วนัสนันท์ ธีรวิฑูร