สวนเมดิเตอร์เรเนียน ที่จัดวางและเว้นจังหวะพรรณไม้ เพื่อดึงบรรยากาศภายนอกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสวน แม้อยู่ในบ้านก็เหมือนได้ใกล้ชิดติดธรรมชาติ
บ้านทรงยุโรปสไตล์สแกนดิเนเวียหลังนี้ เจ้าของบ้านเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบตกแต่งเอง เน้นความเรียบง่ายแวดล้อมด้วยธรรมชาติ ตัวบ้านทาสีขาวตัดกับสีเทาของหลังคาทรงจั่วสูง ผนังบ้านเป็นประตูไม้ และหน้าต่างกระจกใสเปิดรับแสงและลมธรรมชาติ ให้บรรยากาศอบอุ่นและโปร่งสบาย
หากมองจากด้านหน้าทางเข้าจะเห็นตัวบ้านลักษณะคล้ายบ้านชั้นเดียว แต่เมื่อเดินไปยังด้านหลังกลับพบว่า ส่วนที่มองเห็นจากด้านหน้านั้น คือ ส่วนชั้น 2 ของตัวบ้าน
ด้วยสภาพพื้นที่ของที่นี่เป็นเนินลาดชัน การออกแบบจึงต้องเริ่มจากปรับเนินดินให้เป็นที่ราบสำหรับใช้งาน ลดทอนสเต็ปลงโดยอิงตามระดับความสูงของพื้นบ้านเป็นหลัก เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยเดินออกมาใช้งานได้อย่างสะดวก ไม่ให้แต่ละสเต็ปดูแตกต่างกันมากนัก สิ่งนี้เป็นภารกิจแรกๆที่ลงมือ
ส่วนการออกแบบสวนนั้น เนื่องจากพื้นที่กว้างเกือบ 3 ไร่ ครั้งแรกผู้ออกแบบจินตนาการถึงทุ่งดอกไม้กว้าง แต่เมื่อนึกถึงการดูแลของเจ้าของที่ไม่ได้อยู่บ้านหลังนี้ทุกวัน จึงเปลี่ยนความคิดและเลือกใช้วิธีแบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนย่อยตามสภาพแสงและการใช้งาน ซึ่งวิธีนี้ช่วยแก้ปัญหาการออกแบบในพื้นที่ขนาดใหญ่ได้ และให้แต่ละโซนแบ่งแยกกันด้วยระดับที่แตกต่าง
เริ่มจากบริเวณโซนหน้าบ้านทางทิศตะวันตก ซึ่งได้ร่มเงาจากจามจุรีต้นใหญ่ที่ปลูกไว้ด้านนอก จึงแบ่งพื้นที่สวนออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนร่มออกแบบให้เป็นลานกรวด ส่วนถัดมาบริเวณที่ได้แสงแดดมากขึ้น ได้สร้างแพตเทิร์นของสนามหญ้าบนลานกรวด โซนนี้ใช้เป็นลานอเนกประสงค์รวมถึงจัดเลี้ยงสังสรรค์ โดยปลูกต้นชาดัดตัดพุ่มกลมเตี้ยกั้นขอบเขต
โซนถัดมา ส่วนด้านข้างของอาคารทางทิศใต้ บริเวณนี้ได้แสงแดดดีตลอดทั้งวัน จึงกำหนดให้เป็นพื้นที่สำหรับปลูกสมุนไพรฝรั่ง อย่าง มินต์ โรสแมรี่ ทารากอน และชิโสะ ฯลฯ ในแปลงเถาวัลย์สาน วางขนานต่อเนื่องจากผนังอาคาร สร้างขอบเขตโซนด้วยแปลงต้อยติ่งดอกขาว นอกจากดูแลง่ายแล้ว ยังดูกลมกลืนไปกับสีของอาคาร ส่วนรากของต้นต้อยติ่งนั้นช่วยยึดดินที่ต่างระดับไว้ แทนการทำแนวกำแพงกันดิน เพราะต้องการควบคุมปริมาณฮาร์ดสเคปไม่ให้มากเกินควร มีเพียงส่วนของบันไดที่เชื่อมต่อพื้นที่ต่างระดับ และกำแพงกันดินในส่วนที่จำเป็น
