นายพอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี กล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเมืองทองธานี ปัจจุบันดำเนินงานก่อสร้างไปแล้วเกือบ 30% โดยรายละเอียดโครงการก่อสร้างแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 จากสถานีเมืองทองธานี บริเวณห้างแม็คโคร ถนนแจ้งวัฒนะ ต่อเข้ามายังเมืองทองธานี ช่วงที่ 2 งานก่อสร้างสถานี MT-01 บริเวณวงเวียนหน้าอิมแพ็ค และช่วงที่ 3 ระหว่างสถานี MT-01 ถึง MT-02 บริเวณลานริมทะเลสาบเมืองทองธานี โดยภาพรวมงานก่อสร้างยังคงตรงตามกำหนดระยะเวลาและคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการได้ในปี 2568
นอกจากงานโครงสร้าง 2 สถานีหลักแล้ว ทางอิมแพ็คได้เตรียมแผนงานก่อสร้าง Sky Entrance เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า MT-01 (สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี) และอาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ โดยทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ อิมแพ็ค โกรท หรือ IMPACT ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการ Sky Entrance มีการเข้าทำบันทึกข้อตกลง เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเมืองทองธานี ซึ่งมีแนวเส้นทางโครงการเป็นระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร และเส้นทางของรถไฟฟ้าสายดังกล่าวจะเป็นเส้นทางขนานทางด่วนอุดรรัถยา ผ่านบริเวณด้านข้างอาคาร อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ และสิ้นสุดโครงการที่ริมทะเลสาบเมืองทองธานี
สำหรับโครงการ Sky Entrance จะใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้นรวม 195 ล้านบาท เป็นการดำเนินงานก่อสร้างสะพานทางเชื่อมและพื้นที่ล็อบบี้ด้านข้างอาคารชาเลนเจอร์เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งโครงการ Sky Entrance ทางกองทรัสต์ฯ มีความจำเป็นต้องให้การสนับสนุนการก่อสร้างเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสถานี MT-01 กับอาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินหลักที่กองทรัสต์เข้าลงทุน สามารถต่อยอดธุรกิจและอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า ทั้งนี้ ตามประกาศรถไฟฟ้าสายสีชมพูเส้นทางหลักแคราย-มีนบุรี จะเปิดบริการช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ทาง อิมแพ็ค ได้เตรียมรถรับส่งจากสถานีศรีรัช เข้าสู่ศูนย์ฯ เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้าเบื้องต้นจนกว่าสถานีส่วนต่อขยายจะเปิดบริการ
นายวัชระ จันทระโสภา หัวหน้าฝ่ายบริหารโครงการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวเสริมว่า โครงการ Sky Entrance เป็นการดำเนินงานก่อสร้างโดยทีมอิมแพ็ค ค่าใช้จ่ายเป็นงบประมาณในส่วนของ อิมแพ็ค โกรท รีท ถือเป็นโครงการต่อเนื่องในการสร้างสะพานทางเชื่อม (Link Bridge) รอบศูนย์ฯ โดยเป็นการเชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเมืองทองธานี สถานี MT-01 (อิมแพ็ค เมืองทองธานี) ตรงวงเวียนหน้าอิมแพ็ค ไปยังอาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ระยะทางรวม 230 เมตร พร้อมพื้นที่ล้อบบี้เชื่อมอาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ 1 และจะติดตั้งจอ LED ขนาดใหญ่ภายนอก สามารถมองเห็นได้จากรถไฟฟ้าและทางด่วน อีกทั้งติดตั้งจอทันสมัยภายในล็อบบี้ด้วย
อาคารนี้ถูกออกแบบมาให้มีรูปลักษณ์ทันสมัยเป็นอาคารแห่งอนาคต พร้อมนวัตกรรมที่ก้าวล้ำโดดเด่นเรื่องของความยั่งยืน ทั้งการออกแบบด้านสิ่งแวดล้อม และทางพลังงาน โดยจะเริ่มก่อสร้างในช่วงต้นปี 2567 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างราว 14 เดือน แล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2568 รอเปิดบริการรองรับรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเมืองทองธานีแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างงานก่อสร้างโครงการทั้งหมด ทีมวิศวกรของอิมแพ็คจะเข้มงวดทำหน้าที่ตรวจสอบสัญญาจ้าง ประสานงานบริษัทก่อสร้างเพื่อดูแลผลกระทบ เช่น การจราจร ทัศนียภาพ ความสะดวก และความปลอดภัยในพื้นที่จนกว่าจะเสร็จสิ้นส่งมอบโครงการทั้งหมดราวเดือนกรกฎาคม 2568