โซนหลังบ้านทางทิศตะวันออก บริเวณนี้มองเห็นทิวสนของโครงการอยู่ไม่ไกล ผู้ออกแบบต้องการดึงบรรยากาศเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสวน รอบสระว่ายน้ำกำหนดระดับพื้นให้เท่ากับพื้นชั้นล่าง เป็นพื้นที่ที่เจ้าของได้ออกมาใช้บ่อยสุด วางกระถางทรงเก๋ปลูกต้นแก้วเจ้าจอมต้นคู่ที่ลำต้นตั้งตรงล้อไปกับโครงสร้างอาคาร ส่วนพื้นสวนรอบบริเวณนี้ โรยด้วยกรวดแกลบเม็ดเล็ก ปลูกไม้ดอกและสมุนไพรฝรั่งรูปทรงอิสระเป็นเคริฟไปตามขอบเขตของสวน เพิ่มลูกเล่นด้วยต้นไม้ฟอร์มสวย ทั้งไม้ตัดแต่งพุ่มกลมอย่างชาดัด ไม้รูปทรงชัดเจนอย่างอากาเว่ และไม้ต้นที่เป็นเอกลักษณ์ของสวนสไตล์เมดิเตอร์เรเนียนอย่างสนไซเปรส และโอลีฟ แทรกไปตามจุดต่างๆ หากมองจากระเบียงด้านบน จะเห็นแพตเทิร์นพื้นที่น่าสนใจ
สวนแห่งนี้สร้างวิวธรรมชาติรอบบ้าน เสริมให้อาคารดูโดดเด่น ต้นไม้ใหญ่เลือกชนิดที่มีทรงพุ่มโปร่งอย่างเกรวิลเลีย หลิวออสเตรเลีย และสนไซเปรสที่รอวันเติบโต ปลูกไม้ดอกโทนม่วงฟ้าที่ให้บรรยากาศแบบยุโรป
สำหรับผู้ออกแบบแล้ว ความยากในการจัดสวนนี้ไม่ได้อยู่ที่ขั้นตอนการจัด หรือการปรับเนินดินในพื้นที่กว้าง แต่อยู่ที่จังหวะการจัดวางต้นไม้ให้ดูเป็นธรรมชาติสอดคล้องกลมกลืนกับบรรยากาศภายนอก ไม่ให้บดบังวิว และเปิดมุมมองเพื่อดึงบรรยากาศภายนอกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสวน แม้อยู่ในบ้านก็เหมือนได้ใกล้ชิดติดธรรมชาติ ตามแนวคิดของการออกแบบบ้านหลังนี้
เจ้าของ : คุณศิรวัฒน์ เทพเจริญ
Concept Design : บริษัทมันนิ จำกัด
สถานที่ : My Ozone Khao Yai
ออกแบบจัดสวน : Little Tree Landscape โดยคุณศิริวิทย์ ริ้วบำรุง และคุณจาตุรงค์ ขุนกอง
ชมบรรยากาศสวนเมดิเตอร์เรเนียนเพิ่มเติมได้จาก หนังสือ The Mediterranean Garden โดย Little Tree Landscape สวนเมดิเตอร์เรเนียนในเล่มนี้เน้นบรรยากาศธรรมชาติที่ดูอบอุ่นสบาย กลิ่นอายชนบทฝรั่งเศสและอิตาลี ปลูกพรรณไม้ในท้องถิ่นที่ดูแลง่าย และเหมาะกับสภาพอากาศในเมืองไทยอย่างโอลีฟ สนไซเปรส ไม้ดอกสีสวย และสมุนไพรฝรั่งที่ส่งกลิ่นหอม เติมพรรณไม้ที่เพิ่มความธรรมชาติอย่างหญ้าประดับ และพรรณไม้ในเขตร้อน จำพวกปาล์มต่างๆ และไม้ทนแล้งริมทะเล อย่าง อากาเว่ และไม้อวบน้ำอื่นๆ ซึ่งพรรณไม้เหล่านี้ ชอบดินระบายน้ำดี แสงแดดจัด และความชื้นต่ำ นำมาผสมผสานกับพรรณไม้อื่นๆในเมืองไทยที่มีคาแรกเตอร์เข้ากับสวนแนวนี้ ดังนั้น หากสวนของเรามีการจัดการเรื่องระบบระบายน้ำ และได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ พืชแหล่านี้จะเติบโตได้อย่างยืนยาวและดูแลง่าย ยังมีองค์ประกอบอื่นๆในสวนอย่างการใช้กระถางดินเผา พื้นกรวด การทำเนิน และเปิดช่องแสง เพื่อดึงธรรมชาติมาไว้ในสวน
เรื่อง : ทิพาพรรณ
ภาพ : อภิรักษ์, นันทิยา